ค้านร่างพ.ร.บ.ยาสูบใหม่ประเคนกิจการต่างชาติถือหุ้น


เพิ่มเพื่อน    

กลุ่มเครือข่ายฯ เตรียมยื่นหนังสือขอยุติ ร่างพ.ร.บ.การยาสูบฉบับใหม่ เปิดทางให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้ามาถือหุ้นได้  เผยผ่านการพิจารณาสนช.วาระ 2แล้ว เรียกร้องให้รัฐถือหุ้น 100% เหมือนเดิม ย้ำชัดการควบคุมยาสูบต้องทำเพื่อสุขภาพประชาชน ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ธุรกิจ

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดง่านเสวนาวิชาการและการแถลงข่าว “ร่าง พ.ร.บ. การยาสูบแห่งประเทศไทย : การสูญเสียอธิปไตรในการควบคุมยาสูบครั้งใหม่ " โดย นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ….ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเนื้อหา การแปรสภาพโรงงานยาสูบเป็นนิติบุคคล  โดยให้เหตุผลในเรื่องการปรับปรุงสภาพการทำงาน โดยในมาตรา 8 (7) เปิดโอกาสให้ขายหุ้นของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดของ การยาสูบแห่งประเทศไทย  (ยสท.)ให้กับบุหรี่ต่างชาติและเอกชน ซึ่งคณะนักวิชาการเห็นว่ามีเรื่องที่ร้ายแรงต่อการควบคุมยาสูบในประเทศ จะทำให้บุหรี่ข้ามชาติเข้ามาครอบงำ เป็นเรื่องที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทย จึงมีข้อเสนอไปถึง นายกฯ ระงับและแก้ไข ให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาในลักษณะนิติบุคคล โดยให้รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น 100 %


นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มาตราดังกล่าวจะขัดกับความมุ่งหมายในการจัดตั้งโรงงานยาสูบในปี พ.ศ.2482 ที่รัฐบาลเห็นว่า กิจการยาสูบเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ควรอยู่ในการควบคุมของรัฐ เท่ากับเป็นการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพราะหากต่างชาติหรือเอกชนสามารถซื้อหุ้นจากบริษัทต่างๆในการเข้ามาทำธุรกิจ อาจทำให้มีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาดบุหรี่ในประเทศส่งผลร้ายแรงต่อประเทศ หรือทำให้ ยสท.อ่อนแอลง กำไรลดลง แล้วเข้าซื้อกิจการของ ยสท. ส่งผลกระทบต่อการควบคุมนโยบายยาสูบของภาครัฐ นอกจากนี้ ในมาตรา 7 ในเรื่องการผลิตบุหรี่ซิกกาแรต  เพื่อประโยชน์ของ ยสธ.จะมีการเปิดโอกาสให้สามารถดำเนินกิจการอื่นได้ด้วย ซึ่งอาจจะเอื้อต่อการทำธุรกิจการปลูกกัญชงที่ ครม.มีมติให้ชาวไร่สามารถปลูกได้ด้วยซึ่งกัญชงก็มีข้อดีอยู่บ้าง มีหน่วยงานในการดูแลอยู่แล้ว  ซึ่งก็จะนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการควบคุมยาสูบ 


นักวิชาการกล่าวอีกว่า กฎหมายควรมีมาตรการในการป้องกันบริษัทข้ามชาติเข้ามาซื้อหุ้น ให้รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น 100 %เพราะหากไม่มีมาตรการก็จะเหมือนการขายสมบัติของชาติ เพราะในปัจจุบันต่างชาติก็สามารถนำบุหรี่เข้ามาขายในประเทศได้อยู่แล้ว ซึ่งหากปล่อยให้เข้ามามีอิทธิพลเพิ่มขึ้นโดยการถือหุ้นอันนี้จะเป็นเรื่องสำคัญ ที่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมธุรกิจยาสูบ และจะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งการพิจารณาได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)วาระที่ 2 แล้ว ดังนั้นการที่มีข้อเสนอให้ล่ารายชื่อคัดค้านอาจจะไม่ทัน เพราะคาดว่าจะมีการพิจารณาแล้วเสร็จภายในปลายเดือน ก.พ. นี้  เพื่อให้ทันเวลาจึงจะทำในลักษณะยื่นหนังสือ ต่อ สนช. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การยาสูบแห่งชาติ พ.ศ…. โดยการรวบรวมตัวแทนจากองค์กรต่างๆเข้ายื่นหนังสือแทน


ทพญ.ดร. ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)กล่าวว่า ทางภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันทางด้านลดการสูบบุหรี่ อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อองค์กรที่จะเข้าร่วมในการขอให้มีการแก้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ให้ดำเนินการในลักษณะบริษัทมหาชน ซึ่งจะเอื้อต่อการแสวงหาผลกำไรของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยเบื้องต้นจะมีการเข้ายื่นหนังสือต่อ ประธาน สนช. เลขาคณะกรรมาธิการฯ และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการส่งต่อเรื่องไปยังสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่องทางที่จะทำให้นายกฯรับทราบข้อร้องเรียนได้ ในขณะนี้มีเครือข่ายที่ลงชื่อเข้าร่วมแล้วส่วนหนึ่ง อาทิ มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อการลดบุหรี่ และเครือข่ายเภสัชกรอาสาพาเลิกบุหรี่ ซึ่งการดำเนินการยื่นหนังสือต้องเร่งให้ทันภายในวันที่ 8 มี.ค. ที่จะมีการพิจารณา  โดยเร็วที่สุดคาดว่าจะติดต่อเพื่อเข้ายื่นหนังสือได้ทันภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังจะได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ควรต้องเพิ่มคุณสมบัติของคณะกรรมการพิจารณายกร่างให้มีสัญชาติไทยเท่านั้น  เราไม่ได้ปกป้องโรงงานยาสูบ แต่กำลังปกป้องชาติในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย โดยหวังว่ารัฐบาลจะเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้และแก้ไขอย่างจริงจัง


นายบัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เรื่องนี้จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน แต่ประชาชนไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้มีการเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข การที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงลูกหลานว่าจะเป็นอย่างไร  ควรมีการตีแผ่ความเดือดร้อนของสังคมให้รับรู้กัน และต้องให้ประชาชนที่ไม่รับรู้ข้อกฏหมายได้รู้ในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งตอนนี้ได้ผ่านการพิจารณาวาระ 2 ไปแล้ว ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจกำลังวิ่งเต้น เราก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน


นายอานนท์ บัวเทศ รองประธานสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าวว่า ทางโรงงานยาสูบเห็นพ้องรัฐควรเป็นผู้ถือหุ้น 100 % ว่าไม่ควรให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้ามามีบทบาทซื้อหุ้นได้  ซึ่งที่ผ่านมาเรายอมรับความจริงในเรื่องสุขภาพ และการควบคุมเก็บภาษีของรัฐบาล และตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ  (FCTC) ที่ไทยร่วมเป็นภาคีระบุว่าการควบคุมยาสูบต้องไปไปเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ต้องไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจ โดยขณะนี้รัฐบาลสามารถควบคุมจำนวนยาสูบที่ขายในแต่ละจังหวัดและปริมาณสารนิโคตินได้ซึ่งเราก็ยอมรับ แต่หากมีธุรกิจข้ามชาติเข้ามามีบทบาทก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการควบคุม อย่างทุกวันนี้ในการควบคุมภาษียาสูบของกรมสรรพสามิตทางต่างชาติที่นำเข้าก็ยังมีการเลี่ยงภาษีด้วยการลดราคาสินค้าลงทำให้คนหันไปบริโภคบุหรี่ต่างชาติแทน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลบอกว่าต้องการลดจำนวนผู้สูบลง ซึ่งเป็นสิ่งเรารู้สึกรับไม่ได้เพราะตอนที่มีการคำนวนภาษีแบบใหม่ออกมาโรงงานยาสูบต้องปิดถึง 5 วัน ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ ในขณะที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาเติบโตมากขึ้น.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"