(1)
ขนาด โพสต์ ทูเดย์...ที่ได้ชื่อว่ามีเงินถุง เงินถัง รองรับ รองเบาะ มาตั้งแต่แรก ยังไปซะแล้ว!!! ด้วยเหตุนี้...คงต้องยอมรับนั่นแหละว่า สำหรับ ป๋าเปลว สีเงิน ที่หลังแอ่นอยู่บนพื้นอิฐ พื้นปูน มาโดยตลอด ท่านช่างเป็นอะไรที่ทนมือ ทนตีน แสนอึด แสนฮึด เอามากๆ ถึงได้ประคับประคอง ไทยโพสต์ ให้อยู่ยง คงทน มาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้...
(2)
คืองานนี้...คงไม่ได้แค่คิดจะ เชียร์กันเอง แต่อาจด้วยเหตุเพราะเคยผ่านประสบการณ์อันสุดแสนจะเจ็บปวด รวดร้าว จากการแบกหนังสือพิมพ์ นิตยสาร บางเล่ม บางฉบับ มาตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว จนสุดท้าย...ต้องตัดสินใจ ล้างมือในอ่างพลาสติก เลิกท่องยุทธจักร เร้นกายเป็นตัวประหลาด อยู่นอกกำแพงใหญ่มานานแสนนาน ด้วยความรู้สึกถึงความเจ็บปวด รวดร้าว เหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ต้อง ขอมอบดอกไม้ให้คุณ หรือให้ กำลังใจ ใครต่อใครที่ ถูกสาป ให้ต้องยึดอาชีพเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ หรือประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์ เอาไว้มั่ง...
(3)
เพราะถ้าว่าไปแล้ว...ความเจ็บๆ ปวดๆ ของผู้ที่คิดเดินเส้นทางสายนี้ มันไม่ได้เพิ่งจะมาเกิดขึ้นแค่ในช่วงปี-สองปี หรือนับเป็นสิบๆ ปีเท่านั้น แต่มันดำเนินควบคู่ เคียงคู่ มาโดยตลอดนั่นแหละ ไม่งั้นคงไม่มีคำว่า นักหนังสือพิมพ์ไส้แห้ง หรือ นกน้อยในไร่ส้ม ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ครรโภทร หรือตั้งแต่วิชาชีพชนิดนี้อุบัติขึ้นมาในสังคมไทย แม้แต่จะมีฐานะเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็เถอะ ก็ยังคงมีคำพูดประโยคที่ว่า...การทำหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับแทบไม่ต่างไปจากการ พิมพ์แบงก์ หรือเอาแบงก์มาพิมพ์อะไรประมาณนั้น เพราะเพียงแค่วูบเดียว!!!...แบงก์ หรือธนบัตร นับเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน หรือกระทั่งพันล้าน ต้องกลายสภาพเป็นเศษขยะ หรือถุงขนม โดยแทบไม่เหลืออะไรติดมือเอาไว้เลย...
(4)
ด้วยเหตุเพราะไม่ว่าจะเป็นกระดาษพิมพ์ หมึกพิมพ์ แท่นพิมพ์ ไปจนถึงแผ่นฟิล์ม แผ่นสังกะสีที่เอามาใช้เป็นแม่พิมพ์ ตลอดไปจนน้ำยาเคมี ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งสามารถผลิตขึ้นมาได้เอง ใช้เอง ภายในสังคมที่ต้องพึ่งพาพวกฝรั่งเขามาโดยตลอด ต้องสั่งเข้า นำเข้า และเมื่อต้องบวกกับ ภาษี แต่ละรูป แต่ละแบบ แต่ละชนิดด้วยแล้ว ผู้ที่คิดจะเดินเส้นทางสายนี้ มัก โชคดี...ที่ตายก่อน ไปเป็นรายๆ ส่วนที่อูมฟูม อู้ฟู่นั้น มีอยู่น้อยเต็มที และอาจต้องถือเป็นบุญ เป็นวาสนา ที่มีมาแต่ชาติปางก่อน ชนิดมิอาจถือเป็นมาตรฐาน เป็นแบบอย่าง แนวทาง ได้ตามปกติโดยทั่วไป...
(5)
วงการหนังสือพิมพ์เลยคล้ายๆ กับวงการหนังไทยอยู่บ้างเหมือนกัน...ตรงที่ผู้ซึ่งจะขึ้นมามีอำนาจเป็นรัฐบาลไม่ว่ารายไหนก็รายไหน ระหว่างที่คบหา เรียกใช้ ขณะที่ยังไม่ได้มี อำนาจ ก็พอเข้าอก เข้าใจ ถึงความเจ็บปวด รวดร้าว เหล่านี้อยู่พอสมควร แต่เมื่อไหร่ที่ได้ขึ้นไปมีบทบาท หน้าที่ เรียบร้อยแล้ว ก็มักจะลืมๆ กันไป วงการหนังสือพิมพ์ หนังสือ นิตยสาร กับวงการหนังไทย จึงมักประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน อันส่งผลให้คนไทยยังคงอ่านหนังสือกันวันละ 8 บรรทัด หรือยังชอบดูหนังผี หนังน้ำเน่า ไปตามข้อเท็จจริงของ ต้นทุนการผลิต ที่แทบมองไม่เห็น กำไร นอกซะจากต้องอาศัยโชค อาศัยบุญ วาสนา ตั้งแต่ชาติปางก่อน อะไรประมาณนั้น...
(6)
แต่หนังสือพิมพ์ในช่วงหลังๆ...อาจหนักกว่าหน่อย ตรงที่ต้องเผชิญ คู่ต่อสู้โดยตรง นั่นก็คือบรรดา อินเทอร์เน็ต ทั้งหลายนั่นเอง ทิศทางของ งบโฆษณา ที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้กระทั่งบุญและวาสนาที่เคยสะสมไว้แต่ชาติปางก่อน แม้แต่ระดับ สุธีสามสี่ชาติ ก็แทบไม่เหลือติดเก๊ะเอาเลยก็ว่าได้ แต่ละฉบับ แต่ละราย เลยต้องร่วงผล็อยๆ แทบนับศพ แทบจำชื่อไม่ได้ ไม่ว่าตั้ง บ้านเมือง, สกุลไทย, ขวัญเรือน, ดิฉัน ฯลฯ และอะไรต่อมิอะไรที่ต้องถูก “สังหารหมู่” ระเนระนาดกันไปเป็นแผงๆ...
(7)
ด้วยเหตุนี้...การที่ ป๋าเปลว สีเงิน ท่านยังอุตส่าห์ประคับประคอง ไทยโพสต์ ให้ยืนยง คงทน มาถึงขั้นนี้ได้ ต้องถือว่าอะไรจะทนมือ ทนตีนเท่านี้ ย่อมไม่มีอีกแล้ว ดังนั้น...ไม่ว่าท่านจะเชียร์ใคร ด่าใคร จะหนีไปเที่ยว แวบไปเปลี่ยนบรรยากาศ ปล่อยให้แฟนๆ เง้อชะแง้แลหาไปเป็นช่วง เป็นระยะ ก็คงต้อง ยกเอาไว้ซะคน อย่าถึงกับเอา รสนิยม ชั่วครั้ง ชั่วคราว ไปวัดตัดสินทั้งชีวิต ทั้งกระบวนการ ต้องหันมาให้ กำลังใจ หันมาช่วย อนุรักษ์ เอาไว้ ชนิดถือเป็นสิ่งหายาก หรือเป็นสิ่งที่ยังพอสะท้อนคุณค่า ราคา ความเป็นชุมชนดั้งเดิม วิถีชีวิตดั้งเดิม ของ คนหนังสือพิมพ์ ที่นับวันมีแต่จะเลือนหายไปยิ่งเข้าไปทุกที...
-----------------------------------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |