จี้ ธปท.คุมค่าบาทห่วงกระทบส่งออก


เพิ่มเพื่อน    

 

15 ก.พ. 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องดูแล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ โดยที่ผ่านมาได้หารือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. แล้ว และกำชับให้ดูแลสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ เพราะยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรแพงขึ้น กระทบรายได้เกษตรกรให้ลดลงตาม แต่ในขณะเดียวกัน ภาคเกษตรก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกด้วย

ด้านนายวิรไท กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่พบความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ยอมรับว่าในบางช่วงเงินบาทอาจแข็งค่าเร็วเกินไป โดย ธปท.ได้เข้าไปดูแล และพบว่าเงินทุนที่ไหลเข้าไทยเป็นเงินที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยในปี 2561 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการเกินดุลการค้า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการเกินดุลด้านการท่องเที่ยวและบริการอีก 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมาจากการท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเที่ยวตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/2561

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลล่าร์สหรัฐ ที่ส่งผลให้เงินสกุลของประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย ธปท. ได้มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด 

โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติ ซึ่งในระยะสั้นหากเห็นความผิดปกติจากการเก็งกำไร หรือการเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลเหมือนที่ผ่านมา

“อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วมากจากการเก็งกำไร หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% จนทำให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในปีนี้ต่างจากปีก่อน ๆ คือ ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย 407 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้น 123 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 284 ล้านเหรียญสหรัฐ และดอกเบี้ยนโยบายของไทย อยู่ที่ 1.75% ยังต่ำกว่าของสหรัฐ ที่ 2.25-2.5% และต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม ที่ 6.25% อินโดนีเซีย 6.75% ฟิลิปปินส์ 4.75% มาเลเซีย 3.25%” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวยืนยันอีกว่า เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนคงไม่สามารถกำหนดอัตราคงได้ เพราะปัจจัยต่างประเทศมีผลต่อกระทบค่าเงินบาทมาก โดยเฉพาะความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ เศรษฐกิจโลก และการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเรื่องค่าเงินจึงกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เหมือนเหรียญสองด้านที่เวลาเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า จะมีทั้งคนได้และคนเสียประโยชน์ รวมทั้งเป็นประเด็นที่ถูกจับตา ทำให้ ธปท. ต้องระวังไม่ให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้า นั่นจะส่งผลให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลง

ดังนั้น โจทย์สำคัญไม่ใช่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับใด แต่อยู่ที่ว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมากกว่า โดยหากพิจารณาตัวเลขความผันผวนของค่าเงินบาท ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเกิดใหม่ มองว่าเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนได้มากขึ้น และอยากให้ใช้ช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งเรื่องของการลงทุน นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนได้และยังต้องปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งได้ ไม่ใช่เน้นเรื่องราคา เพราะจะไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบการเงินมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายให้มากขึ้นด้วย
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"