แม้ตัวเลขการเดินทางของชีวิตผ่านมายังมาไม่ถึง 60 ปี แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตกลับมากมาย และพลิกผันได้อย่างเหลือเชื่อ จากคนผู้ตัดต้นไม้ทำลายป่า กลายมาเป็นผู้สร้างและพิทักษ์ป่า และกำลังนำพาชุมชนที่อยู่อาศัยไปสู่วิถีที่งดงาม ด้วยการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้แนวคิด “ห้วยลึกโมเดล”
นายสายัณห์ สุขสงัด ที่บางคนเรียกว่า ประธานสายัณห์ เนื่องจากได้รับการคัดเลือกเป็นประธานเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ระดับประเทศ ส่วนบางคนก็เรียกว่า นายกฯ สายัณห์ เพราะเป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล บ้านห้วยลึก พูดเสียงเหน่อตามสไตล์คนบ้านลาด เมืองเพชรบุรี
ไม่ว่าจะเรียกขานว่าอะไรก็ตาม นายสายัณห์ สุขสงัดผู้นี้ คือ หนึ่งในผู้ที่เคยตัดไม้ทำลายป่ามายาวนาน จนป่าไม่มีจะให้ตัด
ประธานสายัณห์ เล่าให้ฟังว่า พิ้นเพเป็นคนบ้านห้วยลึกซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เกิดในครอบครัวยากจน เรียนหนังสือจบแค่ชั้นป.4 ต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัว โดยครอบครัวและชาวบ้านห้วยลึกเกือบพันหลังคาเรือนมีอาชีพเดียวกันคือตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะไม้หวงห้าม เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง ฯลฯ นำมาเผาถ่านขายเลี้ยงชีพกันมายาวนาน แต่ละวันตัดต้นไม้คนละเป็นสิบๆ ต้น ประธานสายัณห์จำได้ว่าตนเองตัดไม้มาตั้งแต่อายุ 13-14 ปีจนกระทั่งปีพ.ศ.2538 ซึ่งเวลานั้นป่าไม้ถูกตัดทำลายกลายเป็นเขาหัวโล้นไปหมด
"จนวันหนึ่งเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และแม่ทัพ มาบอกกับชาวบ้านว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยชีวิตราษฎรและผืนป่า อยากให้พวกเราหยุดตัดไม้ทำลายป่าแล้วหันมาช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อทำให้ผืนป่าของเรากลับมาและเป็นการทำความดีถวายในหลวงเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 เมื่อปีพ.ศ.2538
พวกผมและชาวบ้านฟังแล้ว ตัดสินใจเลยว่า เราต้องเลิกตัดไม้ทำลายป่า เพราะเหตุผลแรกเลยคือ เรารักในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี ซึ่งคนไทยทุกคนรักพระองค์ท่านทั้งสองพระองค์ "
นับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านห้วยลึกทุกคนพร้อมใจกันหยุดตัดไม้ทำลายป่าแล้วหันไปทำงานอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง ทำงานโรงงาน ทำไร่ทำนาและเริ่มหันฟื้นฟูอาชีพดั้งเดิมที่สร้างรายได้ เช่น การทำน้ำตาลโตนด การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพราะคิดว่าต้องทำตามพระราชดำรัสของพระราชินี สิ่งใดที่ในหลวงและพระราชินีบอกชาวบ้านย่อมเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์เพราะพระองค์ท่านรักและเป็นห่วงราษฎรทุกคน
ชาวห้วยลึกกว่า 1,000 คนช่วยกันปลูกต้นไม้อย่างจริงจัง และตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านสร้างป่าชุมชน พิทักษ์ป่าเพื่อในหลวงและพระราชินี ใช้เวลาว่างและนัดหมายกันปลูกป่าจนถึงทุกวันนี้ พื้นที่กว่า1,000 ไร่กลายเป็นผืนป่าและเมื่อหยุดตัดต้นไม้ ต้นไม้ก็กลับฟื้นคืนมา
จากการเข้าร่วมเป็นราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า หรือ รสทป.เพื่อเริ่มปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนเมื่อปี2543 ประธานสายัณห์ได้ทำหน้าที่ประธานบริหารสภาตำบลห้วยลึกและดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยลึก และทุ่มเทเรื่องการปลูกป่าอย่างต่อเนื่องมาตลอดโดยผสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มรสทป.อื่นๆ จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานเครือข่ายรสทป.ระดับภาค และเป็นประธานเครือข่ายรสทป.ระดับประเทศ ในเวลาต่อมา
ปัจจุบันเมื่อระบบนิเวศกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถเก็บพืชผัก เช่น เห็ด ผักหวานจากป่าในชุมชนและหันมาฟื้นฟูอาชีพดั้งเดิม เพื่อสร้างรายได้ นั่นคือการทำน้ำตาลโตนด ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักสุขภาพเป็นอย่างมาก
ประธานสายัณห์บอกว่า บ้านห้วยลึกมีต้นตาลจำนวนมาก แต่ละต้นมีอายุนับร้อยปี การทำน้ำตาลโตนดถือเป็นวิถีถิ่นของคนในพื้นที่ ปัจจุบันน้ำตาลโตนดแท้หาได้ยาก ส่วนใหญ่มีการปลอมปน เนื่องจากน้ำตาลโตนดมีเป็นฤดูกาล ไม่ได้มีตลอดทั้งปี การขึ้นตาลต้องใช้ความชำนาญ และกรรมวิธีต้องใช้ความประณีตและใช้เวลา แต่น้ำตาลที่ออกมามีคุณภาพสูงมาก
“ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านห้วยลึกจึงยังยืนยันที่จะสืบสานการทำน้ำตาลโตนดแท้ให้คงอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิต และแม้กระบวนการทุกอย่างจะยาก แต่ก็ต้องการรักษาวัฒนธรรมของการทำน้ำตาลโตนดไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า สิ่งนี้เคยหายไป และกลับมาอีกครั้งเพราะความสมบูรณ์ของการมีผืนป่า และเป็นอาชีพที่ทำให้เราไม่ต้องไปทำลายป่า ”
ปัจจุบันชาวบ้านตำบลห้วยลึก 3,800 คน หันมารักษาป่ากันทุกบ้าน และมีตัวแทนครอบครัวเข้าร่วมเป็นสมาชิก (รสทป.) จำนวน 120-130 คน เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมชานีนาถในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของ ราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่ามาเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน และให้ "คน" กับ "ป่า" อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ประธานสายัณห์กล่าวต่อว่า ตอนนี้ความสมบูรณ์ของป่า ทำให้เราสามารถทำมาหากินทางการเกษตรได้อย่างมีความสุข ในอนาคตอันใกล้นี้ ตั้งใจจะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนเดินทางศึกษาดูงาน เพื่อดูตัวอย่างจาก “ห้วยลึกโมเดล” ว่าชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไป เพราะพระเมตตาของทั้งสองพระองค์ บ้านห้วยลึกมีแปลงป่าปลูกตรงทางขึ้นเขาแด่น ซึ่งเป็นเครื่องหมายเตือนใจว่า ครั้งหนึ่งพวกเราเคยเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า และบัดนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ปลูกและรักษา ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในช่วงฤดูฝน ป่าจะเป็นสีเขียว มีน้ำตกที่สวยงาม มีพืชผัก โดยเฉพาะเห็ดโคน เห็ดเผาะ ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยังคงรักษาการทำน้ำตาลโตนดแท้ ไว้เพื่อเลี้ยงชีพ รวมทั้งมีอาหารถิ่นอันเป็นผลผลิตจากตาลให้ได้ชิมกัน
ด้านบนของเขาแด่น สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเพชรบุรีได้แบบ 360 องศา และบนเขาแด่นยังเป็นสถานที่ทีนักเล่นพาราซูต จากทั่วโลกมาโดดร่มกัน
บ้านห้วยลึก อาจจะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่เลิศหรูอลังการ แต่ “ห้วยลึกโมเดล” มีเรื่องราวความยิ่งใหญ่ทางจิตใจของผู้คนที่สามารถเปลี่ยนจาก”ผู้ทำลายป่า” กลายมาเป็น “ผู้สร้างป่าและผู้รักษาป่า”ได้
เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจอันมีต้นตอมาจากเรื่องจริง
เรื่องแบบนี้ ฟังกี่ที... ก็ดีต่อใจทุกครั้ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |