ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ กับอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และ AQI ขนาดพกพา(MyAir)
แม้ว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะคลี่คลายลงในขณะนี้ ทุกพื้นที่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หน่วยงานต่างๆ ก็ยังคงดำเนินมาตรการสนับสนุนเพื่อลดฝุ่นและกระตุ้นให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีในการตรวจวัด เครื่องมือดักจับฝุ่น การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด และมาตรการทางภาษี มาต่อสู้กับปัญหาฝุ่น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤติฝุ่นระยะยาว
ในแง่เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือที่เตรียมพร้อมนั้นก็คือ อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และ AQI ขนาดเล็กและพกพา (MyAir) โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยโดดเด่นนำมาใช้ป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงฝุ่น PM 2.5 ซึ่งนักวิจัยนำเสนอครั้งแรกในเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “สถานภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” และนิทรรศการเทคโนโลยีในการตรวจวัดและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์กรุงเทพ จัดโดยโครงการสัมมนาเผยแพร่ฯ (TRF Forum) ภายใต้งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สกว.)
แอปพลิเคชัน My Air แสดงผลข้อมูลค่าฝุ่นบนสมาร์ทโฟน
ดร.อดิสร กล่าวว่า จากปัญหาสภาพอากาศและปัญหาฝุ่นละอองในปัจจุบัน ส่งให้ไทยติดท็อปเท็นประเทศที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก วิกฤติเมื่อเดือนมกราคมนี้เองที่ทำให้เกิดการนำข้อมูลเรื่องค่าฝุ่นละอองมาใช้ประโยชน์เป็นปริมาณมาก ตนได้พัฒนาออกแบบอุปกรณ์ AQI ขนาดเล็กและพกพา หรือ MyAir อุปกรณ์นี้สามารถพกพาติดตัวได้ โดยบอกค่าฝุ่น PM 2.5 ด้วยระดับสีต่างๆ ได้แก่ เขียว เหลือง ส้ม และแดง นอกจากนี้ สามารถดูข้อมูลรายงานผลฝุ่นละอองบนโทรศัพท์มือถือได้ อุปกรณ์นี้ช่วยให้รู้ว่าจะสวมหน้ากากป้องกันตนเองในพื้นที่ใด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเด็กนักเรียน ปกติถ้าไม่มีอุปกรณ์นี้ต้องดูข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ซึ่งรายงานค่าฝุ่นจากสถานีใกล้เคียง อาจอยู่ห่างไปเป็นสิบกิโลเมตร แต่อุปกรณ์นี้บอกค่าฝุ่นอย่างทันท่วงที ณ ปัจจุบัน
ส่วนอุปกรณ์ชิ้นที่สอง อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สกว. ดร.อดิสรบอกว่า เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ร่วมกัน โดยนำเซ็นเซอร์หลายชนิดมารวมกันในอุปกรณ์ขนาดเล็ก ทั้งเซ็นเซอร์วัด PM 2.5 เซ็นเซอร์ PM 10 เซ็นเซอร์วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เซ็นเซอร์วัดโอโซน เซ็นเซอร์วัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปกติถ้ารวมเซ็นเซอร์ 6 ตัวจะต้องเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ และติดตั้งในสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ
“ เราต้องการได้ค่าคุณภาพอากาศที่แท้จริง โดยย่นย่อเซ็นเซอร์ทุกตัวมาไว้ในอุปกรณ์ชิ้นนี้ นำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์ รายงานปริมาณฝุ่นและก๊าซได้อย่างแม่นยำ ซึ่งดูข้อมูลรายงานผลได้ทั้งมือถือและคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน ขณะนี้อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และ My Air ต้นแบบพร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนที่สนใจ หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ออกวางจำหน่ายได้ ต้นทุนอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นไม่เกินหมื่นบาท ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ อนาคตอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นยังสามารถออกแบบให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องประดับ เข็มกลัด นาฬิกา เราดูปริมาณฝุ่นได้โดยไม่ต้องเคอะเขิน หรือพกพาในกระเป๋าได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ขนาดเล็กนี้ตามโรงเรียนและโรงพยาบาลเพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ และแจ้งเตือนกิจกรรมที่เหมาะสม และป้องกันสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ดร.อดิสรกล่าว และหากประเทศไทยตื่นตัว มีการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เอง จะลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 แสดงผลแบบเรียลไทม์
สำหรับภาพรวมเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดฝุ่นละอองที่แหล่งกำเนิด การดักจับและการกำจัดฝุ่นละอองในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง ครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะ ศ.กิตติคุณ ราชบัณฑิต ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมลภาวะอากาศ กล่าวว่า การทำงานวิจัยด้านฝุ่นในช่วงแรกนั้นปัญหามลภาวะอากาศยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนัก และมุ่งไปที่ PM 10 เป็นหลัก แต่ปัจจุบันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งฝุ่นมีหลากหลายรูปแบบจากแหล่งต่างๆ ยังไม่มีเครื่องกำจัดฝุ่นที่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ปัจจุบันเทคโนโลยีการกำจัดฝุ่นมีสองรูปแบบ คือ แบบเปียก ใช้น้ำหรือของเหลวในการดับฝุ่น และแบบแห้ง ที่คุ้นเคยคือการใช้เครื่องกรองอากาศ โดยหากโรงไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมที่มีไอเสียที่อุณหภูมิสูงต้องจับฝุ่นด้วยระบบแห้ง รวมถึงโรงงานเผาขยะ สำหรับตัวกรองที่มีสมรรถนะสูงจะต้องมี HEPA filter ที่ดักจับฝุ่นในระดับนาโนได้ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นใยด้วย โดยเส้นใยที่ละเอียดจะจับอนุภาคขนาดเล็กได้ ถ้าดักจับฝุ่น PM 2.5 ต้องใช้เส้นใยระดับ 5 ไมครอน
ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล โชว์โมเดลรถโดยสารไฟฟ้า 100%
เปลี่ยนเทคโนโลยีของรถเป็นระบบไฟฟ้า เป็นอีกหนทางพิชิตปัญหาปล่อยมลพิษของยานยนต์ในเมืองใหญ่ ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันในไทยรถยนต์ส่วนบุคคลยังใช้ยูโร 4 แต่สากลใช้ยูโร 6 ส่วนรถกระบะและรถบรรทุกใช้ยูโร 3 นี่คือแหล่งกำเนิดมลพิษภาคขนส่ง ปัจจุบันทีมวิจัยได้ออกแบบโครงสร้างน้ำหนักเบาสำหรับรถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยวัสดุคอมโพสิท จำนวนผู้โดยสาร 24 ที่นั่ง ระยะทางขับขี่ 300 กิโลเมตร หากมีภาคเอกชนสนใจร่วมพัฒนาจะเดินหน้าผลิตรถต้นแบบ เพราะปัญหามลพิษทางด้านยานยนต์ต้องมีการใช้เทคโนโลยียานยนต์ที่สะอาด การใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด และมีมาตรการจัดการรถเก่าบนท้องถนน และการดูแลเครื่องยนต์ที่เหมาะสม รวมถึงลดการเดินทาง ที่สำคัญต้องเร่งปรับมาตรฐานของยานยนต์ไปสู่ยูโร 5-6 ให้เร็วที่สุด
ผศ.ดร.ยศพงษ์ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพการเดินรถโดยสารไฟฟ้า รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% โดยร่วมกับ ขสมก.ทดลองวิ่งจริงในหลายเส้นทาง อาทิ สาย 137, 138, 50 โดยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยและ ขสมก. ผลการทดสอบวิ่งวันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากการจราจรค่อนข้างหนาแน่นแออัด มีการหยุดรถและเพิ่มความเร็วบ่อยครั้ง นี่คืออัตราสิ้นเปลืองพลังงานสูง อีกทั้งเป็นที่มาของฝุ่นพิษ หากเปลี่ยนรถโดยสารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นสะสม และประหยัดพลังงาน
“ อยากเชิญชวนผู้ประกอบที่สนใจมาร่วมลงทุนสร้างรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อให้คนไทยมีการขนส่งด้วยพลังงานสะอาดในอนาคต ตลอดจนผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการปรับมาตรฐานยานยนต์ไปสู่ยูโร 5/6 ให้เร็วที่สุด หรือภายในปี 2023 โดยหากใช้รถใหม่ในประเทศปีละ 1 ล้านคัน จะช่วยลดมลพิษลงได้มากถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ยูโร 3/4 ในปัจจุบัน" ผศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เสนอมาตรการทางเศรษฐศาสตร์แก้ฝุ่นพิษ
แนวทางทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาฝุ่นเป็นอีกมาตรการทั้งจูงใจและลงโทษที่น่าสนใจ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ต้องแบ่งตามประเภทของการผลิตฝุ่น ซึ่งมี 2 สาขา คือ ฝุ่นจากเครื่องยนต์ ถ้ามีรายได้ปานกลางถึงสูง สามารถใช้ภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีประจำปีรถยนต์ตามการปล่อยมลพิษที่ปลายท่อ ซึ่งกรมการขนส่งยังไม่ขยับ ถ้ารถปล่อยควันพิษเยอะ ต้องเสียภาษี ภาคข้าราชการ ขสมก. ต้องเป็นต้นแบบที่ดี นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการภาษีน้ำมันตามค่าการปล่อยมลพิษ น้ำมันสกปรกต้องเสียภาษีแพง เพื่อจูงใจให้คนใช้น้ำมันสีเขียว ซึ่งกระทรวงการคลังทำเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องดึงกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย ภาษีต้องวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้คนใช้น้ำมันสะอาด แล้วยังเรื่องภาษีสรรพสามิตรถ EV ภาษีศุลกากรรถ EV ถ้าลดภาษีลงมาได้ จะมีรถสะอาดใช้ในประเทศมากขึ้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะมองระยะยาวและอยากสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้ ค่าเข้าเมืองบ้านเราใช้ระบบนี้ได้ ในต่างประเทศไม่มีการตั้งด่าน แต่ใช้กล้องวงจรปิด เพื่อลดปริมาณรถยนต์เข้าเขตเมือง ถ้ารายได้น้อย ต้องไม่เพิ่มภาระให้คนจน ควรมีเงินช่วยเหลือรถประจำทาง และมีการอุดหนุนไขว้ การที่รัฐบาลจะลอยแพ ขสมก.และกดค่าบริการ ไม่ใช่มาตรการที่ดี
ส่วนฝุ่นจากภาคเกษตร ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงต้องมีการรับรองที่มาของวัตถุดิบ ปฏิเสธการรับซื้อจากผู้ประกอบการที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าสงวน หรือผลิตน้ำตาลจากอ้อยจากไร่ที่มีการเผา ผู้ประกอบการน้ำตาลต้องไม่ใช้อ้อยจากกระบวนการปลูกที่มีการเผาที่โล่ง เป็นการทำธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ส่วนรายได้น้อย มีเงินกู้เครื่องจักร รถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ ระบบการจัดการของเหลือใช้ ทดแทนการเผาในที่โล่ง สนับสนุนการใช้มาตรการจูงใจให้เกิดการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
อีกแนวทางลดฝุ่น ดร.อดิศร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาต้องไม่ใช่แค่ไฟไหม้ฟาง ต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อการตรวจจับที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุม ถ้าอยู่ในส่วนกลางอย่างเดียวคงไม่ไหว โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตรวจจับควันดำ รวมทั้งการเผาในที่แจ้ง อีกประเด็นควรมีการกระจายอำนาจการลงโทษผู้ประกอบการที่ปล่อยฝุ่นพิษหรือทำผิดด้านสิ่งแวดล้อมให้กรมควบคุมมลพิษ เพิ่มเขี้ยวเล็บให้เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม ทั้ง จนท.กรมควบคุมมลพิษ ทรัพยากรจังหวัดเข้าตรวจสอบ ตักเตือนและสั่งเพิกถอนใบอนุญาติได้ นอกจากนี้ ให้สัมปทานเอกชนในการควบคุมการจอดรถ การออกใบสั่ง และแบ่งรายได้เข้ารัฐ จะช่วยเพิ่มพื้นที่จราจรและลดการกระทำผิดกฎหมายจราจร จอดผิดที่จะไม่มีแน่นอน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |