สภาองค์กรชุมชน-ชาวชุมชนคลองเตย  26   ชุมชนจัดเวทีประชาชน เชิญการท่าเรือฯ ชี้แจงโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่รองรับชาวบ้านกว่า 13,000 ครอบครัว


เพิ่มเพื่อน    

 

ตามที่รัฐบาลโดยนายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี  มีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตยให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ   โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนแม่บท (master plan) การพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ  เนื้อที่  2,353 ไร่  ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนงาน 

ขณะเดียวกันก็มีโครงการ Smart  Community เพื่อรองรับชาวชุมชนคลองเตยที่อยู่อาศัยในพื้นที่การท่าเรือประมาณ 13,000 ครอบครัว  ซึ่งจะต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม  โดยมีข้อเสนอ 3 แนวทางให้ชาวชุมชนเลือก  คือ 1.รื้อย้ายแล้วเข้าอยู่ในอาคารสูงที่การท่าเรือจะสร้างให้  2.ย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณหนองจอก  และ3.รับเงินชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่  โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา  แต่ชาวชุมชนคลองเตยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลและรายละเอียดของโครงการ

เปิดเวทีประชาชนโครงการ Smart  Community

            ล่าสุดวันนี้สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยและตัวแทนชาวชุมชนคลองเตยได้ร่วมกันจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น  ข้อเสนอของภาคประชาชน  โดยเชิญผู้แทนการท่าเรือกรุงเทพมาชี้แจงโครงการ Smart  Community ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์วัดสะพาน  เขตคลองเตย  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย   แกนนำชาวชุมชน  ชาวคลองเตย  นักวิชาการ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมประมาณ 250 คน

              นายเดชา  นุชพุ่ม  ผู้อำนวยการกองบริหารสินทรัพย์  การท่าเรือแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  การท่าเรือมีข้อเสนอ 3 แนวทางสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ของการท่าเรือ  คือ 1.ย้ายเข้าอยู่อาศัยในอาคารสูงหรือคอนโดมิเนียม  ขนาดพื้นที่ห้องละ 33 ตารางเมตร  โดยจะใช้พื้นที่บริเวณโรงงานฟอกหนังของกระทรวงกลาโหม (อยู่ตรงข้ามวัดสะพาน) ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว  พื้นที่ประมาณ  58 ไร่  สร้างเป็นที่พักขนาด 30 ชั้น   จำนวน 4 อาคาร   อาคารละ 1,700  ห้อง  สามารถรองรับชาวชุมชนได้กว่า 6,000   ครอบครัว  รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ  โรงเรียน  และมูลนิธิต่างๆ ที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในที่ดินแปลงนี้ด้วย

              2.สำหรับชาวชุมชนที่ไม่ต้องการอยู่อาคารสูง  สามารถย้ายไปสร้างบ้านและชุมชนใหม่ในที่ดินของการท่าเรือบริเวณเขตหนองจอก  กรุงเทพฯ (ห่างจากท่าเรือคลองเตยประมาณ 33 กิโลเมตร) เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 220 ไร่ เป็นที่ดินถมแล้ว  มีถนน  ไฟฟ้า  ประปาเข้าถึง  และสาธารณูปโภคต่างๆ รองรับ  รวมทั้งโรงเรียน  ตลาด  ฯลฯ  ขนาดเนื้อที่ 19.5 ตารางวาต่อครอบครัว  และ 3.ขอรับเงินค่าชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่

ส่วนแผนการดำเนินการนั้น  ผู้อำนวยการกองบริหารสินทรัพย์ฯ กล่าวว่า  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ TOR (ข้อกำหนดการว่าจ้าง) เพื่อให้ผู้รับจ้างซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา  ทำการสำรวจข้อมูลต่างๆ  เพื่อนำไปประกอบการจัดทำโครงการ Smart  Community  เช่น  สำรวจจำนวนข้อมูลครัวเรือนที่แท้จริง  จำนวนผู้สูงอายุ  จำนวนผู้ป่วยติดเตียง  ฯลฯ  เพื่อนำมาประกอบการจัดทำโครงการให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนคลองเตย 

              “ข้อมูลที่นำมาชี้แจงกับชาวคลองเตยในวันนี้  ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นหรือเป็นกรอบในการดำเนินการ  ส่วนแผนการจริงจะต้องรอผลการสำรวจข้อมูลชุมชนต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อน  เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนและโครงการ  และคาดว่าการสำรวจข้อมูลและจัดทำโครงการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นี้  หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2563  การท่าเรือจะส่งแผนงานให้กระทรวงคมนาคมเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป”  ผอ.กองบริหารสินทรัพย์ชี้แจง  และกล่าวย้ำว่า  โครงการนี้การท่าเรือไม่ได้มาไล่รื้อชาวบ้าน  แต่จะมาช่วยพัฒนาที่อยู่อาศัย  และชุมชนจะต้องเจริญไปพร้อมกับการท่าเรือ

เสียงจากประชาชนและนักวิชาการ

              ขณะเดียวกันผู้แทนชาวชุมชนคลองเตยได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ  เช่น  เสนอให้ตัวแทนชาวชุมชนเข้าร่วมสำรวจข้อมูล  เพราะคนในชุมชนจะรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงดีกว่าบุคคลภายนอก  เสนอให้การท่าเรือให้สิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกเยอะ  หรือเป็นครอบครัวขยาย  รวมทั้งคนที่เช่าบ้านอยู่เป็นเวลานานหลายปีแต่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในชุมชน

              นางประไพ  สานุสันต์  ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  กล่าวว่า  ตนอยากให้การท่าเรือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูล  และเสนอความต้องการของชาวบ้าน  เพราะที่ผ่านมาการท่าเรือเคยสร้างแฟลตให้ชาวคลองเตยเข้าไปอยู่แล้ว  แต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่  เพราะห้องมีขนาดกว้างเพียง 28 ตารางเมตร  ขณะที่คนคลองเตยมีขนาดครอบครัวใหญ่  อยู่อาศัยกันไม่พอในห้องแคบๆ  

“ตอนนี้แฟลตที่สร้างเอาไว้ 4 ตึก  ประมาณ 600 ห้อง  กลายเป็นแฟลตร้างมานานประมาณ 15 ปี   เพราะการท่าเรือไม่เคยถามความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้านก่อน   ฉะนั้นโครงการใหม่นี้การท่าเรือควรจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการด้วย”  ประธานสภาฯ กล่าว

นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยยังได้ออกแถลงการณ์ในกรณีดังกล่าว  โดยมีสาระสำคัญ  เช่น  การท่าเรือแห่งประเทศไทย   มีแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  มีการตั้งคณะกรรมการ 1 คณะและคณะทำงาน 3 คณะ  ซึ่งแต่ละคณะมีประธานกรรมการชุมชน ผู้แทนองค์กร สหกรณ์ ในพื้นที่ร่วมด้วย  แต่มีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง  เป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน  เนื่องจากไม่ได้มีมติเห็นชอบจากที่ประชุมทั้ง 4 คณะ  และไม่ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ  รับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชน 

รูปแบบอาคาร   ขนาดห้องพักที่มีเพียงขนาดเดียวของโครงการฯ  อาจตอบสนองการอยู่อาศัยของคนบางกลุ่ม

ซึ่งมีจำนวนน้อย    แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่และจำนวนสมาชิกในครอบครัวของชาวชุมชนจำนวนมาก ยังมิต้อง

พูดถึงการที่ชาวชุมชนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้น

 

“สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  ขอให้ทบทวนโครงการ Smart Community  และขอเสนอแนวทาง

กระบวนการทำงานกับชุมชน  โดยได้จัดทำข้อมูล  กระบวนการทำงาน  การออกแบบ  รูปแบบอาคาร  และห้องพัก

เป็นวิดีทัศน์  เอกสาร   เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกระบวนการ  ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ วิถีชีวิต อาชีพ รายได้ของชาวชุมชน  ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง” แถลงการณ์ระบุ      

                                   

ทางด้านนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น  เช่น  เสนอให้การท่าเรือแบ่งพื้นที่ประมาณ 5-10 ไร่มาให้ชาวคลองเตยได้สร้างธุรกิจ  สร้างรายได้  เช่น  ทำตลาดนัด  เพราะพื้นที่คลองเตยถือเป็นทำเลทอง  มีพื้นที่มากกว่า 2,300  ไร่  และเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเพราะมีประชากรนับแสนคน  ถือเป็นเมืองขนาดใหญ่  ดังนั้นหากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นหรือร่วมออกแบบผังชุมชนก็จะทำให้พื้นที่คลองเตยเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์  ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานรัฐหรือนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนเท่านั้น

เมกกะโปรเจ็คท์แสนล้านบาท !!

โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเชิงธุรกิจมีแผนดำเนินการมานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี  นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ  เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล  โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพก็จะถูกพับไปด้วย  เช่นเดียวกับแผนการพัฒนาท่าเรือในขณะนี้ที่ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง Master Plan 

 การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพในเบื้องต้นจะแบ่งพื้นที่การพัฒนาเป็น 3 โซน  ประกอบด้วย 1.โซนพื้นที่พัฒนาด้านการค้า  พัฒนาธุรกิจหลักการให้บริการของท่าเรือ  และพื้นที่พัฒนาเมือง  มูลค่าการลงทุน 23,853 ล้านบาท  โดยพื้นที่ด้านการค้าจะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี  เนื้อที่ 17 ไร่  ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน   ภายในอาคารประกอบด้วย  สำนักงาน  ศูนย์ฝึกอบรม  ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ  ศูนย์การประชุม  พื้นที่ค้าปลีกและธนาคารศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า เนื้อที่ 54 ไร่   อาคารสำนักงาน เนื้อที่ 126 ไร่

2.โซนพัฒนาธุรกิจ  หลักการให้บริการท่าเรือกรุงเทพฯ  จะปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่  เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี  พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ  เช่น  คลังสินค้าห้องเย็น  ฮาลาล  ลานบริหารจัดการรถบรรทุก  และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ  และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์  เพื่อระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพ

และ 3.โซนพื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ  ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ  มีโรงแรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

ทั้งนี้โครงการ  Smart  Community  ถือเป็นโครงการย่อย  หรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทดังกล่าว  โดยการท่าเรือมีพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่  ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ชุมชนอยู่อาศัยประมาณ 200 ไร่  จำนวน 26 ชุมชน   ประชากรประมาณ  85,000-100,000 คน  (จำนวนครัวเรือนประมาณ 13,000 ครอบครัว)  ส่วนใหญ่ไม่ได้เช่าที่ดินจากการท่าเรืออย่างถูกต้อง 

ชาวชุมชนคลองเตยรุ่นแรกๆ ปลูกสร้างบ้านเรือนมาพร้อมกับการเปิดกิจการท่าเรือในปี 2490  โดยเข้ามาเป็นกรรมกร  ขายแรงงานในท่าเรือ  และปลูกสร้างบ้านเรือนในที่รกร้างว่างเปล่าของการท่าเรือ  จนกลายเป็นชุมชนหนาแน่นในปัจจุบัน  เมื่อการท่าเรือมีโครงการพัฒนาพื้นที่จึงต้องโยกย้ายชุมชนเหล่านี้ขึ้นอาคารสูง  หรือย้ายไปปลูกสร้างบ้านในย่านหนองจอก  เพื่อเปิดพื้นที่ให้การท่าเรือนำที่ดินมาพัฒนาสร้างธุรกิจ  สร้างรายได้  มูลค่ารวมของโครงการคาดว่าไม่ต่ำกว่า  100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ทั้งนั้น  โครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่คงจะต้องรอดูผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด  จะสานต่อโครงการนี้หรือไม่  และโครงการ  Smart  Community  จะเดินต่อไปในทิศทางใด  การท่าเรือจะให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมตามข้อเรียกร้องหรือไม่ ?  เป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองกันต่อไป !!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"