คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน ร่วมงานประชุมเปิดตัวโรดแมป 20 ปี อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
การบูมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการขยายตัวของเมือง โดยขาดการกำหนดและวางแผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่า เมืองโบราณ ตลอดจนแหล่งโบราณคดี ในระยะยาวจะส่งผลต่อการสูญเสียมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศ โดยไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ เหตุนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้ออก โรดแมปการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมแห่งชาติ ระยะ 20 ปี (2561-2580) เพื่อเป็นกรอบทิศทางขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเลือกใช้โรงภาพยนตร์สกาลา สยามสแควร์ กรุงเทพฯ โรงภาพยนต์ประวัติศาสตร์ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนจะรื้อทุบอาคารเก่าแล้วสร้างของใหม่ เป็นสถานที่จัดเผยแพร่ผลการศึกษาโรดแมปครั้งนี้ โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. เป็นประธาน
ประชุมเผยแพร่โรดแมปและยุทธศาสตร์งานอนุรักษ์ภายในสกาลา
สุกัลยา ปัณฑะจักร์ ผู้อำนวยการกองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สผ. กล่าวว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเผชิญความเสื่อมโทรมทั้งจากภัยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ แม้ได้ทำงานป้องกันและแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจัดทำแผนแม่บท แผนพัฒนาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม รวมทั้งการประกาศแหล่งธรรมชาติและแหล่งศิลปกรรมควรอนุรักษ์ 263 แหล่ง แต่ก็ยังพบว่ามีการทำลายและได้รับผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงนำแหล่งมรดกเป็นฐานทรัพยากรส่งเสริมการท่องเที่ยว สผ.จึงจัดทำโรดแมประยะ 20 ปีขึ้น เพื่อสร้างยุทธศาสตร์ แผนที่นำทาง และแผนแม่บท โดยมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นที่ปรึกษาโครงการ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับภาค ระดับผู้เชี่ยวชาญ และระดับประเทศ เมื่อแล้วเสร็จจึงเผยแพร่โครงการผ่านนิทรรศการและการเสวนา หวังสร้างความร่วมมืองานอนุรักษ์ในทิศทางเดียวกัน
" ในโรดแมปมี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ อนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์สมดุล โดยประชาชนมีส่วนร่วม ทำคลังข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data, การพัฒนาคนทุกระดับให้ตระหนักรักษาสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม โดยเฉพาะเด็กเยาวชน สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ เพิ่มความเข้มแข็งและประสิทธิภาพการจัดการ มีโมเดลด้านการเงินหรือแหล่งทุนสนับสนุน" สุกัลยา กล่าว
โบราณสถาน หนึ่งในแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
การทบทวนทิศทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม ไม่ให้เกิดการทำลายแหล่งมรดกซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นอีกประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนผ่านวงเสวนาหัวข้อ "อนาคตงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมจะเดินหน้าอย่างไรในอีก 20 ปี" โดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมเสวนาด้วย
คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นข้าราชการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จากประสบการณ์ทำงานอนุรักษ์โบราณสถาน และโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวนสถานมงคล หรือวังหน้า พบว่าปัญหาและอุปสรรคหลัก คือจิตใจของคน เรามองประวัติศาสตร์อย่างไร คนรอบแหล่งโบราณคดี คนที่เข้าพื้นที่เมืองโบราณ ชุมชนเก่า คิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวหรือเปล่า
"เราลืมกัน มัวแต่บูรณะอาคารสิ่งก่อสร้าง แต่สถาปัตยกรรมไทยมีความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง เราหลงลืมไม่ได้ว่าสร้างเพื่ออะไร สร้างเพื่อใคร เพราะแม้จะบูรณะฟื้นฟูให้สมบูรณ์เหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว แต่ถ้าคนไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ คุณค่าของแหล่งโบราณสถานจะปกป้องเพื่ออะไร ในแผนการอนุรักษ์ควรเน้นมาก ทำให้คนเข้าใจประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่ตาย เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับปัจจุบัน โดยไม่ลืมอดีต จะทำให้ประวัติศาสตร์แต่ละพื้นที่มีชีวิตได้อย่างไร สร้างบทสนทนาร่วมสมัยผ่านกิจกรรมและเครื่องมือต่างๆ เช่น ดนตรี, การแสดง หรือภาพถ่าย" คุณใหม่ สิริกิติยา กล่าว
การผลักดันให้แหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมีพิพิธภัณฑ์ เป็นอีกประเด็นที่คุณใหม่ สิริกิติยา เสนอ โดยชี้ว่า การมีพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและศูนย์ข้อมูลอยู่ในพื้นที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ เมืองประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี วัด จะทำให้การอนุรักษ์ดีขึ้น ในส่วนของชุมชนเก่า ย่านเก่า อาคารอนุรักษ์ที่ไม่มีขึ้นทะเบียนโบราณสถาน รัฐต้องมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนหรือท้องถิ่นดูแลรักษา มีเครื่องมือและงบอุดหนุนบางส่วน รวมถึงให้ความรู้ในการดูแลอาคารอนุรักษ์ เช่น การซ่อมแซมเรือนไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเทคนิคหรือวิธีการเฉพาะ ไปตำหนิชุมชนไม่ดูแล ไม่ปกป้อง เราหวังกับชุมชนได้อย่างไร ถ้าไม่ให้โอกาสและสนับสนุน รวมถึงมีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือทำโปรเจ็กต์เล็กๆ ให้คนได้เห็น
ศูนย์ข้อมูลชุมชนเก่าท่าอุเทน เครื่องมือสร้างความเข้าใจคุณค่า
ท่าอุเทนต้นแบบท้องถิ่นลุกขึ้นสู้รักษาเมืองเก่า กานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศมนตรีตำบลท่าอุเทน กล่าวว่า ท่าอุเทนเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.นครพนม มีแนวชายแดนติดกับลาว ชุมชนเดิมมีรากเหง้าจากเมืองไซยบุรี หลวงพระบาง มีตลาดนัดชายแดนที่ชาวลาวข้ามแม่น้ำโขงมาค้าขายกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบสานมา ปัจจุบันเมืองท่าอุเทนครบ 182 ปี มีการขึ้นทะเบียนย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน เป็นบ้านไม้ 47 หลัง อายุ 80-100 ปี อีกทั้งเปิดศูนย์ข้อมูลชุมชนเก่าท่าอุเทน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บ้านไม้หายไป 2 หลัง เพราะมีคนซื้อและรื้อสร้างอาคารใหม่ เป็นอีกอุปสรรค เพราะท้องถิ่นไม่มีเครื่องมือ รัฐต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม งานอนุรักษ์จะสำเร็จถ้าผู้นำท้องถิ่น ครู ผู้นำทางศาสนา ชาวบ้านในพื้นที่ และข้าราชการทำงานทิศทางเดียวกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |