กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดกิจกรรม “ใต้ร่มพระบารมี 237 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยกรุงรัตนโกสินทร์ หรือครบรอบ 237 ปีของการสถาปนากรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นเมืองหลวงของประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและใช้ศักยภาพด้านมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติอันทรงคุณค่าภายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นที่รู้จัก
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า รูปแบบในการจัดงานปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาก โดยเน้นการให้องค์ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชุมชน ประชาชนที่อยู่ใต้ร่มพระบารมีของราชวงศ์จักรี ซึ่งภายในงานก็จะมีชุมชนอยู่ 2 รูปแบบ คือชุมชนดั้งเดิมที่เกิดขึ้น ที่อาจจะอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและชุมชนใหม่ ที่เกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หรือชุมชนชนชาติอื่นอย่าง ชุมชนคนจีน แขก มอญ ลาว หรือแม้แต่ชุมชนใหม่ที่สุด นั่นก็คือ ชุมชนเกาหลี ซึ่งทุกคนได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยให้อยู่อย่างร่มเย็น มีความสุขมาจนถึงปัจจุบัน
การแถลงข่าวครั้งนี้ รมว.วธ.ได้กล่าวบรรยายพิเศษในเรื่องคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์กับงานศิลปวัฒนธรรมว่า ในสมัยรัชกาล 4 ที่ทรงมีความเชี่ยวชาญในภาษา ทำให้มีความสะดวกในการเจรจากับต่างประเทศในเรื่องต่างๆ หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์เสด็จประพาสต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พระองค์ทรงมีแนวคิดในการพัฒนาบ้านเมือง โดยการวางผังเมืองให้มีความสวยงาม และตัดถนนเพื่อรอการเติบโตของเมืองในอนาคต หรือการสร้างถนนราชดำเนินให้มีความคล้ายคลึงถนนฌ็องเซลิเซ ประเทศฝรั่งเศส
“ ในด้านศิลปวัฒนธรรมก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่เรายังคงรักษาไว้ หากประเทศไทยตกเป็นอาณานิคมอาจจะรักษาไว้ไม่ได้ อย่างวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลมากจากประเทศอินเดีย อย่างศาสนาพุทธ ซึ่งไทยยังคงรักษามาจนถึงปัจจุบัน ได้รับการทำนุบำรุงอย่างดีจากพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งไม่แค่ศาสนาพุทธ แต่ทุกศาสนาที่มีในไทย หรือเทศกาลลอยกระทงในสมัยสุโขทัย หรือประติมากรรม การสร้างพระพุทธชินราช เรียกได้ว่าเป็นยุคที่งานศิลปะของไทยรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้" รมว.วธ.กล่าว
ในงานแถลงข่าวยังมีกิจกรรมการสาธิตอาหารประจำท้องถิ่นหรือชาติของตนเอง การจำหน่ายสินค้าของชุมชนต่างเชื้อชาติ และชุมชนโบราณที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นของดั้งเดิม จำนวน 19 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนญี่ปุ่นจากย่านสุขุมวิท ก็มีการนำข้าวปั้นกับซุปมิโซะมาให้ได้ลิ้มรส, ชุมชนอินเดีย (พราหมณ์/ฮินดู/ซิกข์) จากย่านพาหุรัด/สีลม/วังบูรพา ที่มีการนำข้าวผัดและขนมหวานมาให้ได้ชิม, ชุมชนเกาหลีจากย่านโคเรียนทาวน์ (Korean Town) ที่มีการสาธิตการทำกิมจิ และให้ลองชุดฮันบก ชุดประจำชาติ, ชุมชนมอญบางกระดี่จากย่านบางกระดี่ (เขตบางขุนเทียน) ก็มีการจำหน่ายผ้าไหมและสินค้าพื้นบ้าน ชุมชนลาว (ชุมชนบางไส้ไก่ บ้านสมเด็จ) จากย่านธนบุรี ที่มีการสาธิตการทำหัวโขนเล็ก
ในส่วนของชุมชนอื่นๆ ก็มีชุมชนชาวจีนจากย่านสำเพ็งและเยาวราช, ชุมชนมุสลิมบ้านครัวจากเขตปทุมวัน (บ้านครัวใต้) และเขตราชเทวี (บ้านครัวเหนือ), ชุมชนเวียดนาม (ญวนพุทธ) จากย่านบางซื่อ, ชุมชนเขมรจากย่านสามเสน, ชุมชนตะวันตก อาทิ ชุมชนบางรัก ชุมชนกุฎีจีน และย่านบางรัก (โปรตุเกส/เยอรมนี/อิตาลี) ย่านธนบุรี (โปรตุเกส/มอญ/ญวน), ชุมชนคลองสานจากย่านคลองสาน, ชุมชนเมียนมาจากย่านพระโขนง, ชุมชนชวาจากย่านสาทรใต้, ชุมชนบ้านบาตรจากย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย และชุมชนบางลำพูจากย่านพระนคร และกิจกรรมการแสดงต่างๆ เป็นสีสันให้ทุกคนที่ได้เข้าร่วมงานได้เข้าใจวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย
ดาร์ซัน ซิงห์ นารัง รองนายกสมาคมศิรีคุรุสิงห์สภา ที่ได้นำข้าวผัดพื้นถิ่นของคนซิกข์มาทำให้ได้ทาน เล่าว่า ชุมชนอินเดียที่อาศัยอยู่พาหุรัดเป็นชาวซิกข์ ย้ายเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยคาดว่ามีทหารจากอินเดียที่ปฏิบัติการอยู่มาเลเซีย และตอนนั้นก็มีสงครามในอินเดีย ซึ่งพ่อของตนก็เห็นว่าไม่ปลอดภัย รัชกาลที่ 5 ทรงเชิญให้มาอยู่ประเทศไทย ตนคิดว่าอาจจะเพราะทหารอินเดียมีความแข็งแรง สู้รบเก่ง ในตอนนั้นทหารผู้ติดตามคือคนในครอบครัวเข้ามาด้วย ในการใช้ชีวิตแรกๆ แม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้าง แต่เราก็ยังได้ที่อาศัยที่ย่านพาหุรัด และมีข้าวกิน ได้เรียน ซึ่งในตอนนั้นด้วยความที่เป็นทหารม้า จึงนำม้าพร้อมกับผ้าแพร ผ้าไหมอินเดีย มามอบให้กับไทย และพระองค์พระราชทานช้างเป็นของขวัญกลับไป ซึ่งนับตั้งแต่ตอนนั้นผ้าอินเดียก็เริ่มได้รับความนิยมและดังขึ้น และกลายเป็นย่านค้าผ้าไหมอินเดียในพาหุรัด
“ ในพื้นที่มีวัดคุรุดาวารา ซึ่งเป็นวัดซิกข์ ที่เป็นจุดศูนย์กลาง ในตอนนี้ก็มีชาวฮินดูอาศัยอยู่บ้างประปราย สำหรับผมตั้งแต่มาอยู่เมืองไทย สิ่งที่ได้รับรู้คือ ความปลอดภัย และประเทศนี้ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร มีความอิสรเสรี ไม่มีเหยียดเชื้อชาติ ทำให้คนอินเดียในสมัยนั้นที่เดินทางมาอาศัยอยู่ไทยไม่อยากกลับไป แต่ผมก็กลับไปเยี่ยมญาติบ้าง แต่ตัวผมเกิดเมืองไทย เรียนที่ไทย และรักเมืองไทย ในส่วนของขนมหวานที่ทำมาให้ทานกัน ก็เป็นส่วนผสมที่ง่ายๆ อย่างนมกับมะพร้าว หรือข้าวผัด และผักที่ทอด ทุกอย่างเป็นมังสวิรัติ ซึ่งเป็นอาหารที่หาทานได้ง่ายและทำง่าย โดยที่วัดคุรุดาวาราก็มีแจกด้วย
ส่วนชุมชนที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างชุมชนเกาหลีในย่านสุขุมวิท จู ยองซอน ผู้จัดการโครงการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี บอกว่า ในการตั้งชุมชนเกาหลีขึ้นนั้นยังไม่ได้เกิดการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ในย่านสุขุมวิทที่เป็นห้างสรรพสินค้าโคเรียนทาวน์ ก็เป็นจุดที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี อย่างอาหาร ผู้คน ความบันเทิงต่างๆ แต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน คนเกาหลีก็เริ่มมีการเดินทางเข้ามาธุรกิจที่ไทย แต่หลังๆ มานี้วัฒนธรรมเกาหลีเริ่มเข้ามาแพร่หลายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงด้านอุตสาหกรรมเคป๊อป แต่ยังมีการแต่งงานกับคนไทยมากขึ้นด้วย อย่างครอบครัวของตนก็มีการย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ไทย และเพื่อให้ผู้คนได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับเกาหลีมาขึ้น ก็มีการสาธิตการทำกิมจิ ซึ่งเป็นเครื่องเคียงในโต๊ะอาหารที่ขาดไม่ได้ หรือชุดประจำชาติฮันบก ที่เอามาลองส่วมใส่กันด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |