ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยที่หน่วยงานทุกภาคส่วนต่างให้ความสนใจและพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งการกำจัดขยะด้วยพลังงานความร้อน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ก๊าซชีวภาพ รวมทั้งการแปรรูปผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างมาก แต่ถ้ามองถึงสาเหตุของปัญหาขยะในสังคมไทย ส่วนหนึ่งคือค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงในการกำจัดขยะ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำจัดขยะในแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถบริหารจัดการและกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าขยะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่กลับละเลยว่าขยะที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันก่อให้เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว และชุมชนหากไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี
จากประเด็นดังกล่าวทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน และสถาบันวิทยาการตลาดทุน โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 27 (วตท.27) เตรียมจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “20 ปี ปัญหาขยะประเทศไทยหมดไปด้วยกลไกตลาดทุน” เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะ และบทบาทของตลาดทุนซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะสนับสนุนให้กำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุนในแต่ละรุ่น เราจะส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานวิชาการที่มีคุณภาพสูง และส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคมแล้วก็สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละรุ่นก็จะมีงานที่นำเสนอออกมาสู่สาธารณะ ให้นำไปสู่เรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นแรกที่นำเสนอประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะเป็นปัญหาหมักหมมของชาติ ที่เกิดขึ้นทั้งจากภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ที่สร้างขยะวันละประมาณหลายล้านกิโลกรัม แต่มีการแก้ปัญหาการกำจัดขยะด้วยวิธีเดิมๆ ที่ยังได้ประสิทธิภาพไม่ดีพอ นั่นคือการนำขยะไปทิ้งรวมในบ่อขยะเพื่อฝังกลบ ซึ่งบ่อขยะในประเทศไทยทราบมาว่ามีมากกว่า 2,000 บ่อ แต่วันๆ หนึ่งเราทิ้งขยะกันจำนวนมาก การนำไปฝังกลบหรือกำจัดด้วยวิธีอื่นๆ แบบถูกต้องได้แค่ไม่กี่ล้านตัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่หลายภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้ จากการศึกษาข้อมูลมีการรายงานว่า ในอาเซียนติดอันดับประเทศทิ้งขยะลงทะเลมากสุด ไทยก็ไม่แพ้ใคร ถูกจัดอันดับให้อยู่อันดับ 5 ของโลก ยังไม่รวมขยะบนบกอีก ซึ่งไม่ใช่อันดับที่น่าภูมิใจนัก การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ถ้ามีทุนสนับสนุนก็จะสามารถนำไปรีไซเคิล นำขยะไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ หรือต่อยอดด้านอื่นๆ ได้อีก ฉะนั้น กลไกด้านตลาดทุนอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้แต่ละหน่วยงานและประชาชนทุกคนเข้าใจถึงปัญหาและแนวทางปฏิบัติ ช่วยกันทำให้ประเทศดีขึ้น
นายคณพศ นิจสิริภัช ประธานนักศึกษาวิทยาลัยตลาดทุน รุ่นที่ 27 และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด กล่าวว่า สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วยเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ของขยะที่เป็นปัญหาระดับชาติตอนนี้ และแนวทางแก้ไขที่ควรจะทำให้ได้ รวมถึงนโยบายกำจัดขยะด้วยโรงไฟฟ้า ตัวบทกฎหมายต่างๆ ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญว่า ระหว่างผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร รวมถึงการออกใบอนุญาตเรื่องการใช้ไฟฟ้าจากขยะ และเรื่องเกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ทุนอย่างมหาศาล จะมีการจัดสรรระดมทุนอย่างไร เพราะไม่มีเงินก็ทำไม่ได้ ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับมุมมองจากผู้กำกับดูแลนโยบายเกี่ยวกับการกำจัดขยะ การผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากขยะ ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน รวมทั้งรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาการกำหนดราคาค่ากำจัดขยะที่ไม่เป็นธรรม รูปแบบในการใช้กลไกตลาดทุนในการจัดการกับปัญหาขยะ ซึ่งมีได้ทั้งการออกหุ้น หรือการใช้หุ้นกู้ประเภทกรีนบอร์ด เพื่อจัดหาเงินทุน การสัมมนา เป็นต้น
ขณะที่นายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด เผยว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนมีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการเลือกซื้อสินค้าที่มีแพ็กเกจสวยหรู ซึ่งส่งผลต่อการสร้างปริมาณขยะ โดยจากการศึกษาข้อมูลพบว่า เราทิ้งขยะกันถึงวันละประมาณ 75 ล้าน กก. ซึ่งเป็นเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้ว ยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ทำให้ตัวเลขลดลงแม้แต่น้อย ตัวเลข 75 ล้าน กก.ต่อวัน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนคือ ใน 1 ปี คนไทยทิ้งขยะทั้งสิ้น 27.5 ล้านตัน เท่ากับตึกใบหยก 140 ตึก หรือปริมาณรถสิบล้อที่วิ่งตามถนนจำนวน 1.2 ล้านคันต่อปี ต้องคิดว่าจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆ และการแก้ปัญหาของเรายังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การนำไปฝังกลบ โดยเก็บขยะในบ้านไปทิ้งเพื่อให้เกิดความสบายใจ มองไม่เห็นขยะในบ้าน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วต่อให้เอาไปทิ้งไกลแค่ไหน สุดท้ายก็ยังเป็นขยะที่อยู่รอบตัวเราเช่นเดิม ไม่ว่าจะอีก 10-30 ปี ก็ตาม ขยะที่เราไปทิ้งรวมฝังกลบ ยังสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งกลิ่นเหม็น เกิดก๊าซมีเทนไปทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการซึมลงไปในน้ำ ทำให้น้ำใต้ดินมีปัญหา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราเรียกการแก้ปัญหานี้ว่า ‘waste to waste’ ซึ่งก็คือ เอาขยะไปแก้ปัญหาโดยการฝังกลบ สิ่งที่ได้กลับมาก็ยังเป็นขยะที่อยู่กับเรา
นายทวี กล่าวต่อว่า จากประเด็นดังกล่าว ทำให้เราอยากจะนำเสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันกลับมามองแล้วก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ว่าจะทำอย่างไรที่จะกำจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป ที่ผ่านมามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของรัฐในการดูแล ถ้าลองจินตนาการดูว่า 75 ล้าน กก.ต่อวัน งบประมาณที่ได้แต่ละครั้งจะต้องผ่านคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนกวาดขยะ คนเก็บขยะ รถขนขยะไปยังสถานที่ฝังกลบ จากนั้นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นลงตารางบันทึกรายละเอียดเบิกเงินจากภาครัฐออกมา แต่เงินที่เบิกออกมาได้จริงๆ เก็บได้จากภาคครัวเรือนได้เพียงหลังละประมาณ 10-20 บาทต่อเดือนเท่านั้น ในขณะที่ค่ากำจัดขยะค่อนข้างสูงมาก ซึ่งเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ทางหลักสูตรก็ได้ทำรายงานฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นประเด็นว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่หมักหมมมานาน ทั้งวิธีการแก้แบบ waste to waste ควรจะต้องค่อยๆ ลดบทบาทลงเอาทฤษฎีศาสตร์ 3R (Reduce Reuse Recycle) แล้วทำให้ได้ หากเหลือไม่สามารถกลับไปรีไซเคิล นำไปใช้ใหม่ได้อีก ก็จะมีการเสนอให้ทำ waste to energy คือสิ่งที่เหลือแทนที่จะเอาไปฝังกลบในที่ดิน ซึ่งกินพื้นที่ในการทำเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมาก การทำ west to energy จะทำให้เราได้พลังงานกลับมา ลดปัญหาเรื่องมลภาวะต่างๆ ให้หมดไป
ส่วนในเรื่องของกลไกตลาดทุน ที่จะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องการแก้ปัญหาขยะนั้น ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ศาสตราจารย์ระดับ 10 ภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การระดมทุนนั้นสำคัญ ประเด็นเรื่องกลไกตลาดทุนก็จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยบริหารจัดการเรื่องงบประมาณและการระดมทุน ตนอยากให้มีการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะอย่างเสรี ลดการผูกขาด เพื่อให้เอกชนมีการแข่งขันในการคัดแยกขยะ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ก็จะช่วยให้มีการจัดการขยะในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้นำขยะมาเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้ว กพช.มีการอนุมัติแผนผลิตฟ้าใหม่ปี 2561-2580 รับนโยบายกำจัดขยะ เปิดโควตารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มจาก 500 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ เพื่อให้มากพอที่จะกำจัดขยะได้ทั่วประเทศตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีการศึกษาร่วมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งในการเพิ่มขึ้นหากพูดถึงเงินลงทุนเรื่องนี้ประเมินคร่าวๆ ก็อยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่า คนที่จะมีเงินจำนวนมากขนาดนี้มีอยู่ไม่กี่กลุ่ม ถ้าเราปล่อยให้กลุ่มใหญ่ๆ สามารถที่จะครอบครองอำนาจในการกำหนดเรื่องพลังงานพวกนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะฉะนั้นในเรื่องของการนำกลไกทางตลาดทุนเข้ามาใช้ จึงไม่ใช่แค่การประหยัดจากภาคเงินทุนเพื่อที่จะสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ แต่เป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจในการแข่งขันเพื่อที่จะทำให้ผลตอบแทนกระจายเข้าสู่ทุกๆ คน
ส่วนต่อมาคือเรื่องของเครื่องมือทางการเงิน เช่นการนำกรีนบอนด์เข้ามาใช้ หรือพันธบัตรสีเขียว เหตุที่เรียกว่าสีเขียว เนื่องจากกรีนบอนด์เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้ในการระดมทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนหรือสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Project) การออกกรีนบอนด์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง สะท้อนถึงความต้องการของนักลงทุนยุคใหม่ที่ต้องการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินอย่างกรีนบอนด์ รวมถึงเจตนารมณ์ของภาคสังคมและการเมืองที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังช่วยตอบโจทย์ของนักลงทุนในปัจจุบันที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ในมิติทางด้าน ESG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่ง Blockchain ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์มาใช้ อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนสมัยใหม่ได้
“ทั้งนี้ การจัดงานสัมมนาก็เพื่ออยากให้ทุกคนได้เข้าใจว่าทำไมจึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ ทำไมพวกเราต้องลดการทิ้งขยะ ทำไมพวกเราถึงต้องแยกขยะก่อนทิ้ง ผลที่ทำสุดท้ายก็จะกลับมาที่ตัวเราเอง ฉะนั้น ต้องช่วยกันทำให้อีก 20 ปีปัญหาขยะหมดไป” ศ.ดร.อาณัติ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |