ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธ.ค.นี้
เวลานี้ประเด็น 7 เสือ กกต. จากเดิมที่มองข้ามช็อตกันไปแล้วว่าใครจะเป็น แคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธาน กกต. ระหว่างว่าที่ กกต.จากสองปีก คือจากฝ่ายศาลฎีกา ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาศาลฎีกา กับปีกที่มาจากกรรมการสรรหาฯ คือ ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดมหาดไทย หรือจะเป็น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.สอดแทรกขึ้นมา
มาตอนนี้น้ำหนักของจังหวะขยับเรื่อง 7 เสือ กกต.หันทิศกลับมุมใหม่ กลายเป็นว่าดีไม่ดี 2 ว่าที่ กกต.จากศาลฎีกา คือ ฉัตรไชย และปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ทำท่าจะเจอขวากหนามไปไม่ถึงห้องทำงาน กกต.ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะก็เป็นได้
หลังที่สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องผลการประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่เลือกฉัตรไชยและปกรณ์ อาจไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ที่กำหนดให้ในการสรรหาหรือคัดเลือกต้องใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย
แม้ต่อมาจะมีแหล่งข่าวจากศาลฎีกาออกมาระบุว่า การเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทำถูกต้องแล้ว เพราะการที่ผู้ลงมติลงคะแนนแล้วนำบัตรไปหย่อนในตู้ที่ประชุม ซึ่งผู้พิพากษาทุกคนมองเห็นได้ จึงถือเป็นการเลือกโดยเปิดเผย
แต่ สมชัย ก็ยังออกมาแย้งแบบละเอียดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 11 ธ.ค.ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม กกต.ในวันอังคารที่ 12 ธ.ค. ซึ่งมีข่าวว่าเขาจะเสนอให้ประธาน กกต.ทำหนังสือทักท้วงไปยังศาลฎีกาว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“อะไรเกิดขึ้นในการประชุมคัดเลือก กกต.ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา การประชุมครั้งแรก วันที่ 17 พ.ย. 2560
1.การเลือกตั้งเป็นการลงคะแนนด้วยบัตร โดยในขั้นแรก บัตรที่เตรียมการมามีการใส่หมายเลขของบัตร ซึ่งสามารถไปตรวจเช็กภายหลังได้ว่า บัตรนี้เป็นของใคร ลงคะแนนให้แก่ใคร
2.มีการอภิปรายว่า การลงคะแนนดังกล่าวจะไม่เป็นความลับ เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร จนกระทั่งต้องให้รองประธานศาลฎีกาจำนวน 6 ท่านไปประชุมกันหลังบัลลังก์ ไปหาข้อสรุปว่าสมควรใช้บัตรแบบใด โดยตามข้อบังคับการประชุมของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าหากเกิดปัญหาในการประชุมให้รองประธานศาลฎีกาไปประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งผลการปรึกษาหารือเสียงข้างมากเห็นชอบให้เอาหมายเลขกำกับบัตรลงคะแนนออก จึงให้มีการจัดพิมพ์บัตรใหม่ที่มีเพียงหมายเลขของผู้สมัครขึ้นใหม่ และใช้เป็นบัตรลงคะแนน
3.การลงคะแนนให้การคัดเลือก กกต.ครั้งแรก จึงเป็นการที่ผู้พิพากษาแต่ละคน ทำเครื่องหมายลงในบัตรลงคะแนนที่ไม่มีหมายเลขบัตรกำกับ และนำบัตรลงคะแนนดังกล่าวไปหย่อนในหีบบัตร และมีการนับคะแนนหลังจากการลงคะแนนสิ้นสุดลง
การประชุมครั้งที่สอง วันที่ 6 ธันวาคม 2560
1.มีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมว่า หากมีปัญหาในการประชุม แทนที่จะให้รองประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ให้ใช้มติจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาแทน
2.เมื่อมีการทักท้วงว่าสมควรใช้บัตรเลือกตั้งที่มีหมายเลขกำกับ เพื่อให้เป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผย จึงมีการขอมติจากที่ประชุมใหญ่ว่าสมควรใช้บัตรเลือกตั้งแบบใดจึงถือเป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผย ที่ประชุมใหญ่มีมติ 86:77 ให้ใช้บัตรเลือกตั้งเหมือนกับการประชุมครั้งแรก คือใช้บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีหมายเลขกำกับบัตร ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงคะแนนให้แก่ใคร
3.การลงคะแนนในการคัดเลือก กกต.ครั้งที่สอง จึงเป็นการที่ให้ผู้พิพากษาแต่ละคนทำเครื่องหมายลงในบัตรลงคะแนนที่ไม่มีหมายเลขกำกับ เช่นเดียวกับการลงคะแนนครั้งที่ 1
ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งประธาน กกต.ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.ป.กกต.จะต้องเป็นผู้วินิจฉัย” (สมชัย ศรีสุทธิยากร)
ขณะเดียวกันเมื่อเช็กความเคลื่อนไหวไปยังศาลฎีกาว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ พบว่ายังนิ่งอยู่เพราะติดวันหยุดยาว 3 วัน 9-11 ธ.ค. ผนวกกับด้วยลักษณะของศาลยุติธรรมที่ไม่ต้องการไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงทำให้ศาลฎีกายังไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องที่จะให้เรียกประชุมด่วนเพื่อทบทวนมติการเลือก ฉัตรไชย-ปกรณ์ พบว่าคนในศาลประเมินว่าคงทำได้ยาก เพราะติดปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางเวลาที่ต้องส่งชื่อไปให้ สนช.ในวันอังคารที่ 12 ธ.ค. ตามขั้นตอนทางกฎหมาย การจะให้ศาลฎีกาทบทวนมติจึงทำได้ยาก เพราะหากช้าไปกว่านี้จะมีปัญหาทางข้อกฎหมายตามมา อีกทั้งเรื่องนี้ได้ข้อยุติไปแล้วในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องแยกแยะด้วยว่ามติของศาลฎีกาที่เลือก ฉัตรไชย-ปกรณ์ ไม่ว่าสุดท้ายอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับ ฉัตรไชย-ปกรณ์ เพราะทั้งสองคนไม่ได้ร่วมโหวตด้วยในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตอนที่ลงมติเลือกแต่ละคน การที่ทั้งสองคนได้รับเลือกให้ถูกเสนอชื่อเป็น กกต.ก็มาจากมติเสียงส่วนใหญ่ เพียงแต่ขั้นตอนกำลังถูกทักท้วงว่าอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
จุดสำคัญของเรื่องนี้หากไม่มีสถานการณ์แทรกซ้อนกลางทาง ไม่มีการทบทวนอะไร ไม่มีการถอนตัวใดๆ ก็อยู่ที่การชี้แจงของศาลฎีกาต่อ กมธ.ตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ของ สนช. ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน
เพราะทุกคำชี้แจง กมธ.จะนำไปเสนอไว้ในรายงาน ”ลับ” เพื่อเสนอต่อที่ประชุม สนช.ตอนโหวต เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ รายชื่อ กกต. ซึ่งหากตัวแทนศาลฎีกาชี้แจงได้หมดทุกประเด็น เคลียร์ทุกข้อสงสัย ก็เชื่อได้ว่า สนช.ก็อาจโหวตเห็นชอบชื่อของ ฉัตรไชย-ปกรณ์ แบบไม่มีปัญหา
กลับกันหากตัวแทนศาลฎีกาแจงไม่ได้ในบางประเด็น จุดนี้ก็น่าเป็นห่วงพอสมควรว่า สุดท้ายเรื่องนี้อาจต้องมีบางคนผิดหวัง?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |