จับตา!ศาลยุบทษช. กกต.ชี้ปรปักษ์การปกครอง ปรีชาพลตีมึนไม่รู้ความผิด


เพิ่มเพื่อน    


    กกต.มีมติเอกฉันท์ยื่นศาล รธน.ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ระบุการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   ตาม ม.92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ศาล รธน.นัดพิจารณา 14 ก.พ.นี้จะรับคำร้องหรือไม่ ขณะที่ ทษช.ดิ้นยื่น กกต.เบรกลงมติส่งศาล รธน. แต่ไม่ทันอ้างขอใช้สิทธินำหลักฐานเข้าแก้ข้อกล่าวหา ครวญไม่ควรรวบรัดตัดสินเหมือนลงโทษประหารชีวิตก่อนวันเลือกตั้ง อดีต กรธ.ชี้หากศาลยุบก่อนเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.เป็นโมฆะ กก.บห.เจอโทษหนัก
    ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เวลา 10.40 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ แกนนำพรรค ทษช. นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค, นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรค, นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค, น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนพรรค เดินทางเข้ามาประชุมที่พรรค เพื่อหารือกันถึงสถานการณ์ทางการเมือง การเตรียมความพร้อมของเอกสารและหลักฐานต่างๆ ที่จะต้องนำไปชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ท่ามกลางกระแสข่าวมีมติยุบพรรค ทษช.
     โดยระหว่างเดินเข้าพรรค มีวัยรุ่นชายดักรอมอบดอกกุหลาบสีชมพู พร้อมจับมือให้กำลังทั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค 
    ร.ท.ปรีชาพลกล่าวถึงกรณี กกต.จะยุบพรรคว่า   กระแสข่าว กกต.พิจารณาเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว และจะมีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณายุบพรรค ทษช. ทางตนและทีมกฎหมายของพรรคก็มีความกังวลใจว่าความเป็นจริงตามมาตรา 93 พ.ร.ป.พรรคการเมือง กกต.มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน และเป็นหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องชี้แจง ทั้งเหตุผล ตลอดจนข้อกฎหมายและพยานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสู้คดี แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการให้เราไปชี้แจงแต่อย่างใด เราคิดว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญที่เราจะต้องมีสิทธิในการแสดงพยานหลักฐานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
     ผู้สื่อข่าวถามว่า การเตรียมพยานบุคคล จะมีพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วยหรือไม่ ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องปรึกษากับทางฝ่ายกฎหมายก่อน เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน หากได้ข้อสรุปอย่างไรจะได้นำเรียนต่อสื่อมวลชนต่อไป
      ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรค ทษช. กล่าวว่า กรณีเตรียมพยานหลักฐานที่จะยื่นกับทาง กกต. ทางพรรคเตรียมทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร วันเดียวกัน ฝ่ายกฎหมายของพรรค ทษช.ได้ไปยื่นหนังสือกับทาง กกต. และ กกต.รับเรื่องเอาไว้ เราขอโอกาสให้ฟังความทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักสากล การร้องให้ยุบพรรค ทษช. คือการประหารชีวิตพรรค จึงขอวิงวอนต่อ กกต. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ว่าการใช้อำนาจรัฐต้องยึดหลักนิติธรรม
        ผู้สื่อข่าวถามว่า พยานบุคคลจะรวมถึงทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ด้วยหรือไม่ นายพิชิตกล่าวว่า ขอยังไม่ตอบ เป็นเรื่องที่คณะกฎหมายจะต้องปรึกษาหารือกันต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญ ข้อกล่าวหายังไม่มี  
     เมื่อถามว่า หากที่สุดแล้ว กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรธน.ยุบพรรค จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป นายพิชิต กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายได้เตรียมการพร้อมหมดแล้วเราจะใช้สิทธิตามกฎหมายที่พึงมีในทุกๆ ศาล ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่การท้าทาย แต่เป็นการวิงวอนขอความเป็นธรรม ให้พรรคมีโอกาส ตามหลักการฟังความทุกฝ่ายยืนยันว่า กกต.ทั้ง 7 คนทราบดี และเป็นไปไม่ได้ที่จะประหารชีวิตพรรคการเมืองหรือยุบพรรคการเมือง แล้วไม่ฟังความอีกฝ่ายเลย
ดิ้น!ขอชี้แจง กกต.
     ที่สำนักงาน กกต. นายสุรชัย ชินชัย คณะทำงานด้านกฎหมายพรรค ทษช. เข้ายื่นหนังสือถึงประธานกกต. ขอให้ กกต.ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม โดยนายสุรชัยกล่าวว่า หาก กกต.จะดำเนินการพิจารณาและมติดังกล่าว อย่างน้อยควรให้โอกาสไต่ถามว่าสาเหตุที่กระทำไปมีเจตนาอย่างไรและมีพยานหลักฐานใดจะเข้าชี้แจงบ้าง การเร่งรีบรวบรัดตัดสินเป็นเหมือนการนำพรรค ทษช.ออกไปจากสนามก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่ต่างอะไรกับการลงโทษประหารชีวิตก่อนที่จะมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. การไต่สวนสอบสวนชี้ขาดการกระทำความผิดของพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต.ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้รอบด้าน จะฟังความฝ่ายเดียวโดยไม่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาให้ได้ชี้แจงแสดงหลักฐานไม่ได้ เพราะจะขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักกฎหมาย
    "อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ยังให้การคุ้มครองเสรีภาพโดยกำหนดไว้ในมาตรา 4 แม้แต่ผู้ต้องหาในคดีอาญาก็ยังมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีจนถึงที่สุด จึงต้องขอโอกาสให้กับพรรคได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย  อย่างน้อยควรจะให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งได้มีโอกาสไปใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะการเลือกตั้งได้ห่างหายนานหลายปี เนื่องจากเรื่องนี้กระทบกับพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ทั้งนี้ หาก กกต.เปิดโอกาสให้พรรคเข้าชี้แจงแสดงหลักฐาน ฝ่ายกฎหมายของพรรคก็พร้อมจะนำพยานบุคคลเข้าชี้แจง"
    เมื่อถามว่า เตรียมข้อกฎหมายอะไรในการต่อสู้ นายสุรชัยบอกว่า จะขอใช้ความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ในการต่อสู้ รวมทั้งยืนยันว่าพรรคปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ กกต.และรัฐธรรมนูญ เมื่อถามต่อว่าถ้าตัดสินก่อนการเลือกตั้งพรรคไม่ยอมรับใช่หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ก็สุดแท้แต่การใช้อำนาจ แต่สิ่งที่เรามาเสนอคือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทที่ 1 สิทธิเสรีภาพย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
    ขณะเดียวกัน นายเอกชัย หงส์กังวาน ได้เข้ายื่นหนังสือขอให้ กกต.ยุติการพิจารณาเรื่องยุบพรรคทษช. โดยระบุว่า การดำเนินการของ กกต.เป็นการเร่งรัดและเร่งรีบเกินไป หากเปรียบเทียบกับการแข่งกีฬา หากนักกีฬา แพ้ตกรอบก็ถือว่าจบ ไม่ควรไปประหารชีวิตนักกีฬาอีก 
    ต่อมาสำนักงาน กกต.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 กกต.ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ราย และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ตามมาตรา 92
    โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดี ตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญแห่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เดินทางไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
14ก.พ.ศาลรับคำร้องหรือไม่
    จากนั้น เวลา 12.40 น. ภายหลัง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 12 ก.พ. ส่วนรายละเอียดเป็นไปตามเอกสารที่ชี้แจงกับสื่อมวลชน ส่วนคำร้องที่ฝ่ายกฎหมายของพรรค ทษช.ยื่นขอส่งหลักฐานแก้ข้อกล่าวหานั้น จะรวบรวมส่งให้ประธาน กกต.พิจารณาเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมต่อไป จากนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ได้โบกมือลาและเดินทางออกจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทันที
    หลังจากนั้น เวลา 14.15 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารชี้แจงว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการ กกต.ให้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ในทางธุรการ และอยู่ระหว่างการตรวจคำร้อง โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอคำร้องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในวันที่ 14 ก.พ. เวลา 13.30 น.
    ขณะเดียวกัน ที่ทำการพรรค ทษช. ร.ท.ปรีชาพล พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีที่ กกต.มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค โดย ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า ขณะนี้เราทราบว่าขั้นตอนอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่คำร้องเราก็ยังไม่เห็น หากทราบรายละเอียดแล้วจะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 15.00 น. จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอใช้สิทธิรับทราบข้อกล่าวหา เพื่อชี้แจงพยานหลักฐาน เพราะขณะนี้เรายังไม่รู้ว่า กกต.ร้องหรือตัดสินเราด้วยเรื่องอะไรข้อหาใด เรายังงงๆ ว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา กระบวนการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการเดินหน้าหาเสียงหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า ขณะนี้ทีมหาเสียงของเราที่แบ่งเป็น 7 ทีม ยังลงพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง และผู้ประสานของพรรคก็ประสานงานกับ ส.ส.โดยตลอด ส่วนแกนนำพรรคในส่วนกลางจะพิจารณาเรื่องการลงพื้นที่ในอาทิตย์หน้า ยืนยันว่าพรรคต้องเดินหน้าต่อ เพราะเราเป็นความหวังของผู้สมัคร และประชาชน เราพร้อมลงสนามเลือกตั้ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครอยากให้เกิด ยืนยันเราตั้งใจดี ไม่มีใครปรารถนาร้าย ขอยืนยันคำเดินว่าเราบริสุทธิ์ใจ 
    เมื่อถามว่า มีแผนสำรองหากพรรคถูกยุบหรือไม่ ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า มันคงเร็วเกินไปที่จะไปพูดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการก่อน หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกที ณ วันนี้ ความสิ้นสุดของพรรคการเมืองจะมีต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลออกมา เราจึงต้องเป็นหลักให้สมาชิก และผู้ให้การสนับสนุน
    ด้านนายพิชิตแถลงข่าวด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือว่า   ฝ่ายกฎหมายของพรรคจะไปยื่นคำร้องขอความเมตตาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากตอนนี้ พรรค ทษช.เป็นคู่กรณีกับ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นคนกลางในการวินิจฉัย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เราจะไปยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลเมตตา โดยยึดหลักนิติธรรม ที่สำคัญที่สุด ขอให้พรรคทษช.มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา อ้างพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่ได้กระทำผิด เราขอโอกาสเห็นข้อกล่าวหาก่อน เราจะได้รู้ประเด็นข้อกล่าวหาก่อน เวลานี้จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะยื่นพยานอย่างไร
ทะแนะกังขา กกต.คิดอะไร
    "เรามั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นองค์กรสูงสุดที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม เมื่อเราเป็นคู่กรณี ตามหลักนิติธรรม คู่กรณีควรมีโอกาสในการแก้ข้อกล่าวหา เราเสียใจที่ชั้นสอบสวนไม่มีโอกาสแม้แต่จะทราบข้อกล่าวหา ทุกอย่างมันรวดเร็วมาก และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กกต.จะมีการประกาศรับรองผู้สมัคร ส.ส. จึงตั้งข้อสังเกตว่า กกต. คิดอะไร" นายพิชิตกล่าว
    ต่อมา 14.30 น. แกนนำพรรค ทษช.ได้ทยอยขึ้นไปหารือที่อาคาร B ที่ทำการชั้นสอง พรรค ทษช.อีกระยะ จากนั้นได้ทยอยกันเดินทางออกจากพรรคไปยัง อาคารชินวัตร 3 ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด คาดว่าน่าจะไปหารือแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรค และประเมินสถานการณ์การเมือง 
       มีรายงานอีกว่า ในวันที่ 14 ก.พ. เวลา 10.00 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง จะเดินทางมายังที่ทำการพรรค เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์การเมือง และติดตามประเด็นการยุบพรรค
    ขณะเดียวกัน ได้เกิดแฮชแท็ก #saveไทยรักษาชาติ ขึ้นบนโลกโซเชียลด้วย
    ช่วงเย็น เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสุรชัย ชินชัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจ จากหัวหน้าพรรค ทษช. เข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งสำเนาคำร้องยุบพรรคของ กกต.ให้แก่พรรค ทษช. และให้สัมภาษณ์ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ กกต. ก็ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องให้แก่พรรค เพื่อให้ได้มีโอกาสโต้แย้ง ชี้เเจงข้อกล่าวหา ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งเเสดงพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ เพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 
    "การปฏิบัติของ กกต. เป็นการข้ามขั้นตอน ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.และกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งต้องแจ้งให้คู่กรณีทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนและกรรมการ แต่ปรากฏว่า กกต.กลับทำมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่แจ้งกับพรรค ทษช.ก่อน เปรียบได้กับตำรวจส่งฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่สอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาก่อน" นายสุรชัยระบุ
    นายอุดม รัฐอมฤต  อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณายุบพรรค ทษช. และวินิจฉัยยุบพรรคตามคำร้องดังกล่าวถือว่าเป็นโมฆะ รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 121 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 108 คน การรับสมัครเลือกตั้งที่ผ่านมาของพรรคถือว่าต้องจบ เพราะก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกไม่มีพรรคสังกัดอยู่ก็ไม่สามารถที่จะให้ประชาชนเลือกได้ ดังนั้นต้องรอดูว่าในวันที่ 15 ก.พ.นี้ หาก กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยกรณียุบพรรค ก็ต้องมาพิจารณาว่าระยะเวลาที่มีอยู่เพียงพอในการวินิจฉัยหรือไม่ 
    "หากถูกยุบก่อนการเลือกตั้งก็แน่นอนว่าผู้สมัครในพรรคอาจจะโดนหางเลขไปด้วย ทั้งนี้ บุคคลที่ต้องโดนมากกว่านั้นคือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งบทลงโทษคือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้แยกเรื่องสิทธิเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5-10 ปี แต่กฎหมายเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มีเขียนบทลงโทษระยะเวลาไว้ ทำให้หลายคนคิดว่าศาลจะสามารถกำหนดเวลาได้หรือไม่ และอาจหมายถึงต้องรับโทษตลอดชีวิต" นายอุดม กล่าว 
"บิ๊กตู่"ปัดไม่เกี่ยว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติยุบพรรคการเมืองและส่งศาลรัฐธรรมนูญ พรรคดังกล่าวต้องหยุดหาเสียงก่อนหรือไม่ว่า ในกฎหมายกำหนดให้ถามศาลรัฐธรรมนูญ และศาลจะบอกให้หยุดหรือไม่หยุดก็ได้ระหว่างรอคำวินิจฉัย เพราะแต่ละอย่างไม่รู้ว่าข้อหาเบาหรือหนักขนาดไหน ข้อหาในการยุบพรรคมีหลายเรื่อง เช่น ถ้าข้อหาที่ถูกร้องยุบพรรคเป็นความผิดที่ทำซ้ำๆ กันอยู่ทุกวัน ซึ่งระหว่างกระบวนการวินิจฉัยยุบพรรคยังไม่จบ จะให้ทำต่อคงไม่ได้ ซึ่งโดยปกติคดีแบบนี้ศาลจะพิจารณาด้วยความรวดเร็วอยู่แล้ว
    เมื่อถามถึงกรณีพรรค ทษช.ท้วงว่า กกต.ไม่ได้มีการไต่สวนพรรค ทษช.ก่อน ข้อเท็จจริงต้องเชิญพรรค ทษช.ชี้แจงก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร และไม่ทราบว่าในชั้น กกต.จำเป็นจะต้องฟังใครขนาดไหน เป็นกระบวนการของ กกต. แต่ถ้ามีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจริง ทั้งสองฝ่ายจะต้องไปชี้แจงต่อศาล เพราะในชั้น กกต.เป็นเพียงการรวบรวมหลักฐานว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะต้องยุบพรรค  
    ที่จุดชมวิวป่าชายเลนทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ร่วมกิจกรรม “เพิ่มและขยายพันธุ์ไม้ป่าชายเลน” กับประชาชน ก่อนล่องเรือตามเส้นทางคลองศรีกุมาร มายังท่าเรือแพขวัญใจ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงมติ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เห้ย ไม่เกี่ยวอะไรกับผม ไปถามคนที่ยุบโน่น” เมื่อถามว่า มองว่าเป็นการเร่งรัดเกินไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ไม่รู้สิ ไม่รู้เหมือนกัน 
    เมื่อถามอีกว่า คิดว่าสถานการณ์จะวุ่นวายและมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีหรอก ประชาชนเขารู้ อย่าไปดูถูกประชาชนเขาก็แล้วกัน และตนก็ไม่ได้มีข้อกังวลอะไร จะไปกังวลอะไรล่ะ ตนก็ทำงาน กังวลกับงานของตน ยังไม่เสร็จตั้งเยอะแยะ ตนก็กังวลกับงานของตนดีกว่า คนอื่นเขาก็มีหน้าที่กันอยู่แล้ว ก็ให้เขาทำหน้าที่กันต่อไป เข้าใจไหม
    เมื่อถามย้ำว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ถือว่าปกติเรียบร้อยดีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ปกติ ถ้าไม่ปกตินายกฯ จะมานั่งเรือได้หรือ และไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าการเลือกตั้งจะไม่ราบรื่น
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นกระบวนการของ กกต.ที่ดำเนินการตามกฎหมาย เป็นอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายอยากเห็น ดังนั้นขอให้ทำงานและชี้แจงเหตุผลที่ได้ตัดสินใจ เพราะในส่วนของฝ่ายการเมืองไม่ได้ไปกดดันอะไรทั้งนั้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"