THAI ปิดงบขาดทุน1.15 หมื่นล้านอ้างเครื่องบินใช้งานนาน


เพิ่มเพื่อน    


1 มี.ค62-นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยถึงผลดำเนินการในปี 2561 การบินไทยและบริษัทย่อย มีรายได้รวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.9% โดยมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.3% ซึ่งรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท 

สำหรับการขาดทุนดังกล่าวนั้น เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น และเกิดจากค่าซ่อมแซม ค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยประจำปี 2561 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 2,856 ล้านบาท 

“ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนคืออายุการใช้งานของเครื่องบินในฝูงบินที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้มีต้นทุนค่าซ่อมบำรุงที่สูงมากตามไปด้วย ประกอบกับปัญหาเครื่องบินไม่เพียงพอเปิดเส้นทางใหม่ที่มีศักยภาพ อีกทั้งเครื่องเก่ายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”นายสุเมธ กล่าว

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)การบินไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้การบินไทยเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้นช่วง เม.ย.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบในการตัดการขาดทุนสะสม โดยใช้งบสำรองทางกฎหมาย วงเงิน 28,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เหลือ 296 ล้านบาท และหากในปีนี้ การบินไทยสามารถทำกำไรได้ 300 ล้านบาท ก็จะสามารถจ่ายปันผลได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับมูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน

นายสุเมธ กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบัน ฝูงบินของการบินไทยและบริษัทย่อย มีจำนวน 103 ลำ สูงกว่า ณ สิ้นปีก่อน 3 ลำ ทำให้โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.0 ชั่วโมง เท่ากับปีก่อน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.9% ปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.6% ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 79.2% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1.0%

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาการแข่งขันอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ผนวกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งการบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทหลุดพ้นจากปัญหาการขาดทุน และสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในปี 2562 นี้ มีแผนที่จะสร้างรายได้อย่างเร่งรัด อาทิ การปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัยและสามารถแข่งขันได้ การปรับปรุงการบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริการภาคพื้นจนถึงการบริการบนเครื่องบิน (Ground to Sky) การบริหารจัดการด้านการขายและการตลาด โดยเฉพาะด้าน Digital Marketing การหารายได้เสริม การเพิ่มขีดความสามารถและการขยายธุรกิจ เช่น โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงศักยภาพด้านบุคลากร และการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมกับธุรกิจยิ่งขึ้น

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 268,721 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 12,054 ล้านบาท (4.3%) หนี้สินรวมมีจำนวน 248,265 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 497 ล้านบาท (0.2%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 20,456 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 11,557 ล้านบาท (36.1%)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"