ตศร.มีอำนาจไม่เรียกพยาน


เพิ่มเพื่อน    


    "อิทธิพร" ยัน กกต.มีอำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบ “ทษช.” โดยไม่ต้องตั้ง กก.ไต่สวน อ้างมีหลักฐานว่ากระทำผิดตามมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง เลขาฯ กกต.แจงคำร้องยุบ พปชร.ต่างกันยังไม่ปรากฏหลักฐาน รอรวบรวมส่ง กกต. 1-2 สัปดาห์นี้  อดีตตุลาการศาล รธน.เปิดกฎหมายให้อำนาจตุลาการไม่ต้องเรียกพยานบุคคลตามบัญชีทั้งหมดก็ได้ เผยเขียนล็อกหากเห็นเข้าข่ายกระทบความมั่นคงไม่ต้องเรียกพยานมา
    เมื่อวันพฤหัสบดี นายอิทธิพร บุญประคอง  ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีที่ กกต.ไม่ตั้งคณะกรรมการไต่สวนกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคนั้น ตนขอให้ไปอ่านคำแถลงข่าวของ กกต. ที่ได้เปิดเผยไปก่อนหน้านี้ ยืนยันว่า กกต.มีอำนาจพิจารณาตามมาตรา 92 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวน
    เมื่อถามว่า ถ้าหากศาลตัดสินให้มีการยุบพรรคทษช. กกต.จะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ในฐานะที่เป็นผู้รับสมัคร นายอิทธิพรกล่าวว่า การมายื่นใบสมัครเป็นการรับเรื่องไว้เฉยๆ เหมือนกับการที่ใครมาส่งจดหมายก็รับเรื่องเอาไว้ แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณา ถ้าเปรียบก็เหมือนศาลรับเรื่องเอาไว้ แต่ยังไม่ได้รับฟ้อง
     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่หากพรรค ทษช.ถูกยุบ จะต้องมีการแก้ไขบัตรเลือกตั้งหรือไม่ ว่าถ้าผู้สมัครไม่ว่าพรรคใด ไม่ถูกประกาศรับรองเป็นผู้สมัครหรือถูกตัดสิทธิ์ในภายหลัง กกต.จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าผู้สมัครในเขตนั้นๆ เป็นผู้ไม่มีสิทธิ์รับสมัครรับเลือกตั้ง ใครกาบัตรก็จะกลายเป็นบัตรเสีย และอยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่มีการนำเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ยังใช้บัตรเลือกตั้งอยู่เช่นเดิม
    เมื่อถามว่า พรรค ทษช.เข้าชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.จะต้องมีคำชี้แจงอะไรเพิ่มหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ยังไม่ได้รับเรื่อง แล้วแต่ศาล แต่มีนัดพิจารณาวันที่ 27 ก.พ.
     ถามถึงกรณีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เข้าสู่การพิจารณาของ กกต.แล้วหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบ อยากจะชี้แจงการพิจารณาของ กกต. คืออำนาจของ กกต.เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าสามารถส่งให้ศาลพิจารณาได้เลย ซึ่งกรณีที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพราะปรากฏหลักฐานให้ กกต.เห็นและเชื่อได้ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนกรณียื่นคำร้องมาให้นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือให้ กกต.นั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐาน ปรากฏแต่คำร้อง จึงต้องไปตรวจสอบหลักฐานเพื่อรวบรวมให้ กกต.พิจารณา 
    เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าหลักฐานและคำร้องแตกต่างกัน ตนอยากอธิบายเรื่องกระบวนการให้เข้าใจ เพราะมีการเปรียบเทียบว่าร้องแล้วทำไมไม่ยุบเลย ทีอันนี้ทำไมยุบเลย คาดว่าคำร้องของพรรคพปชร.จะเสนอให้ กกต.ได้เร็วๆ นี้ภายใน 1-2 สัปดาห์  ส่วนนิยามคำว่าปฏิปักษ์ของ กกต.เป็นอย่างไรนั้น รายละเอียดอยู่ที่ศาลขออนุญาตไม่พูด
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ทษช.ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า คำชี้แจงจะเท็จหรือจริง จะครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่ คงไปออกความเห็นอะไรให้เขาไม่ได้ สิ่งที่เขาอ้างถึงในทางกฎหมายจะทำได้หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ แต่เขาอ้างไปแล้ว อยู่ที่ศาลจะฟังขึ้นหรือไม่ จะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ 
    เมื่อถามว่า พรรค ทษช.ระบุ กกต.นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคเป็นเรื่องที่มิบังควร นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นข้อต่อสู้ของเขา เขาต้องต่อสู้ทุกอย่าง แต่จะเป็นอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ก็อยู่ที่ศาล 
    ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กล่าวในหลักการถึงกระบวนการพิจารณาไต่สวนคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญว่า การวินิจฉัยคดีเป็นอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะวางหลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องที่ส่งมายังศาลว่าจะใช้การ พิจารณาคำร้องแบบใดในตัวกฎหมายดังกล่าว มาตรา 58 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ตุลาการสามารถพิจารณาคำร้องโดยพิจารณาแค่ข้อกฎหมายอย่างเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้องไปเรียกพยาน หากเห็นว่าข้อกฎหมายข้อเท็จจริงที่ศาลได้รับชัดเจนเพียงพอ ก็สามารถพิจารณาและมีคำวินจัยได้เลย
    “ตามมาตรา 58 นี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ทาง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของศาลรธน. ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เขียนตามหลักว่าหากข้อกฎหมายชัดเจนว่าเรื่องที่ส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญเข้ากับกฎหมายมาตราอะไร ก็ดูองค์ประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องเปิดห้องไต่สวนหรือนำสืบพยานบุคคลก็ได้ ทางตุลาการก็สามารถวินิจฉัยได้เลย ก็เป็นไปตามนั้น เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็มีแนวปฏิบัติเช่นนี้ หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตก็เป็นเช่นนี้ ถ้าตุลาการเห็นว่าข้อกฎหมายชัดเจนเพียงพอแล้ว ก็ไม่ต้องสืบพยานหรือไต่สวน เพราะตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องเปิดช่องไว้แล้ว ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นตลอด ไม่ใช่แค่สมัยผมเป็นตุลาการศาลฯ ถ้าศาลเห็นว่าข้อกฎหมายชัดเจน ก็ไม่ต้องเปิดไต่สวน สืบพยาน เช่นเดียวกับการเรียกพยานมาไต่สวน หากสุดท้ายมีการไต่สวนคำร้องด้วยการเปิดห้องพิจารณาคดี หากคู่ความยื่นบัญชีพยานมา ศาลก็จะพิจารณาว่าจะเรียกพยานมากี่ปากก็ได้” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
    เมื่อถามถึงกรณีมาตรา 58 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ตุลาการจํานวนไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจมีมติไม่ให้นําเอกสารหรือพยานหลักฐานซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศมาใช้ในคดีได้” นิยามของความมั่นคงตามกฎหมายคืออะไร   นายสุพจน์กล่าวว่า ความมั่นคง ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูว่ามีองค์ประกอบเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง เช่น ไปกระทบความสงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งเรื่องนี้ก็ชัดเจนในตัวมันเอง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมพิจารณาคำร้องคดีที่ กกต. ขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีทำความผิดตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 จากผลพวงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา
    โดยฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักษาชาติได้พยายามสู้คดีด้วยการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้อง ด้วยการเปิดห้องไต่สวนพิจารณาคดี ไม่ใช่แค่พิจารณาข้อกฎหมายแล้วลงมติทันที ซึ่งฝ่ายกฎหมายได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลเพื่อขอให้ศาล รธน. เรียกมานำสืบ เบิกความ แยกเป็นกรรมการบริหารพรรค 14 คน และพยานคนกลางซึ่ง เป็นบุคคลภายนอก 5 ปาก โดยมีรายงานว่าพยานบุคคลภายนอกพรรค 5 ชื่อดังกล่าวที่ยื่นต่อศาล รธน. ไม่มีรายชื่อของบุคคลที่พรรคเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช.ก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
    ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมกันในวันพุธที่ 27 ก.พ.นี้ โดยคาดว่าจะเป็นการพิจารณาตัวเอกสารที่พรรคไทยรักษาชาติชี้แจงข้อกล่าวหาที่ยื่นมาเมื่อ 20 ก.พ. โดยขั้นตอนต่อไป ทางตุลาการจะกําหนดประเด็นและลําดับประเด็นที่จะพิจารณาวินิจฉัยที่คาดว่าจะรู้ได้ในวันดังกล่าวว่าศาล รธน.จะวางแนวการวินิจฉัยคดีอย่างไร. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"