วิทยากรสำคัญบนเวทีนี้คือ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผู้มีประสบการณ์รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่มาแล้ว 42 ปี ปรากฏตัวออกรายการทางสถานีโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2519 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม แพทยสมาคมฯ เป็นผู้จัดรายการนำเสนอข้อมูลทุก 3 เดือน เพื่อรณรงค์พิษภัยของยาสูบ มี นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ อดีต ผอ.โรงพยาบาลพญาไท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ มีชื่อเสียงจากการจัดรายการตอบปัญหาทางการแพทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในปี2523 ศ.นพ.ประกิตเป็นผู้เสนอให้พิมพ์คำเตือนถึงอันตรายบนซองบุหรี่ ปี 2524, 2525, 2526 ในฐานะที่เป็นแพทย์โรคปอดของ รพ.รามาธิบดี ให้ความรู้เพื่อรณรงค์พิษภัยของยาสูบ ปี 2529 ผลักดันโครงการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เห็นผลอย่างชัดเจนมากในปี 2534 การสูบบุหรี่ลดลง เมื่อมีการเปรียบเทียบก่อนที่จะผลักดันให้มีการออกกฎหมายในปี 2535 เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปมีอัตราการสูบบุหรี่ 32% เฉลี่ยผู้ชายอายุ 60 ปี ผู้หญิงอายุ 32 ปี ปี 2534 คนสูบบุหรี่ 1 คน ไม่สูบบุหรี่ 2 คน ในจำนวนนี้มีคนสูบบุหรี่ 12 ล้านคน
ปี 2560 เหลือคนสูบบุหรี่ 19% คนสูบบุหรี่ 1 คน ไม่สูบบุหรี่ 4 คน สัดส่วน 1:4 จำนวนคนสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน ลดลงกว่าล้านคน ในช่วง 25-26 ปี อัตราประชากรเพิ่มขึ้นจากจาก 38 ล้านคนเป็น 56 ล้านคน ผู้ใหญ่ 18 ล้านคนสูบบุหรี่ลดลง 1 ล้านคน อัตราการสูบบุหรี่ลดลงก็จริง แต่ก็ยังมีจำนวนคนสูบบุหรี่เป็นจำนวนเยอะ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลว่า บ.ฟิลลิป มอร์ริส มีงบประมาณ 3.5 แสนล้านด้านการตลาด และมีงบประมาณ 2,500 ล้านบาท/ปี เพื่อโปรโมตบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยทีมมืออาชีพในการใช้ Social Media ให้ข้อมูลตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้ความรู้แก่เยาวชน นอกเหนือจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารนิโคตินแล้วยังมีสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การที่เยาวชนเกินครึ่งหนึ่งไม่สูบบุหรี่ แต่มีเยาวชนอีกส่วนหนึ่งเดินเข้าไปสูบบุหรี่เพราะเขาไม่รู้ ผมเองไม่รู้ว่าจะไปเดินให้ความรู้กับเยาวชนทั่วทั้งประเทศได้อย่างไร ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งทำงานเต็มเวลาเพื่อจะขายของ ในขณะที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มีงานอื่นที่จะต้องทำอีกเป็นจำนวนมาก การรณรงค์ให้มีโรงเรียนปลอดบุหรี่ บ้านปลอดบุหรี่ เราก็แทบจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว
“สมัยก่อนคุณอ้วน อรชร (ทวีสิน สถิตรัตนชีวิน)คอลัมนิสต์ชื่อดังคร่ำหวอดในวงการบันเทิง ข่าวการเมือง กรมราชทัณฑ์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ไทยโพสต์ มาช่วยงานมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งป่วยและเสียชีวิต ผมไม่ได้รู้จักกับคุณเปลว สีเงิน เจ้าของคอลัมน์คนปลายซอย นสพ.ไทยโพสต์ เป็นการส่วนตัว แต่ครั้งหนึ่งผมรู้สึกประทับใจคุณเปลวเขียนถึงผมว่า ผมรักหมอประกิต วาทีสาธกกิจ เหลือเกิน จากเหตุการณ์ที่ผมให้สัมภาษณ์สนับสนุนให้เด็กอ้วนน้ำหนักเกินสอบเข้าเรียนพยาบาลได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะเขามีความสามารถสอบข้อเขียนได้แล้วทั้งหมด ความอ้วนไม่ควรตัดสิทธิ์ในการเรียนแต่อย่างใด”
ไม่ว่าจะคนสูบบุหรี่หรือคนสูดควันบุหรี่มือสองก็ได้รับผลเสียกับร่างกายไม่แพ้กันในระยะยาว นิโคตินสารพิษตัวร้ายออกฤทธิ์กระตุ้นสองและระบบประสารทส่วนกลาง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจและชีพจรเต้นเร็ว ทำงานหนักกว่าปกติ ต่อมามีฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดตีบลง และเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูง
คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ชนิดเดียวกับที่พ่นออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-15 ร่างกายต้องสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ทำให้เลือดข้นและหนืดมากขึ้น หัวใจต้องเต้นเร็วและทำงานมากขึ้น
ทาร์ สารทาร์จับอยู่ที่ปอด และรวมตัวกับฝุ่นละอองที่สูดเข้าไป ทำให้เกิดการระคายเคืองอันเป็นสาเหตุของการไอ และก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง
ไฮโดนเจนไซยาไนด์ ก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นพิษที่ใช้ในการทำสงครามโดยสารไนเตรทในบุหรี่เป็นตัวการทำให้เกิดสารนี้ สกัดกั้นเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการหายใจหลายตัว ทำให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานที่กล้ามเนื้อหัวใจและที่ผนังหลอดเลือด
ไนโตรเจนไดออกไซด์ สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง ทำลายเยื่อบุหลอดลมสวนปลายและถุงลม
แอมโมเนีย ใช้ปรุงแต่งรสชาติและช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทเร็วขึ้น มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
ไนโตรเจนออกไซด์ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใจสั่น
คาร์บอนไดซัลไฟด์ ทำให้เกิดโรคผนังเส้นเลือดแดงหนาและแข็งขึ้น
ไซยาไนด์ ใช้เป็นยาเบื่อหนู ถ้าได้รับสารนี้มากจะทำให้หัวใจเป็นอัมพาตและหยุดหายใจได้
พิษของบุหรี่ทำให้เกิดโรคและความทรุดโทรมกับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เสพติด สร้างริ้วรอยบนใบหน้า ต้อกระจก มะเร็งในปาก ฟันผุ และโรคเหงือก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอดและถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ แผลในกระเพาะอาหาร สมรรถภาพทางเพศเสื่อม นิ้วและเล็บเหลือง
บุหรี่กับโรคร้าย
บุหรี่กับมะเร็งปอด ร้อยละ 90 ของผู้ที่เป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 30 เป็นผลมาจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 50 เท่า ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่มานาน 21-40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 30 เท่า และอัตราการรอดชีวิตของผู้ที่เป็นมะเร็งปอดมีเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น บุหรี่กับโรคหัวใจ ผู้สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 2.4 เท่า ยิ่งในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือภาวะไขมันในเลือดสูงด้วยแล้วจะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีก 1.5 เท่า ส่วนคนที่เป็นทั้งความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงจะมีความเสี่ยงถึง 8 เท่าของคนปกติเลยทีเดียว เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดเสื่อมและเกิดความตีบตันเร็วมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 10-15 ปี
บุหรี่กับโรคถุงลมโป่งพอง สารพิษจากควันบุหรี่จะทำลายเยื่อบุภายในหลอดลม ถุงลมเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ฟอกเลือดในปอด เป็นผลทำให้เยื่อบุหลอดลมหนาขึ้น หลอดลมตีบเล็กลง ทำให้ต้องออกแรงหายใจมากขึ้น ส่วนถุงลมหากเกิดการอักเสบก็จะบวม เปราะ แตก ฉีกขาด มารวมกันเป็นถุงลมขนาดใหญ่แทน ถุงลมเล็กๆ ก็จะน้อยลง ไม่สามารถฟอกเลือดได้เหมือนปกติ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอและเหนื่อยหอบง่าย
บุหรี่ก็บเซ็กซ์เสื่อม ในควันบุหรี่มีสารทำให้รูหลอดเลือดตีบแคบลง ทำให้การทำงานของเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเสื่อม รวมถึงยังทำให้ตัวอสุจิมีการเคลื่อนไหวผิดปกติและมีจำนวนลดลงด้วย
บุหรี่กับทารกในครรภ์ การสูบบุหรี่ขัดขวางการพัฒนาของเซลล์ประสาททารก ทั้งลดโอกาสในความสำเร็จของเด็กหลอดแก้ว และผลเลวร้ายของโรคมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งทารกในครรภ์อาจมีรูปร่างผิดปกติ ปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนแม่ที่สูบบุหรี่อาจมีน้ำนมคุณภาพต่ำและปริมาณน้อย
ข้อมูลจากหนังสือบุหรี่จิ๋ว แต่เจ็บป่วย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เอกสาร บุหรี่=ยาเสพติด มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่.
แพทย์มหิดลยันบุหรี่ไฟฟ้าใช้ตลาดนำดึงดูดเยาวชน หน่วยงานและภาคีเฝ้าระวังเด็กอนาคตของชาติ
แพทย์มหิดลยืนยัน บ.ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าเยาวชน ดึงดูดด้วยกลิ่น สี พกสะดวกเป็นแฟลชไดร์ฟไม่ต้องเติมน้ำยา ใช้เสร็จแล้วทิ้ง ในสหรัฐขายบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 12 ปี เยาวชนติด 3.6 ล้านคน หวาดหวั่นว่ามีแนวโน้มติดแอลกอฮอล์ กัญชา โคเคน เฮโรอีน นิโคติน สารเสพติดหยุดการเติบโตสมองส่วนหน้า วัยรุ่นเติบโตช้าลง สารนิโคตินเข้าไปทุกส่วนของร่างกาย ทำลายระบบการหมุนเวียนของโลหิต เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าหลักหมื่น หน่วยงานและภาคีต้องเฝ้าระวัง ต่อสู้เพื่อรักษาเด็กและเยาวชนอนาคตของชาติ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยชี้สื่อสังคมออนไลน์เปลี่ยนแปลงทัศนคติ เด็กเข้าถึงแหล่งข้อมูลง่าย หน่วยงานและภาคีต้องสู้เพื่อรักษาเด็กและเยาวชนอนาคตของชาติ โบกัส ดารานักแสดงและอดีตพิธีกรรายการดิสนีย์คลับช่อง 7 สีทำงานกับมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่เด็ก ซึมซับปลูกฝังความคิดว่าบุหรี่ไม่ดี ไม่อยากทดลองสูบบุหรี่
ดร.พญ.เริงฤดี ปธนวนิช ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าไปที่เยาวชนอย่างชัดเจน รูปลักษณะ กลิ่นรสชวนดึงดูดให้เยาวชนเข้ามาใช้ ปัจจุบันวัยรุ่นสหรัฐสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.6 ล้านคน เริ่มจำหน่ายในสหรัฐปี 2550 ในเวลา 4 ปีต่อมาคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 8 หมื่นคนเป็น 2 แสนคน เวลาผ่านไป 7 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 12 เท่า สหรัฐจะไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่จะใช้กฎหมายควบคุม ส่งผลให้วัยรุ่นสูบบุหรี่พุ่งสูงมากขึ้น คำถามก็คือว่าเราอยากให้บ้านเราเป็นแบบนี้ด้วยหรือไม่ วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่ได้ นัยวิจัยสหรัฐรวบรวมผลงานวิจัย 40 งานวิจัย บ่งบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ ลดปริมาณมวนบุหรี่ลง แต่ในทางตรงกันข้าม บุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนหันมาสูบบุหรี่ธรรมดาสูงมากยิ่งขึ้นไปอีก บุหรี่เป็น Gateway ที่ทำให้ผู้สูบจำนวนกว่า 3 ล้านคนมีแนวโน้มใช้แอลกอฮอล์มากขึ้น รวมถึงกัญชา โคเคน เฮโรอีน
ในประเทศอังกฤษมีการติดตามพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในชุมชนเป็นเวลา 1 ปี พบว่ามีปริมาณการใช้สูงขึ้น 34% เท่าที่มีการสำรวจแนวโน้มเยาวชนปกติที่ไม่สูบบุหรี่ลดลงมาตลอด แต่เมื่อมีบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาทำให้ยอดรวมของบุหรี่ทุกประเภทพุ่งสูงขึ้นอีก 27.1% โดยเฉพาะเด็กมัธยมปลายวัย 17-18 ปี ในขณะที่เด็กมัธยมต้นสูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นจำนวน 7.2% หากถามว่าเด็กจำนวน 3.6 ล้านคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นคนที่สูบบุหรี่มวนด้วยหรือไม่ ยังไม่มีตัวเลขทางสถิติแต่อย่างใด อีกไม่กี่เดือนคาดว่าจะมีรายงานนี้นำเสนอ
ทุกวันนี้กลุ่มวัยรุ่น เยาวชนมีความเชื่อและเข้าใจผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า 66% คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นกลิ่น รสเหมือนขนมหวาน ไม่รู้ว่ามีนิโคตินหรือสารเสพติดอันตรายอยู่ในนั้น มีกลิ่นหอมปลอดภัย มีความทันสมัย เป็นความคิดของเยาวชนที่เริ่มทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีการพัฒนารูปแบบคล้ายๆ กับแฟลชไดรฟ์ ขณะนี้เป็นที่นิยมระบาดไปทั่วสหรัฐ FDA ประกาศว่าเป็นการระบาดขั้นรุนแรง เยาวชน 63% คิดว่าไม่มีนิโคติน ที่น่ากลัวก็คือนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าตัวสีฟ้าเท่ากับมีนิโคตินในบุหรี่ 1 ซอง บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อจูน ค่าการตลาดพุ่งขึ้นเป็นจรวด ขายดีมาก เพราะบุหรี่รุ่นนี้ไม่ต้องเติมน้ำยา ใช้แล้วทิ้งได้เลย บริษัทนี้ครองตลาดบุหรี่ไฟฟ้าเกิน 70% บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทนี้ 30% เวลานี้คนจับตาบริษัทบุหรี่ถูกศาลตัดสินเป็นองค์กรอั้งยี่ในเรื่องการตลาด บริษัทพุ่งเป้าไปที่เด็ก
บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นสารเสพติด พิษภัยของนิโคตินส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย ส่งผลต่อเซลสมอง หยุดการเจริญเติบโตของสมองส่วนหน้า โดยเฉพาะวัยรุ่นทำให้เติบโตช้าลง สำคัญที่สุดก็คือสารนิโคตินไปทั่วร่างกาย เมื่อเข้าไปในแต่ละอวัยวะ อาการแตกต่างกันไป เมื่อเข้าไปในหัวใจการหมุนเวียนของโลหิต ยิ่งในคนตั้งครรภ์ส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ สารพิษอื่นๆนอกจากนิโคตินที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ ทั้งยังเป็นสารเสพติดเป็นอันตรายต่อการเติบโตของสมองเด็กและวัยรุ่น ยังมีสารก่อมะเร็งอย่างอื่นๆ โลหะหนัก อานุภาคขนาดเล็ก รส กลิ่น
เราต้องช่วยกันเร่งปกป้องเยาวชนให้ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า บางคนพูดว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของเขา ต้องไม่ให้กระทบต่อคนอื่นด้วย ขณะนี้เยาวชนไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนหลักหมื่น เราต้องรณรงค์ช่วยกันไม่ให้เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 3 ล้านคน เราต้องทำให้เด็กยุคอัลฟามีความคิดได้ ให้เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของเยาวชนด้วย
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชน (Youth Poll) กล่าวว่า การประชุมกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจบุหรี่สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเด็ก 2 กลุ่มทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,647 คน มีทั้งเพศชาย เพศหญิง และความหลากหลายทางเพศ มีทั้งที่อยู่ในและนอกระบบการศึกษา กลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุ 18-25 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ 79% ทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิด กม.มีเพียง 21% ไม่ทราบว่าผิด กม.แบบสอบถามกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งว่าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายจำนวน 34% ไม่ทราบ และอีก 66% ทราบ ดังนั้นการให้ข้อมูลกับเด็กและเยาวชน แม้ว่าผู้รณรงค์จะทำงานดีเพียงใด แต่ข้อมูลจากกลุ่มธุรกิจยาสูบนั้นให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งกว่าเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดได้
คนที่ได้รับข้อมูลซ้ำๆ จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ การทำซ้ำๆ บ่อยๆ จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ ยิ่งถ้าให้ร้านสะดวกซื้อนำผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักอยู่ในสายตาตลอดเวลา ก็จะทำให้นักสูบหน้าใหม่อยากทดลองมากยิ่งขึ้น จากการสำรวจบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ 40% ในขณะที่อีก 60% บอกว่าเลิกไม่ได้
เมื่อมีการให้ข้อมูลของอีกฝ่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ จำนวน 58% ที่ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 28% เลิกสูบ อีก 14% ยังสูบต่อไปอีก ถ้ารวมกลุ่มที่เลิกสูบและสูบต่อไปเกือบจะ 50% ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกควรจะให้มีการยกเลิกบุหรี่ไฟฟ้า ผลสำรวจ 17% มีความจงรักภักดีต่อผลิตภัณฑ์พร้อมสนับสนุน ดังนั้นต้องทำงานหนักกับกลุ่ม 17% และกลุ่ม 66% ไม่ให้มีการสูบบุหรี่
ธุรกิจผิด กม.อยู่ในแหล่งที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นช่องว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ต้องมีบทบาทแก้ไข ห้างสรรพสินค้าที่ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าประจำจังหวัดในท้องถิ่น อาทิ นครสวรรค์ เด็กจะเข้าไปเป็นประจำ ตลาดนัดกลางคืนรองลงมาจากสังคมออนไลน์ จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตั้งเป็นหน้าร้านไม่มีการปกปิดแต่อย่างใด ทั้งยังมีหลายกลิ่นให้เลือกซื้อ เมื่อเพื่อนเอามาสูบที่ รร.ก็มีผลต่อเพื่อนๆ ก็อยากจะทดลองบ้าง ส่วนใหญ่เยาวชนจะรู้จักบุหรี่ไฟฟ้าจากสังคมออนไลน์ คนใกล้ชิดติดโผ อ่านเพจเพื่อกด like กลุ่มไลน์ กลุ่ม facebook twitter มีการหนุนหลังกลุ่มธุรกิจยาสูบ นักนิเทศศาสตร์และนักการตลาดที่เก่งมากในการบริหารจัดการ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |