"บิ๊กตู่" เตรียมส่งเทียบเชิญ ส.ว. ยอมรับไม่รู้ตอบตกลงกันหรือไม่ เหตุหลายคนไม่อยากเข้ามาการเมือง โอดเลือกใครก็ไม่พ้นถูกครหา ยันชี้นำ 250 ส.ว.ให้โหวตไม่ได้ เชื่อทุกคนมีความคิด-รักชาติ "พปชร." ยื่นถาม กกต.นายกฯ ช่วยพรรคหาเสียงได้หรือไม่ "เจ๊หน่อย" ท้า "ประยุทธ์" ร่วมดีเบตแคนดิเดตนายกฯ "เต้น" ปูด "ลุงตู่" ซุ่มรอขึ้นเวทีช่วยพลังประชารัฐปราศรัยเรียกคะแนนเสียงโค้งท้าย "สุเทพ" ปัดคำท้า "จตุพร" บอกไม่ให้ความสำคัญ
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในส่วนของ คสช.ว่า ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว และยังพอมีเวลาอยู่ ตอนนี้มีการลิสต์รายชื่อต่างๆ มาดูก่อน ซึ่งเอามาจากหลายที่ด้วยกัน ส่วนเจ้าตัวจะรับหรือไม่รับ ต้องว่ากันอีกที ต้องส่งหนังสือไปให้เขาตอบรับมา เนื่องจากทุกอย่างมีกติกากำกับอย่างชัดเจนว่าคุณสมบัติเช่นนี้เป็นได้หรือไม่ได้ ที่สำคัญต้องดูว่าเขาจะรับหรือไม่ ถึงเราอยากจะเลือกและอยากได้เขาเข้ามา แต่เจ้าตัวอาจไม่มาก็ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้หลายคนไม่อยากเข้ามาทางการเมือง เกรงว่าจะมีปัญหาทั้งเรื่องส่วนตัวบ้างอะไรบ้าง สิทธิประโยชน์ที่เคยได้เคยมีอยู่ก็ต้องเลิกทั้งหมดเลย การเป็นคณะกรรมการต่างๆ ก็ต้องเลิก ฉะนั้นรัฐบาลและ คสช.ต้องพิจารณอย่างรอบคอบ
"ตอนนี้ยังไม่มีการทาบทามเลย เพียงเตรียมรายชื่อเอาไว้เฉยๆ เรื่องนี้เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ และถ้าทุกคนคิดว่าผมได้ทำอะไรมาแล้วบ้าง ก็ต้องเชื่อมั่นบ้าง เพราะไม่ว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมากี่กรรมการ ก็โดนข้อครหาอยู่ดี ทุกอย่างก็กลับมาที่ผม ไม่มีใครว่ามันจะดีทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด การทำงานต่างๆ ย่อมมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ ก็ต้องมาดูว่าอะไรมากกว่ากัน ถ้าทำสำเร็จมากกว่าก็ต้องให้กำลังใจให้ทำงานต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า คนที่จะเข้ามาต้องให้เขารู้สึกว่าเมื่อเข้ามาแล้วได้รับการชื่นชม ไม่ใช่พอเริ่มจะเข้ามาก็ถูกเล่นงานทั้งหมด แล้วใครเขาจะอยากเข้ามา แล้วจะได้คนดีๆ เข้ามาทำงานกันหรือ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐบาล หรือ ส.ว. ไม่มีใครอยากเป็นกันทั้งนั้น อย่าคิดว่ามันง่ายการที่อยู่มา 4-5 ปี เอาคนเข้ามาทำงานกับรัฐบาล คสช.ไม่ใช่เรื่อง่าย เพราะหลายคนก็มีปัญหาส่วนตัวของเขา กติกาต่างๆ ทำให้เสียสิทธิจำนวนมาก ความจริงไม่ใช่เขาไม่อยากมา แต่เข้ามาก็มีปัญหาจุกจิก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของกฎหมาย
ถามว่ารู้สึกเหนื่อยหรือไม่ที่ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองจ้องโจมตี นายกฯ กล่าวว่า ไม่เหนื่อยหรอก เพราะเขาพูดในเรื่องไม่จริงจะไปสนใจทำไม วันนี้จะเห็นได้ว่าตนพยายามอารมณ์เย็นลง เมื่อก่อนอาจถือสาเป็นอารมณ์บ้าง ไม่ใช่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพราะเป็นนักการเมือง แต่คิดว่ามันทรมานตัวเองมากกว่า ส่วนหนึ่งผมพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด แต่อาจได้มากบ้างน้อยบ้าง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ต้องคิดว่าจะทำอะไรต่อไป ดีกว่าไปคิดตอบโต้กันแบบนี้ ทุกคนก็รู้ว่าเป็นแบบนี้มาโดยตลอด การเมืองไทยก็เป็นแบบนี้ ทำให้คนไม่อยากจะเข้ามา
ซักว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ 250 ส.ว.เข้ามาเพื่อเป็นต้นทุนสนับสนุนให้ตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า จะมาเป็นต้นทุนอย่างไร วันนี้เขาเตรียมเผื่อไว้ เพราะ ส.ว.ที่ผ่านมาทุกคนก็รู้ว่าเป็นอย่างไร การเลือกตั้งเข้ามาเป็นอย่างไร เป็นเครือข่ายกันแบบไหน ก่อนหน้านี้ทำไมไม่ดูว่าเป็นเครือข่ายกับใคร เป็นเครือข่ายกับพรรคการเมืองและนักการเมืองหรือไม่
ยันไม่มีอำนาจชี้นำ ส.ว.
"เมื่อวันนี้ผมเป็นขึ้นมา ก็กลายมาเป็นเครือข่ายของผม ทั้งๆ ที่ความจริงก็เห็นกันว่า พ.ร.บ.หลายฉบับที่พิจารณากันในสภาไม่เคยออกมาได้ง่าย ถ้าผมมีอำนาจสั่งเขาจริง ทำง่ายๆ วันนี้พรุ่งนี้กฎหมายก็คงออกมาได้ แต่วันนี้กฎหมายหลายฉบับยังออกมาไม่ได้เลย บางฉบับที่มีความเห็นขัดแย้งสูง ก็ต้องว่ากันต่อไป ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ไม่มีใครต้องการการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นอันตรายของประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เปลี่ยนให้เป็นหน้ามือหลังมือทีเดียว สำหรับประเทศไทยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะความขัดแย้งสูง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่โหวตเลือกนายกฯ เว้นแต่กรณีที่แต่ละพรรคเสนอชื่อนายกฯขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ต้องเสนอร่วมกันทั้งสองสภา ซึ่งส.ว.มีอำนาจแค่ตรงนี้ เป็นการแก้ปัญหากรณีที่พรรคนี้ได้ แต่พอเสนอชื่อขึ้นมาแล้วพรรคอื่นไม่ยอมรับ ก็จะมีความขัดแย้งกันต่อไป จึงต้องหาวิธีการปลดล็อกตรงนี้ เพื่อให้ ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยได้
"เป็นเรื่องของการมีสองสภา แม้ ส.ว.จะตั้งมาจากผม แต่ถามว่าพวกคุณจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ ทุกคนต่างก็รักประเทศ อย่าหวงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตยอยู่แต่เพียงพรรคการเมือง นักการเมือง ผมขอแค่นี้" นายกฯ กล่าว
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะลงพื้นที่หาเสียงได้หรือไม่ว่า ขณะนี้พรรคได้ดำเนินการส่งหนังสือเพื่อหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สอบถามว่าตามกฎหมายแล้วนายกรัฐมนตรีสามารถทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง แต่ถ้านายกฯ ได้พูดเรื่องนโยบายต่างๆ ก็อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าท่านคิดอะไร แต่ทุกอย่างต้องอยู่กรอบของกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ได้ คาดว่าจะได้ทราบผลจากกกต.เร็วๆ นี้
ถามว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเข้าร่วมดีเบตนโยบายพรรคได้ จะทำให้พรรคเสียโอกาสหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า จะทำได้แค่ไหนอย่างไรก็ต้องให้เป็นไปตามกรอบที่สามารถทำได้ ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของพรรคและผู้บริหารพรรค ซึ่งเราต้องเเบ่งบทบาทกัน
ซักว่าเมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค สามารถเดินทางมาพรรคได้หรือไม่ เลขาฯพปชร.กล่าวว่า อาจจะยังไม่ได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนจะมีการโฟนอินมาให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.ที่พรรคได้หรือไม่ จะต้องดูข้อกฎหมายก่อน
ที่สุเหร่าหัวหมากน้อย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ช่วยนายตรีรัตน์ จันทรโรภาส ผู้สมัคร ส.ส.เขต 13 กทม.หาเสียง ถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐขอ กกต.ให้ พล.อ.ประยุทธ์มาลงพื้นที่ช่วยหาเสียงว่า เริ่มจากที่ กกต.ขอให้นายกฯ มาแสดงวิสัยทัศน์ดีเบตกับแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่นๆ ก่อนจะดีกว่า
"เวลาที่ถามถึงแคนดิเดตพรรคพลังประชารัฐไม่มา ก็ได้รับคำตอบว่ากฎหมายให้มาไม่ได้ แต่ถ้ากฎหมายอนุญาตให้ติดรูปได้ ก็น่าจะมาดีเบตกับผู้เสนอตัวแบบไร้เส้นได้" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ถามว่าหาก กกต.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงจะยิ่งสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า วันนี้ท่านมีหมวก 3 ใบ ไม่ได้ลงในนามแคนดิเดต ก็ลงในนามนายกฯ สื่อก็คงเห็นเองว่าเป็นการลงพื้นที่เรียกคะแนนเสียงให้บางพรรคหรือไม่ ส่วนตัวไม่รู้สึกตื่นเต้นหรือประหลาดใจว่าจะลงในนามพรรคหรือไม่ เพราะท่านก็ลงอยู่แล้ว และหวังผลหาคะแนนเสียง
"ถ้าจะลงเต็มตัวจริงๆ คนที่เสนอตัวเป็นนายกฯ น่าจะมาร่วมดีเบตในทุกเวที เช่นเดียวกับแคนดิเดตคนอื่น ไม่ใช่มีความพิเศษหรืออภิสิทธิ์อยู่คนเดียว ควรจะมานำเสนอสิ่งที่ตัวเองจะทำ พร้อมกับแคนดิเดตคนอื่นๆ ประชาชนจะได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือก" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ปูด'บิ๊กตู่'ขึ้นเวทีโค้งท้าย
ซักว่า อยากฝากข้อสังเกตอะไรกับการส่งหนังสือเทียบเชิญ 194 ส.ว.หรือไม่ ประธานยุทธศาสตร์ฯ เพื่อไทย กล่าวว่า ฝากข้อสังเกตถึงคนเลือก คงไม่มีประโยชน์ ถึงอย่างไรเขาก็ต้องเลือกคนของเขาอยู่แล้วแต่อยากฝากคนที่จะมาเป็น คุณไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้งของคนคนเดียว แต่จะมาทำงานกินเงินภาษีอากรของประชาชน หน้าที่ของคุณคือทำให้ประเทศชาติสงบสุข และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ดังนั้น ถ้าประชาชนมอบความไว้วางใจให้กับพรรคการเมืองใด เราหวังว่า ส.ว.จะไม่ฝืนความรู้สึกประชาชน ต้องเลือกประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เลือกคนที่ตั้งท่านเข้ามา
ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุมยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้ง ตอนหนึ่งว่า ได้รับข้อมูลมาช่วงโค้งสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อช่วยสร้างกระแสความสนใจ
"ขอบอกไปยังพรรคพลังประชารัฐในวันนี้ สิ่งที่ทำมาก็ได้เปรียบเกินกว่าที่จินตนาการไว้แล้ว ไม่ต้องให้ถึงช่วงโค้งสุดท้าย และไม่ขอท้าดีเบตกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเดี๋ยวท่านจะหาวิธีหลีกเลี่ยง แต่ขอเชิญท่านมาขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงตั้งแต่วันนี้พรุ่งนี้เลย ไม่ต้องรอโค้งสุดท้ายหรือใช้เวทีรัฐบาลพบปะประชาชน ที่มีเนื้อหาสาระคือการเสียง ท่านพูดตลอดว่า ผ่านการรบมามาก ผมก็เข้ารบ แต่ผมก็ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาหลายเหตุการณ์เช่นเดียวกัน ในเมื่อเราจะไปสู้กันในสนามเลือกตั้ง ก็น่าจะสู้กันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาดีกว่า" นายณัฐวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมพรรคการเมือง เพื่อจับสลากเลือกคำถามในการประชันนโยบายที่ กกต.จะจัดขึ้นให้กับ 54 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และแจ้งความประสงค์ที่จะร่วมเวทีประชันนโยบายของ กกต. ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถมาร่วมดีเบตในเวทีนี้ได้หรือไม่ว่า กฎหมายไม่ได้ห้าม
วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ ออกมาท้าดีเบตกับตนเองว่า ไม่ให้ความสำคัญ เขาไม่ใช่คนที่สำคัญ เราไม่ควรให้ความสำคัญ
ด้านนายจตุพร พร้อมแกนนำพรรคเพื่อชาติ ลงพื้นที่ช่วย ดร.ณัฐภัสสร ธนาบวรพาณิชย์ ผู้สมัครเขต 21 พระโขนง-บางนา หาเสียง โดยนายจตุพรกล่าวถึงการท้านายสุเทพดีเบตว่า นายสุเทพได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นที่จะไม่ยุ่งการเมือง เรา 2 คนต่างสงบปากสงบคำกัน เพื่อต้องการประคับประคองบ้านเมือง แต่มาระยะหลัง นายสุเทพได้ไปประกาศในสามเวทีในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตนเองก็ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ และต่างไม่ได้เข้ารัฐสภาเหมือนกัน การโต้วาทีหรือดีเบต จึงถือเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสองฝ่าย
ที่ จ.สระบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมแกนนำพรรค ลงพื้นที่หาเสียง บริเวณตลาดมวกเหล็กและตลาดพงษ์สว่าง ตำบล มวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และศาลเจ้าพ่อมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยนายอนุทินนำเสนอนโยบายข้าวว่า พื้นที่จังหวัดสระบุรีมีการปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาชาวนาถูกเอาเปรียบจากพ่อค้านายทุน การแก้ไขคือพรรคภูมิใจไทยจะออกกฎหมายแบ่งปันกำไร 75 10 15 ชาวนาจะได้กำไรจากข้าวถุงและข้าวส่งออก 75% ในขณะที่โรงสีจะได้กำไร 10% และพ่อค้าจะได้กำไร 15% ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมั่นใจว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยยกระดับชีวิตของชาวนา หากเกษตรกรมีเงินมาก ย่อมจับจ่ายใช้สอยมาก ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในจังหวัด เศรษฐกิจในจังหวัดสระบุรีจะดีขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |