เวลาพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ราษฎรมักหวาดหวั่นว่าจะเกิดเหตุร้าย เห็นจะเป็นความรู้สึกที่สืบมาแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีในสมัยกลาง ตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองเสวยราชย์เป็นต้นมา ด้วยมักเกิดรบพุ่งหรือฆ่าฟันกัน แม้ไม่ถึงเช่นนั้นก็คงมีการกินแหนงแคลงใจกันในเวลาเปลี่ยนรัชกาลแทบทุกคราว ที่จะเปลี่ยนโดยเรียบร้อยทีเดียวนั้นมีน้อย จนเกิดเป็นคติสำหรับวิตกกันว่าเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักจะเกิดเหตุร้าย
เมื่อเปลี่ยนรัชกาลคราวนี้ก็หวาดหวั่นตามเคย มีอุทาหรณ์ดั่งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเรียกว่า "สยามริปอสิตอรี" ของหมอสมิธพิมพ์จำหน่ายอยู่ในสมัยนั้นกล่าวความดังนี้ "เวลานี้ทั่วประเทศสยามพากันสั่นสะท้านและหวาดหวั่น อยู่ในระหว่างเปลี่ยนรัชกาล ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าซึ่งมีพระเดชพระคุณแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก และได้ทรงปกครองชนชาติอื่นที่มาพึ่งพระบารมีอยู่ในพระราชอาณาเขต กลับทั้งชาวต่างประเทศยังอยู่ในบังคับของกงสุลนั้นมิได้เสด็จสถิตอยู่ในเศวตฉัตรให้คนทั้งหลายเกรงพระราชอาญาเสียแล้ว
แม้สมเด็จเจ้าฟ้าอันเป็นพระราชโอรสได้ทรงรับรัชทายาทก็จริงแต่ว่าประชวรพระกำลังยังปลกเปลี้ย จะรอดพระชนม์ทนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและการรับแขกเมืองเฝ้าได้แลหรือ แม้แต่ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกำลังประชวรยังไม่สวรรคต ก็มีกิตติศัพท์ว่าจะเกิดกบฏและได้มีเหตุวุ่นวายด้วยเนื่องจากฝิ่นเถื่อนทั้งปรากฏว่ามีผู้ทำอัฐปลอมมากเกิดยุ่งยากในเรื่องเครื่องแลกจนตื่นกัน ไม่เป็นอันซื้อขายในท้องตลาดอยู่หลายวัน" ดังนี้
แต่ที่จริงมีเหตุการณ์อันเป็นเรื่องร้อนต้องรีบระงับเมื่อแรกเข้ารัชกาลที่ 5 แต่ 2 เรื่องคือ เรื่องเงินตราเรื่อง 1 กลับเรื่องจีนตั้วเหียอีกเรื่อง 1 จะกล่าวอธิบายเป็นลำดับต่อไปในตอนนี้
เรื่องเงินตรา
เดิมเงินตราในประเทศสยามนี้ใช้เงินพดด้วง (รูปเป็นก้อนกลม) ตีตรารัชกาลประจำเป็นสำคัญ เป็นประเพณีสืบมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและเงินพดด้วงนั้นทำเป็น 4 ขนาด ขนาดใหญ่ราคา 1 บาท ขนาดรองราคากึ่งบาท (แต่ขนาดนี้มิใคร่ชอบใช้กัน) ขนาดต่อลงมาราคาสลึงหนึ่ง (4 สลึงเป็นบาท) ขนาดเล็กราคาเฟื้อง 1 (2 เฟื้องเป็นสลึง) เครื่องแลกราคาต่ำกว่านั้นลงมาใช้เบี้ยหอยซึ่งมาจากทะเล อัตราราคา 800 เบี้ยต่อเฟื้อง แต่ราคาเบี้ยไม่คงที่ อาจจะขึ้นและลดผิดกันได้มากๆ ตามเวลาที่มีชาวต่างประเทศบรรทุกเอาเบี้ยเข้ามาขายมากหรือน้อย ถ้าคราวมีเบี้ยเข้ามามากราคาก็ลด 1,000 เบี้ยต่อเฟื้อง ถ้าเบี้ยขาดคราวราคาก็ขึ้นถึง 600 เบี้ยต่อเฟื้อง
การเปลี่ยนแปลงเงินตราในกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างประเทศแล้ว การค้าขายในกรุงเทพฯ เจริญรวดเร็วเกินคาดหมาย เช่นแต่ก่อนมามีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพียงราวปีละ 12 ลำ แต่พอทำหนังสือสัญญาแล้ว ก็มีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายตั้งปีละ 200 ลำ พวกพ่อค้าฝรั่งเอาเงินเหรียญดอลล่าร์ซึ่งใช้ในการซื้อขายทางเมืองจีนเข้ามาซื้อสินค้า ราษฎรไทยไม่ยอมรับฝรั่งจึงต้องเอาเงินเหรียญดอลล่าร์มาขอแลกเงินบาทจากรัฐบาล ก็เงินบาทพดด้วงนั้นช่างหลวงทำที่พระคลังมหาสมบัติ เตาหนึ่งทำได้วันละ 240 บาท เพราะทำแต่ด้วยเครื่องมือมิได้ใช้เครื่องจักร
เตาหลวงมี 10 เตา ระดมกันทำเงินพดด้วงได้แต่ละวันละ 2,400 บาท เป็นอย่างมาก ไม่พอให้ฝรั่งแลกตามปรารถนา พวกกงสุลพากันร้องทุกข์ว่าเป็นการเสียประโยชน์ของพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนรูปเงินตราสยามเป็นเหรียญ (ครั้งนั้นเรียกว่า "เงินแป") ให้ทำได้ด้วยเครื่องจักร และในเมื่อกำลังให้รอเครื่องจักรนั้น โปรดฯ ให้ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรับเหรียญดอลล่าร์จากชาวต่างประเทศ แล้วเอามาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติได้ โดยอัตรา 3 เหรียญดอลล่าร์ต่อ 5 บาท ราษฎรยังไม่พอใจจะรับเงินดอลล่าร์ โปรดฯ ให้เอาตรามหามงกุฎและตราจักร ซึ่งสำหรับตีเงินพดด้วงตีลงเป็นสำคัญดอลล่าร์ให้ใช้ไปพลาง ก็ยังมิใคร่มีใครพอใจจะใช้
ครั้นเมื่อปีวอก พ.ศ.2403 การสร้างโรงกษาปณ์สำเร็จ ทำเงินตราสยามเป็นเหรียญมีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรทั้งสองข้าง ด้านหนึ่งตราช้างเผือกอยู่ในวงจักรด้านหนึ่งเป็นเหรียญเงิน 4 ขนาดคือบาทหนึ่ง กึ่งบาท สลึงหนึ่ง เฟื้องหนึ่ง และทำเหรียญทองคำราคาเหรียญละ 10 สลึง (ตรงกับตำลึงจีน) ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อประกาศให้ใช้เงินตราอย่างเหรียญแล้ว เงินพดด้วงก็ยังโปรดฯ อนุญาตให้ใช้อยู่ เป็นแต่ไม่ทำเพิ่มเติมขึ้น
ต่อมาอีก 2 ปีถึงปีจอ พ.ศ.2405 โปรดฯ ให้โรงกษาปณ์ทำเหรียญดีบุก ขึ้นเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย เหรียญดีบุกนั้นก็มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรและตราช้างในวงจักรทำนองเดียวกับตราเงินเหรียญเป็นเงิน 2 ขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "อัฐ" ราคา 4 อันเฟื้อง เท่ากันอันละ 100 เบี้ย ขนาดเล็กให้เรียกว่า "โสฬศ" ราคา 16 อันเฟื้อง เท่ากับอันละ 50 เบี้ย การใช้เบี้ยหอยก็เป็นอันเลิกแต่นั้นมา
ถึงปีกุน พ.ศ.2406 พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้สร้างเหรียญทองคำมีตราทำนองเดียวกับเงินเหรียญขึ้น สำหรับให้เป็นเครื่องแลก 3 ขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ทศ" ราคา 10 อันต่อชั่งหนึ่ง คืออันละ 8 บาท (เท่าราคาทองปอนด์อังกฤษในสมัยนั้น) ขนาดกลางให้เรียกว่า "พิศ" ราคาอันละ 4 บาท ขนาดเล็ก (คือเหรียญทองที่ได้สร้างขึ้นแต่แรก) ให้เรียก "พัดดึงส์" ราคาอันละ 10 สลึง เท่ากับตำลึงจีน ดูเหมือนจะเป็นคราวเดียวกับที่ทรงสร้างเหรียญทองเป็นเครื่องแลกนี้เอง
พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้าง (ธนบัตร) เครื่องแลกด้วยกระดาษ มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกร 3 ดวงเป็นสำคัญทุกใบขึ้นอีกอย่าง 1 เรียกว่า "หมาย" มีราคาต่างๆ กันตั้งแต่ใบละ 1 เป็นลำดับลงมา จนใบละเฟื้อง 1 และทรงพระราชดำริสร้าง (เช็ค) เรียกว่าใบ "พระราชทานเงินตรา" อีกอย่าง 1 ขนาดแผ่นกระดาษใหญ่เรียกว่า "หมาย" มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกรด้วยชาด 2 ดวง ด้วยครามดวง 1 เป็นลายดุนดวง 1 เป็นสำคัญทุกใบ มีราคาต่างกัน (ว่าตามตัวอย่างที่มีอยู่มาแต่งหนังสือนี้) ตั้งแต่ "พระราชทานเงินตราชั่งสิบตำลึง" (สันนิษฐานว่าเห็นจะมีต่อลงไปจนใบละตำลึงหนึ่งเป็นอย่างต่ำ) กระดาษทั้ง 2 อย่างนี้ ใครได้ก็เห็นจะเอาไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติในไม่ช้า เพราะยังไม่แลเห็นประโยชน์ในการใช้กระดาษเป็นเครื่องแลกในสมัยนั้นจึงมิได้แพร่หลาย
ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ.2408 พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้โรงกษาปณ์สร้างเหรียญทองแดง มีตราทำนองเดียวกับเหรียญดีบุกเป็นเครื่องแลกอีก 2 ขนาด มีราคาระหว่างเหรียญเงินกับเหรียญดีบุกขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ซีก" ราคา 2 อันเฟื้อง ขนาดเล็กให้เรียกว่า "เซี่ยว" ราคา 4 อันเฟื้อง
เงินตราไทยที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ราชดำริ ที่เป็นเงินและทองแดงใช้ได้ต่อมาดังพระราชประสงค์แต่ที่เป็นทองคำและดีบุกเกิดเหตุขัดข้องด้วยเหรียญทองคำนั้น ชาวเมืองเอาไปเก็บเสียอย่างทองรูปพรรณ หรือมิฉะนั้นก็เอาไปทำเครื่องแต่งตัวเสีย ไม่ชอบใช้เป็นเครื่องแลกในการซื้อขายเหรียญทองเป็นของ มีน้อยก็เลยหมดไป
ส่วนเหรียญดีบุกนั้น เมื่อแรกสร้างก็ได้ทรงปรารภว่าเป็นของอาจสึกหรอ และทำปลอมง่ายจึงโปรดฯ ให้เจือทองแดงและดีบุกดำลงในเนื้อดีบุกที่ทำเหรียญให้แข็งผิดกับดีบุกสามัญ ถึงกระนั้นพอใช้เหรียญดีบุกกันแพร่หลาย ไม่ช้าก็มีพวกจีนคิดทำปลอม ครั้นตรวจจับในกรุงเทพฯ แข็งแรง พวกผู้ร้ายก็หลบลงไปซ่อนทางหัวเมืองปักษ์ใต้แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกิดมีเหรียญดีบุกปลอมในท้องตลาดมากขึ้นทุกที จนราษฎรรังเกียจการที่จะรับใช้เหรียญดีบุก ด้วยไม่รู้จะเลือกว่าไหนเป็นหลวงไหนเป็นของปลอม จะใช้เบี้ยหอยก็หาไม่ได้ด้วยเลิกใช้มาเสียหลายปีแล้ว
เมื่อเริ่มรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2411 เป็นเวลากำลังเกิดการปั่นป่วนด้วยราษฎรไม่พอใจรับเหรียญดีบุก ว่าถึงตลาดในกรุงเทพฯ แทบจะหยุดการซื้อขายอยู่หลายวัน รัฐบาลจึงต้องรีบวินิจฉัยแล้วออกประกาศเมื่อเดือน 11 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.2511 ขึ้นในรัชกาลที่ 5 ได้เพียง 13 วันสั่งให้คนทั้งหลายนำเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของหลวงมาขึ้นเอาเงินจะยอมให้เต็มราคาภายใน 15 วัน เมื่อผลกำหนดนั้นไปแล้วให้ใช้ลดราคาลงเหรียญทองแดงอย่างซีกคงราคาแต่ละอัฐ 1 (8 อันเฟื้อง) อย่างเซี่ยวคงราคาแต่อันละโสฬศ 1 (16 อันเฟื้อง) เหรียญดีบุกก็ลดราคาลงเหรียญอัฐคงราคาแต่อันละ 20 เบี้ย (40 อันเฟื้อง) อย่างโสฬศคงราคาแต่ละอัน 10 เบี้ย (80 อันต่อเฟื้อง) แม้รัฐบาลประกาศอัตราราคาอย่างนั้นแล้ว ราษฎรยังลดราคากันโดยลำพังต่อลงไปอีก ใช้อัฐดีบุกเดิมในท้องตลาดราคาเพียงอันละ 10 เบี้ย (80 อันต่อเฟื้อง) โสฬศดีบุกก็ลดราคาลงไปตามกันเป็นอันละ 5 เบี้ย (16 อันต่อเฟื้อง) คำซึ่งเคยเรียกว่า อัฐและโสฬสก็เรียกกันว่า "เก๊" แต่ใช้กันต่อมาอีกหลายปี
เพราะเกิดลำบากเลยเรื่องเงินตราดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ตกลงแต่แรกขึ้นรัชกาลที่ 5 ว่าจะสร้างโรงกษาปณ์ใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่การที่จะสร้างกว่าจะสำเร็จอีกหลายปี ในชั้นแรกจะต้องทำเงินตราประจำรัชกาลที่ 5 ขึ้นตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ จึงทำให้ที่โรงกษาปณ์เดิมไปพลาง เงินเหรียญตรารัชกาลที่ 5 ซึ่งสร้างขึ้นขั้นแรกนั้น ด้านหนึ่งเป็นตราพระเกี้ยวยอดมีพานรองสองชั้นและฉัตรตั้งตราสองข้าง อีกข้างหนึ่งคงใช้รูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรเหมือนรัชกาลที่ 4 แต่ทำเพียง 3 ขนาด
ที่คนทั้งหลายชอบใช้คือ เหรียญบาท เหรียญสลึงและเหรียญเฟื้อง ในคราวนั้นยังไม่ได้ทำเหรียญทองแดง สำหรับรัชกาลที่ 5 (ด้วยรัฐบาลทราบว่าสั่งให้ทำในประเทศอื่นถูกกว่าทำเองแต่จะให้ทำในอินเดียหรือยุโรปยังไม่ได้ตกลงเป็นยุติ) ทำแต่เหรียญดีบุกขึ้นมาอย่างหนึ่ง ดวงตราทำนองเดียวกับเงินเหรียญขนาดเขื่องกว่าอัฐดีบุกรัชกาลที่ 4 สักหน่อย 1 แต่ให้ใช้ราคาเพียงโสฬศ 1 คือ 16 อันเฟื้องเรื่องเงินตราก็เป็นอันเรียบร้อยไปคราวหนึ่ง
แต่ต่อมาเมื่อราคาทองแดงและดีบุกสูงขึ้น มีผู้รู้ว่าราคาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกที่ใช้กันที่ท้องตลาดในกรุงเทพฯ ต่ำกว่าราคาเนื้อทองแดงและดีบุกหลอมซึ่งมีขายกันในประเทศอื่นก็พากันเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกหลอมส่งไปขายเสียประเทศอื่นๆ เป็นอันมาก
ครั้นเหรียญทองแดงและดีบุกมีใช้ในท้องตลาดน้อยลงก็เกิดการใช้ปี้กระเบื้องกันขึ้นแพร่หลาย อันปี้กระเบื้องนั้นเดิมเป็นแต่คะแนนสำหรับเล่นเบี้ยในโรงบ่อน จีนเจ้าของบ่อนคิดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ขอลากได้บนเสื่อสะดวกกว่าเงินตราเวลาคนไปเล่นเบี้ยให้เอาเงินแรกปี้มาเล่น ครั้นเลิกแล้วก็ให้คืนปี้แลกเอาเงินกลับไป เป็นประเพณีมาดังนี้ ใครเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยตำบลไหนก็คิดทำปี้ มีเครื่องหมายของตัวเป็นคะแนนราคาต่างๆ สำหรับใช้เล่นเบี้ยในบ่อนตำบลนั้น
การที่จะเกิดใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแทนเงินตราเดิมเกิดขึ้นแต่นักเลงเล่นเบี้ยที่มักง่ายเอาปี้ซื้อของกินตามร้านที่หน้าโรงบ่อน ผู้ขายก็ยอมรับด้วยอาจเข้าไปแลกกลับเป็นเงินที่ในโรงบ่อนได้โดยง่าย จึงใช้ปี้กระเบื้องกันในบริเวณโรงบ่อนขึ้นก่อน
ครั้นเมื่อหาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของหลวงใช้ยากเข้า ก็ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแพร่หลายห่างบ่อน
เบี้ยออกไปทุกที เพราะคนเชื่อว่าอาจจะเอาไปซื้อเป็นเงินเมื่อใดก็ได้ ฝ่ายนายบ่อนเบี้ยจำหน่ายปี้ได้เงินมากขึ้นเห็นได้เปรียบก็คิดสั่งปี้กระเบื้องจากจีนเข้ามาเพิ่มเติมทำเป็นรูปและราคาต่างๆ ให้คนชอบตั้งแต่อันละโสฬศ คนละอัฐ อันละไพ สองไพ จนถึงอันละเฟื้องสลึงสองสลึงเป็นอย่างสูงมีทุกบ่อนไป ก็แต่ลักษณะอากรบ่อนเบี้ยนั้น ต้องว่าประมูลกันใหม่ทุกปี
เมื่อสิ้นปีลง นายอากรคนใหม่ไม่ได้ทำอากรต่อไปก็กำหนดเวลาให้คนไปเอาปี้บ่อนของตนเองมาแลกเงินคืนภายใน 15 วัน พ้นกำหนดไปไม่ยอมรับการเอาอันนี้ก็กลายเป็นทางที่เกิดกำไรเพิ่มผลประโยชน์แก่นายอากรบ่อนเบี้ยอีกทางหนึ่ง ฝ่ายราษฎรถึงเสียเปรียบก็มิสู้รู้สึกเดือดร้อนด้วยได้ใช้ปี้เป็นครั้งแลกกันในการซื้อขายแทนเหรียญทองแดงและดีบุกซึ่งหายากก็ไม่มีใครร้องทุกข์เป็นเช่นนี้มาจนปีจอ พ.ศ.2417 รัฐบาลจึงต้องประกาศห้ามมิให้นายบ่อนเบี้ยทำปี้
แต่ในเวลานั้นเหรียญทองแดงซึ่งสั่งให้ทำในยุโรปยังไม่สำเร็จต้องออกธนบัตรราคาใบละอัฐ 1 ให้ใช้กันในท้องตลาดอยู่คราวหนึ่งจนถึงปีชวด พ.ศ.2419 จึงได้จำหน่ายเหรียญทองแดงประจำรัชกาลที่ 5 ให้ใช้กันในบ้านเมืองทำเป็น 4 ขนาดคือ ซีก เซี่ยว อัฐ และ โสฬศ มีตราพระจุลมงกุฎอยู่บนอักษรพระนาม จ.ป.ร. ด้าน 1 อักษรบอกราคาด้าน 1 เหมือนกันหมดทุกขนาดเรื่องเงินตราก็เป็นอันยุติเรียบร้อย.
อ่านต่อตอน 2 สัปดาห์หน้า
--------------
อ้างอิง: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 กรมศิลปากร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |