'ธกร' นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม สู่สนามการเมืองสู้เพื่อ 'ภราดรภาพ'


เพิ่มเพื่อน    

        จากนักต่อสู้ข้างถนน ผู้นำรณรงค์แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ การล่วงละเมิดสิทธิเด็กและสตรี เจ้าของแฮชแท็ก #ข่มขืนเท่ากับประหาร กระทั่งได้รับรางวัล “นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม” ประจำปี 2559 จากสภาศิลปินสร้างสรรค์สังคม

        วันนี้ “ธกร อำพันธ์เปรม” ได้รับโอกาสร่วมงานในเส้นทางการเมือง ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. เขต 10 ดอนเมือง พรรคภราดรภาพ ซึ่งเจ้าตัวไม่ลังเลในการตัดสินใจทำงานครั้งนี้ ด้วยมีความมุ่งมั่นและความตั้งใจจะใช้โอกาสที่ได้รับในการผลักดัน ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการล่วงละเมิด และการทารุณเด็กและสตรีที่เกิดขึ้น

        ธกรเล่าว่า จุดเปลี่ยนของเราเกิดจากเหตุการณ์ที่น้องแก้มถูกข่มขืนและฆ่า โยนทิ้งจากหน้าต่างรถไฟ เรารู้สึกว่าต้องออกไปทำให้คนเห็น ให้ผู้หญิงป้องกันตัวเอง จึงออกไปยืนถือป้ายกระดาษที่สี่แยกไฟแดง เขียนข้อความจากความรู้สึก จากนั้นก็ออกไปรณรงค์ ทำมาหลายปีเพื่อให้เกิดการตั้งคำถามของคนในสังคม ซึ่งหลายคนก็หันมามองและส่งสายตาที่สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเขาได้อ่านข้อความในป้าย ก็รู้ว่าเกิดเรื่องเหล่านี้ มีการตอบรับที่ดี

        เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ที่ต้องกล้าออกไปทำในสิ่งที่เราเองต้องการให้มันเกิดขึ้น ถ้าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ทำอะไรเลย ผมว่ามันก็ไม่ใช่ ผมจึงทำให้ดู เพื่อเป็นคำถามให้ทางผู้ใหญ่หรือทางภาครัฐ ว่าฆ่าข่มขืนมันกี่ศพแล้ว กฎหมายไทยทำไมไม่แก้ นั่นเหมือนเป็นคำถามของผม ที่ทำเรื่อยมา ทั้งรณรงค์เรื่องความยุติธรรมในสังคม เรื่องการฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย ผมจะเน้นไปที่เรื่องสิทธิเด็กและสตรีเป็นสำคัญ เราทำในเรื่องของการรณรงค์ การเยียวยาความรู้สึก เรื่องของการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทำร้ายในการช่วยผลักดันคดี การติดตามผลคดี นั่นคือตัวผม”

       ธกรเล่าอีกว่า การทำงานที่เริ่มจากตัวเราเอง จากนั้นก็มีคนมาร่วมด้วย ทั้งเพื่อนในเฟซบุ๊ก ผู้ที่มีความคิดแบบเดียวกัน แต่เราก็ไม่มีองค์กรของตัวเอง ไม่มีผู้สนับสนุน ใช้ทุนส่วนตัวในการทำ ความคาดหวังของเราเพื่อต้องการการเปลี่ยนแปลง มีกฎหมายที่เข้มแข็ง มีบทลงโทษที่ชัดเจน นำกฎหมายมาใช้จริง เพื่อคุ้มครองผู้หญิงทุกคน ซึ่งช่วงเวลาที่ทุ่มเททำงานลงไป ช่วงที่ออกไปเคลื่อนไหว มีข้อมูลว่าสถิติในเรื่องเหล่านี้มันลดลง แต่ถ้ามีเกิดขึ้น ก็จะเป็นการเกิดขึ้นในรูปแบบรุนแรงออกไป เราจึงคิดว่าการเปลี่ยนกฎหมายหรือการแก้ไขในระบบ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง จนวันหนึ่งกฎหมายถูกแก้ไข ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย มาปัดฝุ่นใหม่ ก็ถือว่าเราประสบผลสำเร็จในจุดหนึ่ง

จุดเปลี่ยนสู่การทำงานการเมือง

        การแก้ไขทุกอย่างต้องเริ่มจากการลงมือทำ การแก้ไขที่ยั่งยืนมีผลอย่างชัดเจน และมีผลกับคนทั่วไปทั้งหมด ก็คือการแก้ไขในระบบ แก้ไขจากภายใน แก้ไขจากสิ่งที่เรายึดถือและเคารพ นั่นก็คือ “กฎหมาย” ที่ต้องดำเนินกับคนทุกคน ทุกชนชั้น ผิดว่ากันตามผิด ถูกว่ากันตามถูก นั่นเป็นจุดที่ทำให้เราเข้ามาทำงานการเมือง โดยมีผู้ใหญ่มาถามเราว่า อยากจะลองดูไหม เราก็คิดทันทีว่า หากเราเข้าไป เราจะมีโอกาสทำอะไรบ้าง ถ้าอยู่ตรงนั้นจะได้ผลักดันการทำงานมากกว่าอยู่ตรงนี้หรือไม่ เราทำงานข้างถนน ทำงานกับสถานการณ์จริง แต่ถ้าได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น เราทำอะไรได้มากกว่าหรือเปล่า ถ้าเข้าไปแล้วได้มีโอกาสที่จะสร้างความปลอดภัยหรือเป็นการป้องกันปัญหาเหล่านี้ ก็คิดว่าดีกว่าที่เราจะมานั่งแก้ไขจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้ว เราจึงตัดสินใจเลือก และลองทำดู

        ส่วนที่เลือกพรรคภราดรภาพ ด้วยความที่พรรคนี้เปิดกว้าง และเราเห็นถึงความเท่าเทียมที่ในพรรคนี้มีหลากหลายสาขาอาชีพ จึงตัดสินใจเลือกพรรคที่ไม่ต้องเป็นพรรคใหญ่ก็ได้ แต่ขอให้เป็นพรรคที่มีความตั้งใจและเห็นถึงคนรุ่นใหม่จริงๆ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ในรูปแบบการทำงานเก่าๆ อย่างนั้นมันจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย

การทำงานการเมืองยากหรือไม่ ในฐานะมือใหม่ทางการเมืองด้วย

        ยากในระดับหนึ่ง ในเรื่องรูปแบบการทำงานก็ต้องปรับ ต้องศึกษารายละเอียดในด้านต่างๆ มากขึ้น อบรมความรู้ในด้านที่เราอยากจะทำ ศึกษาให้มากขึ้น แต่ทางพรรคก็มีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา และการเข้ามาอยู่ในงานการเมือง อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือ นักการเมืองแต่ละคนที่ทำงานให้ประชาชน เขามีมุมมองในการทำงานแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ส่วนตัวเราเองที่เข้ามา ก็เห็นถึงต้นตอของปัญหาว่า ทำไมผู้หญิงถึงถูกข่มขืน หรือถูกล่วงละเมิดเยอะ ก็นั่งคุยกับผู้ใหญ่ในพรรค ทำให้รู้ต้นตอที่แท้จริงเกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันของคนจนกับคนรวย จึงคิดว่าเราต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าจะมาตามแก้แต่ละกรณี

มีรูปแบบการทำงานในฐานะคนรุ่นใหม่อย่างไร

        เราก็หน้าใหม่มากๆ การลงพื้นที่ของเราจะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อายุ 12-20 ปี นักการเมืองคนอื่นอาจมองไปที่ผู้ปกครอง ที่พ่อแม่ แต่ในมุมมองเราถ้าจะแก้ไขอะไร เรามองไปที่เด็กและวัยรุ่น เราเดินเข้าไปหาวัยรุ่น พูดคุยกันแบบพี่น้อง เรามองว่าคนเหล่านี้เขาต้องการการมองเห็น แต่ทำไมผู้ใหญ่ในสังคมถึงไม่เห็นเขา อย่างกลุ่มเด็กแว้น สังคมจะกลัวเขา ทั้งที่ยังไม่รู้จักว่าเขาเป็นคนอย่างไร เขาเป็นใคร แต่เราจะไม่กลัวเลยกับคนที่ใส่สูทผูกไท ถือกระเป๋าเอกสาร แต่เมื่อไหร่ที่กลุ่มเด็กๆ เหล่านี้เขาเข้าไปช่วยเหลือคุณ วันนั้นคุณถึงจะมองเห็นเขา ดังนั้นเราต้องให้เกียรติเขาก่อนบ้าง

        โดยเราเข้าไปทำความรู้จักกับเขา นั่นคือวิธีการของเรา ใช้ภาษาข้างถนนคุยกับเขา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้ววันหนึ่งเด็กๆ เหล่านั้นเขาก็มาขอเบอร์เราไป หลังจากลงพื้นที่ก็มีผู้ปกครองโทร.มาหา เขาเอาเบอร์มาจากลูก โทร.มาขอบคุณที่ทำให้ลูกเขากลับบ้านเร็ว วันนั้นลูกเขาได้เดินพบชาวบ้านไปกับเรา เด็กเขาจะรู้สึกว่ามีคนมองเห็นเขา พ่อแม่ก็รู้สึกว่ามีคนมองลูกเราดี ความรู้สึกไม่เท่าเทียมของครอบครัวนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น นั่นก็เป็นการลดความเหลื่อมล้ำแล้ว

        เสียงตอบรับในพื้นที่ดอนเมืองของเราไปได้เร็วกับกลุ่มวัยรุ่น การส่งข่าวของวัยรุ่นไปเร็วมาก ตอนนี้เรามีกลุ่มก้อนที่รู้จักกันมากขึ้น เด็กๆ รู้สึกมีคุณค่า เป็นการสะท้อนสังคม คนรวย คนจน กลุ่มวัยรุ่นสะท้อนให้เราฟัง เช่นบางเรื่องที่เขาไม่อยากทำ แต่เขาต้องทำเพื่อหาเงิน เรียกว่าเราเปิดอกคุยกัน

        การทำงานของเรา ไม่ได้มองพรรคไหนหรือมองใครเป็นคู่แข่ง เราคิดกลับกันว่า เป็นความโชคดีที่เรามองคน คนละกลุ่มกับเขา พรรคอื่นๆ เขามองพ่อค้า พาณิชย์ กลุ่มคนทำงาน ผู้ใหญ่ พรรคใหญ่ๆ มองอย่างนั้น แต่เราเจาะที่กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนชายขอบ เดินเข้าไปชุมชนแออัด โรงเรียน เด็กแว้น เด็กขายพวงมาลัย เด็กเข็นผักในตลาด เราคุยหมด และคนเหล่านั้นก็เป็นประชากรพื้นที่ เป็นรูปแบบการพูดคุยมากกว่าการหาเสียง และถึงเราไม่ได้เป็น ส.ส.ในปีนี้ แต่เราจะทำโอกาสที่ได้รับเข้ามานี้ให้ดีที่สุด และสิ่งที่หนึ่งที่เราได้รับแล้ว ณ ตอนนี้ ก็คือได้เห็นว่าน้องๆ เขามีความกล้ามากขึ้น เขามองในด้านดีของสังคมมากขึ้น

 

มองสนามการเมืองครั้งนี้อย่างไร

        ด้วยความที่การเมืองยังคงมีรูปแบบเก่าอยู่ด้วย พรรคการเมืองจึงอยากจะสร้างและปลูกฝังคนรุ่นใหม่เข้ามา แต่ว่าสิ่งที่ยังคงอยู่เสมอคือนายทุน พรรคการเมืองยังใช้นายทุน นายทุนเอื้อประโยชน์พรรคการเมือง พรรคการเมืองเอื้อประโยชน์นายทุน ส่วนการแบ่งสี แบ่งพรรค แบ่งฝ่าย จะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นสีรุ้งไปแล้ว ผสมผสานกลมกลืนสมานฉันท์ และการย้ายพรรคเกิดจากอะไร ย้ายเพื่อไปทำงานหรือย้ายเพื่ออะไร แต่ก็รวมกันเป็นสีรุ้งไปหมด นั่นคือเรื่องที่ดี ถ้ามองในมุมดีๆ คือทุกคนสามารถร่วมงานกันได้ ไม่มีแบ่งสีเสื้อ จลาจลกลางเมืองคงไม่เกิดขึ้นแล้วในยุคนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดการผสมผสานกัน การคานอำนาจการเมืองมันเกิดขึ้นตั้งแต่พรรคการเมืองร่วมงานกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

 

ธกร อำพันธ์เปรม ผู้สมัคร ส.ส.เขต 10 ดอนเมือง พรรคภราดรภาพ

ศิษย์เก่าโรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา

ผู้นำรณรงค์แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ

รณรงค์การล่วงละเมิดสิทธิเด็กและสตรี

รณรงค์แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับคดีข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศ ผู้สร้างแฮชแท็ก #ข่มขืนเท่ากับประหาร

ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นต่อเยาวชน ประเภท นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ประจำปี 2559 จากสภาศิลปินสร้างสรรค์สังคม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"