สนช.ถอยกรูดร่างกม.ข้าว ผวาลาม!รอสภาฯชุดหน้า


เพิ่มเพื่อน    

    ไอ้เสือถอย! สนช.เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ข้าว รอรัฐบาลหยิบมาพิจารณาใหม่หลังถูกต่อต้านหนัก รับหวั่นเกิดความขัดแย้ง "ประยุทธ์" แจงรอทำความเข้าใจชาวนาเพิ่มเติม กันถูกนำไปบิดเบือน "อนุชา" ชื่นชมสปิริต สนช. ขณะที่ ปชป.ซัดนายกฯ เซ็นรับรองกฎหมายเข้าสภาเอง หากชาวนาไม่ร่วมกันต่อต้านคงผ่านสภาแน่
    ที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ตามระเบียบวาระจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... เป็นวาระแรก แต่ปรากฏว่าที่ประชุมได้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ขึ้นมาพิจารณาก่อน
    จากนั้นเวลา 10.35 น. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว แถลงว่า เราได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งสุดท้าย และมีความเห็นว่าสังคมไม่สบายใจ ไม่เข้าใจ และเกรงจะเกิดความขัดแย้ง จึงได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ร่างกฎหมายข้าวจะยังคงค้างอยู่ในสภา หากรัฐบาลหน้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งก็ได้ แต่ในส่วนของ สนช.จะไม่พิจารณาอีก 
    "ผมในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ ยืนยันว่ากฎหมายมีเจตนาดี และต้องการรักษาผลประโยชน์ของชาวนาและประเทศอย่างแท้จริง" นายกิตติศักดิ์ กล่าว   
    ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.ข้าว ว่าหลายฝ่ายมองว่าร่าง พ.ร.บ.ข้าวจำเป็นต้องมีเพื่อดูแลและให้ความสำคัญกับเกษตรกร โดยขณะนี้มีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบ ตนก้าวล่วงตรงนี้ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ สนช.เสนอขึ้นมา โดยวันนี้ตนได้รับรายงานจากสภาว่าขอชะลอเรื่องนี้ไปก่อน เพื่อไปทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพราะไม่ต้องการให้นำเรื่องนี้ไปบิดเบือน เพราะที่เข้าใจก็เยอะ และที่ไม่เข้าใจก็มาก โดยกฎหมายต้องเป็นอย่างนี้ และตนก็เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ไม่เข้าใจ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ตนสั่งการในที่ประชุม คสช.ให้ไปดูเรื่องการเก็บค่าเช่าที่ทำการเกษตรราคาสูงเกินจริง จะทำอย่างไรเพื่อลดต้นทุนการเช่าที่นาให้กับเกษตรกร และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันหาแนวทางลดราคาปุ๋ยที่ขึ้นกับกลไกทางการค้า รวมถึงไปดูว่าสามารถผลิตปุ๋ยสั่งตัดได้หรือไม่ ที่ไม่ใช้ปุ๋ยสำเร็จรูปทั้งหมด ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพดินทุกพื้นที่ว่าขาดธาตุอะไร ให้ปุ๋ยเฉพาะธาตุที่ขาด จะทำให้ต้นทุนราคาปุ๋ยลดลง ต้องมีปุ๋ยเฉพาะคือปุ๋ยสั่งตัดเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ 
    พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม.ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องที่ สนช.มีมติยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ข้าว ออกไป แต่นายกฯ เน้นย้ำมาตลอดว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนว่าทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ และนายกฯ ยืนยันว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ข้าวจะเกิดขึ้นเกษตรกรและชาวนาจะต้องได้ประโยชน์ เราสนับสนุนชาวนา อะไรที่จะเกิดขึ้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนาที่ปฏิบัติมาในอดีต
     ด้านนายอนุชา นาคาศัย ประธานยุทธศาสตร์การหาเสียงภาคกลาง และผู้สมัคร ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ สนช.ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด ว่า ต้องขอขอบคุณ สนช.ที่เล็งเห็นความสำคัญของร่างพ.ร.บ.ข้าว และให้ความสำคัญต่อข้อคิดเห็นและเสนอแนะของประชาชนและกลุ่มชาวนา เราทราบดีว่า สนช.มีเจตนาที่ดีกับพี่น้องเกษตรกรชาวนา แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีข้อเคลือบแคลงใจ ประชาชนยังสงสัยในหลายประเด็น และการที่ สนช.ไม่ฝืนพิจารณาร่างต่อไปถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง 
    "ต้องชื่นชมสปิริตของ สนช. ซึ่งหลังจากนี้เราต้องกลับมาพิจารณารายละเอียดในร่างกฎหมายกันอีกครั้ง ให้ทุกภาคส่วนทั้ง สนช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มชาวนา มาร่วมกันพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้เกิดความชัดเจนและออกมาดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เพราะจะเป็นผลดีกับภาคการเกษตรและชาวนาที่ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ" นายอนุชากล่าว
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า ขอขอบคุณนายพรเพชรที่ได้ทำตามหนังสือร้องเรียนของตนเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนกรณีที่นายอนุชา นาคาศัย แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ออกมาอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเซ็นรับรองกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ให้เข้า สนช.ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561
    “หากชาวนาไม่ร่วมใจกันต่อต้าน ร่างนี้ก็จะผ่านสภา สนช.ในวันนี้ ซึ่งเป็นเขียนกฎหมายลวกๆ แค่ 2-3เดือนแบบสุกเอาเผากินเหมือนร้านสะดวกซื้อ เพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่ และยิ่งมาอาศัยช่วงชุลมุนหาเสียงเลือกตั้ง เหมือนลักหลับเอากฎหมายเข้าสภาหวังผ่านง่ายๆ เหมือนหลายๆ ฉบับที่ผ่านมา” นายวัชระ กล่าว
    ก่อนหน้านั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้รอการเลือกตั้ง เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวมีประเด็นทักท้วงจำนวนมาก ทั้งในด้านการเสียโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรในหลายเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ รวมถึงความชัดเจนในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ส่งผลต่อการผูกขาด และการได้เปรียบเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม ถ้ากฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทางพรรคประชาธิปัตย์จะแก้ไขและปรับปรุงให้ดีกว่านี้ แต่นี่คือการสร้างปัญหาโดยใช่เหตุ และไม่ทราบถึงความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่จะต้องมีการออกกฎหมายในเวลานี้
    เมื่อถามว่า แปลกหรือไม่ที่พรรคพลังประชารัฐคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเป็นความสับสนหรือไม่ เพราะในการเสนอนายกรัฐมนตรีของ พปชร. ก็มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งยังบอกว่าจะสานต่องานของรัฐบาล ดังนั้นจึงแยกกันยากในเรื่องการบริหารราชการของรัฐบาลปัจจุบันและการทำงานของ พปชร.
    นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงนโยบายข้าวของ พปชร.ด้วยว่า รู้สึกค่อนข้างแปลกใจในนโยบายข้าวของ พปชร. ที่ไม่ว่าจะพยายามเขียนอย่างไร แต่หลักการหนีไม่พ้นจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลนี้เองรับทราบเป็นอย่างดีถึงความเสียหายจากนโยบายดังกล่าว การนำข้าวเข้ามาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เช่นหนึ่งหมื่นบาท และอ้างว่ากู้ยืม แต่ก็เขียนต่อท้ายว่าถ้าราคาไม่ถึงก็ไม่เป็นไร ซึ่งจะทำให้ ธ.ก.ส.มีภาระเรื่องระบายข้าวอีก แม้แต่พรรคเพื่อไทยยังระบุว่าเรียนรู้แล้วจากปัญหาในอดีต จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการเสนอแบบนี้อีก
    “ประชาธิปัตย์ชัดเจนว่าประกันรายได้ช่วยเหลือชาวนาได้ โดยไม่สร้างหนี้สินเหมือนจำนำข้าวที่ผ่านมา ไม่สร้างการทุจริต อีกทั้งยังไม่เป็นภาระในการสต๊อกข้าวและระบาย ไม่ทำลายกลไกการค้า” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"