ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ที่กำลังฟุ้งกระจายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงอีกหลายจังหวัดขนาดใหญ่ๆ หลายจังหวัด แม้ว่าจะเบาบางไปบ้าง แต่ก็ยังไม่หมดสิ้น หลายหน่วยงานยังคงเดินหน้าร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ.62 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และท่านนายก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้กำชับให้หลายหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อให้จัดการปัญหาฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม จัดลำดับความเร่งด่วน แก้ปัญหาอย่างจริงจัง และต้องไม่ยกเลิกความเข้มงวด
นอกจากรัฐบาลจะกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วหลายหน่ยวงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ไม่นิ่งนอนใจ จะเห็นได้จากกระทรวงพลังงาน ได้เร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นในประเทศ 6 ราย ผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยูโร 5 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ทั้งหมดภายในปี 2566
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ก็ได้เชิญบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศทุกรายมาร่วมประชุมหารือการกำหนดเวลายกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ใหม่เป็นมาตรฐานยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี และยูโร 6 ภายใน 3 ปี ซึ่งบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ก็ขานรับนโยบายของภาครัฐ และเห็นว่าแม้การยกระดับมาตรฐานรถยนต์ยูโร 4 ไปเป็นยูโร 5 และยูโร 6 จะมีต้นทุนการผลิตรถยนต์สูงขึ้น แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนก็คุ้มค่า โดยเฉพาะต้นทุนจากปัญหาสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองของประชาชน
และล่าสุด 9 บริษัทรถยนต์ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู, จีเอ็ม, อีซูซุ, มาสด้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์, มิตซูบิชิ, เอ็มจี, ซูซูกิ และโตโยต้า ได้ตอบรับกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับยูโร 5 ในรถยนต์ใหม่ทุกรุ่นทุกคัน ภายในปี 2564 เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระยะยาว จากปัจจุบันไทยมีรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร 5 ได้แก่ อีโคคาร์ รุ่นที่ 2 จำนวน 27 รุ่น และรถยนต์นั่งขนาดกลางและใหญ่ 11 รุ่น รวมทั้งรถยนต์นำเข้า 19 รุ่น
ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ก็ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานทั้งหมดให้ปิดดำเนินการเพื่อบิ๊กคลีนนิ่ง ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ.2562 ซึ่งมีโรงงานกว่า 50% หรือ 1,000 โรงงาน ในจำนวนทั้งหมด 2,000 โรงงาน นอกจากจะทำบิ๊กคลีนนิ่งแล้ว ยังเพิ่มมาตรการพิเศษ คือ ลดกำลังการผลิตลง 30%
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้ร่วมกับสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และ 4 สมาคมโรงงาน ประกอบด้วย น้ำตาล 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย มีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ
โดยการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) ที่เดิมคิดดอกเบี้ย 5% แบ่งเป็นเกษตรกรรับภาระ 2% ภาครัฐรับภาระ 3% ระยะเวลาส่งคืน 7 ปี ก็ปรับเป็นเกษตรกรรับภาระ 1% และภาครัฐรับภาระ 4% ระยะเวลา 9-10 ปี โดยหลังจากนี้จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ทั้งนี้ เกณฑ์สินเชื่อดังกล่าวนั้นแต่เดิมผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) แล้ว แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เข้าขั้นวิกฤติ และส่วนหนึ่งมาจากการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องตัดอ้อยจึงจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่สินเชื่อ 6,000 ล้านบาท มีเป้าหมายปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร เพื่อซื้อรถตัดอ้อยเป็นหลักอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนรถตัดอ้อย หากซื้อต่างประเทศจะอยู่ที่คันละ 12 ล้านบาท แต่หากซื้อในประเทศจะอยู่ที่ 6 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าต่างประเทศ จึงต้องมีสินเชื่อเพื่อสนับสนุน
นี่แค่ยกตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายๆ หน่วยงานที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาระดับประเทศเมื่อไหร่ คนไทยไม่เคยทิ้งกัน ไม่ทิ้งปัญหาหนีออกไปต่างประเทศ แต่จะผนึกกำลังร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปทุกครั้ง จนชาวโลกต่างอิจฉาความเป็นคนไทย.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |