จ่อประกันฮาคีม เดชอุดมแนะนำ ดึงทูต2ชาติร่วม


เพิ่มเพื่อน    

    ทนายฮาคีมเตรียมหาหลักทรัพย์ยื่นประกัน หวังใช้กำไลอีเอ็มแม้คดีแนวนี้จะไม่เคยมีประวัติที่ศาลอนุมัติ "เดชอุดม" แนะเรียกทูต "ออสเตรเลีย-บาห์เรน" มาให้การในคดี 
    เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความนายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ถูกขังไว้ระหว่างการพิจารณากรณีที่พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งตัวกลับไปรับโทษตามคำพิพากษาที่ประเทศบาห์เรนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้เราอยู่ระหว่างรวบรวมหลักทรัพย์เพื่อยื่นต่อศาลอาญาในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งอาจเป็นวันพุธที่ 13 ก.พ. แต่ถ้าหาหลักทรัพย์ไม่ทัน ก็จะยื่นภายในสัปดาห์ต่อไป โดยหลักทรัพย์ที่เราจะยื่นประกันได้จากคนที่เขาอยากช่วยเหลือนายฮาคีม และการรวบรวมเงินผ่านเว็บไซต์ 
    นางณัฐาศิริกล่าวต่อว่า ในคดีอื่นที่เราเคยใช้หลักทรัพย์ยื่นประกันก็ใช้สูงถึง 2-5 ล้านบาท ซึ่งเราก็อยากนำหลักทรัพย์ไปแสดงให้ศาลเห็นว่าหากให้ประกันนายฮาคีมแล้วจะไม่หลบหนี คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเท่าที่ทราบ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีจำเลยคนไหนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว แต่ในปัจจุบันนี้เรามีอุปกรณ์กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) ซึ่งสามารถควบคุมโดยที่ตัวไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ เราก็จะยื่นแสดงเจตจำนงขอใส่เครื่องมือดังกล่าวประกอบเหตุผลในคำร้องว่าเราจะไม่หลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และเราจะยื่นคำร้องให้ศาลเห็นว่าการเตรียมสู้คดีนี้จะมีพยานหลักฐานหลายภาษา การที่จำเลยถูกขังถือเป็นอุปสรรค ต้องใช้ล่ามแปลภาษา ตรงนี้เราต้องการให้นายฮาคีมได้สู้คดีอย่างเต็มที่ 
    เมื่อถามถึงแนวทางการต่อสู้คดีจะสู้เรื่องการควบคุมนายฮาคีมโดยมิชอบก่อนเข้ากระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยหรือไม่ นางณัฐาศิริกล่าวว่า ในเนื้อหาของคดีตอนนี้ แนวทางที่ว่าเราจะสู้คดีแบบไหน เรากำลังรวบรวมความคิดเห็นกันอยู่ ซึ่งทนายความแต่ละคนก็กำลังนำสำนวนที่ได้มาไปศึกษาก่อนที่ประชุมในช่วงสัปดาห์หน้า ตอนนี้เรื่องเร่งด่วนสำคัญคือการเตรียมเอกสารและการยื่นประกันตัว 
    ถามว่า ทีมทนายในคดีมีกี่คน เป็นคนชาติอะไรบ้าง นางณัฐาศิริกล่าวว่า ทีมทนายมี 6 คน เป็นคนไทยหมดทุกคน โดยมีนายนคร ชมพูชาติ เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งทีมทนายความเราก็ได้มีที่ปรึกษาเป็นทนายความจากออสเตรเลีย และนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ได้พยายามหาหลักฐานที่เป็นประโยชน์มาให้เราใช้ในคดี
    ด้านนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์บรรยายวิชากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า คดีของนายฮาคีมน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ที่แจ้งมายังประเทศไทยว่านายฮาคีมมีหมายแดง ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกบัตรสถานะผู้ลี้ภัยให้เขาโดยชอบ ตามหลักเกณฑ์ของกฎบัตรสหประชาชาติที่มีสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเป็นผู้บังคับการให้เป็นไปตามโยบายการขอลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเป็นหลักของการรับรองสิทธิมนุษยชน ที่มีศักดิ์ทางกฎหมายเหนือกว่าคดีอาญา หากมีการไต่สวนและรับรองสิทธิของผู้อื่นไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียก็ได้ใช้เวลาถึง 3 ปี จึงได้ออกการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้นายฮาคีม แต่มาพลาดที่ไม่ได้เพิกถอนหมายแดงกับองค์การตำรวจสากล ซ้ำยังแจ้งมารัฐบาลไทยว่านายฮาคีมมีหมายแดงรัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเป็นสมาชิกองค์การตำรวจสากลถึงต้องจับนายฮาคีม และอัยการไทยก็มายื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรนแล้ว   
    "ทางออกก็คือ ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพยานหลักฐานในทางคดีหักล้างกัน ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงและในที่สุดศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ขณะนี้คดีจึงตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลยุติธรรมไทย" นายเดชอุดมกล่าว
    นายเดชอุดมกล่าวต่อว่า ตามความเห็น ถ้าทางรัฐบาลออสเตรเลียได้แก้ข้อผิดพลาดของตนเอง โดยส่งหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลไทยเรื่องเพิกถอนหมายแดงก่อนอัยการฟ้องคดี หรือก่อนที่รัฐบาลบาห์เรนส่งคำร้องขอมาในขณะที่ไม่มีความตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับบาห์เรน ศาลท่านอาจพิจารณาว่าคำร้องของอัยการขาดองค์ประกอบการฟ้องร้องมาตั้งแต่ต้น เพราะหมายแดงได้ถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว เรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริงให้ดีเรื่องวันเวลา 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่อไปไทยจะมองหน้าสองประเทศนี้อย่างไร นายเดชอุดมกล่าวว่า เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคงมีผลกระทบเล็กน้อยหากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยได้ตอบโจทย์ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยสมบูรณ์ 
    "ผมอยากแนะนำทนายฝ่ายนายฮาคีมให้หมายเรียกทูตสองชาตินี้มาให้การในคดี อธิบายถึงที่มาที่ไปของการขอตัว หรือการให้ลี้ภัย ให้มันเกิดความชัดเจน" นายเดชอุดมกล่าว
    ขณะเดียวกัน ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแปรอักษรและขบวนพาเหรดล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 สะท้อนว่าเยาวชนรุ่นใหม่ไม่นิยมระบอบเผด็จการ และคงรู้สึกอึดอัดที่ถูกปิดกั้นเสรีภาพ จึงระบายออกมาเป็นข้อความในการแปรอักษรและสื่อความหมายอยู่ในขบวนพาเหรด ซึ่งก็น่าดีใจที่เด็กไทยเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีสำนึกของความเป็นพลเมืองโลกสูง เพราะได้ร่วมเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้นายฮาคีม ซึ่งเป็นประเด็นในระดับสากล สะท้อนให้เห็นความรับผิดชอบต่อสังคมชาติและสังคมโลกของน้องๆ นิสิต นักศึกษา แต่อาจไม่ถูกใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ
    “หวังว่าหลังจากนี้จะไม่มีใครไปกดดันอาจารย์หรือมหาวิทยาลัย ให้ไปเล่นงานเด็กๆ ที่ทำกิจกรรม เพราะในโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนมากที่ปลอมตัวใส่เสื้อเชียร์บอล ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เพื่อแฝงตัวแอบถ่ายรูปนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมพาเหรดล้อการเมืองและแปรอักษร ซึ่งทำให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ไม่สบายใจว่าลูกหลานของพวกเขาจะได้รับผลกระทบหรือไม่”
    ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรเปิดใจให้กว้างๆ แล้วยอมรับความจริงว่านี่คือเสียงสะท้อนของประชาชนต่อการบริหารประเทศที่ล้มเหลว การเอาเปรียบทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของรัฐบาล ซึ่งที่จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ควรดีใจด้วยซ้ำที่เยาวชนไทยมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ปล่อยให้ใครล้างสมอง แม้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักก็ตาม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"