“เลือกตั้ง” ปลุกเชื่อมั่น 


เพิ่มเพื่อน    

    เข้มข้นขึ้นทุกทีสำหรับการเลือกตั้งของประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.2562 โดยล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมือง รวม 45 พรรคการเมือง จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันทุกพรรคการเมืองก็เดินหน้าหาเสียงกันอย่างแข็งขัน แต่ละพรรคต่างชูนโยบายเพื่อให้ประชาชนพิจารณากันอย่างถึงที่สุด
    ทั้งนี้ ในแง่มุมทางเศรษฐกิจนั้น ทันทีที่มีความชัดเจนในเรื่องวันเลือกตั้ง สิ่งที่ตามมาคือการคึกคักของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์กับการเลือกตั้งครั้งนี้
    โดย “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ได้ประเมินภาพเศรษฐกิจภายใต้การเลือกตั้งที่มีความชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเงินสะพัดจากการทำกิจกรรมหาเสียงประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมเงินสะพัดจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และเมื่อได้รัฐบาลแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยประเมินว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นยอดตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ได้อีก 0.3%
    ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้งในครั้งนี้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ธุรกิจสื่อโฆษณา” ที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งจากความคึกคักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเท่านี้ยังมีธุรกิจที่จะได้รับผลบวกอีก อาทิ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจการจำหน่ายน้ำมัน ธุรกิจการผลิตกระดาษ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม ธุรกิจบริการทางด้านธุรกิจ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก การผลิตไฟฟ้า และการผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์
    “เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพื่อให้นโยบายและแผนงานต่างๆ เดินหน้า แต่ขณะเดียวกันต้องติดตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งหากดูภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ได้ประเมินไว้ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 4% โดยในช่วงไตรมาส 1/2562 อาจจะขยายตัวได้น้อย แต่เชื่อว่าหากการเลือกตั้งออกมาอย่างไร การลงทุนของภาครัฐและเอกชนจะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้
    ขณะที่ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนและภาคธุรกิจให้ความ “คาดหวัง” กับการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างมาก โดยหลายฝ่ายคาดหวังอยากเห็นแผนและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นนโยบายต่อเนื่อง เพราะปัจจัยนี้ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับความเชื่อมั่นและความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งนั่นหมายถึง “แผนการลงทุน” ของภาคเอกชนในระยะยาว ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างมั่นคง
    อีกประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงจับตา คือ เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ไม่เพียงความต่อเนื่องของนโยบายในการบริหารประเทศในภาคส่วนต่างๆ แต่ยังอยากเห็น “ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล” เพราะในมุมของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจ ยังมีข้อกฎหมายอีกหลายส่วนที่ต้องให้รัฐบาลปลดล็อก เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและแข่งขันกับนานาประเทศได้ดีขึ้นด้วย
    ขณะที่กระทรวงการคลังเองประเมินว่า การเลือกตั้งที่มีความชัดเจน และหากสามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยได้ ก็จะเป็นผลดีอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของภาคเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังมองและให้ความสำคัญเรื่องความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นนี้ มากกว่าตัวเม็ดเงินที่จะสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจะมีผลต่อความคึกคักและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
    ต้องยอมรับว่า “การเลือกตั้ง” มีผลอย่างมากในแง่ของความเชื่อมั่นสำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์การลงทุนในตลาดทุนไทย และการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ของไทยด้วย โดยเฉพาะในโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นอีกกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งก็อาจจะต้องมาลุ้นกันต่ออีกว่า “รัฐบาลชุดใหม่” จะมีแนวทางการผลักดันโครงการนี้ต่อไปอย่างไร.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"