ช่วงนี้ผมออกภาคสนาม ตั้งวงคุยกับผู้คนหลายวงการ เดินเยาวราช, คลองเตยและจตุจักร เพื่อชีพจรของคนไทยวันนี้ก่อนวันเลือกตั้ง
ออกทำรายการ “ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน” กับ ThaiPBS ผมก็พบปะคนในชุมชนต่างๆ เพื่อสอบถามถึงปัญหา, ทางแก้และความคาดหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้
ตื่นเช้าผมก็จะเดินตลาดในจังหวัดต่างๆ เพื่อถามไถ่ความเป็นอยู่และความคิดต่อสถานการณ์บ้านเมือง
ไม่มีโพลไหนจะดีเท่ากับคนข่าวอย่างเราได้สนทนาถามตอบอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าของประเทศในทุกซอกหลืบของประเทศ
บอกได้ว่าผู้คนมีความตื่นตัวต่อก้าวใหม่ของบ้านเมืองครั้งนี้อย่างมาก ไม่มีใครลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอให้กับนักการเมืองที่เสนอตัวเองมารับใช้ประเทศชาติ
สาเหตุหนึ่งที่มีกระแสความสนใจของชาวบ้านต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นเพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน
บรรยากาศแห่งการนำเสนอนโยบาย, การซักถามความเห็นของกันและกัน, การตั้งความหวังว่าอะไรๆ จะดีขึ้นได้อย่างไร
คนที่มีสิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งนี้มีถึง 7-8 ล้านคน นั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการถกแถลงถึงความชอบไม่ชอบ, เห็นพ้องและเห็นต่างกับแนวทางการเสนอทางออกของประเทศชาติอย่างคึกคัก
กฎกติกามารยาทของการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ทั้งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญกับในกฎหมายลูกทั้งหลายทั้งปวงมีรายละเอียดใหม่มากมายที่ต้องทำความเข้าใจ
จึงเกิดคำถามอย่างกว้างขวางว่า สิทธิและหน้าที่ กฎเกณฑ์ข้อห้ามและกรอบของระเบียบทั้งหลายนั้นมีการตีความในภาคปฏิบัติอย่างไร
พอได้คุยกันอย่างตรงไปตรงมาก็พอจะประเมินถึง “กระแส” และ “คะแนนเสียง” ที่จะมีแนวโน้มออกไปทางใดทางหนึ่ง
ผมจับได้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ “ความชัดเจน” และ “ความสด” กับ “ความสามารถ” ในการทำให้นโยบายที่นำเสนอประชาชนนั้นเกิดขึ้นได้จริง
อันดับแรกคือ เรื่องปากท้องอย่างไม่ต้องสงสัย
อันดับต่อมาคือ ความหวังว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่การปรองดอง ปราศจากความรุนแรง
ความหวังอันดับสามของคนที่ผมพูดจาด้วยคือ “อะไรๆ ที่มันใหม่ๆ บ้าง”
สำหรับผมนั่นหมายถึงการเรียกร้องของประชาชนให้ได้มาซึ่ง “คุณภาพมาตรฐานการเมือง” ยุคใหม่ที่มิใช่เป็นเพียงการต่อรองเพื่อตำแหน่งแห่งหนและอำนาจทางการเมืองแบบการเมืองเก่าๆ ที่นักวิเคราะห์วิจารณ์ในกรอบเก่าๆ ยังใช้เป็นหลักในการประเมินสถานการณ์
การที่ social media มีบทบาทสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งมาเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งที่มิอาจจะคาดเดาให้ถูกต้องได้แบบเดิมๆ
แนวทางการหาเสียงแบบเดิมๆ ที่มีแต่ “คำขวัญ” ลอยๆ และวาทะเพราะๆ นั้นไม่ใช่จะสร้างความเลื่อมใสศรัทธากับคนไทยวันนี้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานวัยกลางคนที่เอียนระอากับการเมืองน้ำเน่าแบบก่อนเก่า
หรือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะมีความสนใจการเมืองเป็นครั้งแรก เพราะมีประเด็นถกแถลงที่มีผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อม
คนไทยในยุคดิจิทัลที่พยายามจะยกระดับตนเองสู่ 4.0 ย่อมไม่อาจรับได้กับการหาเสียงของนักการเมืองที่มีมาตรฐานเพียง 1.0
ขณะเดียวกันคำว่า “คนรุ่นใหม่” ก็อาจจะไม่ได้กำหนดด้วยอายุเท่านั้น หากแต่อยู่ที่วิธีคิดและทัศนคติต่อความเป็นไปของบ้านเมือง
คนอายุน้อยที่เดินตามแนวคิดคนรุ่นก่อน ไม่พร้อมจะก้าวออกจาก “comfort zone” ของตัวเองก็ไม่อาจจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ได้
ขณะเดียวกันคนวัยทำงานและอยู่ในกลุ่มคนที่อายุมากกว่านั้นที่เกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ ปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงรุนแรงในยุค disruption ก็ย่อมจะถือได้ว่าอยู่ในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ด้วยปัจจัยใหม่ๆ หลายข้อ จะมีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่คาดเดาไม่ออกในวันนี้ออกมาให้เห็นกันอีก
กรุณารัดเข็มขัดให้แน่น มุ่งมั่นฟันฝ่าไปข้างหน้า เส้นทางข้างหน้าจะมีความแปรปรวนสูง ไม่ใช่คนใหญ่ชนะคนเล็ก ไม่ใช่คนเร็วชนะคนช้า แต่คนที่พร้อมจะปรับตัวตลอดเวลาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะอยู่รอดปลอดภัยครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |