พรรคพลังประชารัฐที่ก่อตั้งโดย 4 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ และเป็นพรรคที่มีคนมองว่ามีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาล และยังเป็นพรรคที่เสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เลยถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคที่เอาเปรียบพรรคอื่น เป็นพรรคที่ได้เปรียบพรรคอื่น ทั้งนี้เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง แต่เป็นพรรคที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่สามารถอนุมัติงบประมาณได้แม้ในช่วงเวลานี้ และสามารถโยกย้ายข้าราชการได้เช่นกัน
แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาต ก็ไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีจะทำได้ง่ายๆ เพราะนอกจากหลักนิติธรรมตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ต้องให้ความสำคัญกับความชอบธรรมและจริยธรรมด้วย จะอ้างแต่ว่าทำตามกฎหมาย ไม่ได้ทำผิดกฎหมายเท่านั้นไม่ได้ ประชาชนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงไม่มองแต่สาระของกฎหมายอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาว่าที่ทำถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีความชอบธรรมหรือไม่ มีความถูกต้องหรือไม่ มีความเหมาะควรหรือไม่ ถ้าหากทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประชาชนมองว่าไม่มีความชอบธรรมในการจะอนุมัติโครงการบางอย่าง อนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับโครงการเหล่านั้น หรือโยกย้ายใครโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรรองรับ แทนที่พรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนน กลับจะกลายเป็นเสียคะแนนไปด้วยซ้ำ
ในช่วงเวลาที่ 4 รัฐมนตรียังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น พวกเขาเสียเปรียบในการลงพื้นที่หาเสียง หรือให้สัมภาษณ์เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือเสนอนโยบายใดๆ ต้องทำในช่วงเช้าก่อน 8 โมง และทำในช่วงเย็นหลัง 4 โมง กับวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น ในขณะที่พรรคอื่นๆ นั้น หลังจาก คสช.ปลดล็อกให้สามารถหาเสียงได้แล้ว ก็ออกหาเสียง ปราศรัยให้สัมภาษณ์แสดงความคิดทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีข่าวมาตลอดว่าจะเป็นบุคคลที่พรรคประชารัฐเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ยังไม่ได้ตอบรับอย่างเป็นทางการ จะเอามาเป็นประเด็นในการหาเสียงก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่การเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะดึงดูดประชาชนให้ลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครของพรรค เมื่อไม่มีการตอบตกลง ก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่พรรคพลังประชารัฐ แล้วอย่างนี้มันคือความได้เปรียบหรือความเสียเปรียบกันแน่
บัดนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบรับให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในกรณีที่พลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ในฐานะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่สามารถมาช่วยหาเสียงให้แก่พลังประชารัฐได้ ในขณะที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคอื่นๆ สามารถหนีบเอาคนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคตะเวนหาเสียงได้ทั่วแคว้นแดนไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถไปขึ้นเวทีหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐได้ และในเวลานี้เราก็ยังไม่เห็นป้ายของผู้สมัครในนามพรรคพลังประชารัฐมีรูปของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกบพวกเขาเลย อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง หรือการมีรูปของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกบกับผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ จะมีส่วนช่วยด้านความจำและดึงดูดคนที่ต้องการสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ให้ลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ แต่การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถขึ้นเวทีปราศรัยได้ และไม่มีรูปประกบกับผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐนั้น น่าจะเป็นความเสียเปรียบมากกว่าเป็นความได้เปรียบอย่างที่กล่าวหากันอยู่
ประเด็นที่พูดกันมากก็คือการกำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิ์ในการร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เป็นความได้เปรียบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีคะแนนตุนอยู่แล้ว 250 เสียง การมีคะแนนเสียง 250 เสียงของ ส.ว. อาจจะเป็นความได้เปรียบจริง ถ้าหาก ส.ว.ทั้ง 250 คนนั้นรวมใจกันเทคะแนนเสียงให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เป็นเพียงการคาดเดากันไปเท่านั้น ยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการที่ทำให้ความได้เปรียบดังกล่าวนี้จะไม่ใช่ความได้เปรียบจริง ดังต่อไปนี้
ถ้าหากประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงมากกว่าพลังประชารัฐ และร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์คงไม่ยอมให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และจะต้องเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพเสียงประชาชน คือ เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าหาก ส.ว.ลงคะแนนเสียงให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาธิปัตย์จะต้องบอกว่า ส.ว.ไม่เคารพเสียงประชาชน ถ้าหากพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมากกว่าประชาธิปัตย์ และรวมกับประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ลงคะแนนเสียงให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าหากเสียงของพลังประชารัฐกับพรรคขนาดกลางพรรคอื่นๆ อย่างเช่นภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ไม่ถึง 251 เสียง พรรคประชารัฐก็ต้องเอาอกเอาใจพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากกว่า 251 เสียงในการผ่านกฎหมายที่ ส.ว.ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย
ชัยชนะของพลังประชารัฐยังจะมีขวากหนามหลังเลือกตั้งอีก เพราะขณะนี้มีการตีปลาหน้าไซกันแล้ว สำหรับบางพรรคที่พูดว่าพรรคของเขาจะต้องชนะ แต่ถ้าหากพรรคของเขา แสดงว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อพลเอกประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะต้องเตรียมรับมือกับการถูกกล่าวหาว่าโกง จะโดนร้องเรียนอีกกี่เรื่องก็ยังไม่รู้ จะมีคนขนเอาม็อบมาชุมนุมขับไล่อีกหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ การบริหารบ้านเมืองจะราบรื่นได้ยากมาก ประชาชนก็ได้แต่หวังว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาอยู่ การที่พรรคพลังประชารัฐดูดเอา ส.ส. ดาวฤกษ์ที่เสียงดีในจังหวัดต่างๆ มานั้น เมื่อถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส. ดาวฤกษ์เหล่านั้นจะเรียกร้องตำแหน่งอะไร ถ้าหากไม่ได้จะมีปฏิกิริยาอย่างไร หรือถ้าได้ ประชาชนที่ยี้ ส.ส.เหล่านั้น จะคิดอย่างไรกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ
เห็นแล้วยังว่าพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแน่ ต้องพิจารณาให้ลึกๆก่อนจะแสดงทัศนคตินะคะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |