กมธ.รุดถกตัวแทนชาวนา รุมจี้สนช.ชะลอพรบ.ข้าว


เพิ่มเพื่อน    

    “ประยุทธ์” ฮึ่มข่าว พ.ร.บ.ข้าวถูกปั่นสร้างความเกลียดชัง ชี้เป็นกฎหมายของ สนช.มุ่งหวังดูแลเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ บี้รัฐมนตรีเร่งแจงข้อเท็จจริงก่อนข่าวถูกกระพือไปไกล กมธ.รุดหารือตัวแทนเกษตรกรร่อนเอกสารแจงยิบ “ชาวนา-เอ็นจีโอ-อัยการ-ปชป.” ประสานเสียงชะลอนำเข้าที่ประชุม 20 ก.พ.นี้ ระบุหากดื้ออาจเห็นม็อบชาวนาลุกฮือ 
    เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. ... ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ว่าเป็นกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอมายังรัฐบาล เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งได้พิจารณาส่งกลับไปแล้วและให้ปรับประเด็นต่างๆ ที่มีปัญหา แต่สิ่งที่เอามาเผยแพร่กันเป็นการนำสิ่งที่ไม่ใช่กฎหมายตัวจริงมาเผยแพร่ ทำให้เกิดความเกลียดชังกันทั่วไปหมด ทั้งที่เจตนารมณ์ของ สนช.และรัฐบาลมุ่งหวังดูแลเกษตรกรให้มากขึ้น ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ว่าใคร ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบกับเกษตรกร ทั้งการเก็บเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยน และการขายเมล็ดพันธุ์  เพียงแต่ดูส่วนภาคเอกชนว่าจะทำอย่างไร
    “ยืนยันรัฐบาลมุ่งหวังที่จะดูแลเกษตรกร แต่จำเป็นต้องมีกระบวนการ โดยที่กติกาต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนของ สนช.เองก็ไม่ได้มุ่งหวังเอาเป็นเอาตายกับใคร วัตถุประสงค์สำคัญคือดูแลพี่น้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เราต้องไว้ใจกันตรงนี้ ถ้าไม่ไว้ใจกันเลยก็ทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง 4-5  ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่ออกกฎหมายอะไรก็ทำอะไรกันไม่ได้อีก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวออกโดย สนช. ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งอธิบดีกรมการข้าวไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากฎหมายในวาระที่ 2 ซึ่งยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอความเห็นใน 2 ประเด็น  คือ 1.ยังไม่ควรกำหนดให้มีการลงทะเบียนผู้ประกอบการค้าพันธุ์ข้าว และ 2.การรับรองพันธุ์ข้าว เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนาในการผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ข้าว โดยทราบว่า กมธ.ได้ปรับแก้ถ้อยคำเรียบร้อยแล้ว ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นต้องรอดูอีกครั้ง ขอย้ำอีกครั้งว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ออกโดยกระทรวงเกษตรฯ หรือรัฐบาล แต่ออกโดย สนช. แต่ก็ได้รับฟังเสียงประชาชนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
    ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ว่า พล.อ.ประยุทธ์ปรารภในที่ประชุม ครม.เน้นย้ำให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบประเด็นข่าวที่มีการเผยแพร่ทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย หากพบข้อมูลอะไรที่บิดเบือนให้รีบชี้แจง ไม่ให้กระจายในวงกว้างแล้วต้องมาแก้ไขในภายหลัง และต้องมาถามที่นายกฯ เพียงคนเดียว รวมถึงอยากให้ประชาชนรับฟังการสื่อสารในช่องทางของรัฐบาลจะได้เชื่อมั่นว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เช่นกรณีร่าง พ.ร.บ.ข้าวที่พูดกันออกมาว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ เรื่องนี้อยากให้ฟัง สนช.ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างดังกล่าว ดีกว่าไปรับฟังข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้อง
     ขณะเดียวกัน คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวได้เชิญตัวแทนเกษตรกรมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่ประชุม สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่  20 ก.พ. โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวว่า ข้อวิจารณ์ต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้  สนช.กำลังพิจารณา ส่วนถ้อยคำที่เกิดการตีความคลุมเครือนั้น สนช.จะแก้ไขให้เกิดความชัดเจนต่อไป  และเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาแล้ว สมาชิก สนช.จะตรวจสอบให้รอบคอบอีกครั้ง โดยเอาความคิดเห็นของเกษตรกรมาเป็นตัวตั้ง เชื่อได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะเป็นครั้งแรกที่เขียนลงลึกไปถึงวิถีชีวิตของชาวนา
      ขณะที่ภาพรวมของการประชุม กลุ่มเกษตรกรได้สลับกันสอบถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยกันเอง ว่ากระทำได้หรือไม่โดยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งคณะ กมธ.ชี้แจงว่าร่างกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ชาวนาที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ และหลังร่วมประชุมกว่า 2 ชั่วโมง คณะ กมธ.ได้จัดทำเอกสารชี้แจงในสาระสำคัญหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ 1.ประเด็นที่มีการระบุว่าชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หากเก็บเมล็ดพันธุ์เองต้องโทษจำคุกและปรับ 1 แสนบาทนั้น กฎหมายได้เขียนยกเว้นในกรณีชาวที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้กันเองแล้วอย่างชัดเจน และไม่มีการลงโทษจำคุกหรือปรับใดๆ เว้นแต่ชาวนาไปทำในลักษณะเป็นผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไรเสียเอง เช่นนี้ก็ต้องขอรับรองพันธุ์ข้าวก่อนเท่านั้น
     2.ประเด็นที่ว่าร่าง พ.ร.บ.ข้าวจัดทำขึ้นและเสนออย่างเร่งรีบและไม่รอบคอบนั้น ร่างกฎหมายเสนอโดยกลุ่ม สนช.ตั้งแต่ ส.ค.61 แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินจึงต้องให้รัฐบาลรับรอง ก่อนเสนอกลับมายัง สนช.เมื่อเดือน พ.ย.61 ดังนั้นขั้นตอนการดำเนินการจึงเป็นไปตามกลไกปกติ 3.ประเด็นการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนชาวนาทุกคน และให้ผู้ประกอบการโรงสีต้องออกใบรับรองข้าวเปลือกนั้นไม่เป็นความจริง เพราะการขึ้นทะเบียนชาวนาไม่มีการระบุเอาไว้ในกฎหมาย และ 4.ที่มีการรายงานว่ามีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า เรื่องนี้เข้าใจกันคลาดเคลื่อน เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ มาตรวจใบรับซื้อ แต่เป็นเจ้าพนักงานที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.ข้าว มีหน้าที่ดูแลกำกับเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชเท่านั้น ไม่ใช่การไปตรวจใบรับซื้อ เพราะร่าง พ.ร.บ.ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้าข้าว 
ขณะเดียวกันในหลายพื้นที่ก็มีการแสดงพลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว โดยที่จังหวัดพิจิตร กลุ่มชาวนาจาก 12 อำเภอ กว่า 100 รายได้เข้าพบนายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์  ผู้ว่าฯ จ.พิจิตร เพื่อร้องทุกข์และยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจาก สนช. โดยนายวรพันธุ์ยืนยันว่าจะรีบส่งหนังสือไปยังนายกฯ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งชาวนาที่รวมตัวกันระบุว่าจะมาติดตามความคืบหน้าทุกๆ  7 วันหลังจากนี้ แต่ถ้าสิ้นเดือน ก.พ.นี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็จะประสานกลุ่มเครือข่ายชาวนาทั่วประเทศเคลื่อนไหวในช่วง มี.ค.นี้
    ที่ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ (พอช.) ด้านหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรและกลุ่มองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) มาอ่านแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าวเช่นกัน โดยนายชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติอ่านแถลงการณ์ยืนยันว่า ให้  สนช.ยุติการเสนอกฎหมาย และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้โดยทันที ซึ่งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 77  จังหวัด และองค์กรภาคีทั่วประเทศจะร่วมกันคัดค้านจนถึงที่สุด
    วันเดียวกัน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ความจริงเรื่อง พ.ร.บ.ข้าว” โดยได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเป็นข้อๆ ก่อนสรุปว่าบทบัญญัติตามร่าง พ.ร.บ.ข้าวอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำนาปลูกข้าวของชาวนาไทยและการพัฒนาพันธุ์ข้าวในหลายๆ กรณี อีกทั้งยังอาจมีความไม่ชัดเจนของความผิดทางอาญาในกรณีของการขายหรือการจำหน่าย ซึ่งมีประเด็นปัญหาเรื่อง “เพื่อประโยชน์ทางการค้า” จึงควรที่ สนช.จะได้พิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนที่เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ ให้รอบด้าน 
    “แม้แต่ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่เสนอโดยสมาชิก สนช. เองก็ยังถูกคณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไขเพิ่มเติมร่างเป็นจำนวนมากแทบตลอดทั้งร่างในชั่วเวลาแค่เดือนครึ่ง หาก สนช.จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ย่อมมีข้อเสนอแนะที่ดีและเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ข้าวให้มีความถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ถึงแม้ในขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ จะได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวในวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้ว สนช.ก็ยังไม่ควรที่รีบเร่งนำ พ.ร.บ.ข้าวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 3 โดยทันที และควรที่จะชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวนี้ไว้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ถี่ถ้วน รอบคอบ และให้ได้ความครบถ้วนเสียก่อน” ดร.ธนกฤตระบุ
    ส่วนนายศุภชัย ศรีหล้า ในฐานะกรรมการนโยบายของพรรค ปชป. แถลงภายหลังนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช.ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ...ได้เข้าชี้แจงเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายของพรรค ว่าพรรคกังวลใจเพราะในร่างไม่ปรากฏว่ามีเนื้อหาสาระใดบ่งบอกว่าจะก่อประโยชน์ให้ชาวนา โดยเฉพาะการทำสหกรณ์ชาวนา, สมาร์ตฟาร์เมอร์ และการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้อย่างไร โดยเฉพาะมาตรา 20 ที่กำหนดให้โรงสีข้าว เมื่อรับซื้อพันธุ์ข้าวต้องออกใบรับซื้อข้าวเปลือกและส่งไปยังกรมการข้าว ซึ่งหมายความว่าข้าวที่โรงสีจะรับซื้อต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการข้าวเสียก่อน ส่งผลทำให้ระบบการค้าข้าวถูกควบคุมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าว เท่ากับเป็นการควบคุมของระบบพันธุ์ข้าวโดยรวม
    "ถ้าเมื่อใดพันธุ์ข้าวอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่มในประเทศ เท่ากับพันธุ์ข้าวถูกควบคุมหมดแล้ว คุณทำไปเถอะ ถ้าโรงสีไม่ซื้อก็จบ น่าเป็นห่วงมาก ถ้าเมื่อใดออก พ.ร.บ.ฉบับนี้มา คนที่จะรับรองว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองหรือไม่คือราชการ แต่ชาวนาเข้าไม่ถึง" นายศุภชัยกล่าว
    นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ดังนั้นการที่ สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 วันที่ 20  ก.พ.นี้ พรรคขอวิงวอนให้ สนช.หยุดเรื่องนี้ไว้ แล้วรอให้มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาแทน แต่หาก สนช.ผ่านกฎหมายดังกล่าวจริง และพรรคได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขแน่นอน เพราะร่างดังกล่าวไม่ใช่แค่ไม่ปลดแอก แต่เป็นการเพิ่มโซ่ตรวนให้ชาวนาอีก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"