12 ก.พ.62-นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)(ศมส.) กล่าวว่า จากการที่ ตนนำคณะกรรมการบริหาร ศมส. เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อถวายรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ของ ศมส. ในโอกาสนี้ พระองค์ทรงมีรับสั่งถึงการเก็บรวบรวมเอกสารรายงานของนักโบราณคดีที่จะต้องมีการบันทึกด้วยการสแกนเก็บไว้เป็นหลักฐานในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการวางแผนโครงการ สำรวจ เก็บข้อมูล ขุดค้น การศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เทคนิคการทำงาน และขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ จนจบโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหลายพันรายการ แต่อยู่กระจัดกระจายตามหอสมุด หอจดหมายเหตุแห่งชาติในพื้นที่ต่างๆ และมีบางส่วนเป็นรายงานเรื่องสำคัญถูกทำลายหายไป เพราะเหตุภัยพิบัติรวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่ดี ทั้งปลวกกิน น้ำท่วม โดยทรงเห็นว่า ควรมีการเก็บรักษาและนำมาเผยแพร่ เพราะ รายงานนักโบราณคดีเป็นประโยชน์ต่อการส่งต่อองค์ความรู้การดำเนินงานของนักโบราณคดีในอดีตสู่ปัจจุบัน ตลอดจนนักศึกษาและผู้สนใจรุ่นต่อไป
นายพีรพน กล่าวต่อว่า ตนได้ประสานงานไปยังนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อหาแนวทางในการรวบรวมข้อมูล อนุรักษ์ และเผยแพร่รายงานของนักโบราณคดีให้เป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการประสานงานต่อไปยังสำนักศิลปากรทั่วประเทศเพื่อช่วยสำรวจว่า มีจำนวนกี่เรื่อง พร้อมคัดแยก แบ่งหมวดหมู่ และจัดลำดับช่วงเวลาของรายงาน เพื่อให้สามารถนำมารวบรวมได้ง่าย พร้อมกันนี้ ยังได้มีแนวทางการดำเนินงานต่อไป แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ทาง ศมส. จะโอนงบประมาณไปยังสำนักศิลปากรเพื่อจ้างผู้มีความรู้ความสามารถในการสแกนรายงานนักโบราณคดี เพื่อนำมาจัดเก็บรูปแบบไฟล์ดิจิทัล และ 2 ศมส. จะดำเนินการจ้างผู้มีความรู้ไปทำการสแกนในแต่ละพื้นที่เอง และหลังจากมีการสแกนเอกสารเสร็จแล้ว ทาง ศมส. จะต้องทำการจำแนกประเภทของรายงานอีกครั้ง โดยอาจจะเพิ่มเติมในการส่วนการแบ่งพื้นที่จังหวัด และลักษณะการดำเนินงานของนักโบราณคดี ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่สาธารณะผ่านคลังข้อมูลนักโบราณคดี ในเว็บไซต์ของ ศมส. ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ 2562
“ สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งต่องาน ศมส. ว่า การก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่ ข้อมูลวิชาการด้านมานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ขณะเดียวกันในส่วนรายงานของนักโบราณคดีถือว่ามีความสำคัญและเกี่ยวพันการทำงานของ ศมส. ซึ่งนับวันจะเสี่ยงต่อความเสียหาย บางเล่มตีพิมพ์เป็นเอกสารทางการแล้ว เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น ควรมีการสแกนเก็บไว้จะเป็นการรักษาองค์ความรู้ ทั้งนี้ หากเราทำให้สังคมสามารถสืบค้นข้อมูลเชิงลึก ซึ่งอยู่ในบันทึกของนักโบราณคดีได้ ก็จะทำให้องค์ความรู้ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิที่ถูกบันทึกไว้โดยนักโบราณคดี จนถึงที่สังเคราะห์แล้วเป็นข้อมูลทุติยภูมิ สามารถนำมาใช้งานได้ ไม่ต้องแขวนขึ้นหิ้งหรือถูกเก็บไว้ในกรุอีกต่อไป” นายพีรพน กล่าว
///