สองนักออกแบบทีมมาวิน รั้วศิลปากร คว้าชนะเลิศกราฟิกเพื่อชุมชน
เรื่องราวของต่างๆ ของบ้านสวนมะม่วง อ.เมือง จ.ชลบุรี ทั้งวิถีชีวิต การทอผ้าสุดประณีต ขนมไทยสูตรดั้งเดิม หน้าบันของวัดใหม่เกตุงาม วัดเก่าแก่สองร้อยปี สองนักออกแบบรุ่นใหม่ นิธิพันธ์ ศิริรักษ์อธิกุล และชุติมดี จารุจินดา นักศึกษาภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ รั้วศิลปากร จากทีมมาวิน นำมาเป็นไอเดียตัดทอนเป็นลายเส้นใช้เป็นกราฟฟิกสวยๆ สำหรับตกแต่งตามผลิตภัณฑ์ สินค้าและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชนบ้านสวนมะม่วง พร้อมสโลแกน "ช็อป ชิม เชิญ เพลินวิถี” เป็นผลงานที่ปรับภาพลักษณ์สินค้าชุมชนให้ทันสมัย จนส่งให้ทีมมาวินพิชิตรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันโครงการ "ส่งเสริมและพัฒนางานเรขศิลป์” หรือชนช้างกราฟิก ปีที่ 4 : กราฟิกเพื่อชุมชน จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
ส่วนทีมธันวา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผลงานออกแบบกราฟิกเพื่อชุมชนบ้านหนองพลับ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่สะท้อนบุคลิกสนุกสนาน รักธรรมชาติของชาวหนองพลับก็น่าสนใจ คณะกรรมการให้คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 ถัดมาทีมโพดโพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมดวงดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รองอันดับ 3 การแข่งขันครั้งนี้มี 2 รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม one night มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมจ้วด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องปรบมือให้เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ทั้ง 6 ทีม ที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดชลบุรีพื้นที่เป้าหมายของโครงการด้วยไอเดียคนรุ่นใหม่
สองสาวทีมธันวา ม.อัสสัมชัญ นำบุคลิกชุมชนบ้านทองพลับ ออกแบบบรรจุภัณฑ์
วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีประสบการณ์ทำงานกับชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงานกราฟิกของศิลปินรุ่นใหม่ หวังให้เกิดการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของชุมชนโดยใช้งานกราฟิก จะช่วยสร้างรายได้ท้องถิ่นมากขึ้น มีผู้สนใจสมัคร 96 ทีมจากทั่วประเทศ คัดเข้ารอบออดิชั่น 13 ทีม และคัดรอบสุดท้ายเหลือ 6 ทีม ทั้ง 6 ทีม ได้อบรมและพัฒนาศักยภาพการออกแบบจากนักออกแบบมืออาชีพ 6 ครั้ง รวมทั้งลงพื้นที่ชุมชน 2 ครั้ง ไปศึกษาอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อออกแบบสินค้า รวมถึงจัดเส้นทางท่องเที่ยว สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ และนำผลงานลงสู่การฝึกฝนชุมชนให้สามารถนำไปใช้ได้จริง ปีนี้ สศร.เลือก 6 ชุมชนใน จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เข้าร่วมโครงการชนช้างกราฟิก ผลงานกราฟิกพัฒนาชุมชนที่คว้ารางวัล 6 ทีม จะขยายผลต่อไป
ลายกราฟิกจากวิถีชุมชนบ้านสวนมะม่วงบนป้ายสินค้า
ชุติมดี จารุจินดา สมาชิกทีมมาวิน เปิดใจหลังรับรางวัลว่า บ้านสวนมะม่วงไม่ได้มีอัตลักษณ์ดั้งเดิม แค่การทอผ้า แต่ชุมชนอาจหลงหลืมไป ยังมีการทำขนมไทยในชุมชน มีโรงแคะหอยนางรมอาชีพคู่ชุมชน มีวัดใหม่เกตุงามอายุ 200 ปี จุดเด่น หน้าบันตกแต่งด้วยชามสังคโลกเก่าแก่ ทีมเราได้นำลวดลายหน้าบันมาตัดทอนเป็นลายเส้นรูปดอกไม้ สื่อการให้ เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวได้มาช็อปผ้าทอมือคุณภาพดี ชิมขนมไทยโบราณ มาลองทำขนมเปียกปูน ข้าวต้มมัด และเชิญชมวัด เชิญอร่อยกับหอยนางรมสด งานกราฟิกจะช่วยสร้างการจดจำ มีทั้งบรรจุภัณฑ์ ฉลาก ป้ายห้อย กระดาษห่อ ถุงผ้า นามบัตร ฯลฯ เป็นผลงานจากการลงชุมชน ประสบการณ์นี้หาไม่ได้ในห้องเรียน เจออุปสรรคต้องแก้ไข เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ช่วยพัฒนาชุมชน
วีระ โรจน์พจนรัตน์ เยี่ยมชมผลงานออกแบบกราฟิกเพื่อชุมชนในอีอีซี 6 ทีม
ส่วนสาวนักออกแบบทีมธันวา พรทิภา สุขสบาย คณะนิเทศศิลป์ ม.อัสสัมชัญ กล่าวว่า ชุมชนบ้านหนองพลับ เป็นชุมชนที่ช่วยเหลือกัน มีความเป็นครอบครัว แล้วยังมีจุดเด่นเรื่องหัตถกรรม ทั้งการพับใบเตยเป็นพวงมาลัย การทำพวงมโหตรจากกระดาษว่าวเพื่อตกแต่งบ้านในงานมงคลหรือมีเทศกาล มีการทำกระดาษฉลุ จากการลงพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านอยากรักษาวัฒนธรรมไว้ เราใช้การสังเกตสิ่งที่มีและสิ่งที่ขาดแล้วนำความรู้มาพัฒนา โดยชูบุคลิกของบ้านหนองพลับ สนุกสนาน อนุรักษ์ และธรรมชาติ ลงในงานออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำพริก พวงมโหตรประดิษฐ์ พิมพ์ลายเสื้อ ตราประทับ ที่มีกลิ่นอายชุมชน โลโก้เป็นลายเส้นรูปขั้วลูกพลับ เพราะชื่อชุมชนมีความเป็นมาจากหนองน้ำที่มีต้นพลับ ขอบคุณคำแนะนำจากชาวหนองพลับ การร่วมโครงการชนช้างกราฟิกจุดประกายให้อยากใช้ความรู้ช่วยพัฒนาชุมชน
ผลิตภัณฑ์ชุมชนปรับภาพลักษณ์เป็นสินค้าโฮมเมด
งานมอบรางวัลชนช้างกราฟิก ปีที่ 4 มีผู้นำชุมชนและชาวบ้านจาก 6 ชุมชนในชลบุรี มาร่วมภาคภูมิใจกับงานกราฟิกที่รักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย ศักดิ์สิทธิ์ กลิ่นกาหลง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง ซึ่งได้ทีมดวงดีออกแบบผลงานให้ กล่าวว่า จุดเด่นของหมู่บ้าน คือ อาหารทะเลสำเร็จ และผ้าบาติก น้องๆ มาออกแบบฉลากใหม่ ใช้กราฟิกรูปปลา ประภาคาร เรือประมง สกายแลป เอกลักษณ์เกาะสีชัง รวมถึงออกแบบลายผ้าบาติกเพิ่ม ชาวบ้านทดลองทำและวางขายนักท่องเที่ยวสนใจซื้อสินค้ามากขึ้น ขายได้เร็วขึ้น เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น ลดต้นทุนได้ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |