คืบหน้าไปอีกสเต็ปกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลมีการรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งคำร้องขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อ กกต.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม กกต.เห็นว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองตามมาตรา 92 ที่บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เพราะหลังศาล รธน.ส่งคำร้องของ กกต.ให้พรรคไทยรักษาชาติเพื่อให้ส่งเอกสารแก้คำร้องของ กกต.มาให้ศาล รธน.พิจารณาภายใน 7 วัน นับจาก 14 ก.พ.
สุดท้าย หลังแกนนำพรรค ทษช.กับฝ่ายกฎหมายของพรรค ที่นำทีมโดย พิชิต ชื่นบาน, นรวิชญ์ หล้าแหล่ง, สุรชัย ชินชัย ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางการสู้คดี แก้ข้อกล่าวหาของ กกต.เมื่อต้นสัปดาห์ จนนำมาสู่การร่างคำชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายกฎหมาย ที่นำเสนอให้แกนนำพรรคพิจารณา สุดท้ายก็มีการไปยื่นเอกสาคคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาล รธน.ไปแล้วเมื่อช่วงสาย 20 ก.พ.ที่ผ่านมา
อันพบว่า ฝ่ายกฎหมายของ ทษช.กำหนดแนวทางการต่อสู้คดี เขียนคำชี้แจงข้อกล่าวหาโดยมุ่งไปที่ 3ประเด็นหลัก เพื่อทำให้ตุลาการศาล รธน.เห็นว่าพรรคทษช.ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ กกต.มีมติเสนอให้ศาล รธน.ยุบพรรค ทษช.
ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ฝ่ายกฎหมาย ทษช.ย้ำแนวทางการสู้คดีไว้ดังนี้
1.พรรคยืนยันเจตนาบริสุทธิ์และไม่มีเจตนาพิเศษใดๆ ที่มุ่งหวังให้เป็นอย่างอื่น โดยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นไปด้วยบริสุทธิ์ใจ พร้อมทั้งความประสงค์และความยินยอมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ
2.การเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแก้ข้อกล่าวหาว่า ความหมายของคำว่าปฏิปักษ์ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่าเป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม น่าจะหมายถึงการนำระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้ปกครองในประเทศไทย หรือการเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ทั้งนี้ คำร้องยุบพรรค ทษช.ยังขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครของกรรมการบริหารพรรค พรรคแย้งไปว่า คำร้องยุบพรรคเป็นคำร้องประเภทเดียวกับคดีอาญา การเพิกถอนสิทธิสมัครตลอดชีวิตไม่ต่างจากการประหารชีวิตในทางการเมือง
3.ที่ กกต.มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่มีการสืบสวนสอบสวนก่อน โดย กกต.มีมติส่งศาลจึงเป็นการข้ามขั้นตอนการเสนอคำร้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ พยายามต่อสู้คดี โดยขอให้ศาล รธน.ใช้แนวทางการไต่สวนแบบ เปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้อง โดยให้มีการนำพยานบุคคลตามบัญชีพยานเข้าเบิกความ
ซึ่งฝ่ายกฎหมายของ ทษช.ได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 14 คน และพยานคนกลางซึ่งเป็นบุคคลภายนอก 5 ปาก โดยมีรายงานว่า พยานบุคคลภายนอกพรรค 5 ชื่อดังกล่าว ที่ยื่นต่อศาล รธน. ไม่มีรายชื่อของบุคคลที่พรรคเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช.ก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
จากแนวสู้คดีของฝ่ายกฎหมาย ทษช.ที่ขอให้ตุลาการศาล รธน.วางรูปแบบการวินิจฉัยคำร้องคดีดังกล่าวให้เป็นแบบ เปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้อง ซึ่งกระบวนการไต่สวนลักษณะดังกล่าว จะทำให้ต้องมีการเรียกพยานบุคคลของคู่ความ มาเบิกความเพื่อให้องค์คณะฯ ไต่สวน ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมตุลาการศาล รธน. เห็นพ้องให้ใช้การไต่สวนคำร้องคดีลักษณะข้างต้น มีการวิเคราะห์กันว่า จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีของศาล รธน. คงใช้เวลาสักระยะ และอาจทำให้การวินิจฉัยคดีและลงมติว่าจะยุบ-ไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติและจะตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ เสร็จหลัง 24 มี.ค. วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไทยรักษาชาติต้องการให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เพื่ออย่างน้อยจะได้มีเวลาแก้เกม-พลิกแท็กติกทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง แม้คนในพรรคจะทำใจแล้วว่ารอดยาก โอกาสโดนยุบมีมากกว่าไม่โดน
แต่ก็มีบางฝ่ายมองว่า กระบวนการวินิจฉัยคำร้องคดียุบพรรค ทษช. ดูแล้วไม่น่ายุ่งยากอะไร ตุลาการศาล รธน.ควรใช้แนวทางการวินิจฉัยคดีแบบพิจารณาจาก ประเด็นข้อกฎหมาย เป็นหลัก โดยนำคำร้องของ กกต. กับคำชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรค ทษช.มาพิจารณาประกอบการวินิจฉัย แล้วก็นำข้อกฎหมายตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเข้ามาประกบ เพื่อดูว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ยกคำร้อง เรื่องก็จบ พรรค ทษช.ก็จะได้ไปหาเสียงได้เต็มที่ ไม่ต้องพะวงว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบก่อน 24 มี.ค. แต่หากเห็นว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวจริง ก็ยุบพรรคไป แล้วก็ไปดูว่า กรรมการบริหารพรรคที่มีมติให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯและนำชื่อไปยื่นต่อ กกต. ต้องรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะลำพังตัวพรรคเองคงไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ หากไม่มีกรรมการบริหารพรรคมาดำเนินการ ถ้าเห็นว่า กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบ ก็ลงโทษไปตามมาตรา 92 วรรคท้าย ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต
จึงต้องติดตามว่า การประชุมของตุลาการศาล รธน.ในวันพุธที่ 27 ก.พ.นี้ ที่ประชุมจะมีการวางแนววินิจฉัยคดีไว้แบบไหน และจะกำหนดการวินิจฉัยคดีอย่างไร ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีของศาล รธน. พ.ศ.2561 ให้อำนาจกับองค์คณะฯ ไว้อย่างเต็มที่ รวมถึงการให้อำนาจในการไม่เรียกพยานบุคคลที่ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องยื่นต่อศาล รธน.ก็ได้ อันเป็นอำนาจที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 58 ของกฎหมายดังกล่าวที่บัญญัติว่า
“หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเกิดขึ้นหรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจําเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทําให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร ศาลอาจสั่งงดการสืบหรือไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นก็ได้”
หลังประชุมตุลาการศาล รธน. 27 ก.พ. จึงอาจทำให้ พอเห็นทิศทางได้ว่า คดีนี้จะรู้ผลก่อนหรือหลัง 24 มี.ค. วันเลือกตั้ง แม้คนส่วนใหญ่จะเชื่อกันไปแล้วว่า จบก่อน-ยุบแน่ ไปแล้วก็ตามที!!!!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |