1 มี.ค.62- กลุ่มชาวบ้านฮักบ้านเกิด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้าน บ้านเมืองเพีย เครือข่ายอนุรักษ์แก่งละว้า กลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง และชาวบ้าน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น คัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ภายใต้โครงการเศรษฐกิจชีวภาพ จ.ขอนแก่น ซึ่งจะมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณอำเภอบ้านไผ่ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นดำเนินการดังนี้ 1. ให้เปิดเผยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพทั้งหมดในพื้นที่ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพฯ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลทุกด้านอย่างทั่วถึง
2. ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ทำการศึกษารายละเอียดของโครงการไบโอฮับ ในอำเภอบ้านไผ่ วิถีชีวิต สังคมวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการ ร่วมกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยยังขาดประสบการณ์ ขาดความเชี่ยวชาญ ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล และอาจไม่มีองค์ความรู้มากพอในการจัดการผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
3. ให้มีคำสั่งถึง ผู้ประกอบการกลุ่มมิตรผล และบริษัทที่ปรึกษาที่รับจ้างทำ EIA ห้ามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1). ไม่ว่าจะเป็นโครงการใด จนกว่ารัฐจะให้ข้อมูลทั้งหมดต่อผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องให้ได้รับข้อมูลทุกด้านและอย่างทั่วถึง และจนกว่าคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนจะศึกษาผลกระทบจากโครงการ และจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA จนแล้วเสร็จ
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลุ่มมิตรผล ร่วมกับนายอำเภอบ้านไผ่ ได้นัดหมายจัดการประชุมกับชาวบ้าน โดยอ้างว่าเป็นการประชุมเพื่อชี้แจงข้อมูลโครงการโรงงานอ้อยและน้ำตาลขนาด 2หมื่นตันต่อวัน พ่วงกับโรงไฟฟ้าชีวมวล 32 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่จะก่อสร้างในพื้นที่ที่มีการวางเป้าหมายเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนสำนักต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันผู้ประกอบการได้กว้านซื้อที่ดินเตรียมไว้แล้วประมาณ 4 พันไร่ แต่การจัดประชุมชี้แจงข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่
ขณะที่กลุ่มฮักบ้านเกิด มีความกังวลในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น หากจะมีการตั้งไบโอฮับ หรือนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือโรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสูง รวมทั้งผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรม ผลกระทบต่อน้ำชีและพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า ปัญหามลพิษด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กซึ่งมีความวิกฤตอยู่แล้ว ปัญหาที่จะเกิดกับเมืองเก่าแก่โบราณบ้านเมืองเพีย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี โบราณวัตถุ ที่ชาวบ้านเมืองเพียเคารพสักการะ เป็นจิตวิญญาณของบ้านเมืองเพียและชาวขอนแก่นที่ยังคงปรากฏอยู่ด้วยการอนุรักษ์และฝังอยู่ใต้ดิน รวมถึงในบริเวณที่ดิน 4 พันไร่ที่ผู้ประกอบการได้กว้านซื้อไว้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณบ้านเมืองเพียในอดีตด้วย
อย่างไรก็ตามภายหลังการยื่นหนังสือ และเข้าพบผู้ว่าราชการจ.ขอนแก่น ได้มีผลการเจรจาโดยผู้ว่าฯขอนแก่น ได้มีคำสั่งให้ 1. ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน เพื่อร่วมกันศึกษาและประเมินข้อมูลโครงการให้รอบด้าน เนื่องจากจังหวัดยังไม่มีข้อมูลโครงการ 2. ให้ศูนย์ดำรงค์ธรรมตรวจสอบกรณีมีผู้นำชุมชนข่มขู่คุกคาม ชาวบ้านสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิดที่ออกมาคัดค้านโครงการ พร้อมทั้งตรวจสอบกรณีที่มีการปล่อยข่าวลวงว่าโครงการผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว 3. จังหวัดจะประมวลสถานการณ์ทั้งหมดรายงานต่อส่วนกลาง เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558 – 2569) ของ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) วางเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ โดยในปี 2554 และปี 2558 สอน. ได้ออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ โรงงานน้ำตาลขยายกำลังผลิต และโรงงานน้ำตาลขยายกำลังผลิตไปตั้งยังพื้นที่ใหม่ ในภาคอีสานรวม 29 โรงงาน
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2560 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทย ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ระหว่างบริษัทเอกชน 13 ราย และหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและการวิจัย รวม 23 หน่วยงาน โดยจะมีการลงทุนโครงการต่าง ๆ 5 กลุ่ม ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ในภาคอีสาน ได้แก่ 1) กลุ่มเอทานอล จากการใช้อ้อยและมันสำปะหลัง เป้าหมายผลิต 2,506 ล้านลิตรต่อปี 2) กลุ่มโรงงานชีวมวลจากชานอ้อย เป้าหมายผลิตไฟฟ้า 1,800 เมกะวัตต์ และการนำกากมันมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพแล้วนำไปผลิตไฟฟ้า 336 - 500 เมกะวัตต์ 3) กลุ่มไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 4) กลุ่มไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกชีวภาพ 5) กลุ่มแป้งและน้ำตาล และกลุ่มอุตสาหกรรมยา ชีววัตถุ วัคซีนขั้นสูงโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพจะมี “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ” ในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งผู้ประกอบการได้กว้านซื้อที่ดินไว้แล้วประมาณ 4,000 ไร่
ขณะที่ การดำเนินการตามนโยบายขั้นตอนของหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมาก่อน โดยทั้ง อบต.เมืองเพีย นายอำเภอบ้านไผ่ อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 4 ขอนแก่น ปฏิเสธไม่รับรู้และไม่มีข้อมูลของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |