บาทแข็งกวนใจ


เพิ่มเพื่อน    


    ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ ดูเหมือนว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่ากลับมากวนใจผู้ส่งออกและรัฐบาลอีกระลอก  เพราะดูเหมือนว่า การจัดการบาทแข็ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังทำไม่ได้ดั่งใจตามที่มีหลายฝ่ายคาดหวัง
    ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 31.10 ไปที่ระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี แม้ว่าทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ก็ถือว่าเป็นการแข็งค่าที่เร็วมากจนปรับตัวไม่ทัน  
    ส่งผลให้ภาคเอกชนต่างก็ออกมาส่งเสียงว่า ค่าเงินบาทกำลังเป็นอุปสรรคในการส่งออก เพราะค่าเงินบาทนั้นแข็งค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยสิ่งที่เอกชนต้องการคือ ค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม และแข่งขันได้
    ล่าสุด ทางกระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนจะตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวพันกับการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเตรียมนัดหารือใหญ่ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) และตัวแทนเอกชนที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรกมาหารือถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ส่งออก รวมถึงมาตรการในการสนับสนุนการส่งออกปี 2562  เพราะตามเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ กำหนดไว้ขยายตัว 8% แต่ถ้าเจอค่าบาทแข็งแบบนี้ ยิ่งเป็นงานยากที่จะไปถึง
    แม้ว่าหลายฝ่ายออกมาเขย่า แต่ดูเหมือนว่า ธปท.ก็จะไม่ค่อยตอบรับกับกระแสที่ออกมามากนัก ซึ่งก่อนหน้านี้ 'วิรไท สันติประภพ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนของประเทศไทย ธปท.ได้มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติ ในระยะสั้นหากเห็นความผิดปกติจากการเก็งกำไร หรือการเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลเหมือนที่ผ่านมา  
    ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย (โดยเฉพาะจีน และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน) น่าจะเพิ่มแรงกดดัน และมีผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว เพราะนอกจากการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว จะลดทอนแต้มต่อของความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา และทำให้รายรับของภาคการส่งออกที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทลดลงแล้ว และยังเป็นการแข็งค่าในจังหวะที่ภาคต่างประเทศของไทยต้องรับมือกับปัจจัยท้าทายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลก 
     ในระยะข้างหน้า ปัจจัยสำคัญในระยะสั้นที่อาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท ประกอบด้วย ผลการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สัญญาณดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบวันที่ 19-20 มี.ค. 2562 และประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ 
    ทั้งนี้ แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังตอบยากว่า จะแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่ หรือจะอ่อนค่าลง ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (และต้องติดตามตัวแปรที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทย และ/หรือปัจจัยที่อาจมีผลทำให้มุมมองต่อค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน อาทิ การกลับมาส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด) 
    เพราะต้องยอมรับว่า นอกจากความผันผวนของเงินบาทจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจแล้ว ยังเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทางการไทย ซึ่งต้องดูแลความผันผวนของค่าเงินด้วยเครื่องมือที่ค่อนข้างจำกัด เพราะมาตรการที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยังไม่ใช่ทางเลือกสำหรับสภาวะที่ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติของกระแสเงินทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"