ลงนามนำร่อง 5 สถานสงเคราะห์ ฝึกทักษะชีวิตอยู่ในสังคมเป็นสุข


เพิ่มเพื่อน    

 

              เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ นับเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน และต้องการการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ตลอดจนสร้างทักษะในการใช้ชีวิตเพื่อออกไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และสามารถยกระดับวิถีชีวิตให้ทัดเทียมกับผู้อื่น เป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไปในอนาคต                  

              เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข ระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.)

              ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็ก(สถานสงเคราะห์) ตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ มีเด็กในความอุปการะ 6,513 คน เด็กในสถานสงเคราะห์มีความหลากหลาย เช่น เด็กกำพร้า พิการ ครอบครัวยากจน ครอบครัวไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อมและไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของเด็ก เด็กติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

              อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนกล่าวต่อว่า เด็กๆ เหล่านี้บางรายมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อทางสังคมได้ง่าย เมื่อออกสู่โลกภายนอกจึงมักพบปัญหาร่วมของเด็ก 2 เรื่อง คือขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ขาดแรงบันดาลใจและการตั้งเป้าหมายในชีวิต และขาดการฝึกฝนทักษะชีวิตในหลายๆ ด้าน ซึ่งในการแก้ปัญหา ดย.ได้ดำเนินตามแผนกลยุทธ์กรมกิจการเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) ที่มุ่งเสริมสร้างทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนตามช่วงวัย โดยเน้นการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มุ่งให้เกิดวินัยและคุณธรรม มีความรับผิดชอบเรื่องการดูแลสุขภาพทางเพศ และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา

              การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ดย.ได้กำหนดให้มีนโยบายการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็กในสถานรองรับเด็กนำร่อง ทั้ง 5 แห่ง ดังนี้ 1.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด 2.สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี 3.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา 4.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ 5.สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี ตามเป้าหมายของโครงการ เพื่อพัฒนาสู่เป็นต้นแบบในการจัดสวัสดิการด้านเด็กและเยาวชนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ ทั้ง 16 แห่ง ในประเภทสถานรองรับเด็กอายุ 6-18 ปี ทั้งหญิงและชาย จำนวน 2,620 คน รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารจัดการองค์กรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

 

 

              ทางด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพในเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเอง ผ่านระบบและกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ที่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกสถานสงเคราะห์ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสนับสนุนโครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข โดยมุ่งหวังที่จะเกิดการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก โดยเน้นผลลัพธ์ที่ตัวเด็กและเยาวชน เกิดสถานรองรับเด็กต้นแบบ ที่สามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงาน ในระบบบริการหลักของสถานรองรับให้มีความรู้ความสามารถในการเตรียมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคม ที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมภายนอก และมีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ เป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไปในอนาคต                  

              ด้าน ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยเน้น 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนากระบวนการและชุดความรู้สำหรับการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็กนำร่องทั้ง 5 แห่งให้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ จนครบ 16 แห่ง 2.พัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในระบบบริการหลักของสถานรองรับเด็ก 3.สนับสนุนให้สถานสงเคราะห์เป้าหมาย 5 แห่ง เป็นสถานสงเคราะห์เปิด โดยดำเนินการให้สถานรองรับเด็กทำงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เกิดนวัตกรรม เครื่องมือเทียบระดับ (BENCHMARKING) จำนวน 2 ชุด (คู่มือเทียบระดับและคู่มือระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์) ที่ครอบคลุมเรื่องการประเมินตนเอง (SELF-ASSESSMENT TOOLS) และคู่มือการพัฒนาบุคลากรในระบบบริการหลัก (PROGRAMMING TOOLS) 5 โปรแกรม และมีบุคลากรดูแลเด็กที่มีศักยภาพตามตัวชี้วัดในระบบหลักทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้, ด้านการดูแลสวัสดิภาพ และความปลอดภัย, ด้านนันทนาการ และด้านการศึกษาและวิชาชีพ

              ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการช่วยยกระดับชีวิตให้เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ ได้รับการสร้างเสริมศักยภาพลดความเหลื่อมล้ำ และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุขต่อไป.

 

“ของขวัญดีๆไม่มีเหล้า”

              เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และภาคเครือข่าย กว่า 100 คน จัดกิจกรรมรณรงค์ปีใหม่ไม่ให้เหล้า ชูแนวคิด“ของขวัญดีๆ ไม่มีเหล้า” โดยขบวนพลังมด (เด็กเล็ก) รวมพลังชวนพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ไม่ให้รับของขวัญที่มีเหล้า และการแสดงต่างๆ อาทิ แรปสดเพลงของขวัญดีๆ ไม่มีเหล้า กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ 4 Concept ของขวัญดีๆ ไม่มีเหล้า และบูธกิจกรรม เล่นเกม มอบของที่ระลึก

              เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล.ไม่สนับสนุนการให้เหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมาเป็นของขวัญ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์สู่การสร้างสิ่งดีๆ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ทุกคนต่างหาของขวัญมอบให้แก่กัน โดยกิจกรรมครั้งนี้เน้นสื่อสาร 4 แนวคิดที่เป็นทางเลือก ได้แก่ 1.การให้หนังสือ คือการให้ปัญญา ซึ่งหนังสือจะช่วยให้สัมพันธภาพในครอบครัวกลับคืนมา เพราะผลกระทบจะไม่มากเท่าโซเชียลมีเดีย 2.สินค้าที่สนับสนุนการออกกำลังกาย เช่น อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งเป็นเทรนด์สุขภาพ 3.สินค้าที่เป็นพืชผักปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี และ 4.สินค้าโอท็อป สินค้าชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนรายได้ให้ท้องถิ่น หวังว่าทั้ง 4 แนวคิดนี้จะเป็นตัวเลือกที่ดีในการให้อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เหล้า ขณะเดียวกัน กิจกรรมครั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายยังได้เชิญชวนเด็กๆ วัยใสมาเป็นพลังมด เพื่อเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองลด ละ เลิกเหล้า เป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูก และพลังมดเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้เหล้าแก่ผู้อื่น และไม่รับเหล้าเป็นของขวัญด้วย 

              นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก จากอุบัติภัยบนท้องถนน เนื่องด้วยเหตุเมาแล้วขับ จากสถิติช่วงเทศกาลมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าช่วงปกติถึง 2.5 เท่า หรือเฉลี่ย 87 รายต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงวันที่เฉลิมฉลอง ระหว่างวันที่ 30-31 ธ.ค.60 การดื่มเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึงร้อยละ 35 นอกจากนี้ข้อมูล WHO ยืนยันว่า เหล้าเป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 200 ชนิด รวมถึงความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ

              “ที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ จัดกิจกรรมรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 และประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มผู้ที่ให้เหล้าเป็นของขวัญลดลงทุกปี ซึ่งในยุคนี้ ไม่มีใครให้เหล้ากันแล้ว โดยจะพบว่าผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 30.5 เมื่อรณรงค์ “ให้เหล้า = แช่ง” พบว่าปี 2560 ผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 9 และหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ ทั้งนี้ การจัดจำหน่ายกระเช้าของขวัญสำเร็จรูปที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมอยู่ด้วย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 (5) เข้าข่ายบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” นางสาวรุ่งอรุณกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"