กกต.ไม่ประกาศพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงฯ” ชิงนายกฯ ระบุเป็นไปตามพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่พระบรมราชวงศ์ทรงอยู่เหนือการเมือง “ทษช.” รอดยาก ที่ประชุมจ่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนยุบพรรค เล็งหาคนนอกร่วมรับเผือกร้อน อ้างเรื่องละเอียดอ่อนและต้องทำให้สังคมยอมรับผลตัดสิน “ศรีสุวรรณ” บี้ต้องสรุปก่อนหย่อนบัตร “รุ่งเรือง พิทยศิริ” รุดแจ้งไขก๊อกพ้นพรรคแล้วตั้งแต่ 4 ก.พ. “วิษณุ” เผยถ้าเป็นคำสั่งจากต่างแดนหนักแน่ “ไทยรักษาชาติ” ยังไปไม่เป็น นัดแถลงก่อนม้วนเสื่ออ้างองค์ประชุมไม่ครบ
เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.พ. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กกต.ว่าจะพิจารณาคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ยื่นขอให้ กกต.วินิจฉัยกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง ส.ส.ปี 2561 โดยจะศึกษาอย่างรอบคอบ รอบด้าน หลายมิติ ทั้งข้อกฎหมายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ไปพร้อมกับการพิจารณาคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคการเมืองที่ กกต.ปิดรับสมัครไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กกต.มีอำนาจหรือไม่ หากมีมติจะแถลงผลการประชุมอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาภายหลังการประชุม กกต. สำนักงาน กกต.ได้ออกเอกสารข่าวแจ้งว่า กกต.ได้ประชุมเมื่อวันที่ 11 ก.พ.เพื่อพิจารณา เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ แล้ว โดยไม่รวมถึงพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยพรรค ทษช. เพราะพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ตามพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 ก.พ.62 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
มีรายงานจาก กกต.แจ้งว่า ในการประชุม กกต.ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำของพรรค ทษช.ที่เสนอชื่อแคนดิเนตนายกฯ เข้าข่ายผิดมาตรา 92 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ กกต.ต้องเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคหรือไม่
“ที่ประชุมเห็นว่าคณะกรรมการไต่สวนควรมี 5-7 คน และมีคนนอกเข้ามาร่วมมากกว่าคนใน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง รวมทั้งผลการสอบสวนต้องได้รับการยอมรับจากบุคคลภายนอก ขณะนี้จึงให้สำนักงานไปพิจารณาตัวบุคคลแล้วมาเสนอต่อที่ประชุม กกต.ก่อนไปทาบทาม และมาเสนอ กกต.มีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะพิจารณาในการประชุม กกต.อีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.”
บี้สรุปผลก่อน 24 มี.ค.
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธาน กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทษช. โดยขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของ ทษช.ขัดต่อระเบียบกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช.ถือเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม และเมื่อมีพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 ก.พ.จึงถือว่ามีความชัดเจนว่า ทษช.กระทำการโดยไม่เหมาะสมและไม่บังควร ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามระเบียบหาเสียงเลือกตั้ง จึงเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ( 2) ชัดเจน สมาคมฯ เห็นควรให้ กกต.ต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติและเป็นบรรทัดฐาน อีกทั้งต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเร็วก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเร่งรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอให้คณะกรรมการ กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรค ทษช.ต่อไป หาก กกต.ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วภายในสัปดาห์นี้แล้วส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันที การวินิจฉัยก็จะแล้วเสร็จภายใน 30 วันทันก่อนเลือกตั้งแน่นอน แต่หาก กกต.ดำเนินการชักช้าหรือปล่อยให้เป็นไปตามปกติ ทษช.ยังจะมีสิทธิ์หาเสียงและเข้าสู่การเลือกตั้ง ความวุ่นวายทางการเมืองจะหวนกลับมา หากผลคำวินิจฉัยของศาลออกมาหลังการเลือกตั้ง ส.ส.จะต้องวิ่งไปหาพรรคสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน ในช่วงนี้ถือเป็น คสช.ก็จะมีอำนาจบริหารประเทศต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและการบริหารประเทศ
“ผมมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องให้ กกต.วินิจฉัยยุบพรรค ทษช. เพราะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและถือเป็นผู้เสียหาย หากต้องเลือกพรรค ทษช. โดยบทกำหนดโทษสำหรับ ทษช.มีเพียงการยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 10 ปี แต่ไม่มีโทษทางอาญา” นายศรีสุวรรณกล่าวและว่า แม้ ทษช.จะประกาศว่าไม่ได้ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อมีพระราชโองการแล้ว หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่าการออกแถลงการณ์น้อมรับพระราชโองการ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง หัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรคควรแสดงสปิริตด้วยการลาออก หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ชื่อเสียงของ ทษช.จะถูกตำหนิติเตียนต่อไป แต่ถ้ายอมแสดงสปิริตก็จะช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีของ ทษช.ให้กลับคืนมาได้
เมื่อถามถึงการขยายผลเอาผิดไปยังบุคคลภายนอกพรรค ทษช. นายศรีสุวรรณกล่าวว่า มือที่มองไม่เห็นเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสัมพันธ์ได้ แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถยึดโยงได้
'รุ่งเรือง' แจงไขก๊อก ทษช.นานแล้ว
วันเดียวกัน นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีต กก.บห.พรรค ทษช.ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 กก.บห.พรรค ทษช.เข้ายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกและ กก.บห.พรรค ทษช.ที่ลงวันที่ 4 ก.พ.ต่อ กกต. เพื่อยืนยันว่าได้ลาออกและไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ กก.บห.พรรคมีมติเสนอชื่อว่าที่นายกฯ ก่อนหน้านี้
โดยนายรุ่งเรืองกล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและ กก.บห.พรรคฉบับนี้ต่อหัวหน้าพรรคไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ. เพราะเมื่อเดือน ม.ค.ได้คุยกับครอบครัวแล้วไม่อยากให้ทำงานการเมือง เนื่องจากลูกอายุน้อยและอยู่ในวัยที่ต้องการเวลาจากพ่อแม่ แต่ก็คิดว่าจะช่วยทำงานพรรคอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อไปช่วยหาเสียงที่ชัยนาทเสร็จในวันอาทิตย์ที่ 3 ก.พ. เช้าวันที่ 4 ก.พ.จึงตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก
“การยื่นลาออกไม่ใช่ชิงลาออก เพราะในวันที่ 4 ก.พ.รู้ว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่ทราบว่าจะพิจารณาเรื่องอะไร เมื่อตัดสินใจลาออกก็ไปยื่นหนังสือกับหัวหน้าพรรคในตอนเช้า จากนั้นก็ออกจากพรรคมาไปทำภารกิจส่วนตัว ซึ่งที่ผมเข้ามาช่วยพรรคก็เหมือนกับช่วยพรรคอื่นๆ คือช่วยในฐานะเป็นนักวิชาการมาช่วยร่างนโยบาย ส่วนเรื่องตัวบุคคลหรือผู้สมัคร ส.ส. บัญชีนายกฯ เป็นเรื่องที่ผมไม่ชำนาญ ก็จะไม่รู้ในเรื่องการจัดตัวบุคคล ดังนั้นอย่าเรียกว่าชิงลาออกเลย เพราะผมเข้ามาช่วยงานการเมืองกับพรรคก็ไม่เคยหวังอะไร ตอนยื่นหนังสือลาออกก็แสดงความชัดเจนกับพรรคว่าไม่ประสงค์สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะถ้าหวังคงไม่ถอนตัว ซึ่งผมค่อนข้างจะได้อันดับดีด้วย" นายรุ่งเรืองกล่าว
นายรุ่งเรืองย้ำว่า ที่ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคแล้วแต่ต้องมายื่นยืนยันกับ กกต.อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ประชาชนและสื่อให้ความสนใจ ก็อยากจะสร้างความมั่นใจให้กับตนเองว่า กกต.ได้รับทราบเรื่องที่ได้ยื่นหนังสือลาออกแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. ส่วนในอนาคตจะกลับเข้ามาทำงานการเมืองอีกหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้คิด ขอให้เวลากับครอบครัวก่อน
สำหรับนายรุ่งเรืองเป็นหนึ่งใน 14 คนที่มีรายชื่อเป็น กก.บห.พรรคไทยรักษาชาติ โดยรายชื่อ กก.บห.ที่ยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ประกอบด้วย 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค 2.น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรค 3.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรค 4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค
5.นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรค 6.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค 7.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรค 8.นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค 9.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค
10.น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค 11.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค 12.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค 13.รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ กก.บห.พรรค และ 14.นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย กก.บห.พรรค
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ทษช.ซึ่งไปยื่นหนังสือ กกต.ให้ตีความคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยืนยันว่าจะต่อสู้ร่วมกับพรรค ทษช.ต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องที่หลายฝ่ายให้หัวหน้าพรรคและ กก.บห.ลาออกไม่เห็นด้วย เพราะหากลาออกกันหมดก็จะไม่เหลือใครมาทำงานแล้วจะหาคนใหม่มาก็ยาก และถ้ามีคนมาร้องให้ยุบพรรคก็พร้อมช่วยเหลือพรรคในการต่อสู้ทางข้อกฎหมาย ซึ่ง กกต.ควรวินิจฉัยให้เด็ดขาด เพราะตอนเขียนกฎหมายก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรค ทษช.มีความคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีแกนนำบางส่วนเดินทางเข้ามาที่พรรค เช่น นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง, นายเหวง โตจิราการ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช คณะทำงานทีมเศรษฐกิจ, นางวรรษมล รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาให้กำลังใจที่พรรค ขณะที่ ร.ท.ปรีชาพลที่มีกระแสข่าวว่าจะเดินทางเข้ามายังพรรคในช่วงเช้า แต่ก็ไม่มีการเดินทางเข้ามาแต่อย่างใด เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งก็ไม่ได้เดินทางเข้ามา รวมทั้งยังได้แจ้งยกเลิกที่จะไปร่วมงานเสวนาทางวิชาการด้วย
ต่อมาในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่พรรคได้แจ้งกับสื่อมวลชนที่มาติดตามความเคลื่อนไหวที่พรรคว่า เวลา 17.00 น. คณะกรรมการบริหารจะมีการประชุม โดย ร.ท.ปรีชาพลจะมาเป็นประธานและจะแถลงข่าวเวลา 17.30 น. แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่พรรคกลับแจ้งว่าการประชุมพรรคต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากเป็นการนัดประชุมด่วนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และกรรมการบางส่วนอยู่ต่างจังหวัด และยังไม่มีกำหนดว่าจะประชุมเมื่อใด แต่หนึ่งในแกนนำพรรค ทษช.ยืนยันว่า กก.บห.ทุกคนยังปลอดภัย ไม่ได้ถูกควบคุมตัวอย่างที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่พรรคได้ตั้งโต๊ะพานพุ่มเงินพานพุ่มทองและพระฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณห้องแถลงข่าวชั้นหนึ่งของพรรค แต่ภายหลังได้มีการย้ายไปไว้ที่ชั้น 2 ของที่ทำการพรรคแทน
ขณะที่ น.ส.ชยิกากล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตว่า การโพสต์ภาพร่วมทำบุญกับ ร.ท.ปรีชาพลเมื่อวันที่ 10 ก.พ.เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 10 ก.พ.จริงๆ ไม่ได้เป็นภาพเก่าตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกต และแกนนำพรรคก็ทราบและสามารถยืนยันได้
ชี้ถ้าคนต่างแดนสั่งอันตราย
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบคำถามกรณีหาก กกต.มีมติเบื้องต้นให้ยุบพรรค ทษช. ระหว่างนั้นพรรค ทษช.ยังหาเสียงได้อยู่หรือไม่ว่า เมื่อ กกต.วินิจฉัยออกมาพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย เว้นแต่พรรคจะไปร้องให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ส่วนที่ กก.บห.พรรค ทษช.ลาออก หากมีการยุบพรรคจะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น ไม่ทราบว่ามีการลาออกจริงหรือไม่ แต่ถ้าความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำที่สำเร็จไปแล้วคงไม่พ้นหรอก แต่หากลาออกไปก่อนที่ ทษช.มีมติเสนอชื่อนายกฯ ก็ดูจะเบาไปมาก ซึ่งที่สื่อถามเป็นเรื่องสมมุติ ก็ตอบตามที่สื่อสมมุติ
เมื่อถามว่า ถ้าคนนอกพรรคมีส่วนต่อการตัดสินใจของ กก.บห.พรรค ทษช.ในการเสนอชื่อนายกฯ จะมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นจะผิดมาก ไม่สุ่มเสี่ยง แต่เลยคำว่าเสี่ยงไปแล้ว
สำหรับความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า หากเข้าสู่การแข่งขันก็ต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ต้องไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่เมื่อมีใครทำอะไรที่ผิดกฎก็ต้องรับผิดชอบ แต่พรรคจะไม่ไปยื่นยุบพรรค ทษช.เพราะหน้าที่ทั้งหมดเป็นหน้าที่ กกต.
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า พรรคไม่ไปก้าวล่วงพรรคไหน ไม่ว่าจะเป็นการส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต บัญชีรายชื่อ หรือบัญชีนายกฯ อนาคตใหม่ยืนยันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาทางการเมืองใดๆ ขอเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 8 ก.พ.ทำให้สมการการเมืองไทยเปลี่ยนไป ไม่ว่าพรรคไหนจะได้หรือเสียประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า การใช้วิธีเจรจาแบบการเมืองเก่าไม่ได้ผล แต่การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้แล้ว ไม่ควรมีพรรคการเมืองไหนที่ถูกยุบ ทุกพรรคต้องเข้าไปแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ควรมีการใช้กลไกใดๆ เพื่อยุบพรรคหรือสกัดกั้นอะไรกันก่อน อย่าทำให้การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบเก่า ที่อาศัยการชิงไหวชิงพริบหรือใช้วิธีลับลวงพราง แต่การเมืองควรเป็นเรื่องจริงใจ คิดอะไรก็พูดแบบนั้น แล้วทำตามนั้น แค่นั้นเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |