ท่ามกลางความสับสนอลหม่านทางการเมือง ภายหลังพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา
หลายฝ่ายวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะความกังวลห่วงใยต่อสถาบันสูงสุดของชาติที่พสกนิกรชาวไทยเทิดทูนมาเนิ่นนานจะได้รับผลกระทบ หากถูกดึงมายุ่งเกี่ยวการเมือง
เมื่อเวลา 22.40 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่พระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด
ดังเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความผาสุกและความอยู่ดีกินดีของประชาชน ทรงปกครองประเทศด้วยทศพิธราชธรรม และนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย ภัยพิบัติ และภัยที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุข และดูแลปกป้องประชาชนด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาอย่างมิอาจประมาณได้ ประชาชนทุกหมู่เหล่าเคารพรัก และเทิดทูนพระองค์เสมือนด้วยบิดา จึงทรงเป็น “พ่อแห่งแผ่นดิน” โดยแท้จริง
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล โดยได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นลายลักษณ์อักษร หากยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นที่รักใคร่ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ตลอดจนเป็นที่เคารพยกย่องของพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์และประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยในการดำรงพระองค์และการประกอบพระกรณียกิจต่างๆ นั้น ทรงปฏิบัติด้วยการถวายงานของข้าราชการในพระองค์ และหน่วยราชการต่างๆ ของหน่วยราชการในพระองค์ตลอดมา การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
อนึ่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ
ดังนั้น พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รุ่งขึ้น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้โพสต์ข้อความเรื่อง "พระราชโองการฉบับเดียวดับทุกข์ทวยราษฎร์ได้ดังพลัน" ลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ มีเนื้อหาว่า เมื่อวานนี้ปฏิทินจีนระบุว่า 8 ก.พ. “เจ้าลงมาจากสวรรค์” เพิ่งเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ในยามที่ทวยราษฎร์เกือบทั้งประเทศวิตกว่าบ้านเมืองกำลังเดินไปสู่ความสับสนปั่นป่วน วิตกกังวลว่า “เสาหลัก” ของบ้านเมืองกำลังโยกคลอน ก็กลางดึกนั้นเอง ความมืดมิดในหัวใจก็หมดสิ้น เมื่อได้อ่านหรือฟังประกาศพระราชโองการ “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร” ซึ่งออกมาทันเวลา ประดุจ “เจ้าลงมาจากสวรรค์” ตามที่ปฏิทินบอก ลงมาดับทุกข์เข็ญของอาณาประชาราษฎร์โดยแท้
พระเกียรติยศ ร.10 เบ่งบานทั้งแผ่นดิน คนไทยรักเคารพ-ศรัทธาพระองค์ท่านมากขึ้นอีกทวีทบเท่า หลายคนก้มลงกราบพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งน้ำตา พวกเรามองไปข้างหน้าสู่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะยิ่งสง่างาม จะสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น แม้พระราชพิธีนี้มีเพื่อสำแดงว่าพระมหากษัตริย์เป็นเทวราช แต่เหตุการณ์ที่เริ่มต้นแต่เช้าและจบลงก่อนสิ้นวันที่ 8 ก.พ.นั้น พิสูจน์ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นธรรมราชด้วย พระราชโองการที่จะจารึกไว้ประวัติศาสตร์นี้วินิจฉัยสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลักการรัฐธรรมนูญ และหลักโบราณราชประเพณีที่ใช้มานับแต่ปี 2475 เป็นต้น รวมทั้งตราไว้ว่าด้วยว่าเป็นวัฒนธรรมของชาติที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องไม่ถูกนำเข้าไปเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง
ภายหลังมีพระบรมราชโองการประกาศ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความตอนหนึ่งว่า "การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" นั้นได้มีเสียงเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบกรณีการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ
ซึ่ง ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ได้ชี้แจงเหตุผลการเสนอพระนามว่า คณะกรรมการบริหารพรรคได้ประชุมกันและมีมติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ของพรรค ซึ่งกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องต้องกันว่า ทูลกระหม่อมฯ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นชื่อที่มีความเหมาะสมที่สุด จากนั้นจึงได้ติดต่อและประสาน โดยทูลกระหม่อมฯ ได้มีพระเมตตาตอบรับและยินยอมให้พวกเราเสนอชื่อท่านเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบเป็นนายกฯ ในนามพรรคไทยรักษาชาติ
พรรคไทยรักษาชาติยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ได้ลาออกจากการดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้า ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2515 ทำให้สถานะทางกฎหมายของท่านเป็นสามัญชนตั้งแต่บัดนั้น จึงไม่ได้ขาดคุณสมบัติ
นายณัฐฏ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ระบุถึงระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.2561 ข้อ 17 กำหนดไว้ว่า "ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาหาเสียงเลือกตั้ง"
ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Chulcherm Yugala ระบุว่า คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ และหัวหน้าพรรค สมควรที่จะต้องพิจารณาตัวเอง ในการกระทำอันมิบังควรในครั้งนี้ โดยหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค สมควรที่จะประกาศยุติในการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนที่ (“อาจจะ”) โดนยุบพรรค อย่างเป็นทางการ หรืออาจจะไม่โดนยุบพรรคก็ได้........แต่เมื่อถึงเวลานั้น พวกท่าน หัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค ตลอดจนสมาชิกพรรค จะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่สง่างามในสายตาของประชาชน คนทั้งประเทศ
ขณะที่ ทษช.ออกแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้นหลังมีพระราชโองการ เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า "พรรคไทยรักษาชาติขอน้อมรับพระราชโองการข้างต้นไว้ด้วยความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ และซาบซึ้งในพระเมตตาของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ที่ได้ให้ความเมตตาต่อพรรค พรรคไทยรักษาชาติจะขอทำหน้าที่ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในขนบธรรมเนียมราชประเพณี และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย ด้วยความเคารพในการตัดสินใจของประชาชน ตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวได้แจกจ่ายทางไลน์กลุ่มของพรรค พร้อมกับการยกเลิกกำหนดการหาเสียงของพรรคในช่วงเย็นทั้งหมด ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ออกแถลงการณ์ห้ามสมาชิกให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ก่อนหน้านั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ เข้ายื่นหนังสือถึงนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ขอให้ กกต.พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ว่า เข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้าม ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งข้อ 17 แม้ว่าทูลกระหม่อมฯ จะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้ว ตั้งแต่ปี 2515 แต่ทูลกระหม่อมฯ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม ดังนั้นจึงทรงเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์
และคาดว่าจะมีกระแสเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อ "การกระทำที่มิบังควร" มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นแผนการพา "นักโทษหนีคุกกลับบ้าน" นั่นเอง โดยนักโทษหนีคุกเป็นผู้บงการพรรคการเมืองในเครือข่าย อ้างเป็นแนวทางสร้างความปรองดองยุติความแตกแยก แต่แท้จริงแล้วก็เพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างเดียว ซึ่งเป็นความพยายามกลับประเทศโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมและดิ้นรนมาอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมดังกล่าวเผยธาตุแท้ให้สาธารณชนและบริวารตัวเองเห็นอย่างล่อนจ้อน
โดยแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า "มาถึงตอนนี้คำว่ารัฐบาลแห่งชาติเริ่มมีโอกาสเป็นไปได้ กำหนดเวลาปีครึ่งถึงสองปี จากนั้นอาจจะยุบสภาฯ ให้ประชาชนไปว่ากันใหม่ในกติกาที่ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ แก้กติกาใหม่ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย คิดว่าผู้มีบารมีเท่านั้นที่จะทำได้ และเชื่อว่าทุกพรรคต้องยอม อาจจะไปแก้รัฐธรรมนูญ หรือทำอะไรที่เป็นสากลมากขึ้น เหมือนเป็นการนับหนึ่งประเทศไทย"
ขณะที่บริวารตัวเองบ้างก็ฉลองกันล่วงหน้ากันแล้วว่าแผนการกำลังบรรลุเป้าหมาย แต่ในที่สุดความฝันก็ล่มสลาย!
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องการเดินหน้าไปตามกระบวนการประชาธิปไตย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ตอบรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยส่งสารจากนายกฯ มีใจความว่า
"ผมมีความคาดหวังว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เราจะได้รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล ไม่มีการใช้วัฒนธรรมการเมืองเดิมๆ ที่มีการต่อรองผลประโยชน์หรือตำแหน่งเพื่อกลุ่มของตนเอง เพื่อให้ได้คนดี มีความสามารถมาบริหารราชการ โดยทุกคนต้องเสียสละทำงานเพื่อส่วนรวมเท่านั้น ทั้งนี้ ผมพร้อมจะร่วมมือทำงานกับทุกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”
ท่ามกลางความอภิมหาเซอร์ไพรส์และการคาดการณ์ต่างๆ นานา ว่าบ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด เชื่อว่าหากประชาชนชาวไทยตั้งสติร่วมมือกันทำให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินการไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอีกไม่นานก็จะพบทางออกและนำความสงบสุขกลับมาสู่ประเทศชาติดังเดิม.
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |