อยากเห็นคนดี-ซื่อสัตย์เข้าสภา จากใจ..ผู้สูงวัยถึงนักการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

      นอกจากคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสนใจ การเลือกตั้งปี 2562 ที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้สูงวัยยุค 4G ก็ให้ความใส่ใจไม่น้อย โดยเฉพาะการเลือกผู้ที่มีคุณธรรม อย่างเรื่องของความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง และที่สำคัญสามารถบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ไม่รอช้า ไปลงพื้นที่สำรวจเกี่ยวกับประเด็นการเลือกตั้งในมุมมองของผู้สูงวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านการเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศแบบนับครั้งไม่ถ้วน มารายงานไว้อย่างน่าสนใจ

(คุณป้าคอง)

      เริ่มกันที่ คุณป้าคอง วัย 60 ปี พนักงานทำความสะอาด ที่บอกว่า “ส่วนตัวมองว่าภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจกับผู้นำประเทศคนใหม่ที่เรากำลังจะเลือกเข้ามาบริหารประเทศ กลัวว่าจะเป็นเหมือนเดิมค่ะ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าเป็นใคร โดยเฉพาะการที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในการแสดงความคิดเห็น และก็ไม่ได้คาดหวังว่านโยบายของพรรคต่างๆ ที่บอกไว้ มันจะทำได้จริงตามที่บอกไว้ ส่วนตัวป้านั้นก็ไม่มีสมบัติอะไร ที่ดินก็ไม่มี แต่ก็ลงชื่อทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ ตรงนี้จึงไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ขอแต่เพียงว่าให้ได้คนดีเข้ามาบริหารประเทศ และช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนอย่างจริงๆ ค่ะ”

      ต่อกันที่ คุณลุงวงเดือน นคร ที่สะท้อนว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 อย่างแน่นอน และอาจจะมีบางนโยบายของพรรคการเมืองที่สามารถทำได้จริง โดยเฉพาะเรื่องของ “เศรษฐกิจ” บอกว่า “ ที่แน่ๆ ผมมองว่า 24 มีนาคมนี้ ต้องมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ส่วนภาพรวมของนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้นั้น น่าจะมีบางนโยบายที่สามารถทำได้จริง เช่น เรื่องของเศรษฐกิจ อย่างการช่วยเหลือคนยากจนให้มีงานมีรายได้เพิ่ม แต่นโยบายที่ทำไม่ได้ เช่น การตัดงบของทหารตรงนี้ คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ครับ ส่วนพรรคการเมืองในดวงใจของผม คือพรรคของรัฐบาลครับ เพราะว่าทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่มีการสู้รบหรือทะเลาะกันของคน 2 ฝ่าย พูดง่ายๆ ว่าไม่มีม็อบ ส่วนนายกฯ คนที่อยากได้คือ คนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นคนตรง ไม่คดโกงครับ”

      ขณะที่ คุณลุงกำธร คล้ายสงคราม วัย 72 ปี ข้าราชการบำนาญ ก็เห็นคล้ายกันว่า เป็นเพียงบางนโยบายของพรรคการเมืองที่น่าจะทำได้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและการคมนาคม “ภาพรวมเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ คิดว่าน่าจะมีบางนโยบายที่ทำได้ เช่น เรื่องของเศรษฐกิจและการคมนาคม เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนา ก็น่าจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นลำดับแรก ส่วนอีกหลายๆ นโยบายที่หาเสียงเอาไว้นั้น จะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเสียงในพรรคการเมืองนั้นเป็นอย่างไร เช่น ถ้าหากได้นายกรัฐมนตรีแบบรัฐบาลผสม หากเสียงข้างมากในพรรคไปทางใด ก็ต้องทำตามที่สมาชิกในพรรคเสนอครับ”

      ด้าน คุณลุงแดง วัย 59 ปี วิเคราะห์ให้ฟังว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้นั้นมีแนวโน้มว่า ร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์น่าจะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ สะท้อนว่า “อันที่จริงแล้วการที่ผมบอกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่น่าจะทำได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปัจจัยสำคัญอย่างการที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการอธิบายนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน ก็ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ดำเนินงานตามสิ่งที่บอกไว้ได้ไม่ครบ แต่สิ่งที่ทำได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจครับ เพราะสังเกตให้ดีนั้น ค่าเงินของเราดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ผมว่าหากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาบริหารประเทศ การพัฒนาเรื่องของระบบชลประทาน หรือระบบน้ำให้ดี เพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดี เกษตรกรมีรายได้ ตรงนี้ถือเป็นการพัฒนาคนรากหญ้าที่ได้ผลและตรงจุด เพราะทุกวันการที่คนต่างจังหวัดจนลง เนื่องจากขาดน้ำในการปลูกพืช ครับ”

(ภิรมย์ อินทรบุญสม)

      ทว่าเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงปากท้องความยากจนของคนรากหญ้า คุณป้าภิรมย์ อินทรบุญสม วัย 67 ปี เจ้าของสวนปาล์มชาวจันทบุรี สะท้อนว่า น่าจะแก้ไขได้ยากลำบาก ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ สามารถจัดการโดยการให้ความรู้ หรือมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำการปลูกพืชแบบควบคุมปริมาณ ก็จะช่วยเรื่องปากท้องของชาวสวนได้จริง “ในฐานะที่ป้าเป็นชาวสวน ปัญหาความยากจนของชาวสวนที่พบคือ การที่ราคาผลผลิตตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรปลูกพืชอย่างเดียวกัน เวลาที่ผลผลิตออกก็ทำให้ราคาตก ไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือผลไม้สร้างชื่ออย่างทุเรียน ดังนั้นจึงอยากบอกว่าภาพรวมของนโยบายของพรรคการเมือง อย่างการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจน่าจะทำได้ค่อนข้างยาก

      เพราะอย่างที่บอกไปว่า ทุกคนปลูกพืชเหมือนกันหมด ดังนั้นหากรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามา สามารถจัดสรรเจ้าหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาชน โดยการปลูกพืชแบบควบคุมปริมาณ หมายความว่าให้ปลูกพืชชนิดนี้ในบางพื้นที่ โดยอีกตำบลหนึ่งก็ให้ปลูกพืชอีกอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันผลผลิตราคาตกต่ำ ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากเห็นค่ะ ส่วนภาพรวมของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ถือว่าสงบค่ะ เนื่องจาก คสช.ดูแลเรื่องความสงบและความมีระเบียบเรียบร้อยอยู่”

(สมเจตน์ กิติเรืองแสง)

      ปิดท้ายกันที่ คุณลุงสมเจตน์ กิติเรืองแสง วัย 67 ปี บอกว่า “ภาพรวมของการเลือกตั้งค่อนวุ่นวายเล็กน้อยครับ เพราะแต่นโยบายที่แต่ละพรรคบอกไว้อาจจะทำไม่ได้จริงทุกข้อ นอกจากนี้ นโยบายของบางพรรคก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นหากจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้นโยบายและผู้ลงสมัครจะต้องเคลียร์อย่างชัดเจน ว่าใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไร

      ถ้าถามว่านโยบายของพรรคการเมืองที่น่าจะทำได้นั้น คิดว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระบบการจราจร และเรื่องของการปรับค่าครองชีพ ที่ปัจจุบันค่อนสูงขึ้น ซึ่งไม่สมดุลกับราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องให้สำคัญเป็นอับแรก แต่นโยบายที่คิดว่าจะทำไม่ได้นั้น ได้แก่ การนโยบายของการไม่ให้มีการจัดซื้ออาวุธของภาครัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วงบประมาณส่วนนี้ควรจะนำไปสร้างโรงพยาบาลมากกว่า สุดท้ายผมคิดว่านายกรัฐมนตรีที่อยากได้คงเหมือนกับทุกคนครับ คือคนที่ซื่อสัตย์ ซื่อตรง พูดจาอ่อนโยน และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และรู้จักที่จะใช้งบประมาณ ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"