พรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงคึกคัก "เจ๊หน่อย" ควงลูกสาวคนสวยขอคะแนนวัยรุ่นย่านสยามสแควร์วัน ชูนโยบายสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ "พปชร." ส่ง "กอบศักดิ์" ลงเรือคลองลาดพร้าวอ้อนชุมชนริมน้ำ "พุทธิพงษ์" ไปสวนจตุจักรช่วยผู้สมัครส.ส.เขต "น้องวิว" เดินเคาะประตูบ้านชาวบางแคขอโอกาสคนรุ่นใหม่ "จุรินทร์" นำทีม ปชป.ลุยโก-ลกจองที่นั่งชายแดนใต้ "นักวิชาการ" จี้ทุกพรรคขายฝันนโยบายเศรษฐกิจ-สวัสดิการ ต้องแจงที่มาเงินงบประมาณให้ชัดด้วย
ตลอดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่างๆ ใช้เวลาช่วงวันหยุดลงพื้นที่หาเสียงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งสยามสแควร์วัน สวนจตุจักร และตามหมู่บ้านทุกตรอกซอกซอย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
โดยพรรคเพื่อไทย (พท.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พาครอบครัวเดินทางมาลงพื้นที่สยามสแควร์วัน เดินทักทายประชาชนจากลานน้ำพุหน้าห้างสยามพารากอนเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีประชาชนและวัยรุ่นที่มาเที่ยวซื้อสินค้าต่างให้ความสนใจ บางคนเข้ามาขอถ่ายภาพคู่ โดยเฉพาะน.ส.ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ หรือน้องจินนี่ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นพิเศษ
คุณหญิงสุดารัตน์บอกกับประชาชนว่า ให้จำชื่อพรรคเพื่อไทยเท่านั้นในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ เพราะหลายเขตมีหมายเลขผู้สมัครไม่เหมือนกัน ซึ่งวันนี้ได้พาครอบครัวมาลงพื้นที่ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.เป็นต้นไป ต้องลงพื้นที่หาเสียงที่ต่างจังหวัดหลายวัน จึงไม่มีเวลาให้กับครอบครัว
"วันนี้น้องจินนี่และน้องเบสท์มาเรียนพิเศษที่สยามสแควร์ ทำให้เลือกลงพื้นที่ที่สยามสแควร์ รวมทั้งต้องการมาพบปะกับคนรุ่นใหม่" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า นโยบายของพรรคเรื่องสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่และผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จะมี 3 มาตรการ คือ 1.การตั้งกองทุนสร้างเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ หรือสร้างเถ้าแก่ใหม่ และปรับการเกณฑ์ทหารให้ชายไทยและผู้สนใจมาเข้าค่ายการทำธุรกิจ สร้างตัวเองให้เป็นเจ้าของกิจการ 2.การเตรียมพร้อมรับคนตกงาน ทั้งสายสื่อมวลชน สายการธนาคาร และพนักงานห้างสรรพสินค้า ด้วยการตั้งกองทุนเปลี่ยนงาน รวมถึงให้การอบรม ให้ความรู้ ให้ทักษะ และสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 3.บัตรทองของสตาร์ทอัพสำหรับเด็กรุ่นใหม่ หรือนักธุรกิจใหม่คนค้าขายออนไลน์ เพื่อจะสามารถสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้
"มั่นใจ 3 มาตรการดังกล่าวจะเป็นนโยบายที่มีประโยชน์สำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะพรรคไม่เชื่อว่าการมีธุรกิจรายใหญ่ผูกขาดเพียงไม่กี่รายจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไปได้" ประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคเพื่อไทยกล่าว
ทุกพรรคหาเสียงคึกคัก
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ช่วงเช้านายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมผู้สมัคร ส.ส.กทม. จำนวน 5 เขต ได้แก่ น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 5, นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 8, นายสิระ เจนจาคะ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 9, นายอิทธิพันธ์ เศรษฐยุกานนท์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 11, ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 12 ลงพื้นที่ชุมชนหลังวัดลาดพร้าว รับฟังปัญหาพูดคุยกับชาวบ้าน
จากนั้นนายกอบศักดิ์และคณะได้ลงเรือต้นแบบพลังงานไฟฟ้า ขับโดยนายชวน ชูจันทร์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ หาเสียงจากประชาชนริมคลองเพื่อรับฟังปัญหาที่ชุมชนก้าวหน้าย่านหลักสี่ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที รวมทั้งไปที่ศูนย์สุขภาพชุมชนสามัคคีร่วมใจ เขตบางเขน ซึ่งมีประชาชนออกมารอต้อนรับพร้อมตะโกน "พลังประชารัฐ สู้ๆ" และมอบดอกกุหลาบให้ ทำให้บรรยากาศในพื้นที่เป็นไปด้วยความคึกคัก
ช่วงบ่าย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ พร้อม น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ กทม. เขต 6 พญาไท ราชเทวี จตุจักร (จตุจักร,จอมพล) พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่หาเสียงบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร โดยก่อนหน้านี้ทางพรรคได้แจ้งหมายว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค จะเป็นคนนำผู้สมัครลงหาเสียงด้วยตัวเอง แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลา ทางเจ้าหน้าที่พรรคแจ้งว่านายอุตตมมีภารกิจต่อเนื่อง และนายสนธิรัตน์มีอาการป่วย จึงมอบนายพุทธิพงษ์ทำหน้าที่แทน
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า พรรคเราถือเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนคนกรุงเทพฯ และคนไทยทั้งประเทศ ยอมรับว่าในพื้นที่ กทม.นั้น เราเป็นน้องใหม่ เพราะเจ้าของเดิมคือพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย แต่เราได้คัดผู้สมัครคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ โดยทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ลงพื้นที่และทำเวิร์กช็อปเป็นเวลาหลายเดือน จึงได้คัดสรรบุคลากรที่เป็นตัวแทนของพรรคในทุกเขตของกรุงเทพ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คะแนนและความนิยมของพรรคมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) น.ส.เยาวภา บุรพลชัย โฆษกพรรคชาติพัฒนา และผู้สมัคร ส.ส. เขต 28 บางแค ได้เดินแนะนำตัว พูดคุย รับฟังปัญหากับประชาชนในพื้นที่บางแค
น.ส.เยาวภากล่าวว่า ตนเองมีกลยุทธ์เพียงอย่างเดียวคือ การเดินเท้าพบปะพี่น้องประชาชนทุกบ้าน ทุกหลัง และทุกๆ กลุ่ม พร้อมนำเสนอนโยบาย 9 สมาร์ท Bangkok No Problem ของพรรคชาติพัฒนาให้พี่น้องประชาชนรับทราบ ซึ่งในพื้นที่บางแคมีหลายสิ่งที่ต้องการพัฒนาและแก้ไข อาทิ การสร้างแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ และจัดระเบียบ Street Food เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน คืนสภาพคูคลองให้สะอาด
"แม้เราจะเป็นหน้าใหม่ในพื้นที่นี้ แต่ประธานที่ปรึกษาพรรค นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และหัวหน้าพรรค นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นคนเก่าแก่ เกิดและอาศัยอยู่ที่บางแคมากว่า 60 ปีแล้ว ท่านก็ส่งวิวมาเพื่อเปรียบเสมือนตัวแทนในการทำงาน ซึ่งตัววิวเองก็ได้มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ พร้อมจะทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาพี่น้องคนบางแคก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ให้กำลังใจในการลงพื้นที่เสมอ" น.ส.เยาวภากล่าว
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์, นายวัชระ เพชรทอง และนายเจ๊ะซู ตาเหย็บ ผู้สมัครเขต 2 สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ออกพบปะประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเกนติ้ง สุไหงโก-ลก มีหลายรายที่ได้เข้ามาโอดครวญปัญหาเศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่ที่ลูกค้าหายไปมาก
นักวิชาการห่วงขายฝัน
"พรรคประชาธิปัตย์ยังได้รับการตอบรับจากประชาชนในท้องที่ดีมากทุกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งในเขต 2 โก-ลก ที่ได้รับเสียงสะท้อนว่าผู้สมัครของพรรคมีคะแนนนำ โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน พรรคยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาตามกรอบรัฐธรรมนูญ และมุ่งเน้นการพัฒนาเป็นด้านหลัก เพื่อที่จะนำไปสู่สันติอย่างยั่งยืนในอนาคต" นายจุรินทร์กล่าว
พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณบุปผา ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ เขต 3 จ.สงขลา ยังคงลงพื้นที่เดินเคาะประตูบ้านพบกับชาวบ้านแบบตัวต่อตัวหาเสียง แม้ขณะนี้พรรคยังอยู่ระหว่างรอฟังคำตัดสินของศาลจะถูกยุบพรรคหรือไม่ โดยได้แนะนำตัวและนำเสนอนโยบายของพรรค รวมทั้งอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายคนมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก
ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า พรรคการเมืองได้แข่งขันกันนำเสนอนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการต่างๆ บางพรรคเสนอให้ไทยพัฒนาสู่ระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนโยบายทางด้านสวัสดิการต่างๆ และการก้าวสู่ระบบรัฐสวัสดิการนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังได้ หากไม่มีการปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ ลดการจัดซื้ออาวุธโดยกองทัพและลดการทุจริตรั่วไหลจากงบการใช้จ่ายภาครัฐ
"ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการนั้น ต้องมีสัดส่วนของรายได้ภาษีต่อจีดีพีไม่ต่ำกว่า 40-50% และมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพี 25-30% ขึ้นไป ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพี 15-18% เท่านั้น นอกจากนี้ ไทยยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างงบประมาณ โดยลดสัดส่วนของงบประจำลง ด้วยการปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ และป้องกันการทุจริตรั่วไหลจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐ" ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว
นักวิชาการผู้นี้ระบุว่า พรรคการเมืองต่างๆ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะนำเงินงบประมาณจากส่วนไหนมาจัดสรร หรือเก็บภาษีจากไหนมาใช้ให้เป็นไปตามนโยบายต่างๆ ที่ได้ประกาศเอาไว้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาฐานะทางการคลังและปัญหาวินัยการเงินการคลัง การสามารถอธิบายได้ว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จัดสรรทรัพยากรอย่างไร จะทำให้เราทราบถึงจุดยืนของพรรคการเมือง และเห็นว่าพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องใดชัดเจนขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |