'บิ๊กตู่'สั่งจับตาม็อบผวาปลุกยุค'14ตุลา'


เพิ่มเพื่อน    

    คสช.แจงพยายามประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแมป เผย "บิ๊กตู่" สั่งเกาะติดกลุ่มเคลื่อนไหวหวั่นสร้างกระแสเหมือน 14 ตุลา 16 ทำบานปลายก่อนเลือกตั้ง "เพื่อแม้ว" ให้กำลังใจม็อบเรียกร้องเลือกตั้ง ขู่ประยุทธ์ไม่ทำตามคำพูดเกิดนองเลือดครั้งใหญ่ "รังสิมันต์ โรม" ได้ประกันตัว ปลุก ปชช.เดินหน้าต่อ ฝันราชดำเนินเต็มไปด้วยผู้คน ขณะที่ "กรธ.-กกต." เห็นตรงกันร่าง พ.ร.บ.ส.ว.ส่อขัด รธน.ถูก สนช.ตีตกแน่ก่อนส่งศาลตีความทำโรดแมปลากยาว 
     เมื่อวันอาทิตย์ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางดำเนินการต่อแกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยในนามคนอยากเลือกตั้ง ยืนยันจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้ต่อไป แม้จะถูกดำเนินการตามกฎหมายภายหลังได้นำมวลชนประมาณ 300 คนชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า   คสช.ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อไป ควบคู่การทำความเข้าใจกับประชาชน ตลอดจนถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
      "ในห้วงนี้เป็นระยะสำคัญที่เราจะต้องเดินไปสู่การเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ และนำพาการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยถือว่ายังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแล เพื่อประคับประคองและสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลดำเนินการต่อไปได้" 
    ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 10 ก.พ. เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยและเตรียมพื้นที่รองรับอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และปฏิบัติหน้างานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามขั้นตอนและอยู่ในกรอบของกฎหมายไปจนเสร็จสิ้นการชุมนุม และมีการร้องทุกข์กล่าวโทษตามกรอบกฎหมายที่ผู้ชุมนุมได้ดำเนินการ   ส่วนเงื่อนไขของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้นั้น ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าในเวลานี้บ้านเมืองดำเนินไปด้วยหลักเหตุและผลของกฎหมาย เชื่อว่าทุกคนที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการเลื่อนการเลือกตั้งจากปี 2561 ไปปี 2562 กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ที่สำคัญประชาชนทั้งประเทศจะต้องรับรู้ร่วมกันว่าบ้านเมืองขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแมปไม่ให้มีอะไรมากระทบกระเทือนทั้งสิ้น เมื่อมีประชาชนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าการเลือกตั้งช้าเกินไปไม่ทันใจ เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจชี้แจง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจุดกระแสติดหรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์ตอบว่า เจ้าหน้าที่จะต้องระมัดระวังในการปฏิบัติต่อสถานการณ์ อะไรก็ตามที่จะเป็นเงื่อนไขและนำไปสู่ความไม่เรียบร้อยจะต้องมีการศึกษาข้อมูลและหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม และใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ไปละเมิดหรือไปรังแกใคร ดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้จบลงไปด้วยความเรียบร้อย
    พล.ต.ปิยพงศ์ยืนยันด้วยว่า ขณะนี้ คสช.ยังไม่มีแนวคิดจะเรียกนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยในครั้งต่อไปมาพูดคุยทำความเข้าใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการบังคับใช้กฎหมายปกติมากกว่ากฎหมายพิเศษ และพร้อมชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อรักษาบรรยากาศความปรองดองและการบริหารราชการแผ่นดิน 
    มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กำชับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองของทุกกลุ่มในห้วงเวลานี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำการแจ้งความเอาผิดกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มนักศึกษา และเกรงว่าจะเป็นเงื่อนไขทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง สำหรับแกนนำคลื่อนไหวที่ คสช.กำลังจับตาอยู่ ประกอบด้วย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, นายรังสิมันต์ โรม และกลุ่มแกนนำพรรคการเมือง นักศึกษา นักวิชาการ ธรรมศาสตร์ นักเคลื่อนไหวกิจกรรมการเมือง จัดกิจกรรมเดินเพื่อมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ถึง จ.ขอนแก่น หวังสร้างกระแสให้เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 16 ตุลา และกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะอาวุธสงครามที่ทะลักเข้าไทยเมื่อปี 2553 และสามารถตรวจยึดได้เพียง 50% เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 
ช่วยกันประคับประคอง
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีชวนคนไทยรวมพลังขับเคลื่อนการกระทำความดีแบบไทยนิยม โดยย้ำว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญของบ้านเมืองที่จะก้าวพ้นจากความขัดแย้งในอดีต เข้าใจดีว่าพี่น้องประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาลอย่างไร โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจฐานราก การจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ การปฏิรูปหน่วยราชการที่เอาเปรียบประชาชน และเตรียมการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเมืองที่ดีขึ้น จึงขอให้เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติงานทุกอย่างนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ลบรอยแผลที่บอบช้ำของประเทศ และฟื้นฟูเยียวยาให้สังคมเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระยะยาว 
    "การแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพนั้น รัฐบาลไม่เคยปิดกั้น โดยขอให้คำนึงถึงขอบเขตของกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนทุกกลุ่มจึงควรพิจารณาด้วยหลักเหตุและผล ใคร่ครวญถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้บุคคลบางกลุ่มฉวยโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง มุ่งสร้างความวุ่นวายขึ้นในประเทศ นายกฯ ยังขอให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง พร้อมทั้งขอให้สังคมช่วยกันประคับประคองการเปลี่ยนผ่านประเทศไปให้ได้อย่างราบรื่น” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
    ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี  พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข พร้อมไปร่วมชุมนุมครั้งหน้าว่า ถือเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ใช่ความผิด ใครอยากไปก็ไป ไปดูได้ เท่าที่ทราบนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ได้ไปสังเกตการณ์ เพราะอยากรู้อยากเห็นว่าเป็นอย่างไร สักพักก็เดินทางกลับ ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องอยากเห็นการเลือกตั้ง เพราะเขาไม่เชื่อ คสช.ว่าจะทำตามคำพูดที่พรรคการเมือง นักการเมืองเพื่อไทยไม่ได้ไปยุ่ง อยากให้นักศึกษานักวิชาการได้แสดงความเห็น แสดงออก เราส่งกำลังใจไปร่วม หากนักการเมืองไปพูด อยากให้มีการเลือกตั้ง คนจะมองทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ทั้งที่คนทำผิดคือ คสช. ที่ไม่ยอมทำตามคำพูด คสช.อย่าระแวงกลุ่มผู้ออกมาชุมนุม ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากให้นักการเมืองทำอะไร ต้องออกไปจัดให้มีการเลือกตั้ง ควรเลิกโยนสิ่งไม่ดีมายังฝ่ายการเมือง 
    ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายรังสิมันต์ โรม แกนนำผู้ชุมนุมไปยัง จ.ขอนแก่นนั้น นายสมคิดกล่าวว่า อยากให้ตำรวจลดราวาศอกบ้าง นายรังสิมันต์แค่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ได้เป็นภัย ควรปล่อยให้ได้รับการประกันตัวไปต่อสู้ในชั้นศาล คดีอื่นที่หนักกว่านี้เช่น คดียึดสนามบิน คดีกบฏ ยังได้รับการประกันตัว ควรเปิดช่องทางให้เขาได้หายใจบ้างคนที่แสดงออกเพราะไม่พอใจรัฐบาล ส่วนจะเป็นอย่างไรต่ออยู่ที่ตัวรัฐบาล  
    "นักการเมืองไม่ได้เป็นท่อน้ำเลี้ยง ถ้าทำคนไม่น้อยขนาดนี้แน่ ไม่อยากให้ตำรวจมาพูดตีกิน พยายามโยงไปถึงพรรคเพื่อไทย ไปถึงทักษิณอยู่เบื้องหลัง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือผู้มาแสดงออก หากมีข้อมูลก็พูดให้ชัด อย่าทำตัวเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ถ้ามีอะไรก็จัดการเลย" นายสมคิดกล่าว 
    นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า การที่กลุ่มนักศึกษาและผู้รักประชาธิปไตยออกมาจำนวนเกินคาด เนื่องจากไม่เกรงกลัวคณะยึดอำนาจอีกต่อไป เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถทำตามสิ่งที่พูดเกี่ยวกับโรดแมปเลือกตั้งได้ อีกทั้งการบริหารประเทศก็ไม่มีอะไรดีขึ้น วันนี้ความขัดแย้งใหม่ระหว่างนักศึกษา นักวิชาการ กับทหารกำลังเกิดขึ้น และเขามีความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว เพราะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งคืนประชาธิปไตยตามที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดไว้ ถ้าท่านยังไม่ยอมทำตามสิ่งที่พูด ระวังจะควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่การนองเลือดครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ปี 2516 ก่อนที่นักศึกษาจะขับไล่รัฐบาลเผด็จการไปได้ ต้องชุมนุมเป็น 10 ครั้ง แต่การชุมนุมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยแค่ครั้งที่ 2 ก็เห็นมาร่วมเกินคาด จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำตามคำมั่นสัญญาทันที ไม่เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์และคณะที่ยึดอำนาจจะนำประเทศเข้าวิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
"รังสิมันต์" ได้ประกันตัว
    นายวรชัยกล่าวว่า กรณีที่นายวัฒนาจะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มดังกล่าวด้วย ถือเป็นสิทธิของประชาชนทั่วไปที่รักประชาธิปไตย ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองยังไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่ง คสช. ส่วนที่จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ต้องให้จบในชั้นนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ลากยาวไปจนมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แล้วประชาชนจะทนไม่ไหว  
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ระหว่างที่กำลังยืนยันกับต่างชาติว่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลก็ไม่ควรฉีกหน้าตัวเองด้วยการใช้กำลังจำนวนมากไปกดดันกิจกรรมของประชาชนที่ถนนราชดำเนิน เพราะไม่มีที่ไหนในโลกที่การประกาศว่าอยากเลือกตั้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไม่มีแนวคิดคืนอำนาจ ส่วนการลงพื้นที่ของโครงการไทยนิยมก็มีข้อน่าสังเกตว่าคล้ายกับการมีครู ก ครู ข ไปพบประชาชนตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญ คราวนั้นรัฐธรรมนูญผ่าน จึงคิดจะใช้โมเดลเดียวกันเพื่อประโยชน์ในสนามเลือกตั้งหรือไม่ 
    สำหรับความคืบหน้ากรณีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 9 ก.พ. และได้มอบตัวหลังร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  เมื่อวันที่ 10 ก.พ. จากนั้นได้ถูกส่งตัวมาที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุคือการชุมนุมที่สกายวอล์กปทุมวัน  เมื่อวันที่ 27 ม.ค. โดยนายรังสิมันต์ โรม หลังจากได้รับการประกันตัวที่ สน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนำตัวมาถึง สภ.เมืองขอนแก่น ตามหนังสือขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับจากการร่วมกิจกรรมเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ที่อาคารจตุรมุข อุทยานเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2559 ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งคดีนี้มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลทหารขอนแก่นไปก่อนหน้านี้แล้ว 8 ราย
    จากนั้น เวลา 07.00 น. พ.ต.ท.วิษณุ แสงคำ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น ได้สอบปากคำนายรังสิมันต์ที่ห้องงานอำนวยการ จนถึงเวลา 11.00 น. จึงรับทราบข้อกล่าวหา จากนั้นได้ให้นายรังสิมันต์พิมพ์ลายนิ้วมือ โดยมีอาจารย์ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ อาจารย์จากสาขาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น มาประกันตัวในวงเงิน 10,000 บาท
    นายรังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนในขณะนี้มีหลายประเด็น แต่เป็นความผิดที่ตนแสดงออกถึงความรักชาติ รักประชาธิปไตย ต้องการให้ทุกคนในประเทศมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนตัวไม่ได้หนักใจ เพราะไม่ได้ทำผิดคดีอาญา ถือเป็นเกียรติที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ทำเพื่อประเทศชาติ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้สิทธิขั้นพื้นฐานกลับคืนมา
      ภายหลังการประกันตัว นายรังสิมันต์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สำหรับกิจกรรมเมื่อวาน ผมขอขอบคุณทุกๆ คนที่เข้าร่วม และช่วยกันผลักดันให้งานดังกล่าวเกิดขึ้นได้ คิดว่าทุกๆ คนต่างรู้ดีว่ากิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงมากมายหลายประการ แต่ก็ยังคงยืนหยัด ร่วมฝ่าฟันให้เกิดกิจกรรมครั้งนี้ได้ แม้ว่ากิจกรรมจะผ่านไปลุล่วง ที่ทำให้พวกเราหลายคนรู้สึกฮึกเหิม แต่งานของเรายังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล ตราบใดที่ราชดำเนินยังไม่เต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการแสวงหาประชาธิปไตย คงเป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะเห็นสิ่งที่เราปรารถนาเกิดขึ้น ดังนั้นเรายังต้องทำหลายสิ่งอีกมากมาย เพื่อทำให้ประเทศไทยของเรากลับมามีประชาธิปไตยอีกครั้ง แล้ววันหนึ่งข้างหน้า ราชดำเนินจะเต็มไปด้วยพลังแห่งผู้คนที่ต้องการสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ถูกพรากไปกลับคืนมา
    ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า จุดหักเหเฉพาะหน้าของโรดแมปเลือกตั้งว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไร  ต้องจับตาดูกระบวนการพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหากวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ เพราะต้องเริ่มต้นเขียนกันใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และใครจะประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาใหม่ขึ้นอีก อาจกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองให้กลุ่มเรียกร้องเลือกตั้งยกเป็นเหตุผลในการระดมคนมาชุมนุมกดดันรัฐบาลได้มากขึ้น แต่หากรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน แรงกระเพื่อมหรือกดดันทางการเมืองก็อาจลดลง 
คาด สนช.ตีตก กม.สว.
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ความชัดเจนหรือไม่ชัดเจนของการกำหนดวาระเวลาการเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับการทำงานของ กมธ.ร่วมกัน 3 ฝ่าย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหน อย่างไร ไม่มีใครบอกได้ว่าการเลือกตั้งจะอยู่ในช่วงระยะเวลาใด อันจะก่อให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอนทางการเมืองตามมาอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตาม ถ้าการทำงานมีลับลมคมใน ไม่ตรงไปตรงมา มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่าผู้คนส่วนมากในสังคมคงไม่สามารถยอมรับได้ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมกลายเป็นปัญหาบานปลายออกไปได้ จึงฝากให้ สนช.  กกต. และ กรธ. ใช้วิจารณญาณพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน 
     นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า หาก สนช.ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรรมาธิการเสนอ และมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามไม่อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ร่างกฎหมายนั้นเป็นอันตกไป และไม่ได้เขียนอะไรไว้อีกว่าจะต้องยกร่างใหม่อย่างไร ใครยกร่าง ใช้เวลาเท่าไร กรณีจึงอาจเข้าใจได้ว่าเป็นความจงใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้เกิดสภาพเช่นนั้นหรือไม่ การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไปอีก และคงไม่ใช่แค่วันสองวัน เพราะยังไม่สามารถประกาศใช้กฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ต้องยกร่างกันใหม่
    "ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็คือการร่วมกันโกงกฎหมายอีกนั่นเอง โกงแบบสมคบคิด แบบเซียนเหยียบเมฆ ถึงเวลานั้นก็จะถึงบางอ้อว่าการรัฐประหารเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและให้อยู่ในอำนาจให้ยาวที่สุดเท่าที่จะอยู่ได้ หรือโดยไม่รู้จะเอามุกอะไรมาเล่นได้อีกแล้ว หรือจนกว่าจะมีอันเป็นไป เช่น ถูกขับไล่ไปเสียก่อน คำที่หัวหน้า คสช.พูดว่าต้องรอให้กฎหมายเสร็จเสียก่อนจึงดูเหมือนคำพูดที่ไร้เดียงสาเสียเหลือเกิน” นายชูศักดิ์กล่าว
     นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายว่า เราต้องพูดกันด้วยเหตุและผล และหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจเหตุผลที่เราโต้แย้ง โดยเฉพาะประเด็นที่อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่นในร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. การที่ให้มีมหรสพ อาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างพรรคเล็กกับพรรคใหญ่ อาจจะทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ส่วนการขยายเวลาการเลือกตั้งเป็น 07.00-17.00 น. ฟังดูตอนแรกเหมือนจะดี หวังให้คนออกมาเลือกตั้งจำนวนมาก แต่ของเดิมที่ให้เลือกตั้งเวลา 08.00-15.00 น .ในครั้งก่อนก็มีคนออกมาใช้สิทธิ์มากถึง 75% อยู่แล้ว หลายพื้นที่ที่ทุรกันดารเป็นป่าเขา อาจจะไม่สะดวกเวลาขนส่งหีบเพื่อไปนับคะแนน อาจจะกินเวลาไปในช่วงค่ำมืด จะเกิดการทุจริตได้ง่ายกว่าเดิมหรือไม่ ส่วนร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. การแบ่งประเภทผู้สมัครเป็น 2 กลุ่มคือ แบบอิสระและตัวแทนจากองค์กร คิดว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแน่ ส่วนการที่ สนช.ลดกลุ่มอาชีพเหลือ 10 กลุ่ม จากที่ กรธ.เสนอ 20 กลุ่ม อาจจะทำให้ความหลากหลายของ ส.ว.ที่มาจากอาชีพต่างๆ ลดลง และการเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้อาจจะทำให้เกิดการฮั้วได้ง่ายกว่า ทั้งหมดนี้เราต้องอธิบายให้กับทาง กมธ.เข้าใจถึงผลเสียที่จะตามมา 
    "หวังว่าทาง กมธ.และ สนช.จะรับฟังและเข้าใจ แต่ที่น่ากังวลคือ หากข้อโต้แย้งของเราผ่าน กมธ.แล้วและปรับแก้ให้ ถึงตรงนั้นเราก็ต้องหาทางชี้แจงแก่ สนช.ให้เข้าใจด้วยว่าเหตุผลที่ปรับแก้คืออะไร ไม่เช่นนั้นหาก สนช.โหวตไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายนั้นก็ตกไป และต้องร่างใหม่ อาจจะกระทบต่อการเมืองอย่างสูง รวมทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและ คสช.ด้วย เราหวังว่าหากแก้ไขแล้ว สนช.จะเข้าใจ" นายชาติชายกล่าว 
     นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวว่า ในประเด็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทาง กรธ.มีความเห็นตรงกันข้ามเป็นหนังคนละม้วนกับทาง สนช.ในประเด็นการจำแนกประเภทผู้สมัครอิสระกับนิติบุคคล การลดจำนวนกลุ่มอาชีพ และวิธีการเลือกไขว้มาเป็นการเลือกตรง เบื้องต้นก็คงต้องรอดูว่าทาง กมธ. 3 ฝ่าย จะพิจารณาอย่างไร ทาง กกต.คงต้องมากำหนดและทบทวนท่าทีว่าจะยืนตามความเห็นเดิมที่ไม่มีการปรับแก้ไขหรือไม่อย่างไร
    “หนึ่งเสียงของประธาน กกต.จะมีความหมายมาก ถ้าหากฝ่าย กรธ.และ สนช.ต่างยืนยันความเห็นของฝ่ายตัวเอง เพราะถ้าประธาน กกต.โหวตไปในทางใด ฝ่ายนั้นก็จะชนะ ส่วนตัวมองว่าถ้าฝ่าย กรธ.ชนะ จะมีความสุ่มเสี่ยงสูงมากที่จะไปแพ้โหวตในที่ประชุม สนช. เพราะจะทำให้ร่างกฎหมายทั้งฉบับตกไป ต้องเข้าสู่กระบวนการยกร่างใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถือเป็นสิ่งที่ตนค่อนข้างกังวล" นายสมชัยกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"