คลังเตือนการเมืองเลิกโม้ งัด'วินัย'หวดก้น'ขายฝัน'


เพิ่มเพื่อน    

     คลังว้ากการเมืองจ้องใช้เงินหลวง งัดกฎหมายวินัยการคลังคุมพรรคการเมือง เปิดช่องใช้งบประมาณหนุนทำนโยบายหาเสียงแค่ปีละ 1 แสนล้าน แนะประชาชนเลือกพรรค ทำนโยบายที่เป็นไปได้ โพลเผยคนไม่เอานโยบายขายฝัน  
     นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนพิจารณานโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอย่างรอบคอบ ว่ามีเรื่องใดบ้างที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะจากการติดตามนโยบายบางอย่าง เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัวเลขไม่สามารถทำได้ ซึ่งทุกนโยบายมีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณในแต่ละปีว่าจะมีให้ใช้ได้เท่าไหร่ ดังนั้นต้องดูว่านโยบายไหนบ้างเป็นไปได้ เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นนโยบายที่มีความจำเป็น
    “ชาวบ้านสามารถประเมินได้เองว่านโยบายไหนเป็นภาระต่องบประมาณ และนโยบายนั้นจำเป็นต่อเราแค่ไหน ให้ถามตัวเองว่าเราอยากได้นโยบายนี้จริงหรือไม่ เช่น นโยบายแจกเงินแจกของ เช่น ไม่มีหม้อหุงข้าวก็แจกให้ ซึ่งไม่ถูกต้อง ควรเลือกพรรคที่ทำนโยบายที่มีความจำเป็นจริงๆ” นายประสงค์กล่าว
    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังไม่มีความกังวลว่าพรรคการเมืองจะเข้ามาทำนโยบายใช้งบประมาณเกินความจำเป็น เนื่องจากมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังเป็นตัวช่วยให้การเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ เพราะกฎหมายจะกำหนดกรอบการใช้งบประมาณในแต่ละปีไว้อย่างชัดเจน เช่น กรณีการตั้งงบกลาง จะสามารถทำได้เท่าใด และต้องมีการตั้งชดใช้คืนเมื่อใด ซึ่งหากนำงบประมาณมาใช้กับนโยบายหาเสียงทั้งหมด ก็จะกระทบกับการชำระหนี้ประเทศ งบรายจ่ายประจำ กระทบกับงบประมาณลงทุนในแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะทำแบบนั้นไม่ได้
    นายประสงค์กล่าวว่า เบื้องต้นในงบประมาณรายจ่ายประจำปี กำหนดให้มีวงเงินสำหรับการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลประมาณ 2-3% ของกรอบงบประมาณรายจ่าย หรือคิดเป็นไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น เป็นวงเงินที่ไม่มาก รัฐบาลใหม่ก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำเรื่องใดก่อน คงทำทั้งหมดไม่ได้ ส่วนในปี 2563 มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายไว้ทั้งหมดแล้ว หากรัฐบาลใหม่จะนำมาพิจารณาปรับกรอบใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ใหม่ ก็ต้องเข้าสู่ชั้นกระบวนการพิจารณาตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ใช่คิดดำเนินการก็ทำได้ทันที
    ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลังและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมนโยบายพรรคฯ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไว้ในชุดนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของเราต่อปัญหาในระดับบนสุด คือเราต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดในการใช้บริหารประเทศ ที่ผ่านมาตัวชี้วัดที่ใช้กันในเรื่องของการประเมินผลงานทางเศรษฐกิจก็คือจีดีพี สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือการรวยกระจุก จนกระจาย เศรษฐกิจฐานรากฝืดเคือง ทั้งนี้ ยังไม่นับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นพิษ ล้วนเกิดจากเป็นปัญหาที่มุ่งเป้าไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยการวัดด้วยจีดีพีทั้งสิ้น
    “พรรค ปชป.ตั้งใจจะริเริ่มประเมินผลงานรัฐบาลจากการพัฒนาประเทศด้วยดัชนีที่ครอบคลุม เป็นสิ่งที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนจะต้องมีทั้งเรื่องของเศรษฐกิจควบคู่กับสังคม โดยวัดจากความเหลื่อมล้ำ จากการเข้าถึงการสาธารณสุข การรักษาพยาบาล สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร การเข้าถึงการศึกษา รวมไปถึงผลในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อสิ่งแวดล้อม ที่วัดโดยคุณภาพอากาศและปริมาณภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทุกอย่าง ถามว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมีหน้าที่ที่เหมาะสมถูกต้อง แต่ในอดีตไม่ได้เอามาเป็นตัวชี้วัดว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลบริหารงานได้ดีแค่ไหน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว  
    ต่อข้อถามที่ว่า หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล พรรค ปชป.จะทำอะไรก่อนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ประธานกรรมการนโยบาย ปชป.กล่าวว่า หลังเลือกตั้งความเชื่อมั่นจะกลับมาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าทุกคนเคารพในกฎเกณฑ์กติกา ในความเป็นนิติรัฐ ส่วนในแง่ของการเป็นรัฐบาล พรรค ปชป.จะแก้จน สร้างคน สร้างชาติ แก้จนเป็นเรื่องที่จำเป็นเฉพาะหน้าที่ต้องเยียวยา โดยเฉพาะรายได้ประชาชน อันมีผลสืบเนื่องมาจากราคาพืชผลตกต่ำ ส่วนเรื่องอนาคตที่สำคัญที่สุดที่เน้นคือการสร้างคน มิติความเหลื่อมล้ำปัจจุบันเปลี่ยนไปไม่ใช่เพียงแค่ใครมีที่ดินมากน้อยกว่ากัน แต่วัดกันที่ความรู้มากกว่า การปฏิรูประบบการศึกษา การดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสังคมผู้ใหญ่ทำงานแล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้ ส่วนสร้างชาติคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความเข้มแข็งและมั่นคงให้กับสังคม ได้แก่ แก้ปัญหายาเสพติด ปฏิรูปการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการกระจายอำนาจ 
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ตัวเลขยอดส่งออกในเดือนมกราคมที่ติดลบค่อนข้างมาก 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อน และดุลการค้าขาดดุลในรอบ 7 ปี ขาดดุลสูงถึง 4,032 ล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัย 2,133 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากการซ้อมรบ สถานการณ์ดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเตรียมรับมือกับผลกระทบการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ และ มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการการเงินและการคลังเพิ่มเติม พร้อมเร่งรัดการแสวงหารายได้จากภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว หากดูรายละเอียดของการหดตัวลงของภาคส่งออก พบว่า   มีทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม โดยที่สินค้าส่งออกไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีนได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่ายังกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก 
    นายอนุสรณ์ย้ำว่า คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้น่าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 6% โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 19,000-20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยประเมินว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ สถานการณ์การส่งออกน่าจะกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีความคืบหน้า ขณะกลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบที่อียูอาจตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรกัมพูชา อียูต้องการกดดันทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชาเนื่องจากมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาความเป็นประชาธิปไตยและการโกงการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยอัตราภาษีศุลกากรจะเพิ่มจาก 0% เป็น 12.5% คาดว่าโรงงานจำนวนหนึ่งจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกับอียู เศรษฐกิจโลกนั้น จะเผชิญแนวโน้มการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศและมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ชะลอตัวลง ส่วนการค้าด้านบริการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความก้าวหน้าทางด้านการเชื่อมโยงกันทางดิจิทัล (Digital Connectivity) และเทคโนโลยีข้อมูล   
แนะตั้งกองทุนคนเปลี่ยนงาน  
    นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า ผลกระทบของเทคโนโลยีพลิกผัน ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ตลาดใหม่ ช่องทางใหม่ๆ ทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อการปิดกิจการ การถดถอยและเสื่อมทรุดลงของกิจการจำนวนไม่น้อยที่ปรับตัวไม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งกระทบต่อตลาดแรงงาน มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น และ คาดว่าจะทำให้อัตราการว่างงานในระยะต่อไปปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคม และการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ผ่านมาช่วยลดระดับผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาการว่างงานจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นแนวโน้มระยะยาว รัฐบาลใหม่ควรมีการขยายบทบาทศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ หรือจัดตั้งศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่เพื่อรองรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการรวมทั้งผู้ว่างงาน
    "ควรมีการจัดตั้งกองทุนคนเปลี่ยนงาน พัฒนาทักษะใหม่ สร้างงาน สร้างธุรกิจ สร้างกิจการให้กับพนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โอกาสที่ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จะพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการโดยใช้ปัจจัยค่าแรงถูกจะลดน้อยลงตามลำดับ ความก้าวหน้าทางด้านระบบจักรกลอัตโนมัติ Automation, 3D Printing, สมองกลอัจฉริยะ ทำให้ค่าแรงถูกไม่ใช่ปัจจัยในการกำหนดการเลือกฐานการผลิตอีกต่อไป แรงงานทักษะสูงและตลาดภายในภูมิภาคที่ใหญ่จะเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนมากกว่า หากเราไม่ปรับตัวในเรื่องดังกล่าว จะเผชิญหน้ากับการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ แน่นอน" นายอนุสรณ์กล่าว
    คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเฉพาะหน้าก่อนการเลือกตั้ง คือการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิคู่แข่งทางการเมืองด้วยความไม่เป็นธรรม โดยผู้มีอำนาจรัฐจะเพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวม   
ประชาชนขอนโยบายทำได้จริง 
    วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,157 คน ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2562 
    อันเป็นผลสำรวจจากกรณีการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อถามว่า ประชาชนมีความกังวลใจกับการหาเสียง ณ วันนี้ในเรื่องใดบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่ตอบว่าเรื่องแข่งขันสูง ใช้วิธีรุนแรง ไม่ถูกต้อง ไม่สร้างสรรค์ 39.62% ตามด้วยจ่ายเงินซื้อเสียง ทุจริต     32.01%, อันดับ 3 ทำไม่ได้ตามที่พูด ชูนโยบายเกินจริง 27.32%, อันดับ 4 หาเสียง ลงพื้นที่ เข้าหาประชาชนเฉพาะช่วงเลือกตั้ง 20.02%, อันดับ 5    ปล่อยข่าวเท็จ ใส่ร้าย โจมตีกันไปมา 14.49%     
    เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากขอร้องจากนักการเมือง กรณีการหาเสียง ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 นโยบายทำได้จริง พูดจริง ทำจริง ไม่ขายฝัน    35.57%, อันดับ 2 ทำตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ทุจริต ไม่ซื้อเสียง 24.66%, อันดับ 3 ไม่ใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่ง สร้างความวุ่นวาย 21.36%, อันดับ 4 เป็นแบบอย่างที่ดี รักษาภาพลักษณ์ 16.02%, อันดับ 5 ติดป้ายหาเสียงในที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเท้า 12.50%     วิกฤติเศรษฐกิจชาติ รัฐบาลต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดประเทศจากจีดีพีเป็นดัชนีที่ครอบคลุมปัญหาประชาชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"