20 ก.พ. 62 - ที่กรมสรรพาวุธทหารบก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการจัดขบวน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 (ทภ.1) กำหนดให้มีการฝึกพื้นฐาน ลักษณะทหาร ท่าต่างๆ ที่ต้องใช้ในพระราชพิธี รวมถึงการแบกพระราชยาน การถือเครื่องสูง ฯลฯ ให้กับชุดครูฝึกของหน่วยที่จัดกำลังปฏิบัติในริ้วขบวน ตั้งแต่เวลา 08.30 ถึง 16.30 น. โดยจะฝึก 3 วัน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.นี้
โดยการฝึกช่วงเช้าเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 - 11.50 น. ฝึกการจัดลักษณะท่าทาง ท่าอยู่กับที่ ท่าเคารพ การพักในแถว จากนั้นทำการฝึกท่าเดิน ท่าหยุดจากการเดิน ต่อด้วยท่าเดิน ท่าหยุดจากการเดิน (ประกอบเพลง) จากนั้นในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 -16.00 น. เป็นการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้กับชุดครูฝึก โดย พล.ท.ณัฐวัฒน์ อังคนิบุตร รองผู้อำนวยการคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการจัดขบวนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 (ทภ.1)
คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการจัดขบวน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 (ทภ.1) เปิดเผยว่า สำหรับรูปแบบริ้วขบวนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ ได้ศึกษารูปแบบงานพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 ในเป็นแนวทางในการจัดริ้วขบวนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับกำลังพลในริ้วขบวนที่ 1 คือริ้วขบวนแห่พระสุพรรณบัฎ จำนวน 133 นาย ริ้วขบวนที่ 2 เป็นริ้วขบวนราบใหญ่ ใช้กำลังพล 234 นาย และริ้วขบวนที่ 3 เป็นริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค ใช้กำลังพล 1,368 นาย โดยใช้กำลังพลจากทุกเหล่าทัพ ประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในริ้วขบวนที่ 2 จะเดินตามจังหวะกลองตามเส้นทางในพระบรมมหาราชวัง ส่วนริ้วขบวนที่ 3 คือ ริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค เส้นทางจากพระบรมมหาราชวัง วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 6 กม. ใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยจะมีการเปลี่ยนกำลังพลแบกหามพระราชยานพุดตาลทอง ทุก 500 เมตร โดยเป็นการเดินประกอบเพลง ซึ่งอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร บรรเลงโดยกองดุริยางค์ จำนวน 6 เพลงประกอบด้วย เพลงมาร์ชราชวัลลภ มาร์ชธงชัยเฉลิมพล เพลงใกล้รุ่ง เพลงยามเย็น เพลงสรรเสริญเสือป่า และสรรเสริญพระนารายณ์
โดยกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกพื้นฐานในครั้งนี้ เป็นชุดครูฝึกทั้งหมดจาก 7 หน่วย หน่วยละ 6 คน ต่อจากนั้นจะมีการขยายผลทำการฝึกให้กับกำลังพลตัวเอง อีก 1 เดือน จากนั้นจะมีการฝึกซ้อมร่วมกันทุกหมู่เหล่าที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จำนวน 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมนี้ โดยใช้เครื่องประกอบพระอิสริยยศจำลอง ซึ่งสร้างให้มีขนาดและตามน้ำหนักตามจริงฝึก เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้เหมาะเมื่อปฏิบัติจริง และจะมีการฝึกอีกครั้งในพื้นที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเดือนเมษายนนี้
ชุดครูฝึกจะมีการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. นอกจากจะมีการฝึกปฏิบัติในท่าพิธีต่างๆ แล้ว เป็นท่าปกติ ท่าที่ใช้ในการเชิญเครื่องสูงและกลอง ปี่ มีท่าหมอบกราบ ต้องฝึกให้เป็นท่วงท่าที่เหมือนกัน โดยยึดต้นแบบของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เป็นหลัก ส่วนท่าเชิญเครื่องสูง มีการปรับใหม่เพื่อให้สง่างามยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงาน การฝึกท่าพื้นฐานให้กับชุดครูฝึกในวันที่ 21 ก.พ. ช่วงเช้าเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 - 11.50 น. ฝึกทบทวนการปฏิบัติ ช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00-16.00 น. ตรวจสอบท่าอยู่กับที่ ท่าเคารพ ท่าเดิน ท่าหยุดจากการเดิน(ประกอบเพลง)
ส่วนวันที่ 22 ก.พ. ช่วงเช้าเวลา 08.30 -09.00 น. มีการฝึกอบรมและเวิร์คชอปการเตรียมร่างกายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มจากฝึกอบรมเตรียมร่างกาย สร้างสมรรถนะร่างกายให้มีความแข็งแรง จากนั้น เวลา 9.00-10.50 น. ฝึกอบรมและเวิร์คชอปการเตรียมร่างกาย การเปลี่ยนถ่ายน้ำหนักที่แบกหามตามหลักชีวกลศาสตร์ เวลา 11.00-12.00 น. ฝึกอบรมและเวิร์คชอปการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้พลังงาน สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย โดยเป็นครั้งแรกที่มีการนำวิทยาศาสตร์การกีฬา มาให้ความรู้การเตรียมร่างกายสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพระราชพิธีนี้
จากนั้น เวลา 13.00-14.00 น. ทบทวนภายหลังการปฏิบัติเพื่อให้ทราบจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละหน่วย วิธีการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างเดียวกันทั้งระบบ คำบอกคำสั่ง ความเหมาะสมของจังหวะ ความเร็วในการเดินกับการปฏิบัติจริงเมื่อต้องถือหรือแบกเครื่องมือ โดยชุดครูฝึก 7 หน่วย ร่วมฝึกโดยพร้อมเพรียงตลอด 3 วัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |