พาณิชย์เปิดเครื่องมือตรวจจับเว็บ'หนังเถื่อน'ละเมิดลิขสิทธิ์


เพิ่มเพื่อน    

 

10 ก.พ. 2562 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการพัฒนาระบบการแจ้งและรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในรูปแบบไร้กระดาษ เพื่อใช้สำหรับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จากผู้ที่คิดค้นงานอันมีลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง ภาพ หนังสือ วรรณกรรม เป็นต้น โดยต่อไปก็แค่คลิกเข้ามาในระบบ สามารถยื่นผ่านทางออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องยื่นเป็นเอกสารแบบเดิม ทำให้ผู้ที่คิดค้นงานลิขสิทธิ์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น 

“เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ เพราะแม้ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ได้คิดค้นขึ้นมา แต่ถ้าผู้คิดค้นงานมายื่นแจ้งกับกรมฯ ก็จะทำให้มีหลักฐานว่าเป็นคนทำ จะเป็นประโยชน์กับผู้แจ้งเอง และต่อไปหากมีการละเมิดเกิดขึ้น ก็จะใช้เป็นหลักฐานได้”

นายทศพลกล่าวว่า การพัฒนาระบบคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และจากนั้น กรมฯ จะนำข้อมูลงานลิขสิทธิ์ที่มาแจ้งกับกรมฯ ไปเชื่อมโยงกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือเอ็ตด้า ที่ปัจจุบันมีโปรแกรม “ไอแมงมุม” ที่ใช้ในการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการกับการละเมิดภาพยนตร์ ที่ไอแมงมุม จะกระจายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ววิ่งไปตรวจจับว่าเว็บไซต์ไหนมีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หากตรวจเจอก็จะแจ้งกลับเข้ามา ทำให้รู้ว่าภาพยนตร์ละเมิดอยู่ที่ไหน เว็บอะไร

“ระบบการทำงานของไอแมงมุม จะจำหนังที่มีลิขสิทธิ์ ฉากเป็นอย่างนี้ ซัปไตเติ้ล เป็นแบบนี้ แล้วจะถูกปล่อยเข้าสู่ระบบ เมื่อไปเจอหนังที่คล้ายกัน แต่ภาพไม่ชัดเจน ซัปไตเติ้ลไม่ใช่ ก็จะแจ้งกลับมายังระบบทันทีว่าไปเจอตรงไหน แล้วคนดูแลระบบ ก็จะแจ้งไปยังเจ้าของสิทธิ์ เพื่อให้ยื่นโนติสไปยังเว็บที่ละเมิดให้เอาหนังออก ถ้าไม่เอาออกก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และยิ่งมีฐานงานลิขสิทธิ์มากเท่าไร ก็จะยิ่งจัดการการละเมิดได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น”นายทศพลกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงแรกการเชื่อมโยงข้อมูล กรมฯ จะเริ่มจากภาพยนตร์ก่อน เพราะเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จากนั้นจะขยายผลไปยังเพลง และภาพถ่าย โดยเฉพาะภาพถ่าย ต่อไปหากมีคนนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะตรวจเจอเลยว่าอยู่ตรงไหน ทำให้ดูแลการละเมิดได้ดีขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่นำภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาใส่ให้คนดูเป็นจำนวนมาก และที่ผ่านมา ได้มีการสั่งปิดเว็บไซต์ไปเป็นจำนวนมากแล้วเช่นเดียวกัน แต่บางเว็บไซต์สั่งปิดไม่ได้ เพราะเป็นเว็บไซต์ที่อยู่ในต่างประเทศ ทำได้เพียงแค่ปิดกั้น และแม้จะปิดหรือปิดกั้น ก็ยังมีการเปิดใหม่ขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับผลกระทบ ซึ่งการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลงานลิขสิทธิ์ และทำงานร่วมกับเอ็ดด้า ในการตรวจสอบงานที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการละเมิด เพราะสามารถรู้ได้ทันทีว่างานละเมิดอยู่ตรงไหน จะได้จัดการได้ตรงจุด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"