อีอีซีดูดลงทุนอุตฯยานยนต์


เพิ่มเพื่อน    

      "การส่งเสริมอีอีซี ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการให้เกิดการลงทุนอย่างมาก ทั้งในส่วนของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ หากมีการลงทุนก็จะเกิดการจ้างงาน โดยการลงทุนเหล่านั้นมีทั้งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกควบคู่กันไปด้วย และยังสร้างรายได้ให้กับคนไทยมากขึ้น จะเห็นได้จากตัวเลขยอดขอส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมาซึ่งเกินเป้าหมาย"

 

อีอีซีดูดลงทุนอุตฯยานยนต์

      หลายพื้นที่ทางแถบภาคตะวันออกยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่อเนื่อง หลังความพยายามผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี : EEC) ทำให้ผู้ประกอบการสนใจขยายธุรกิจของตนเองในละแวกนั้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีทั้งแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติต่างๆ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีเช่นเดียวกัน

        นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2560-2561 ยอดขอส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ที่มีผู้ประกอบการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนในแต่ละครั้งก็นับว่าอยู่ในระดับเป็นหมื่นล้าน หรืออยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทที่ยื่นขอบีโอไอไปแล้ว ส่วนมากเป็นการต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่

        แน่นอนว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ทางหนึ่ง โดยหลังจากมีการลงทุนกลุ่มธุรกิจรถยนต์ขึ้นแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ น่าจะมีอีก 2-3 รายที่ยื่นขอบีโอไอเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับจำหน่ายให้กับรถยนต์ไฟฟ้า และจัดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ ขณะเดียวกันอีอีซีจะเป็นศูนย์กลางของอากาศยาน จะเห็นว่ามีการเซ็นเอ็มโอยูกับรัสเซีย และบริษัทผลิตเครื่องบิน ที่มีการตั้งในเมืองไทยมากขึ้นเช่นเดียวกัน

        "นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาส่งผลดีกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เมืองไทยเติบโตทางด้านการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน จนกลายเป็นศูนย์กลางของอาเซียน หรือคิดเป็น 50-60% ตอนรถยนต์คันแรกประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลกในการผลิตรถยนต์ ส่วนปีที่ผ่านมาอยู่ในลำดับ 11-12 โดยเป็นการขายในประเทศน้อยกว่าผลิตเพื่อส่งออก จากเมื่อก่อน 54-55% คิดเป็นการส่งออกปี 2561 เหลือประมาณ 52% ซึ่งลำดับของผู้ที่สามารถผลิตรถยนต์ได้มากสุดจะเป็นจีนอยู่ที่ 30 ล้านคัน อเมริกา 10 ล้านคัน ญี่ปุ่นกว่า 9 ล้านคัน เยอรมนี อินเดีย" นายสุรพงษ์กล่าว

        นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมอีอีซี ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการให้เกิดการลงทุนอย่างมาก ทั้งในส่วนของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ หากมีการลงทุนก็จะเกิดการจ้างงาน โดยการลงทุนเหล่านั้นมีทั้งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกควบคู่กันไปด้วย และยังสร้างรายได้ให้กับคนไทยมากขึ้น จะเห็นได้จากตัวเลขยอดขอส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมาซึ่งเกินเป้าหมาย

        ดังนั้น เชื่อว่าการลงทุนที่ต่อเนื่องในระยะนี้และในปีต่อไป จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในยุคของการเกิดนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่ทำให้เกิดการลงทุน ซึ่งหลังจากโครงการดังกล่าวแล้วก็ยังไม่มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย

ยอดขายในประเทศโตสุดในรอบ 5 ปี

        ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2561 ถือว่าเป็นปีที่ดีมาก และมีการเติบโตจากความต้องการที่แท้จริง โดยยอดการผลิตรถยนต์สูงสุดในรอบ 5 ปีหลังจากหมดโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่ยอดขายเองก็ยังสูงสุดในรอบ 5 ปีเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2560 และทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องมา จนกระทั่งปี 2562 ก็มีผู้ประกอบการผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด โดยเครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง ทำให้ผู้ที่เคยนิยมรถรุ่นเอสยูวี และครอสโอเวอร์สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น จากสมัยก่อนจะต้องซื้อราคาต้องเกินล้าน ตอนนี้ระดับราคา 6-7 แสนบาทก็ซื้อได้แล้ว ส่งผลให้ในปี 2561 รถยนต์กลุ่มดังกล่าวเติบโตมากถึง 52%

        แม้แต่รถพีพีวีที่มีราคาสูงกว่า 1 ล้านบาทก็ยังเติบโตเช่นกัน สะท้อนว่าคนยิมรถยนต์ที่มีล้อสูง โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่มีน้ำท่วมเป็นตัวช่วยให้คนใช้รถยนต์ดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงรถกระบะก็ขายดีมาก เติบโตในปี 2561 มากถึง 22% ด้านรถอีโคคาร์ในปี 2561 เป็นปีแรกที่ผลิตสำหรับการขายในประเทศสูงกว่าการส่งออก หลังจากประเทศไทยมีรถอีโอคาร์มาประมาณ 8 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าคนมีเงินพอจะซื้อรถยนต์ในระดับราคาไม่สูง 3.8-4 แสนบาท ทั้งยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นจริงๆ เป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรบางตัวก็ปรับตัวดีขึ้น เหลือแค่ปาล์มกับยางพาราที่อาจยังไม่ดีมากนัก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นดีมาตลอด ทำให้ตัวเลขขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น

        ในปี 2562 ยอดขายในประเทศหากสถานการณ์ทุกอย่างยังคงเดิมเช่นเดียวกับปัจจุบัน คาดการณ์ยอดขายที่ 1.05 ล้านคน เติบโตขึ้นนิดหน่อย จาก 1.04 ล้านคันในปีที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการยังคงมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และมีราคาถูกลง ส่วนยอดส่งออกคงไว้ที่ 1.1 ล้านคัน จากปี 2561 อยู่ที่ 1.14 ล้านคัน เติบโตขึ้น 0.08% จากปี 2560 เพราะยังเป็นห่วงเรื่องสงครามการค้า และมาตรการภาษีอากรขาเข้าจะเป็นอุปสรรค จะเห็นว่าหลายประเทศได้รับผลกระทบ อย่างประเทศไทยเองการส่งออกรถยนต์ก็ติดลบช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจจีนเคยเติบโตมาก เหลือแค่ 6.2% ทำให้กังวลว่าคนที่เคยส่งสินค้าให้จีน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออก ก็จะได้รับผลกระทบ และอาจจะสั่งรถยนต์จากไทยลดลงไปก็ได้

        การปรับตัวก็คงต้องหาตลาดอื่น ซึ่งทำมาก่อนหน้าอยู่แล้ว โดยแบรนด์สินค้าก็มีการส่งออกในหลายประเทศ อย่างกรณีโดนตัดจีเอสพีในยุโรป ก็หาตลาดทางอเมริกากลางและใต้ จนช่วงนั้นก็เติบโตดี อย่างไรก็ตามต้องหาตลาดใหม่เรื่อยๆ  ตอนหลังมีการแยกตลาดอเมริกาเหนือออกมา ทำให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น รวมถึงทวีปเอเชีย อย่างในออสเตรเลียก็เป็นตลาดส่งออกสูงขึ้นอันดับ 1 คิดเป็น 32% ของจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกทั้งหมด โดยเอเชียคิดเป็น 26% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ตะวันออกกลางหากราคาน้ำมันไม่ดีจะลดการนำเข้า หากระดับราคาน้ำมันสูงจะสั่งสินค้ามาก

 

รถเก่าห้ามวิ่งแก้ปัญหาฝุ่นได้จริงหรือ!

        ส่วนมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ โดยห้ามรถยนต์เก่าวิ่งนั้น มองว่าต้องตรวจสภาพอย่างเข้มงวด จะเห็นได้ว่ารถยนต์ที่มีใช้อยู่ของแต่ละประเทศ อย่างในอเมริกาขายปีละ 15 ล้านคัน มีรถใช้อยู่ในประเทศ 100 กว่าล้านคัน แสดงว่ารถยนต์มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไปค่อนข้างเยอะ ทั้งที่ราคารถยนต์เขาถูกกว่าเมืองไทย ข้อสำคัญคือต้องตรวจเข้มเรื่องรถยนต์ที่จะมาวิ่งบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถโดยสาร รถกระบะ หรือรถยนต์เบนซิน ก่อนหน้าเห็นอยู่บ่อยตามท้องถนน แต่ระยะหลังหลายปีไม่เคยเจอ ต้องถามว่าทำไมถึงไม่ทำ หากทำตรงนี้ก็จะลดปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

        การก่อสร้างทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า และต้องถามอีกว่าทำไมตอนนี้ที่กำลังมีปัญหาฝุ่น จึงได้ไปจัดการจราจร แล้วทำไมไม่ทำตั้งแต่แรก มองว่าการตรวจเข้มของหน่วยงานรัฐจะทำให้ช่วยลดมลพิษได้ และต้องเห็นใจคนที่มีเงินไม่มาก เพราะรถยนต์เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนเหล่านั้น ใช้วิ่งจากปริมณฑลแต่เช้าเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ระหว่างนั้นรถยนต์ก็เป็นทั้งห้องแต่งตัว ห้องทานอาหาร ห้องเรียน เป็นทุกอย่าง ต้องคิดถึงพวกเขา หากตรวจเข้มเรื่องไอเสียรถยนต์และควบคุมการก่อสร้างด้วยการป้องกันหรือปิดมิดชิดก็อาจจะช่วยได้ทางหนึ่ง

 

ผู้ผลิตต้องเพิ่มความหลากหลาย

        ธิดารัตน์ ฉิมหลวง ประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งในภูมิภาคที่ต่างกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของตนเอง ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน

        ดังนั้น ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจึงต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง โดยยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า (Electric Vehicles - EVs) สามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้ เนื่องจากความต้องการ EVs ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ EVs และนโยบายทางภาษีที่ส่งเสริมการผลิต EVs ในประเทศไทยต่างเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเพิ่มความหลากหลายในการผลิต สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด

        ส่วนความคาดหวังที่จะมีระบบนิเวศของการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ารวมกันนั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้มีการทำผลสำรวจ KPMG’s Global Automotive Executive Survey 2019 จำนวน 3,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 1,000 รายเป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยกว่าครึ่งเป็นผู้บริหารระดับซีอีโอ ประธาน หรือประธานกรรมการ โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ได้รับการสำรวจอาศัยอยู่ที่ยุโรปตะวันตก และยุโรปตะวันออก 14% จากทวีปอเมริกาเหนือ และจากทวีปอเมริกาใต้ ประเทศอินเดียและภูมิภาคอาเซียน ประเทศจีนและแถบประเทศญี่ปุ่นกับประเทศเกาหลีอย่างละ 10% โดยเปอร์เซ็นต์ที่เหลือมาจากประเทศที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น

        โดยมากกว่า 60% ของผู้บริหารทั้งหมดทำงานในองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และ 26% อยู่ในองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พบว่าผู้บริหาร 60% เห็นด้วยว่าในอนาคตจะไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า สิ่งที่ชัดเจนคือจะไม่มีผู้เล่นรายใดที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองอย่างเดียว ผู้บริหาร 83% มีความเห็นว่าระบบนิเวศที่ควบรวมการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า mobi-listics จะทำให้แต่ละองค์กรต้องทบทวนโมเดลธุรกิจของตน และเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการขนส่ง ซึ่งองค์กรที่สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และการขนส่งสินค้า มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ครอบครองแพลตฟอร์ม

คนแห่ซื้อไฮบริดและรถไฟฟ้าจะมาแรง

        แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่มองว่าจะซื้อรถยนต์ไฮบริดเป็นคันต่อไป ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (battery electric vehicles – BEVs) กลับมาครองเทรนด์การผลิตอันดับ 1 ของปี เรียกว่าชนะยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicles : FCEVs) โดยโตโยต้าได้รับเลือกจากผู้บริหารให้เป็นแบรนด์ที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีที่สุด ตามมาด้วย BMW และ Tesla.

 

                                                รุ่งนภา สารพิน รายงาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"