21 ก.พ.62- เพจ BIOTHAI ให้ข้อมูล จากกรณีมีข้อเขียนของ Jessada Denduangboripant เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
1.คำกล่าวที่ว่า “พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีมาก” ไม่เป็นความจริง
การวัดประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ได้วัดจากการฉีดพ่นแล้ววัชพืชแห้งตายไปโดยเร็ว แต่ในทางวิชาการนั้นวัดจากปริมาณของวัชพืชที่แห้งตาย (Dry weight) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาการฉีดพ่น (WAT- weeks after the treatment) ซึ่งพาราควอตอาจทำให้วัชพืชแห้งตายภายในสัปดาห์แรกมากกว่า แต่ ประสิทธิภาพลดลงในสัปดาห์ถัดไป ดังนั้นประสิทธิภาพของพาราควอตจึงไม่ดีเท่าสารอื่นๆอีกหลายชนิดเมื่อวัดจากระยะเวลาการฉีดพ่นที่ทิ้งระยะยาวนานกว่า
2. คำกล่าวที่ว่า “พาราควอตมีราคาประหยัดมาก” ไม่เป็นความจริงและไม่ใช่ข้อสรุปโดยทั่วไป
2.1 ปัจจุบันราคานำเข้าของพาราควอต(สารออกฤทธิ์)สูงกว่าสารอื่นๆทั้งหมดในสารเคมีกำจัดวัชพืชที่นำเข้ามากที่สุด 7 ชนิด นี้(ตามข้อมูลการนำเข้าปี 2560 ของกรมวิชาการเกษตร)
2,4-ดี ราคานำเข้า 74.67 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
2,4-ดี-โซเดียม ราคานำเข้า 101.10 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
ไกลโฟเซต ราคานำเข้า 108.20 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
อะทราซีน ราคานำเข้า 144.96 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
ไดยูรอน ราคานำเข้า 209.08 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
อะมีทรีน ราคานำเข้า 213.70 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
พาราควอต ราคานำเข้า 222.47 บาท/ก.ก.สารออกฤทธิ์
2.2 หากวัดความประหยัดหมายถึงความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชเปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายต่อไร่ คำกล่าวที่บอกว่าพาราควตประหยัดมากก็ไม่ใช่ข้อสรุปทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยชื่อ
Efficacy and Cost-Effectiveness of Three Broad-Spectrum Herbicides to Control Weeds in Immature Oil Palm Plantation ซึ่งทำโดยมหาวิทยาลัย 3 แห่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่า พาราควอตมีความคุ้มค่าน้อยที่สุดในการกำจัดวัชพืชในสวนปาล์ม เมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีอื่นอีก 2 ชนิด ซึ่งนิยมใช้ในสวนปาล์มและยางพารา
3. ประเทศที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต “มักจะใช้สาเหตุของการที่กลัวคนเอาไปฆ่าตัวตาย” เป็นข้ออ้างในการแบน ไม่เป็นความจริง
จากการสำรวจเหตุผลที่มีการแบนพาราควอตในประเทศต่างๆ 51 ประเทศทั่วโลก พบว่าเหตุผลใหญ่ในการใช้เป็นเหตุผลการแบนเนื่องจากความเป็นพิษภัยสูงที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้งานและมีผลต่อสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 48% ของเหตุผลในการแบน 30% เพราะเหตุผลว่าก่อโรคพาร์กินสัน และมีประเทศต่างๆเพียง 3% เท่านั้นที่อ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการนำไปใช้การฆ่าตัวตาย
4. คำกล่าวที่บอกว่าพาราควอตสามารถ “สลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี” ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง
ความเป็นจริงคือพาราควอตสามารถตกค้างในดินประเภทต่างๆอย่างยาวนาน ฐานข้อมูลของ EXTOXNET ของกระทรวงเกษตรสหรัฐซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัยระบุว่า “พาราควอตต้านทานต่อการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์และแสงอาทิตย์ ตกค้างยาวนาน โดยครึ่งชีวิตของพาราควอตมีระยะเวลาตั้งแต่ 16 เดือน(ในห้องทดลอง) จนถึง 13 ปีในพื้นที่จริง” ในขณะที่ EPA แคลิฟอร์เนียระบุว่า “การย่อยสลายทางเคมี แสงอาทิตย์ และจุลินทรีย์นั้นเป็นกระบวนการที่ “extremely slow” มีงานวิจัยชั้นหลังอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าพาราควอต สามารถตกค้างได้นานกว่านั้นหลายเท่า
หากพาราควอตย่อยสลายได้ดีย่อมเป็นไปได้ยากที่พบการตกค้างในสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ยังพบการตกค้างเกินมาตรฐานในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดบริเวณใกล้พื้นที่ฉีดพ่น รวมทั้งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบการตกค้างในขี้เทาของทารกแรกคลอดสูงถึง 54.7%
5. คำกล่าวที่ว่า “มีประเทศที่ยังใช้พาราควอตมากมายทั่วโลก” เป็นคำกล่าวที่ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง
เนื่องจากส่วนใหญ่ของประเทศที่อ้างว่ายังมีการใช้พาราควอตอยู่นั้นส่วนใหญ่อยุ่ในประเทศแอฟริกา และมีการนับประเทศเล็กๆ หรือรัฐเล็กๆรวมอยู่ด้วยเพื่อให้มีตัวเลขจำนวนมาก และที่สำคัญไม่ได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศจำนวนมากที่มีกฎหมายอ่อนแอ (มีรัฐบาลที่ไม่ปกป้องสุขภาพของประชาชน) โดยหลายสิบประเทศในจำนวนนั้นมีการอนุญาตให้ใช้แต่จำกัดการใช้อย่างเข้มงวดมาก เช่น ในบราซิลอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องใช้เครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตาม ANVISA องค์กรด้านสุขภาพของรัฐบาลบราซิลยังเห็นว่าไม่ปลอดภัยเพียงพอ และดำเนินการเพื่อให้มีการยุติการใช้ในปี 2020 นี้ เป็นต้น
6. คำกล่าวที่ว่า “ไกลโฟเซตมีพิษต่ำ มีพิษน้อยกว่าเกลือแกง” เป็นคำกล่าวที่ขาดความเข้าใจและไร้ความรับผิดชอบ
พิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นแบ่งออกได้ 2 แบบ คือพิษเฉียบพลัน (acute toxicity) และพิษเรื้อรัง (chronic toxicity) ไกลโฟเซตมีพิษต่ำหากวัดจากปริมาณการกินทางปากเมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอื่น แต่ไกลโฟเซตมีพิษเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานศึกษาของ IARC ขององค์การอนามัยโลกที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A ทั้งนี้ไม่นับโรคอีกหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์กับสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงชนิดนี้
คำกล่าวที่ว่าไกลโฟเซตมีพิษต่ำกว่าเกลือแกงเคยเป็นคำโฆษณาของบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งขณะนี้ถูกถอดออกไปแล้ว แต่ขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนมากได้ยกคำโฆษณาดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีต่อบริษัทดังกล่าว
7. การคัดค้านการแบนพาราควอต โดยให้ “เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจ” เป็นคำกล่าวที่ไม่เข้าใจกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายที่ต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
7.1 การตัดสินใจในการแบนสารพิษใดๆ ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสังคมภายใต้หลักการที่ทุกฝ่ายมีข้อมูลและเหตุผลครบถ้วน ปัญหาของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของผู้บริโภค ปัญหาภาระของระบบบริการสุขภาพ และปัญหาของสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดกับเกษตรกรเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม กับผลประโยชน์และความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวประกอบกัน โดยตลอดหลายปีของการถกเถียงเรื่องนี้สังคมไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นพ้องต้องกันในการแบนสารพิษที่เสี่ยงเกินกว่าที่จะนำมาใช้ต่อไปเช่น พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นต้น
7.2 ในกรณีการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรจากทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ มีคำแถลงส่งถึงนายกรัฐมนตรีให้มีการแบนสารพิษดังกล่าวแล้ว ในขณะที่แกนนำของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของเกษตรกร เช่น “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” กลับเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นและดำเนินการโดยสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ข้อเขียนของบุคคลสาธารณะเช่น Jessada Denduangboripant ควรเป็นข้อเขียนที่ยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง มีเหตุผลน่าเชื่อถือ และพร้อมที่จะถกเถียงเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจอย่างเปิดเผย ซึ่งไบโอไทยเห็นว่าข้อเขียนข้างต้นของเขาต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น แต่ก็เชื่อว่าสังคมไทยเติบโตพอที่จะใช้วิจารณญาณในการแสวงหาความจริงในเรื่องดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |