เหตุการณ์ซึ่งต้องระงับเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ 5 (2)...เรื่องอั้งยี่


เพิ่มเพื่อน    

เรื่องอั้งยี่
เรื่องจีนตั้วเหียเป็นเรื่องเกิดในรัชกาลอื่น มีกรณีสืบต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 และยังจะปรากฏกลายเป็นเรียกว่าอั้งยี่ มีเรื่องในตอนหนึ่งอีก แต่มูลเหตุที่เกิดตั้วเหียและอั้งยี่ในประเทศสยามยังไม่เห็นอธิบายในหนังสืออื่น จึงได้ตรวจเรื่องเดิมเก็บเนื้อความมาเรียบเรียงลงไว้ในหนังสือนี้ พอให้ผู้อ่านทราบเหตุการณ์ในเรื่องตั้วเหียและอั้งยี่ชัดเจนขึ้น อันคำที่เรียกกันแต่ก่อน "ตั้วเหีย" ก็หมายความอย่างเดียวกับที่เรียกกันภายหลังว่า "อั้งยี่" นั้นเอง คือสมาคมลับซึ่งพวกจีนคิดตั้งขึ้น 

เรื่องตำนานของสมาคมนั้นมีปรากฏทางเมืองจีนว่าจำเดิมแต่ประเทศจีนต้องตกอยู่ในอำนาจของพวกเม่งจูตั้งแต่ พ.ศ.2187 มา ก็มีพวกจีนเข้าเป็นสมาคมลับ เพื่อจะพยายามกำจัดพวกเม่งจู แล้วเชิญเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ไต้เหมง อันเป็นกษัตริย์จีนขึ้นครองแผ่นดินดังเก่า การที่พวกจีนตั้งสมาคมลับ ชั้นเดิมมีแต่ในเมืองจีน เพราะเหตุเป็นดังกล่าว ต่อนานมาพวกจีนที่อยู่ในประเทศอื่นจึงเอาแบบสมาคมนั้นไปตั้งขึ้นในประเทศอื่น ด้วยเหตุอย่างอื่นและความประสงค์เป็นอย่างอื่น หาได้เกี่ยวแก่เรื่องกำจัดพวกเม่งจูไม่

ประเทศสยามนี้จีนย่อมนิยมกันแต่ไรมา ว่าเป็นที่หาทรัพย์ได้ง่ายทั้งรัฐบาลและชาวเมืองก็ไม่รังเกียจจีน เพราะฉะนั้นพวกจีนชาวเมืองทางฝ่ายใต้ที่อัตคัดขัดสน จึงมักพากันมาหากินในประเทศสยาม ที่มาหาทรัพย์สินพอแก้อัตคัดได้ แล้วกลับไปก็มี บางคนมาได้ความสุขสบายเกินคาดหมายเลยทิ้งเมืองจีนมาตั้งภูมิลำเนาเป็นชาวสยาม ได้ไทยเป็นภรรยา เกิดลูกหลานในเมืองไทยก็มี จีนในประเทศสยามจึงผิดกันเป็น 2 ชนิด คือ จีนซึ่งแรกมาหรือไปๆ มาๆ ไม่อยู่ประจำ เรียกว่า "จีนใหม่" ชนิด 1 จีนซึ่งมาตั้งภูมิสถานอยู่ในประเทศสยามเป็น "จีนเก่า" ชนิด 1 

ก็ธรรมดาชนชาติจีนนั้นย่อมมีอุปนิสัยฉลาดในการหาทรัพย์สินยิ่งกว่าไทย หรือจะว่าฉลาดในการนั้นยิ่งกว่ามนุษย์ชาติอื่นๆ หมดก็ว่าได้ จีนที่เข้ามาอยู่เป็นชาวสยามจึงมักได้เป็นคฤหบดี หรือแม้อย่างต่ำก็สามารถทำมาหากินเป็นอิสระแก่ตนได้โดยมาก พวกจีนที่เข้ามาใหม่ยังไม่รู้เบาะแสและขนบธรรมเนียมบ้านเมือง ก็อาศัยมากินกับพวกจีนเก่า จึงมีจีนทั้งสองอยู่ด้วยกันทุกตำบลที่จีนตั้งทำมาหากิน ทั้งที่ในกรุงและหัวเมือง เป็นเช่นนี้มาแต่โบราณ

การที่จีนตั้งสมาคมลับเป็นตั้วเหียในประเทศสยาม ปรากฏขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ 3 พิเคราะห์ดูเหตุการณ์ในสมัยนั้น เหตุว่าน่าจะเป็นด้วยเรื่องรัฐบาลจับฝิ่น เป็นมูลเหตุให้พวกจีนตั้งตั้วเหีย คือเดิมพวกจีนเอาฝิ่นเข้ามาสูบแล้วพาให้ไทยแอบสูบฝิ่นขึ้นบ้าง จึงมีพระราชกฤษฎีกาตั้งไว้แต่โบราณ ห้ามมิให้ใครสูบฝิ่นหรือเอาฝิ่นเข้ามาในประเทศสยาม แม้เช่นนั้นจีนก็ยังลักลอบเอาฝิ่นเข้ามา และไทยที่สูบฝิ่นก็มีอยู่เสมอ แต่ไม่สู้มาก 

ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อทางเมืองจีนเกิดมีพวกฝรั่งกับจีนคบคิดกันค้าฝิ่นแพร่หลาย (ดังกล่าวมาแล้วในตอนที่ 10) พวกจีนที่เข้ามาหากินในเมืองไทย เป็นคนสูบฝิ่นติดมาจากเมืองจีนมากขึ้น หรือถ้าพูดกันอีกนัยหนึ่ง คือความต้องการฝิ่นเกิดมีมากขึ้นในประเทศนี้ ก็มีจีนเอาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น  เลยเป็นปัจจัยชักจูงให้ไทยทั้งที่บรรดาศักดิ์สูงและต่ำพากันสูบฝิ่นมากขึ้น 

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับพวกค้าฝิ่นเอาตัวมาลงพระราชอาญา กวดขันขึ้นตั้งแต่ปีกุน พ.ศ.2382 ก็แต่ธรรมดาการสูบฝิ่นนั้น เมื่อสูบติดแล้วยากที่จะละได้ และการค้าฝิ่นพวกจีนก็ได้กำไรมากครั้นมีการตรวจจับกวดขัน จะเอาฝิ่นซ่อนในเรือสำเภาเข้ามาในกรุงเทพฯ ไม่ได้สะดวกดังแต่ก่อน จีนจำพวกที่ค้าฝิ่นก็ไปคบคิดกันกับพวกจีนซึ่งออกไปตั้งหากินอยู่ตามหัวเมือง ทางปากอ่าวและชายทะเล ให้เป็นลูกช่วงรับฝิ่นขึ้นจากเรือสำเภาตามชายทะเล แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ การที่ทำอย่างนั้นจำต้องลักลอบซ่อนเร้น และต้องมีสมัครพรรคพวกที่ไว้วางใจช่วยกันทุกระยะทาง

 จึงเอาวิธีตั้วเหียมาตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับสำหรับค้าฝิ่น หัวหน้ามักเป็นจีนเก่า มีจีนใหม่เป็นพรรคพวกมากบ้างน้อยบ้างทุกแห่ง ครั้นตั้วเหียมีกำลังมากขึ้นก็กำเริบ บางแห่งเลยประพฤติเป็นโจรสลัดตีเรือและปล้นสะดม บางแห่งก็ต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งไปตรวจจับฝิ่นจนเป็นการใหญ่โต ถึงต้องรบกันที่เมืองนครไชยศรี เมื่อปีมะแม พ.ศ.2390 ครั้งหนึ่ง และในปีต่อมาพวกจีนตั้วเหียที่เมืองฉะเชิงเทรากำเริบถึงเป็นกบฏ ยิงผู้ว่าราชการเมืองตายแล้วเข้ายึดเอาป้อมไว้เป็นที่มั่น ต้องยกกองทัพออกไปปราบปราม แต่การปราบปรามครั้งนั้นฆ่าจีนเสียมาก แต่นั้นพวกจีนตั้วเหียก็เข็ดขยาด ไม่กล้าสู้อำนาจรัฐบาลเป็นการสงบมาคราวหนึ่ง

ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า ที่การห้ามฝิ่นกวดขันเมื่อในรัชกาลที่ 3 ไม่เป็นผลดีได้ดังปรารถนา เพราะฝิ่นก็ยังเข้าเมืองอยู่เสมอ คนสูบฝิ่นก็ไม่น้อยลง ลำบากเปล่าๆ ให้เปลี่ยนวิธีจัดการเรื่องฝิ่นเป็นอากรผูกขาดของรัฐบาลเมื่อปีกุน พ.ศ.2394  คือรัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มจำหน่ายให้จีนซื้อไปสูบได้ตามใจชอบ คงห้ามแต่ไทยไม่ให้สูบฝิ่น ตั้งแต่จัดการเช่นนั้นก็กลับได้เงินผลประโยชน์แก่แผ่นดินมากขึ้น และการตรวจจับฝิ่นก็ได้ไม่ต้องลำบากมากเหมือนแต่ก่อน แต่การที่พวกจีนเข้ามาเป็นสมาคมตั้วเหียก็ยังไม่สูญสิ้นไป 

มาถึงชั้นนี้ความมุ่งหมายของพวกตั้วเหียแปรไปเป็นต่อสู้เจ้าภาษีนายอากร ซึ่งเป็นจีนด้วยกันเอง เพราะตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 2 มา มีอากรตั้งขึ้นใหม่หลายอย่างและการเก็บอากรซึ่งจัดขึ้นในสมัยนั้น ใช้วิธีเรียกประมูล ถ้าผู้ใดรับทำอากรอย่างใด โดยสัญญาว่าจะส่งเงินหลวงได้มากกว่าเพื่อน ก็ตั้งให้ผู้นั้นเป็นเจ้าภาษีนายอากรอย่างนั้น มีกำหนดหนึ่งปีหรือกว่านั้นตามสมควรเก็บ จีนฉลาดในกระบวนแสวงหาทรัพย์สิน รู้จักคิดต้นทุนกำไรดีกว่าไทย การประมูลภาษีอากรจึงได้แก่จีนแทบทั้งหมด ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าภาษีอากรมักเป็นจีนเก่าหรือชั้นลูกจีนอยู่ในประเทศนี้ ซึ่งมีพรรคพวกมากและรู้ขนบธรรมเนียมเข้ากับไทยได้สนิทสนมถึงได้มียศศักดิ์เป็นขุนนางก็มี ก็แต่การเสียภาษีอากรนั้นราษฎรย่อมมิใคร่พอใจจะเสีย หรืออยากเสียแต่น้อยที่สุดอยู่เป็นธรรมดา 

ฝ่ายข้างเจ้าภาษีนายอากรสิได้รับสัญญาว่าจะส่งเงินหลวงให้มากกว่าเพื่อน ถ้าเก็บเงินได้น้อยไปก็เป็นภัยแก่ตน (ด้วยในสมัยนั้น กฎหมายยังอนุญาตให้จำลูกหนี้เร่งเงินจนกว่าจะได้) ถ้าเก็บเงินได้ยิ่งมากยิ่งเป็นประโยชน์แก่ตน ก็เป็นธรรมดาที่จะพยายามและใช้อุบายต่างๆ เรียกเร่งเอาเงินราษฎรให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะพึงเรียกได้แม้โดยมิเป็นธรรม ราษฎรที่เป็นไทยไม่สู้จะเดือดร้อนด้วยมักทำมาหากินแต่พอเลี้ยงชีพ ไม่มีสมบัติวัตถาซึ่งเจ้าภาษีนายอากรจะเรียกได้เท่าใดนัก แต่พวกจีนที่มาตั้งทำมาหากินอยู่ในเมืองไทยมุ่งหมายที่จะสะสมทรัพย์สินเป็นสำคัญ มีตัวเงินซึ่งจะเรียกได้มากกว่าราษฎรที่เป็นไทย 

พวกจีนจึงได้ความเดือดร้อนจากเจ้าภาษีนายอากรยิ่งกว่าไทย ร้องฟ้องในโรงศาลก็เสียเปรียบ ด้วยเจ้าภาษีนายอากรเป็นเจ้าพนักงานทำการให้รัฐบาลด้วยเหตุนี้พวกจีนจึงยังอาศัยการตั้งตั้วเหียเป็นกำลังกีดกันการเบียดเบียนของเจ้าภาษีนายอากร แต่ที่ในกรุงเทพฯ ไม่ใคร่มีเหตุ เพราะพวกจีนมักพึ่งพำนักอยู่ในเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่คุ้มครอง มักเกิดวิวาทกับพวกเจ้าภาษีนายอากรแต่ตามหัวเมือง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริแก้ไขด้วยพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง คือในหัวเมืองใดมีจีนอยู่มาก เช่น เมืองนครไชยศรีเป็นต้น โปรดฯ ให้เลือกคฤหบดีจีนซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มีผู้คนนับถือมาก ตั้งให้มีตำแหน่งเป็นกรรมการ บางเมืองให้มียศถึงเท่ากับปลัด มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน ช่วยระงับความทุกข์และทำนุบำรุงพวกจีนในเมืองนั้นๆ เหตุการณ์เรื่องตั้วเหียในหัวเมืองก็สงบไปได้อีกคราวหนึ่ง

มาถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เกิดตั้วเหียขึ้นอีก แต่คราวนี้เกิดทางหัวเมืองชายทะเลตะวันตก คือที่เมืองภูเก็ตเป็นต้น ด้วยตั้งแต่ดีบุกขึ้นราคาก็มีการขุดหาแร่ดีบุกกันในแหลมมลายู แพร่หลายทั้งในแดนอังกฤษและแดนไทย อาศัยเมืองสิงคโปร์และเมืองเกาะหมากเป็นตลาดขายดีบุกไปต่างประเทศ การขุดหาดีบุกในสมัยนั้น พวกจีนทำทั้งนั้น จีนที่มีทุนรอนเป็นเถ้าแก่หาจ้างจีนเลวในเมืองจีนมาเป็นแรงงาน แต่ละแห่งมีจำนวนมากนับด้วยร้อยและพัน เพื่อประโยชน์ในการเรียกหาว่าจ้างและปกครองจีนเลวที่ทำเหมืองดีบุกครั้งนั้น 

พวกจีนที่เหมืองในแดนอังกฤษคิดตั้งสมาคมขึ้นก่อน เรียกกันว่า "ยี่หิน" สมาคม 1 "ปูนเถ้าก๋ง"  สมาคม 1 ในชั้นแรกก็เป็นทำนองสมาคมอย่างเปิดเผยจีนทำงานของพวกสมาคมไหน หัวหน้าสมาคมนั้นก็เป็นผู้ควบคุมทำนุบำรุง การตั้งสมาคมทั้ง 2 นั้นแพร่หลายมาจนถึงในแดนสยาม เจ้าเมืองกรมการเห็นเป็นการดีก็อุดหนุน และพวกหัวหน้าสมาคมเข้ามาหาเสนาบดีในกรุงเทพฯ ก็ได้รับความยกย่องคล้ายกับเป็นกรมการจีน ก็แต่ลักษณะที่จีนควบคุมกันเป็นต่างพวกเช่นนั้น เป็นธรรมดามิเร็วก็ช้า ย่อมเกิดเหตุ 2 อย่าง คือ พวกจีนที่มีกำลังมากมักแย่งผลประโยชน์ของพวกที่มีกำลังน้อยอย่าง 1 และจีนที่อยู่ต่างพวกเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเป็นส่วนตัวแล้ว เลยเอาพรรคพวกมาทำร้ายกันอย่าง 1 เพราะเหตุเป็นดังกล่าวมา

สมาคมทั้งสองนั้นจึงกลายเป็นตั้วเหีย และมักวิวาทกันเนืองๆ ทั้งที่ในแดนอังกฤษและแดนไทย ว่าเฉพาะในแดนไทย ถึงเกิดเหตุใหญ่โตที่เมืองภูเก็ตเมื่อปีเถาะ นพศก พ.ศ.2410 ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ 4 ปี 1 จีนพวกยี่หินกับพวกปูนเถ้าก๋งเกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งน้ำที่จะไขมาทำเหมืองล้วงแร่ดีบุก แล้วเลยยกพวกตั้งพันเข้ารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่ไหว ด้วยไม่มีกำลังพอจะต่อสู้ตั้วเหียก็ได้แต่บอกเข้ามายังกรุงเทพฯ  

ครั้งนั้นโปรดฯ ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน เป็นข้าหลวงออกไปเกณฑ์กำลังตามหัวเมืองที่ใกล้เคียงไปปราบพวกตั้วเหียที่เมืองภูเก็ต แต่พวกหัวหน้าตั้วเหียทั้ง ๒ ฝ่ายอ่อนน้อม รับสารภาพผิด ไม่ต่อสู้ เจ้าพระยาภาณุวงศ์จึงพาตัวพวกหัวหน้าฝ่ายละ 9 คน เข้ามากรุงเทพฯ  รัฐบาลยอมภาคทัณฑ์ เป็นแต่บังคับให้ถือน้ำกระทำสัตย์สัญญาว่าจะไม่กบฏคิดร้ายต่อแผ่นดิน หรือก่อการกำเริบต่อไป แล้วปล่อยตัวกลับออกไปควบคุมผู้คนทำเหมืองอยู่อย่างเดิม

ที่ในกรุงเทพฯ นี้ ก็มีมูลเหตุที่จะเกิดตั้วเหียขึ้นอีกแต่ในตอนปลายรัชกาลที่ 4 ด้วยมีภาษีอากรตั้งขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง โดยจำเป็นต้องหาเงินสำหรับจ่ายใช้ราชการแผ่นดิน ทดแทนจำนวนเงินที่ขาดไป เพราะทำหนังสือสัญญาการค้าขายกับต่างประเทศ ต้องเลิกการปิดซื้อปิดขายหลายอย่าง อันเคยได้ผลประโยชน์แผ่นดินมาแต่ก่อน การเก็บภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น ก็ใช้วิธีให้ประมูลกันเป็นเจ้าภาษีนายอากรดังกล่าวมาแล้ว และจีนประมูลได้ทั้งนั้น แต่มาถึงสมัยนี้พวกจีนที่มีทุนรอนพาหนะมาก มักรับทำแต่ภาษีอากรที่เป็นรายใหญ่ เช่น ภาษีฝิ่นและสุราเป็นต้น 

ส่วนภาษีอากรที่ไม่สำคัญและเงินน้อย แต่มีมากอย่างกว่ารายใหญ่ มักได้แก่จีนขั้นต่ำลงมา เกิดมีพวกจีนชั้นคฤหบดีที่หากินในการทำภาษีอากรขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ยังในสมัยนั้นประจวบเวลาการค้าขายในประเทศสยามกำลังเจริญ เกิดมีโรงจักรสีข้าวและเลื่อยไม้มีเรือลำเลียงสินค้า และมีการก่อสร้างต่างๆ  อันต้องการแรงงานทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็มีจีนใหม่เข้ามาหากินในการับจ้างเป็นแรงงาน ซึ่งมักเรียกกันว่า "จับกัง" หรือ "กุลี" มีจำนวนจีนมากขึ้นทุกที มาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มากที่ ออกไปตั้งทำมาหากินหรือไปรับจ้างเป็นแรงงานอยู่ตามหัวเมืองก็มากขึ้นกว่าแต่ก่อน 

ก็เกิดมีจีนหัวหน้าขึ้นอีกจำพวกหนึ่ง เรียกกันว่า "เถ้าเก" ทำการงานอันมีพวกกุลีอยู่ในปกครองมากบ้าง น้อยบ้าง จีนจำพวกที่หากินในการรับประมูลทำภาษีอากรก็ดี จีนจำพวกที่เป็นเถ้าเกคุมกุลีรับการทำงานก็ดี มักแย่งผลประโยชน์กัน เช่น แย่งประมูลภาษีอากรและแย่งงานกันทำเป็นต้น ต่างก็คิดเอาเปรียบกัน ด้วยอุบายต่างๆ การตั้งตั้วเหียเป็นอุบายสำคัญอย่างหนึ่งของพวกจีนจำพวกเหล่านั้น  เป็นต้นว่า ถ้าผู้เป็นหัวหน้าตั้วเหียเข้าว่าประมูลภาษีอากร ผู้อื่นก็มิใคร่กล้าแย่ง ด้วยเกรงตั้วเหียซึ่งเป็นพรรคพวกอยู่ในท้องที่จะรังแก ถ้าผู้ซึ่งไม่ได้เป็นตั้วเหียจะเข้าว่าประมูลก็จำต้องไปว่ากล่าวขอร้อง หรือยอมแบ่งผลประโยชน์ให้พวกตั้วเหียอย่าให้เกะกะกีดขวาง เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ตั้วเหียอย่างหนึ่ง 

จึงเริ่มเกิดตั้วเหียขึ้นอีกหลายพวกหลายเหล่า แต่ยังไม่ทันปรากฏเหตุการณ์เมื่อในสมัยรัชกาลที่ 4  แต่มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐาน ว่ารัฐบาลได้ปรารภอยู่แล้วแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าการปกครองจีนในประเทศสยามนี้อาจจะมีความลำบากเกิดขึ้นใหม่จากจีน 2 จำพวก คือ จีนในบังคับฝรั่งต่างประเทศ เรียกในสมัยนั้นว่า "ในร่มธง" หรือ "สัปแยก" จำพวก 1 กับจีนตั้วเหียจำพวก 1 เหตุด้วยจีนในบังคับต่างประเทศมีกงสุลคอยอุดหนุนให้ได้เปรียบจำพวกอื่น และรัฐบาลในบ้านเมืองจะบังคับบัญชาก็ไม่ได้เหมือนกับราษฎรทั้งปวง 

ส่วนพวกตั้วเหียนั้นก็ย่อมอาศัยตั้งพวกประพฤติในทางพาล ถ้ามีกำลังมากขึ้นก็อาจจะเป็นศัตรูเกิดขึ้นภายในบ้านเมือง ก็จีนที่มายังประเทศนี้โดยมากมีแต่มุ่งหมายมาหากิน มิได้รู้สึกตัวว่าเป็นชาวเมืองไทย ได้เปรียบแก่ตนทางไหนก็ไปทางนั้น อาจจะเกิดนิยมไปแอบอิงอาศัยอำนาจฝรั่งหรือเข้าเป็นพวกตั้วเหีย เป็นความลำบากแก่รัฐบาลทั้ง 2 อย่าง ดูเหมือนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะได้ลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่า ควรดำเนินตามทางพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทำนุบำรุงพวกจีนทั้งปวงอันเป็นหมู่มากให้รู้สึกว่าได้รับความอุปถัมภ์บำรุงของรัฐบาล ไม่จำต้องอาศัยอำนาจฝรั่งหรือเป็นตั้วเหีย เพราะฉะนั้นพอขึ้นรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประกาศตั้งศาลสำหรับชำระความจีน เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะโรงฯ กล่าวความในบานแผนกเบื้องต้น.
-------
อ้างอิง: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 กรมศิลปากร
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"