อะไรคือ "น่านแซนด์บ็อกซ์" หรือ Nan Sandbox ที่กำลังเป็นแม่แบบของการพัฒนาจังหวัดที่ควรแก่การติดตามศึกษาและส่งเสริมให้แก้ปัญหาที่สั่งสมยาวนานของต่างจังหวัดของประเทศ?
หากการทดลองให้ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน และสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้ราษฎรได้ "น่านแซนด์บ็อกซ์" ก็อาจเป็นรูปแบบที่จังหวัดอื่นๆ นำไปใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
และนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง
เพราะนี่คือ "การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ" เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่น่าน
การดำเนินงานมีคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ
ส่วนคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่านมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการภาครัฐ
คุณบัณฑูร ล่ำซำ เป็นประธานกรรมการภาคเอกชน
นี่ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีตัวแทนรัฐและเอกชนเป็น "ประธานร่วม" ในการบริหารงานระดับจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการอีก 23 ท่านร่วมด้วยอนุกรรมการด้านจัดทำชุดข้อมูลและแผนที่ และอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์
เป้าหมายคือการแก้ปัญหาด้านที่ดินและป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมายและปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า
อีกทั้งยังจัดหาเงินสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน
กระทั่งถึงการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอและยกระดับคุณภาพชีวิต
พื้นที่ดำเนินงานในจังหวัดน่าน 15 อำเภอ 99 ตำบล 924 หมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯ คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, 2, 3, 4 และ 5
หากดูโครงสร้างการบริหารรูปแบบใหม่นี้จากระดับชาติถึงระดับจังหวัดจะเห็นภาพอย่างนี้
ข้างบนสุดคือคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0
ลงมาคือ "การพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่หรือ Sandbox"
ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์พื้นที่จังหวัดน่านและกลไกการบริหารจัดการ
สู่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล
ลงสู่คณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน
ปัญหาใหญ่และเรื้อรังของจังหวัดน่านคือ การที่กฎหมายหลายฉบับประกาศให้กว่า 85% ของพื้นที่ในจังหวัดนี้เป็นเขตป่าสงวนฯ หรืออุทยานแห่งชาติ แล้วมาทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านดั้งเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านมาตลอด
ทุกวันนี้มีคดีติดค้างอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องหลายหมื่นคดี ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐมายาวนาน หาทางออกไม่ได้เพราะข้าราชการต้องทำตามกฎหมาย ขณะที่ชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน
ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหา Nan Sandbox นี้ การจัดสรรที่ดินป่าสงวนฯ จังหวัดน่านเพื่อแก้ปัญหาหลักประเด็นสิทธิที่ทำกินของเกษตรกรให้มีความชอบด้วยกฎหมาย จะบริหารจัดการพื้นที่เขตป่าสงวนฯ ให้มีสัดส่วนดังนี้
72% เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ในปัจจุบัน ทุกคนช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
18% เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยรัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้
10% คือพื้นที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ (แต่ยังคงเป็นป่าสงวนฯ โดยกฎหมาย)
เป้าหมายที่สำคัญของแผนงานนี้คือ รายได้ต่อไร่ของเกษตรกรจะต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน
นั่นหมายถึงการระดมองค์ความรู้จากทุกศาสตร์มาพัฒนาพืชทางเลือกที่มีคุณค่าสูง พัฒนาดิน น้ำ แปรรูปสินค้าเกษตร การขนส่ง การสร้างยี่ห้อสินค้าหรือ branding และการตลาดเพื่อผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
อีกทั้งยังต้องส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตจนเกษตรกรน่านสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างดีด้วยตนเองได้
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามที่เอกชนกับรัฐและภาคประชาชนมาจับมือกันแก้ปัญหาที่สั่งสมยืดเยื้อมายาวนาน
"เราเดินทางมาไกลแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องเดินทางไปอีกไกลจึงจะถึงเป้าหมาย" คุณบัณฑูรบอกวันก่อนที่เชิญตัวแทนทุกภาคส่วนมาร่วมกันระดมสมองอีกรอบหนึ่ง
หากทำสำเร็จนี่จะเป็นนวัตกรรมการแก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืนที่ทุกฝ่ายควรจะต้องสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งที่จะมาทำหน้าที่แก้ปัญหาให้เกษตรกรทั่วประเทศ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |