พอช.ชี้แจงข่าวชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวร้องสภาทนายความ  ยืนยันโครงการบ้านมั่นคงแก้ปัญหารุกคลอง-สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม


เพิ่มเพื่อน    

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช.ชี้แจงข่าวชาวชุมชนริมคลองร้องเรียนสภาทนายความว่าโครงการบ้านมั่นคงเลือกปฏิบัติ  ไม่เป็นธรรม ฯลฯ   และขอเงินชดเชยค่ารื้อย้ายบ้านหลังละ 450,000-650,000 บาท  ยืนยันโครงการเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  แก้ปัญหารุกล้ำคลอง  เพื่อให้ กทม.สร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านใหม่และสนับสนุนสินเชื่อ  ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  มีอนาคตให้ลูกหลาน  แต่ชาวชุมชนจะต้องเห็นประโยชน์ของส่วนรวมด้วย   โดยขณะนี้สร้างบ้านไปแล้ว 32 ชุมชน  รวม 3,036 ครัวเรือน  

 

ตามที่ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ชุมชนพหลโยธิน  46 บางส่วน  ได้ร้องเรียนต่อสภาทนายความและออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  รายการสถานีประชาชน  เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ระบุว่าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวหรือบ้านมั่นคงที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีการเลือกปฏิบัติ  ไม่เป็นธรรม  สร้างภาระหนี้ให้แก่ประชาชน  รวมทั้งขอเงินชดเชยในการรื้อย้ายบ้านหลังละ 450,000-650,000 บาทนั้น

 

 

นายธนัช  นฤพรพงศ์   ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ชี้แจงว่า  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำคลองลาดพร้าว  เพราะมีบ้านเรือนชาวบ้านปลูกสร้างบุกรุกลงไปในคลองเป็นจำนวนมาก  ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำในคลองลดน้อยลง  และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ  โดยรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานครสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559    ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่รุกล้ำคลองลาดพร้าว ตามโครงการบ้านมั่นคง  หรือ ‘บ้านประชารัฐริมคลอง’  รวมทั้งหมด 50 ชุมชน  รวม 7,069  ครัวเรือน

 

ผู้ช่วย ผอ.พอช.กล่าวต่อไปว่า  เนื่องจากพื้นที่ริมคลองเป็นที่ดินราชพัสดุ  ซึ่งกรมธนารักษ์ดูแลอยู่  ดังนั้นชุมชนที่สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้จะต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์  เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย  แต่หากอยู่ไม่ได้เพราะพื้นที่ไม่เพียงพอจะต้องจัดหาที่ดินแปลงใหม่  โดย พอช.จะให้การสนับสนุนสินเชื่อและงบช่วยเหลือการก่อสร้างบ้านบางส่วน  ปัจจุบันมีชุมชนที่กำลังก่อสร้างรวม  32 ชุมชน  จำนวน 3,036 ครัวเรือน  คิดเป็นร้อยละ 42.95  โดยแยกเป็น  บ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ  จำนวน 2,041 ครัวเรือน   อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 668 ครัวเรือน  และพื้นที่พร้อมก่อสร้างบ้าน  327 ครัวเรือน

 

ส่วนผู้รุกล้ำคลองลาดพร้าวมีทั้งหมด 6,841 ครัวเรือน   เข้าร่วมโครงการแล้ว 5,196  ครัวเรือน  ยังไม่เข้าร่วม  1,645  ครัวเรือน  ทั้งนี้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  สำนักงานเขต  ตำรวจและทหารชุดมวลชนสัมพันธ์   ได้ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน  เพื่อให้เข้าร่วมโครงการฯ  แต่ยังมีแกนนำชุมชนบางส่วนที่คัดค้าน  ไม่เข้าร่วม  ไม่ยอมรื้อย้ายบ้านออกจากแนวเขื่อนฯ และพื้นที่ริมคลอง  ทำให้การก่อสร้างบ้าน  และสร้างเขื่อนระบายน้ำของ กทม.เกิดความล่าช้า 

 

 สภาพบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง    

 

ชุมชนที่รื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่

 

ดังนั้นกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ริมคลองจึงดำเนินการฟ้องร้องแกนนำชุมชนที่คัดค้านไปแล้วประมาณ 70 ราย  ในข้อบุกรุกที่ดินราชพัสดุ   ขณะที่ กทม.จะใช้อำนาจตาม ปว.44 (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44) เพื่อรื้อถอนบ้านเรือนที่ยังดื้อแพ่ง  หลังจากที่ใช้วิธีการเจรจามานานกว่า 2 ปีแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

 

“แนวทางที่รัฐบาลทำอยู่นี้เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน  ไม่ได้ทำให้ประชาชนเสียหาย  เพราะทาง พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการรองรับและให้ความช่วยเหลือชาวชุมชน   เช่น  สนับสนุนการสร้างบ้านและชุมชนใหม่ให้เกิดความเข้มแข็ง  มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  มีบ้านใหม่ที่มั่นคง  มีอนาคตให้ลูกหลาน  ขณะเดียวกันชุมชนก็จะต้องเห็นประโยชน์ของส่วนรวม  โดยการรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ  เพื่อให้คลองลาดพร้าวเป็นคลองสายหลักในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ”  นายธนัชชี้แจง

 

ส่วนการสนับสนุนชุมชนนั้น  พอช.จะสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  ครัวเรือนละ 147,000  บาท  โดยแยกเป็น  1.งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค  ครัวเรือนละ 50,000 บาท  2.งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย (ปลูกสร้างบ้าน,ซื้อที่ดิน ฯลฯ ) ครัวเรือนละ 25,000 บาท  3.งบช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ (ที่พักชั่วคราว,ลดภาระหนี้สิน) ครัวเรือนละ 72,000 บาท  4.งบบริหารจัดการ  ชุมชนละ 50,000-500,000 บาท  5.งบสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านครัวเรือนละ 330,000-400,000 บาท  ชำระคืนภายใน 15-20 ปี  ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี

 

ชุมชนริมคลองบางบัว   เขตบางเขน                

 

ชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม เขตจตุจักร

 

นายธนัชกล่าวในตอนท้ายว่า  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวนั้น  พอช.ไม่ได้เลือกปฏิบัติ  เพราะทุกชุมชนและทุกครอบครัวที่เข้าร่วมจะได้สิทธิในที่อยู่อาศัยและการสนับสนุนเท่ากัน  นอกจากนี้ พอช.ไม่ได้สร้างภาระหนี้ให้แก่ชาวบ้าน  เพราะการสร้างบ้านใหม่นั้น  พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณรวมแล้วครัวเรือนหนึ่งประมาณ 147,000  บาท  ขณะที่ชาวชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมสมทบในการสร้างบ้านของตนเองเพื่ออนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลานด้วย

 

“ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมกันลงเงิน  ลงแรง  สร้างบ้านให้ผู้สูงอายุ  หรือผู้ด้อยโอกาสได้อยู่อาศัยฟรี  โดยไม่ต้องผ่อนชำระ  เช่น  ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  ชุมชน กสบ.หมู่ 5  เขตสายไหม  และชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา  เขตบางเขต   นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังมีโครงการส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  เพื่อให้ชาวชุมชนมีรายได้  ไม่เป็นภาระในการผ่อนส่งบ้านด้วย”  ผช.ผอ.พอช.กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม  ในประเด็นข้อเรียกร้องของแกนนำชุมชนบางส่วนที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ  โดยจะขอเงินชดเชยในการรื้อย้ายบ้านสำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการหลังละ 450,000  บาท  และผู้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการหลังละ 650,000 บาทนั้น  ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว  และยืนยันว่าทางราชการไม่มีนโยบายในการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว  เนื่องจากชุมชนริมคลองลาดพร้าวมีสถานะเป็นผู้บุกรุกที่ดินราชพัสดุ 

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชาวชุมชนวังหิน  เขตจุตจักร  ฟ้องร้องผู้อำนวยการเขตจุตจักร  และผู้อำนวยการ พอช.ในปี 2559   โดยกล่าวหาว่าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวกระทำการโดยไม่ชอบต่อกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่  ต่อมาในวันที่ 19  เมษายน  2560  ศาลปกครองได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา  และให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ  เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ผู้ฟ้องคดีได้เข้าไปปลูกสร้างที่พักอาศัยในที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์  โดยไม่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน  จึงเป็นการบุกรุกที่ดินราชพัสดุ  อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองได้

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 7   กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  พลตำรวจเอกอัศวิน   ขวัญเมือง  ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงเรือสำรวจการก่อสร้างเขื่อนฯ ในคลองลาดพร้าวที่ล่าช้า  เนื่องจากยังมีบ้านเรือนที่ไม่ยอมรื้อย้ายออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน  โดยผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่าจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย  หรือ ปว.44 จัดการกับบ้านเรือนที่ยังไม่รื้อย้ายเพราะใช้เวลาเจรจานาน 1-2 ปีแล้ว  ส่วนเรื่องการขอเงินชดเชยค่ารื้อย้ายนั้น  กทม.ไม่สามารถดำเนินการได้  เพราะหากให้ตามที่ต้องการ  กทม.ไม่สามารถตอบสังคมได้  โดยเฉพาะหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบ  เช่น  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

 

ส่วนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว-คลองถนน-คลองสองและคลองบางซื่อ) ระยะทางทั้งสองฝั่ง 45 กิโลเมตรเศษ เริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์คลองบางซื่อ  อุโมงค์พระราม 9 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลต่อไป โดยบริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,465 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2559 - มิถุนายน 2562 แต่ขณะนี้คาดว่าจะไม่แล้วเสร็จตามแผนงาน เนื่องจากติดอุปสรรคดังกล่าว โดยบริษัทก่อสร้างเขื่อนฯ ได้ประมาณ 39 % จากปริมาณงานทั้งหมด

 

เขื่อนระบายน้ำที่กำลังก่อสร้าง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"