12ก.พ.62- “หมอธี” เชื่อ เกณฑ์รับ นร. ใหม่สกัดแป๊ะเจี๊ยะได้ผลมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ชี้ ปัจจุบันนี้มีคนช่วยตรวจสอบมาก คงไม่มีใครกล้าจ่ายเงิน แลกที่นั่งอีก ส่วนประเด็นข้อเสนอให้ผู้บริหาร รร. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น เป็นอำนาจของป.ป.ช.
ตามที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 ซึ่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษลดเหลือ 4 ข้อ จากเดิม 7 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน เนื่องจากเป็นข้อผูกพันเดิมของโรงเรียน 2.นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 3.นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือ ผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ต้องการได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ และ4.นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน ส่วนที่ตัดออก 3 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และ 3.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอนั้น
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนทราบว่า กพฐ.มีการหารือและพยายามที่จะปรับแก้หลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ให้เป็นไปตามที่ ป.ป.ช.เสนอ แต่ขณะนี้ทาง สพฐ.ยังไม่ได้ส่งประกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียนปี 2562 มาให้ตนเซ็นลงนาม ซึ่งมติเกณฑ์รับนักเรียนใหม่นั้น ตนยังไม่เห็นทั้งหมดว่ายกเลิกหลักเกณฑ์ในข้อไหนไปบ้าง แต่คิดว่าก็เป็นเรื่องดีที่เราจะทำให้การรับนักเรียนโปร่งใสมากขึ้น อีกทั้งในเรื่องที่ให้นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีสิทธิให้ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 โรงเรียนเดิมทุกคน ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าเป็นการเพิ่มสิทธิให้กับนักเรียน และที่ผ่านมานักเรียนที่จบ ม.3 และไม่ได้เรียนต่อโรงเรียนเดิมก็เหมือนกับถูกไล่ออกจากโรงเรียนตัวเอง
“เกณฑ์รับนักเรียนเกณฑ์ใหม่จะสกัดปัญหาเรื่องเงินแป๊ะเจี๊ยะได้แน่นอนหรือไม่นั้น ผมมองว่า คำว่าแน่นอนมันใช้ไม่ได้ในยุคนี้ แต่คงสกัดได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต้องห่วง เพราะปัจจุบันนี้มีคนช่วยกันตรวจสอบจำนวนมาก คงไม่มีใครกล้าจ่ายเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน ส่วนประเด็นที่มีคนค้านการตัดข้อผู้ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนออกไปด้วยนั้น ประเด็นนี้ผมไม่ทราบต้องไปถาม สพฐ. แต่นโยบายของผมการรับนักเรียนจะต้องดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม” รมว.ศธ. กล่าวและว่า สำหรับประเด็นที่นักวิชาการเสนอแนะให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น เรื่องนี้เป็นอำนาจของป.ป.ช.ที่จะพิจารณา