วาเลนไทน์คึกคัก คู่รักฉลองชื่นมื่น


เพิ่มเพื่อน    


    จัดงานฉลองวันวาเลนไทน์ชื่นมื่นทั่วไทย คู่บ่าวสาวจูงมือเข้าประตูวิวาห์ ปีนผาจดทะเบียนสมรสที่อ่าวไร่เลย์แห่งเดียวในประเทศ รักนิรันดร์สองตายายจดทะเบียนสมรส “เบตงที่รัก รักที่สุด ใต้สุดสยาม” หนึ่งเดียวในโลก พิธีแต่งงานแบบชาวกูยบนหลังช้างสุดยิ่งใหญ่ ทหารใต้ทำหวานวางปืนหันมาถือลูกโป่งและวุ้นรูปหัวใจแจกชาวบ้าน คู่รักจดทะเบียนสมรส ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้งให้รักมั่นคงยืนยาว ม.ขอนแก่น จัด "บุญข้าวจี่วาเลนไทน์" สืบทอดวิถีชุมชน
    เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมให้คู่บ่าวสาวร่วมพิธีมงคลสมรส ที่บริเวณชายหาดอ่าวไร่เลย์ และถ้ำพระนาง หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ มีการจัดพิธีปีนผาจดทะเบียนสมรส และพิธีบวงสรวงสักการะพระนาง เพื่อสร้างความรัก ความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ รวมทั้งเพื่อความสิริมงคล
    โดยคู่บ่าวสาวที่เข้าร่วมพิธีมีจำนวน 10 คู่ เป็นคนไทย 8 คู่ และคู่ต่างชาติ 2 คู่ ไฮไลต์ของกิจกรรมปีนผาจดทะเบียนสมรสนั้น คู่บ่าวสาวต้องปีนขึ้นไปบนหน้าผาที่ความสูงประมาณ 23 เมตร เพื่อขึ้นไปจดทะเบียนสมรส ณ จุดที่เตรียมไว้ โดยมีนายศรัทธา ทองคำ นายอำเภอเมืองกระบี่ เป็นนายทะเบียน หลังจากจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว คู่บ่าวสาวจะต้องพาทะเบียนลงมาด้วยการโหนตัวลงมาด้านล่าง
    น.ส.วันทณีย์ ชูสุข อายุ 33 ปี และนายประจิตร นวลวิจิตร อายุ 44 ปี คู่บ่าวสาวที่ร่วมกิจกรรมปีนผาจดทะเบียนครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก แม้ว่าจะมีการฝึกซ้อมมาก่อน โดยเฉพาะช่วงที่โหนลงมาด้านล่าง แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ในวันแห่งความรัก
    ที่จังหวัดยะลา ภายในสวนไม้ดอกเมืองหนาว อ.เบตง ขบวนคู่รักจดทะเบียนสมรส 3 วัฒนธรรม ไทย จีน และมลายู จำนวน 33 คู่ เข้าร่วมโครงการจดทะเบียนสมรส “เบตงที่รัก รักที่สุด ใต้สุดสยาม (Valentine’s Day Ok Betong)” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย สนับสนุนการรักษาสิทธิ สถานภาพบุคคล และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีแก่สถาบันครอบครัว โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยานในจดทะเบียนสมรสครั้งนี้
    คุณตาอิน ทองเรือง อายุ 80 ปี และคุณยายหนูพุ่ม เรืองภัคดี อายุ 71 ปี คู่รักที่เข้าร่วมโครงการจดทะเบียนสมรส เล่าว่า ตนและภรรยาได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันกว่า 40 ปี เป็นชาวนครศรีธรรมราช มารับจ้างกรีดยางด้วยกันที่ อ.เบตง จนแต่งงานมีลูกด้วยกัน 5 คน หลานทราบข่าวว่าทางอำเภอมีการจัดงานจดทะเบียนสมรส จึงแนะนำให้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้มีสิทธิ์จัดการสินสมรสร่วมกัน สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความรักที่มีให้กัน
    ที่จังหวัดสุรินทร์ จัดกิจกรรม “จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ครั้งที่ 12 ณ ศูนย์คชศึกษา จังหวัดสุรินทร์ บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ และเสริมสร้างความอบอุ่น ความเข้มแข็ง ความผูกพันของคู่สามีภรรยาให้แน่นเฟ้นมากยิ่งขึ้น
    นายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าฯ สุรินทร์ เป็นประธานในพิธีซัตเต หรือการแต่งงานแบบชาวกวยโบราณ ให้กับคู่บ่าวสาวจำนวน 32 คู่ โดยมีการประกอบพิธีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งการแต่งกายของเจ้าบ่าวจะต้องนุ่งโสร่งไหม เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าไหมพาดบ่า พร้อมด้ายมงคลสามสีสวมศีรษะ เจ้าสาวต้องนุ่งผ้าไหมซิ่นลายกวย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน พาดด้วยสไบสีแดง และศีรษะสวม “จะลอม” (มงกุฎที่ทำจากใบตาล) ต่อมาเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมากช้างไปรับเจ้าสาว ก่อนจูงมือกันเข้าประกอบพิธีตามลำดับสำคัญ คือพิธีสวมด้ายมงคลบ่าวสาว บายศรีสู่ขวัญและพิธีถอดคางไก่เสี่ยงทายชีวิตคู่ โดยหมอพราหมณ์ รวมถึงเลี้ยงบุฟเฟต์อาหารช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล
    การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขั้นตอนสุดท้าย เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องขึ้นบนรถอีแต๋นแล้วเดินทางไปยังวังทะลุ บริเวณที่บรรจบของลำน้ำมูลกับลำน้ำชี จุดประสงค์เพื่อไปบอกกล่าวกับเจ้าที่ว่าทั้งคู่ได้ตกลงเป็นสามีภรรยากันแล้ว
    ที่จังหวัดตรัง ที่วัดเขาแก้ว ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา ขบวนคู่บ่าวสาวทั้ง 19 คู่เข้าร่วมพิธีวิวาห์ใต้สมุทร หรืองานแต่งงานใต้ทะเล ปีที่ 23 เพื่อต้อนรับเทศกาลแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองตรัง โดยคู่บ่าวสาวเดินทางไปทำบุญตักบาตรข้าวสวยแด่พระสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันแห่งความรัก
    จากนั้นคู่บ่าวสาวทั้ง 19 คู่ ตีฆ้องและระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เพื่อให้ชื่อเสียงโด่งดังตามความเชื่อของคนโบราณ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง เพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
    ที่จังหวัดนราธิวาส แม้ขณะนี้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีเหตุความไม่สงบขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 11 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่หมู่ 9 ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง ในแต่ละวันต้องคอยยืนถือปืนตามจุดตรวจ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่ในวันวาเลนไทน์นี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้นำนกมาคอว์ จำนวน 2 ตัว เกาะไหล่ทหารพรานหญิง เรียกรถผ่านบริเวณจุดตรวจให้หยุด เพื่อมอบลูกโป่งหลากสีรูปหัวใจและวุ้นรูปหัวใจในการแสดงออกถึงความรักความห่วงใยต่อประชาชนที่ใช้รถสัญจรไปมาบนท้องถนน
    ที่จังหวัดชลบุรี สวนนงนุชพัทยา จดทะเบียนคู่รักบนหลังช้าง 99 คู่ กลางหุบเขาไดโนเสาร์และสวนตะบองเพชร 2 ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทุกเชื้อชาติมาร่วมเป็นสักขีพยานรัก โดยกิจกรรมได้มีพิธีแห่ขันหมาก นำคู่รักขึ้นนั่งบนหลังช้างแห่ไปเดินรอบชมสวนสวย ที่สร้างความคึกครื้นและเป็นสีสัน ก่อนที่นายอนุชา อินทศร นายอำเภอสัตหีบ จะทำพิธีมอบทะเบียนสมรสให้กับคู่รักบนหลังช้าง พร้อมร่วมบันทึกเก็บภาพแห่งความประทับใจ
    นายกัมพล ตันสัจจา ผอ.สวนนงนุชพัทยา กล่าวว่า ในวันแห่งความรักปีนี้ได้จัดพิธีจดทะเบียนสมรสให้กับคู่รักที่สุดยิ่งใหญ่อลังการไปด้วยสัตว์ดึกดำบรรพ์ถึง 145 สายพันธุ์ จำนวนกว่า 500 ตัว ทำให้คู่รักทุกคู่ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของความรักที่เสมือนย้อนอดีตกลับสู่ยุคดึกดำบรรพ์ พร้อมถ่ายภาพแห่งความประทับใจเก็บไว้ในความทรงจำเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งรัก ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 และจะยังดำเนินต่อไป เพื่อมอบความสุขให้กับคู่รักได้เกิดเป็นความทรงจำอันดี ณ ดินแดนสวนนงนุชพัทยา หรือสวรรค์บนดินแห่งนี้
    ที่จังหวัดตาก ที่บริเวณหน้าโรงเรียนสรรพวิทยาคม เทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด บรรยากาศภายในตัวเมืองเป็นไปอย่างคึกคัก มีกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวได้เดินทางมาเลือกซื้อดอกกุหลาบสีแดงและของขวัญ เพื่อนำไปมอบให้คนรักในวันวาเลนไทน์ ทั้งกุหลาบแดงสดและกุหลาบแดงประดิษฐ์ รวมทั้งของฝาก ของขวัญ ของที่ระลึก โดยมีพ่อค้าแม่ค้านำมาวางขายให้ได้เลือกมากมาย
    ทั้งนี้ ราคากุหลาบแดงสดในปีนี้ได้ปรับสูงขึ้นถึงดอกละ 20-25 บาท หากดอกขนาดใหญ่ ราคาก็จะสูงถึง 30 บาท ซึ่งเมื่อนำกุหลาบแดงไปจัดเป็นช่อก็จะมีราคาสูงถึงช่อละ 500-800 บาทเลยทีเดียว
    ที่จังหวัดบุรีรัมย์ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมเนื่องในวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ โดยใช้ชื่อว่า “มหัศจรรย์แห่งรัก @ Phanomrung” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยปีนี้มีคู่รักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 14 คู่ ร่วมพิธีจดทะเบียน โดยบรรยากาศช่วงเช้าเปิดให้คู่รักลงทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จากนั้นก็เดินทางขึ้นไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ประกอบพิธีบูชาบัวแปดกลีบ บริเวณสะพานนาคราช ชั้น 1 พร้อมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนพนมรุ้ง เพื่อขอพรให้ความรักมั่นคงยืนยาว
    พร้อมจัดการแสดงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทวาลัยประจำปราสาทพนมรุ้งด้วย หลังจากนั้นนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติก็ได้มอบทะเบียนสมรสและของที่ระลึกเป็นสัญลักษณ์พนมรุ้ง พร้อมร่วมถ่ายภาพคู่กับคู่รักเก็บไว้เป็นที่ระลึกที่ซุ้มประดับด้วย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ที่แต่งชุดไทยย้อนยุคอย่างสวยงามร่วมเป็นสักขีพยาน บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่นและสร้างความประทับใจแก่คู่รักที่มาร่วมจดทะเบียนสมรส
    น.ส.เพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้คู่บ่าวสาวสร้างความรัก ความสามัคคี แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างชีวิตครอบครัว ชีวิตคู่ให้มั่นคง สร้างความรัก ความเข้าใจ มีความผูกพันที่ดีต่อกันให้ยั่งยืนตลอดไป
    การจัดงานงาน “มหัศจรรย์แห่งรัก @ Phanomrung” ถือว่ามีแห่งเดียวในประเทศ หรืออาจจะเป็นที่เดียวในโลกก็ว่าได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องที่ประชาชน สนับสนุนให้ประชาชนได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความอบอุ่นและความผูกพันระหว่างสามีภรรยา ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นงานที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว
    ที่จังหวัดขอนแก่น บริเวณริมบึงศรีฐาน ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้มีประชาชนชาวขอนแก่นจำนวนมากต่างพร้อมใจกันนุ่งผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง และแต่งกายด้วยชุดไทย ร่วมทำบุญตักบาตรด้วยข้าวจี่แด่พระภิกษุสงฆ์ เนื่องในงาน "บุญข้าวจี่วาเลนไทน์ ประจำปี 2562" ซึ่ง มข.ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
    รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รักษาการรองอธิการบดี มข. กล่าวว่า กิจกรรมงานบุญดังกล่าวเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟู ที่ มข.ได้ประยุกต์ประเพณีได้อย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือการเข้ากับยุคสมัยใหม่ ถือเป็นการขับเคลื่อนศักยภาพทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้ปรากฏเป็นรูปธรรม บุญข้าวจี่วาเลนไทน์จึงเป็นการพลิกฟื้นวัฒนธรรมครั้งสำคัญในการผนวกรวม 2 วิถีเข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิด “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่” และเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าการอนุรักษ์วัฒนธรรมแห่งรากเหง้าดั้งเดิมของคนอีสานนั้น ไม่ใช่การทำในแบบเดิมที่สืบทอดต่อกันมาเท่านั้น แต่ต้องผสานหรือปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมเพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นคำตอบของการสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมให้ยั่งยืนต่อไป
    "คนอีสานมีชีวิตผูกพันอยู่กับความเชื่อทางศาสนา จึงมักมีประเพณีเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตลอดปี เรียกว่าฮีต 12 คลอง 14 โดยยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน ดังเช่น บุญข้าวจี่ นิยมจัดในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา (เดือน 3 ขึ้น 14 ค่ำ) บุญข้าวจี่เป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนหลายหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะคัดเลือกข้าวที่ดีที่สุดนำมาถวายเป็นพุทธบูชา มาผ่านกรรมวิธีจี่ข้าว (การนำข้าวเหนียวเป็นปั้นไปปิ้งไฟด้วยเตาถ่าน) เพื่อตักบาตรข้าวจี่ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์"
    รศ.ดร.นิยมกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบุญข้าวจี่ได้ถูกสืบทอดเฉพาะวิถีของชุมชน และถูกหลงลืมในหมู่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ หลายคนคุ้นเคยกับวันวาเลนไทน์มากกว่าบุญข้าวจี่ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาใกล้เคียงกัน ฉะนั้นเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้ฉลองความรักในเทศกาลวาเลนไทน์ และมีโอกาสสืบสานประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน มข.จึงกำหนดจัดงานบุญข้าวจี่วาเลนไทน์ขึ้นในวันแห่งความรัก ที่สอดแทรกแนวคิดและตีความหมายของความรักให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะความรัก ความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ล้วนแต่เป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรม พบปะสังสรรค์กันอีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"