45พรรค69คนชิงนายกฯ บิ๊กตู่ขอทำงานไม่หาเสียง


เพิ่มเพื่อน    

    กกต.ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ 45 พรรค 69 คน "เรืองไกร" ร้องสอบ พปชร.เสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" ขัดระเบียบพรรคตัวเอง อ้างทาบทามก่อนได้รับหนังสือยินยอม "ธนกร" สวนทันควันลั่นทำตาม กม.ถูกต้อง "เพื่อชาติ" ซัดซ้ำ "ลุงตู่" ยก 8 ข้อไม่ควรเลือกสืบทอดอำนาจ "บิ๊กตู่" ปัดช่วยพลังประชารัฐหาเสียง ขอทำงานในส่วนรัฐบาลต่อเนื่อง "4 พรรคใหญ่" ประชันนโยบายสุขภาพ  
    เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุม กกต.เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำนักงาน กกต. ถนนแจ้งวัฒนะ
    ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น สำนักงาน กกต.ได้ออกเอกสารข่าวแจ้งว่า ตามประกาศ กกต.เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประธาน กกต.ลงนามประกาศในวันนี้ มีพรรคการเมืองและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จากพรรคการเมืองได้รับการประกาศรายชื่อทั้งสิ้น 45 พรรคการเมือง รวม 69 คน 
    ประกอบด้วย 1.พรรคกรีน นายพงศา ชูแนม 2.พรรคกลาง นายชุมพล ครุฑแก้ว 3.พรรคกสิกรไทย  นายทรรศชล พงษ์ภควัต 4.พรรคคนงานไทย นายธีระ เจียบุญหยก 5.พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย  นายธนพร ศรียากูล 6.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน นายปรีดา บุญเพลิง 7.พรรคคลองไทย นายสายัณห์  อินทรภักดิ์ 8.พรรคความหวังใหม่ นายชิงชัย มงคลธรรม 9.พรรคชาติไทยพัฒนา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา 10.พรรคชาติพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ  11.พรรคชาติพันธุ์ไทย นายโกวิทย์ จิรชนานนท์, นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์, นายภราดร พรอำนวย 12.พรรคฐานรากไทย นายบวร ยสินทร, ว่าที่ร้อยตรีญาณวุฒิ พรหมเดชากุล 13.พรรคทางเลือกใหม่ นายราเชน ตระกูลเวียง 14.พรรคไทยธรรม นายอโณทัย ดวงดารา, นายภูษิต ภูปภัสศิริ, นายกิติกร วิชัยเรืองธรรม 15.พรรคไทยศรีวิไลย์ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์, นายณัชพล สุพัฒนะ, น.ส.ภคอร จันทรคณา 
    16.พรรคประชากรไทย นายสุมิตร สุนทรเวช, นายคณิศร สมมะลวน 17.พรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม 18.พรรคประชาธรรมไทย นายพิเชษฐ  สถิรชวาล, นายชัยวุฑ ตรึกครอง 19.พรรคประชาธิปไตยใหม่ นายสุรทิน พิจารณ์ 20.พรรคประชาธิปัตย์  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 21.พรรคประชานิยม พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย, พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์, นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร 22.พรรคประชาภิวัฒน์ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์, นางนันทนา สงฆ์ประชา,  ศาสตราจารย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ 23.พรรคแผ่นดินธรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ร.ท.บรรจบ บรรณรุจิ,  นายกรณ์ มีดี 24.พรรคพลเมืองไทย นายเอกพร รักความสุข 25.พรรคพลังชาติไทย พล.ต.ทรงกลด  ทิพย์รัตน์ 26.พรรคพลังท้องถิ่นไท นายชัชวาลย์ คงอุดม, ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม 27.พรรคพลังไทยดี นายสาธุ อนุโมทามิ 28.พรรคพลังไทยรักไทย พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล 29.พรรคพลังประชาธิปไตย นายพูลพิพัฒน์ นิลรังสี 30.พรรคพลังประชารัฐ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
รับรองแคนดิเดตนายกฯ
    31.พรรคพลังสังคม นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน 32.พรรคพัฒนาประเทศไทย นายศิลปิน หาญผดุงธรรมะ 33.พรรคเพื่อคนไทย นายวิทยา อินาลา 34.พรรคเพื่อชีวิตใหม่ นายกฤติวัฒน์ กลางชัย 35. พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายชัยเกษม นิติสิริ 36.พรรคเพื่อธรรม นางนลินี ทวีสิน 37.พรรคภราดรภาพ ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล 38.พรรคภาคีเครือข่ายไทย น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ 39.พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล 40.พรรคมหาชน นายอภิรัต ศิรินาวิน, นายพาลินี งามพริ้ง, นายสุปกิจ คชเสนี 41.พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ 42. พรรคสยามพัฒนา นายอเนก พันธุรัตน์ 43.พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 44. พรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และ 45.พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ กกต.ประชุมหารืออยู่นั้น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต.ขอให้ตรวจสอบการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเห็นว่าการเสนอขัดต่อข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ
    นายเรืองไกรกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนพรรคอื่น เพราะไปกำหนดว่าการคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคต้องมีหนังสือยินยอมจากบุคคลนั้นก่อน แต่ปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐมีการประชุมและมีมติให้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตก่อนได้รับหนังสือยินยอม
    นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี คือเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช. ซึ่งถือว่าเข้าข่ายเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะยังรับเงินเดือนในตำแหน่งดังกล่าวอยู่เดือนละ 125,590 บาท 
    "การมายื่นคำร้องครั้งนี้มาในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งขอยืนยันการยื่นคำร้องไม่ได้หวังผลทางการเมือง เพราะผลงานที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันว่าร้องมาแล้วทุกคนทุกฝ่าย และไม่ได้ยื่นเพื่อที่จะเบี่ยงเบนเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ เพราะคำร้องนี้เตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.แล้ว" นายเรืองไกรระบุ
    ส่วน น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงเหตุผล 8 ข้อที่ประชาชนไทยไม่ควรเลือก พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ อีกครั้งว่า เหตุผลที่หนักหนาที่สุดคือ การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คสช. คนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน หรือเกือบล้านคนระหว่างปี  2558-2559 ซึ่งปริมาณคนจนเพิ่มขึ้นมากกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ซึ่งในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน 
    "วิกฤติ คสช.ประชาชนทั้งประเทศรู้ตัวว่ายากจน แต่ไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศ เนื่องด้วยสื่อถูกจำกัดเสรีภาพจึงไม่มีการรายงาน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเพราะมีความเป็นเผด็จการสูง เหยียดเพศ สร้างค่านิยมไม่รักษาคำพูด เห็นแก่ตัว ยกตนข่มท่าน เอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น และไม่มีน้ำใจนักกีฬา เพิ่มความขัดแย้งให้ประเทศมากขึ้น ดังเหตุผลต่อไปนี้" โฆษกพรรคเพื่อชาติระบุ 
ยันเสนอ 'บิ๊กตู่' ถูก กม.
    ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาตอบโต้นายเรืองไกรเรื่องการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคว่า พรรคไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เพราะพรรคดำเนินการตามกระบวนการเสนอชื่อ และตรวจคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ถูกต้องตามข้อบังคับพรรคและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ หาก กกต.มีข้อสงสัยเรื่องใดก็สามารถชี้แจงได้ทุกประเด็นที่มีการร้องเรียนอย่างแน่นอน                 
    "รู้สึกผิดหวังกับนายเรืองไกรเป็นอย่างมาก ในอดีตเคยชื่นชมนายเรืองไกร ไม่น่าผันตัวมาเป็นนักร้องในทุกเรื่อง อยากให้นายเรืองไกรมีจิตสำนึกคิดถึงชาติบ้านเมืองมากกว่าพวกพ้องของตัวเอง เรื่องราวที่เกิดขึ้น 1-2 วันนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว นายเรืองไกรคิดไปเอง พยายามตีความกฎหมายเข้าข้างตนเอง เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตนเอง เหมือนที่เคยร้องเรียนทุกเรื่องเป็นประจำ ควรเอาเวลาไปช่วยพรรคไทยรักษาชาติที่ตัวเองสังกัดเตรียมชี้แจงต่อ กกต.ที่จะถูกยุบพรรคจะดีกว่า" รองโฆษก พปชร.กล่าว
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธถึงกรณีนายเรืองไกรร้อง กกต.ให้วินิจฉัยการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าถูกต้องหรือไม่ว่า เป็นเรื่องที่พรรค พปชร.ต้องตอบ เพราะข้อบังคับเป็นสิ่งที่สมาชิกพรรคต้องทำ ไม่เกี่ยวกับคนนอก และเป็นเรื่องที่พรรคต้องชี้แจงหากมีการร้องขอ นายกฯ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่พรรคเสนอมา  ส่วนคำร้องที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าของสื่อนั้น เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องดำเนินการ หาก กกต.ไม่ติดใจและเห็นว่าไร้สาระก็จบไป
    ถามว่า กกต.มีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคการเมืองหรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่ามี แต่ว่าเมื่อวินิจฉัยแล้วถึงที่สุดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจต้องไปศาลหากมีคนไม่พอใจ แต่ถ้าพอใจก็จบ 
    "จะไปศาลไหนนั้นอยู่ที่เหตุผลในคำวินิจฉัยของ กกต.ว่าใช้เหตุผลอะไร หากเป็นคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับคุณสมบัติเป็นการทั่วไปที่ไม่ได้อ้างอิงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ถ้าเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ" นายวิษณุกล่าว
    ซักถึงการปฏิบัติตัวของ พล.อ.ประยุทธ์สามารถสวมเสื้อที่มีการสกรีนชื่อพรรค พปชร.ได้หรือไม่ทั้งในและนอกเวลาราชการ รองนายกฯ กล่าวว่าถ้าในเวลาคงไม่สมควร แต่ถ้านอกเวลาราชการตนเองก็ยังไม่แน่ใจ แต่เรื่องนี้ขนาดนายกฯ ยังไม่สงสัย เราไม่ควรไปสงสัย ถ้าสงสัยก็สงสัยได้เยอะ เช่น สวมเสื้อกล้ามได้หรือไม่ สวมเสื้อทหารได้หรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่เกิดยังไม่ได้ทำและอาจไม่ได้คิดที่จะทำด้วย เพราะฝ่ายกฎหมายของนายกฯ ก็ให้คำแนะนำไปอยู่แล้วว่านายกฯ ควรต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง
    ถามว่านายกฯ สามารถหารือกับแกนนำพรรคในเรื่องนโยบายหรือแนวทางการหาเสียงได้หรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า ถ้ารู้แน่ชัดว่ามาหารือเรื่องนี้ก็ตอบเลยว่าไม่ได้ แต่เวลาที่เขามาพบกันก็อย่าไปคิดว่าเขามาหารือกันเรื่องนี้ เพราะอาจจะมาหารือกันเรื่องอื่น เรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ใครต่อใครสามารถคุยกันได้ และคนทำงานด้วยกันอาจจะต้องพูดคุยกันบ้าง แต่ถ้าตั้งหลักกันว่ามาคุยเพื่อวางแผนเรื่องการหาเสียงหรือนโยบายพรรคมันไม่ได้ เรื่องเหล่านี้นายกฯ รู้ตัวอยู่แล้วว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ และท่านคงระมัดระวังตัวเองอยู่แล้ว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตอบข้อซักถามกรณีหลังจากตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พปชร. มั่นใจว่าพรรคจะได้รับชัยชนะหรือไม่ว่า เป็นเรื่องของพรรคที่ดำเนินการ ที่พรรคเสนอชื่อตนก็ขอบคุณ ส่วนตนจะได้เป็นนายกฯ อีกหรือไม่ก็เป็นเรื่องของพรรค 
    "วันนี้ผมขอทำงานในส่วนของรัฐบาล เพราะถือว่าสำคัญที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะไม่มั่นใจว่าในวันหน้าหลายอย่างที่ทำอยู่จะได้รับการสืบสานหรือไม่ เราควรจะห่วงเรื่องนี้มากกว่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    ถามว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารู้สึกอึดอัดใจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าไม่อึดอัด ไม่หนักใจ ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง
    วันเดียวกัน ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน มีการจัดเสวนาเรื่อง "ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนาจาก 4 พรรคการเมือง คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์  รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
    ดร.สุวิทย์กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนทุกคนได้รับสิทธิ์ ซึ่งโดยระบบเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย คือคนมีรายได้น้อยร่วมจ่ายผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ตัวเองใช้จ่าย ส่วนคนรวยมีภาษีหลายทางทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม โดยพรรคพลังประชารัฐมีแนวทางเพิ่มคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพิ่มคุณภาพของหน่วยบริการ และได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
    ส่วนนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้เงินมาอุดหนุนเกี่ยวกับสุขภาพต้องใช้จำนวนไม่น้อย ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือต้องปรับปรุงระบบการขอรับงบประมาณให้มีงบประมาณเพียงพอต่อการรักษาพยาบาล หลายปี  สปสช.ได้งบประมาณไม่เป็นไปตามที่ขอและกระทบต่อคุณภาพการรักษา จึงต้องทำระบบใหม่ให้รัฐบาลให้เงินอย่างครบถ้วน และต้องมีการจัดการเฉพาะสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งปรับระบบภาษีให้คนที่มีกำลังจ่ายภาษีมากขึ้นเพื่อนำมาดูแลสวัสดิการลักษณะนี้ 
    ด้านนายธนาธรกล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นมิติใหม่เกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพ  และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเป็นการต่อยอดครั้งสำคัญ และมองว่างบประมาณในแต่ละปีมีจำนวนมากพอที่จะดูแลรักษาประชาชน แต่งบประมาณส่วนใหญ่กลับไปเอื้อกลุ่มนายทุน    
    คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ประชาชนทุกคนต้องได้รับสิทธิ์การรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยหลักประกันสุขภาพ และงบประมาณไม่ใช่แค่การรักษา แต่เป็นการเสริมสร้างสุขภาพด้วย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลง นอกจากจะทำให้ประชาชนสุขภาพดีแล้ว ยังเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"