เกมเปลี่ยน!
พรรคไทยรักษาชาติกำลังทำอะไร?
แน่ใจนะว่า...ยังอยากจะเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคมนี้
แต่พฤติกรรม...ไม่น่าใช่
๘ ประเด็น คำชี้แจงคดียุบพรรค ที่ไปยื่นกับศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
....ข้อ ๑ การดำเนินกิจการของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามประกาศอุดมการณ์ นโยบายในการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ ๒ พรรคทำตามประสงค์และความยินยอม ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ.๒๕๑๕ และข้อบังคับพรรค ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี
ข้อ ๓ พรรคเข้าใจโดยสุจริตว่าการเสนอชื่อดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๘, ๘๙ และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา ๑๓ และ ๑๔ ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ ๔ เมื่อมีพระราชโองการวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เวลา ๒๓.๐๐ น. ภายหลังที่พรรคได้แจ้งรายชื่อบัญชีนายกฯ ไปแล้วเมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. พรรคจึงได้แถลงโดยทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นการแสดงเจตนารมณ์โดยชัดเจนว่าพรรคไม่ติดใจในการเสนอชื่อนายกฯ
ข้อ ๕ การกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๘ และมาตรา ๘๙ ประกอบมาตรา ๘๗ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ ให้ถือว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าว ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องในทางใดๆ ต่อศาลได้
ข้อ ๖ พรรคเห็นว่าคำว่า “ปฏิปักษ์” ให้ความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู แต่การกระทำของผู้ถูกร้อง ได้กระทำการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นความประสงค์ของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ที่อาสาเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติ และยินยอมให้ผู้ถูกร้องเสนอชื่อ มิใช่เป็นการแอบอ้างโดยพลการ
ข้อ ๗ กกต.ไม่มีอำนาจหน้าที่นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคว่า กระทำผิดตามมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ คำขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น เป็นการขยายความของพระราชโองการที่เป็นโทษ เป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง อันเป็นการนำพระราชโองการมาแอบอ้างใช้อย่างมีเจตนาไม่สุจริต เป็นการกล่าวหาโดยสร้างฐานความผิดใหม่ ซึ่งไม่มีฐานกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้
ข้อ ๘ มติในการประชุมครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ของ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา ๔๑ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๖๐ ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.๒๕๖๑ และมีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งพรรคมีหลักฐานนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการที่พรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป
พรรคไทยรักษาชาติมีความบริสุทธิ์ใจ ที่จะมุ่งนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ คดีนี้เป็นคดีที่มีข้อกล่าวหาต่อพรรคอย่างรุนแรง ขอศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดรับฟังความทั้งสองฝ่ายก่อนมีคำวินิจฉัยใดๆ.....
ตามข้อ ๒ "พรรคทำตามประสงค์และความยินยอม ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์"
ไทยรักษาชาติกำลังจะบอกว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ประสงค์จะเล่นการเมือง แล้วพรรคทำตามประสงค์อย่างนั้นใช่หรือไม่?
นี่เป็นอีกประเด็นที่ร้ายแรง
อย่าลืมว่า ทั้ง ๘ ข้อนี้ เกิดขึ้นหลังพรรคไทยรักษาชาติ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ว่า
....พรรคไทยรักษาชาติ ขอน้อมรับพระราชโองการข้างต้น ไว้ด้วยความจงรักภักดีต่อ พระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ทุกพระองค์....
ย้อนกลับไปวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ หลังพรรคไทยรักษาชาติยื่นรายชื่อบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
คำให้สัมภาษณ์ของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ย้อนแย้งกับคำชี้แจงคดียุบพรรค ในข้อที่ ๒ อย่างสิ้นเชิง
"....ทางกรรมการบริหารฯ ได้มีการประชุมกันและเสนอชื่อจากสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติถึงบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการบริหารพรรค
และกรรมการบริหารพรรคก็เห็นพ้องว่ารายชื่อของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นชื่อที่มีความเหมาะสมที่สุด
จึงมีมติให้ความเห็นชอบ
หลังจากนั้นพรรคจึงได้ติดต่อและประสาน ซึ่งท่านเองก็มีพระเมตตา พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอชื่อท่านให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคไทยรักษาชาติ....
...ฉะนั้น วันนี้ผมถือว่าเป็นพระเมตตาที่ท่านได้เสียสละและลงมาทำงานให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านให้เกียรติตอบรับเป็นบัญชีนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคไทยรักษาชาติ...”
จะให้แปลความกันอย่างไร?
อะไรเกิดขึ้นก่อนหลัง
พรรคไทยรักษาชาติมีมติก่อนแล้วไปเชิญ จากนั้นมีการตอบรับ
หรือมีประสงค์แล้วพรรคเชิญทีหลัง
ศาลรัฐธรรมนูญท่านจะเชื่อ "คำพูดแรก" หรือเปล่า ไม่ทราบได้
แต่คำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค มาก่อนคำชี้แจงต่อศาล
ย้อนแย้งกันเองอย่างชัดเจน!
และความย้อนแย้งนี่เอง อาจกลายเป็นทางรอดของไทยรักษาชาติ
แต่ก็อาจเป็นการฝังไทยรักษาชาติได้เช่นกัน
เวลานี้เกมของไทยรักษาชาติคือ....ยื้อออกไป
เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีหลังเลือกตั้ง
ถ้าถูกยุบ ผู้สมัครที่สอบได้ ย้ายไปเพื่อไทย
หากยุบก่อนคือเจ๊ง!
ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเหลว
แล้วจะดึงเกมยาวไปหลังเลือกตั้งได้หรือไม่?
การใส่พยานเข้าไปในกระบวนการพิจารณาของศาล นั่นคือเจตนาหรือเปล่า
พรรคไทยรักษาชาติยื่นบัญชีพยานบุคคล
กรรมการบริหารพรรค ๑๔ คน
พยานคนกลาง บุคคลภายนอกอีก ๕ ปาก
รวม ๒๑ ปาก
ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนทั้งหมดหรือไม่
ใช้เวลาเท่าไหร่
หากพิจารณาตามความเห็นของ "ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็พอมองเห็นทิศทาง
.....พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นรายชื่อบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคต่อ กกต.หรือไม่ และชื่อที่ยื่นคือบุคคลใดนั้น เอกสารที่ยื่นต่อ กกต. เป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นชื่อบุคคลที่นายกรัฐมนตรีของพรรคและชื่อที่ยื่นคือบุคคลใดต่อ กกต.จริง
แม้จะนำพยานบุคคลและพยานเอกสารมาสืบมากมายแค่ไหนก็ไม่อาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า ไม่ได้ยื่นหรือยื่นแต่ชื่อบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไม่ใช่ชื่อที่ยื่นต่อ กกต.ได้
ส่วนประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า การยื่นรายชื่อนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. เป็นกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๙๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ หรือไม่ เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องวินิจฉัย
โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานใดๆ
จึงน่าจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการสืบพยานใดๆ อีก
เว้นแต่พรรคไทยรักษาชาติต้องการประวิงคดีให้ล่าช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาคดีนี้หลังวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒.....
ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อว่า พยานคนนอก ๕ ปากมีใครบ้าง
แต่ไม่น่าจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์รอบสอง
ถ้ามี ก็ยิ่งกว่า "มิบังควร"
ครับ....วานนี้ (๒๑ กุมภาพันธ์) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่า
"....เสียงของเราเปลี่ยนประเทศไทยได้ อนาคตใหม่มุ่งมั่นที่จะเอาสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมกลับคืนมาให้สังคมไทย ใครฝันเหมือนกันให้มาร่วมลองทำกันให้ได้สักครั้ง สร้างสังคมที่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย มาร่วมกันทำภารกิจเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อให้ประชาธิปไตยยั่งยืนกัน ซึ่ง ๘๖ ปี ยังทำไม่สำเร็จ ให้สำเร็จกันสักครั้ง...."
ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ หรือที่เรียกว่า หลัก ๖ ประการของคณะราษฎร มีดังนี้
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ลูกผู้ชายอย่าคืนคำ ได้อำนาจแล้วทำให้ครบทั้ง ๖ ข้อ
-----------------
ภูเขาอเนกล้ำ มากมี
บมิหนักแผ่นธรณี หน่อยไซร้
หนักนักแต่กระลี ลวงโลก
อันจักทรงทานได้ แต่พื้นนรกานต์
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |