นโยบาย ปชป.ตอบโจทย์ใคร? 'อภิสิทธิ์' มีลุ้นคัมแบ็กนายกฯ
ปิดรับสมัครการยื่นบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง-รายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และการสมัคร ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยวันดังกล่าวจุดสนใจก็คือการที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงชื่อเดียว ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อจากนี้ทุกพรรคการเมืองก็เข้าสู่การหาเสียงเต็มรูปแบบ โดยในช่วงดึกวันเดียวกันมีพระราชโองการ จนทำให้สถานการณ์ที่อึมครึมคลี่คลายไปในที่สุด
ขณะที่การเตรียมทำศึกเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แกนนำพรรค ปชป. กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ปชป. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ปชป. ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 7 จาก 150 ชื่อที่พรรค ปชป.ยื่นต่อ กกต.แสดงความเชื่อมั่นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีโอกาสคัมแบ็กกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งได้ พร้อมกับสรุปภาพรวมนโยบายพรรคที่ใช้ในการหาเสียงภายใต้แคมเปญ แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ที่กรณ์บอกว่า เป็นนโยบายที่มีการเตรียมการ-สังเคราะห์จนกลั่นออกมาเป็นนโยบายที่ใช้เวลาร่วม 5 ปีในการเก็บข้อมูล จนนำมาสู่การเขียนเป็นนโยบายพรรค
กรณ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวอย่างมั่นใจว่า พรรค ปชป.จะได้ ส.ส.เกินร้อยที่นั่ง ไม่ใช่พรรคต่ำร้อยอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
“ผมว่าเกินร้อยที่นั่งแน่นอน อันนี้คือความเห็นส่วนใหญ่ของคนในพรรค ปชป.ที่เป็นอย่างนี้จริงๆ คือการเลือกตั้งรอบที่แล้ว สัดส่วน popular vote ของพรรค ปชป.อยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์ ในสภาวะแวดล้อมที่แข่งกันจริงๆ คือ 2 พรรคใหญ่ แต่ครั้งนี้มีมากกว่า 2 พรรคใหญ่ ก็น่าที่จะมีสัดส่วนลดลงมา แต่จากที่เคยได้ 34 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าลดลงแค่ไหน ผมก็ยังมองว่ายังไง ต่อให้ลดลงมา เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ ในระบบใหม่ เท่ากับเราน่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของ 500 ที่นั่ง ก็ทะลุร้อยคนอยู่แล้ว”
กรณ์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าพรรค ปชป.มีโอกาสที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรอดู เพราะพรรคทำงานก็เดินหน้าให้ดีที่สุด แล้วสุดท้ายก็ดูว่า ประชาชนให้โอกาสพรรคในสัดส่วนเท่าใด จากนั้นก็มาว่ากัน
-มองโอกาสอภิสิทธิ์ที่จะคัมแบ็กเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2?
ผมว่ามีครับ ในสถานการณ์ที่คงไม่มีพรรคการเมืองใดมีคะแนนเสียงส่วนมากโดยตัวเอง ผมคิดว่าผู้ที่จะมีการนำเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองหลักๆ ทุกคนก็มีโอกาส ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละพรรคจะได้เสียง ส.ส.เท่าใด ถ้าแนวคิดนโยบายเป็นที่ยอมรับของพรรคการเมืองอื่นๆ มากแค่ไหน ก็จะมีโอกาสมากที่สุด
ส่วนที่พรรค ปชป.เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ผมคิดอย่างนี้ว่า เรามีประเพณีที่ชัดเจนทางการเมืองว่าเราเสนอหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่เราจะต้องไปเปลี่ยนประเพณีนั้น แล้วทางการตลาด ใช้คำนี้ก็ได้ คือไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน ให้มีความชัดเจนไปเลยว่า ถ้าเลือก ปชป.จะได้ใครเป็นนายกฯ ไม่ได้จะไปสร้างความสับสนหรือมีเจตนาที่จะตบตาว่าอาจจะได้คนนี้ แต่หากไม่ชอบคนนี้ ก็อาจเป็นอีกคน พรรค ปชป.จึงควรต้องชัดเจนไปเลยว่าเสนอใคร
-วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาอย่างไร มองว่าประชาชนจะเลือกโดยใช้เกณฑ์ตัดสินใจจากอะไร ตัวผู้สมัคร นโยบายพรรคหรือแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคประกาศออกมา?
นี่คือความยาก เพราะทุกอย่างผสมผสานกันในการตัดสินใจของประชาชน ผมคิดว่าสุดท้าย พรรคก็สำคัญ ตัวผู้สมัครก็สำคัญ ผมคิดว่าข้อดีส่วนหนึ่งในความตั้งใจของผู้ร่างกฎที่ออกมา ที่ผมจำได้ก็คือ พรรคการเมืองต้องใส่ใจว่า ผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีคุณภาพ ซึ่งผมมองว่ามีส่วนจริง การเลือกตั้งรอบนี้ที่น่าสนใจก็คือ ตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 500 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมเข้าใจว่าเป็นคนเดิมแค่ร้อยกว่าคน นอกนั้นเป็นผู้สมัครที่เป็นคนใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของพรรค ปชป.ที่เป็นพรรคเปิด ให้โอกาสคน
การเลือกตั้งครั้งนี้พวกเราทุกคนก็รู้สึกท้าทายดี มีพรรคใหม่เยอะขึ้น หลายพื้นที่เลือกตั้งไม่ได้เป็นแค่การต่อสู้ของ 2 พรรคใหญ่เท่านั้น และยังมีพรรคใหญ่ที่เล่นยุทธศาสตร์แบบพิสดารอีกต่างหาก คือแยกตัวออกมาเป็น 2 พรรค แล้วก็แบ่งเขตเลือกตั้งกันชัดเจน โดยเขตไหนที่เขาคิดว่า เขาอาจไม่ชนะ ก็ส่งพรรคสำรองลงไป ส่วนเขตไหนที่เขาคิดว่าชนะแน่ ก็จะส่งผู้สมัครจากพรรคตัวจริงลง ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องรอดูว่าผลจะเป็นไปตามที่เขาคาดหวังหรือไม่ หรือมันจะสร้างความสับสน ไปทำให้แบรนด์ของเขามีพลังน้อยลง
...ผนวกกับยังมีพรรคทหารที่เข้ามาอีกต่างหาก ซึ่งผลของพรรคทหารในแต่ละเขตพื้นที่ก็จะแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น บางคนบอกว่า พรรคทหารมาแย่งคะแนนของกลุ่มคนที่หากไม่มีพรรคทหาร เขาก็จะลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีส่วน มีส่วนแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน พรรคทหารก็น่าจะแย่งคะแนนของทหารหรือตำรวจ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ในอดีตก็จะเลือกเราน้อยกว่าพรรคคู่แข่งเรา ถ้าเขาสามารถดึงคะแนนส่วนนั้นไปได้จริง ก็อาจมีผลต่อคู่แข่งเดิมมากกว่า ปชป. แล้วก็ยังมีปัจจัยตัวบุคคลอีก เพราะพรรคทหารก็ดูดคนจากทั้ง 2 ฝ่าย 2 พรรค ในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นคนจากฝั่งเพื่อไทยเดิม ก็น่าจะมีผลกระทบต่อฝั่งเพื่อไทยมากกว่าพรรค ปชป. แต่บางเขตเลือกตั้งก็เป็นคนที่เขามาดูดไปจากพรรค ปชป. ก็ทำให้น่าจะมีผลต่อพรรค ปชป.มากกว่าฝั่งเพื่อไทย ดังนั้นมันก็แล้วแต่คน-พื้นที่ มันเหมารวมได้ยากในส่วนของผลกระทบที่อาจจะมี อันนี้ยังไม่นับรวมพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ก็จะมีผลต่างกันไปในแต่ละเขตพื้นที่เลือกตั้ง
กทม. 30 เขต ปชป.หวัง 20 อัพ
กรณ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่เคยเป็นอดีต ส.ส.เขต กทม.มาก่อน ส่องกล้องมองการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง กทม.ที่มีด้วยกัน 30 ที่นั่ง ว่า กรุงเทพมหานคร เท่าที่ประเมินพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. 20 คนขึ้นไป ผมเชื่อจริงๆ เพราะอดีต ส.ส.เดิมของเราจะรักษาพื้นที่ไว้ได้ เพราะเขาอยู่กับประชาชน อยู่ติดกับพื้นที่เลือกตั้งมาตลอด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทุกคนทำงานมาตลอด ไม่เคยปล่อยพื้นที่เลย อีกทั้งพรรคยังส่งผู้สมัครหน้าใหม่ที่ผมคิดว่าก็มีการคัดมา นำคนที่มีความตั้งใจเข้า ก็มีโอกาสสูงที่น่าจะนำชัยชนะมาให้กับพรรคได้ในเขตเดิมที่เราไม่มี ส.ส. เช่น เขตสายไหม-มีนบุรี รวมถึงเขตเลือกตั้งเดิมที่พรรคเคยมี ส.ส. แต่ได้นำผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม New Dem เข้ามาแทนในอีก 3 เขต ที่เป็นเขตซึ่งน่าจะมีโอกาส ทำให้โดยภาพรวมผมก็คิดว่าไม่เกินความจริงคือ 20 คนขึ้นไป
-มองที่เพื่อไทยกับไทยรักษาชาติ ใช้วิธีส่งคนลงสมัครแบบแยกเขต แยกพรรคกันไปเลย เพื่อไทยส่ง 22 เขต ไทยรักษาชาติส่ง 8 เขต โดยไม่ซ้ำเขตกันอย่างไร?
แยกกันเลยก็ตลก ฮั้วกันแน่นอน แต่ผมก็ไม่รู้ว่าทางกฎหมายเขาทำแบบนี้ได้ยังไง แต่ก็ไม่เป็นไร ก็สุดแล้วแต่ แต่มันก็ชัดเจน คือเขายอมรับว่าเขาแพ้ ถึงลง คือยุทธศาสตร์ไทยรักษาชาติ คือไปเก็บคะแนนในบัญชีรายชื่อ แต่อย่างว่าคู่แข่งพรรคการเมืองเยอะ เราก็ไม่ได้คิดไปดิสเครดิตใครหรือไปกังวลใจกับใคร พวกเราแต่ละคนก็เดินหน้าเสนอผลงาน แนวคิดทางนโยบายพบปะประชาชน แล้วก็เชื่อว่าด้วยงานที่ทำและความใกล้ชิดที่มีต่อประชาชน ก็น่าจะเพียงพอในการได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าคนกรุงเทพฯ มีความหลากหลาย มีทั้งชนชั้นกลาง-กลุ่มผู้ออกเสียงรุ่นใหม่ จะทำให้คะแนนของ ปชป.ถูกแบ่งออกไปให้กับบางพรรค เช่น อนาคตใหม่ พลังประชารัฐหรือไม่ เพราะมองกันว่าจำนวน ส.ส.เขตอาจจะได้ก็จริง แต่คะแนนที่เคยได้ก็จะลดลง กรณ์ ยอมรับว่า อาจเป็นไปได้ ก็คงมีบ้าง อย่างใน กทม.ก็มีคนที่เคยอยู่ฝั่งเดียวกับเราในฐานะอดีต ส.ก. แล้วย้ายออกไปมากกว่า 3 คน ซึ่งเขาก็ต้องมีคะแนนติดตัวไปบ้าง ไม่มากก็น้อย คืออาจไม่ทำให้ชนะ ปชป.ได้ แต่ก็มีส่วนในการดึงคะแนนนั้นออกไป แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ก็มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มใหม่เข้ามาในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีจำนวนเยอะมาก แต่หลักๆ ผมก็คิดว่าเราก็น่าจะคะแนนไม่น้อยจากคนรุ่นใหม่ เพราะชุดนโยบายของพรรค ก็มีนโยบายที่ออกมาต่างหากจากกลุ่มรุ่นใหม่ของ ปชป.ที่มาจากกลุ่ม New Dem อีกทั้งคนในกลุ่ม New Dem ก็มีส่วนร่วมโดยตรงในการร่างนโยบายพรรค จึงทำให้ชุดนโยบายของ ปชป.มีความทันสมัยมากกว่าหลายพรรค
...ยกตัวอย่างเรื่อง Gov Tech หรือ Government Technology ที่เป็นแนวคิดว่าในอนาคต การให้บริการประชาชนของภาครัฐต้องเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพ กลุ่มที่มีแนวคิดการใช้เทคโนโลยี มาเสนอแนวทางการบริการและการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ทางพรรคก็ให้กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในกลุ่มผู้ประกอบการสถานศึกษา สาธารณสุข เสนอแนวคิดของเขาตอบโจทย์ปัญหาที่เขาแก้ได้ โดยราชการแก้ไม่ได้ ก็มีคนสมัครมาเกือบ 100 แห่ง จนคัดเลือกเหลือจำนวนหนึ่งเพื่อบ่มเพาะเขาเพื่อว่าหากอนาคตเราเข้าไปเป็นรัฐบาล จะได้เข้ามานำเสนอการให้บริการกับภาครัฐ เช่น การให้บริการผ่าน Application หรือเทคโนโลยี ที่สุดท้ายประชาชนก็จะได้ประโยชน์ และเป็นการกระจายอำนาจ ลดบทบาทของรัฐ ที่เป็นชุดความคิดที่ทันสมัย ไม่ใช่ชุดความคิดของพรรคอนุรักษนิยมสุดโต่งอย่างที่เป็นวาทกรรมของบางกลุ่มพยายามยัดใส่ให้พรรค ปชป. เพราะพรรคอนุรักษนิยมคิดแบบนี้ไม่ได้ และ ปชป.ไม่ได้แค่คิดอย่างเดียว แต่ทำแล้ว มีพรรคไหนมีความก้าวหน้าแบบนี้อย่างพรรค ปชป. ผมก็อยากรู้เหมือนกัน
ในฐานะ รองหัวหน้าพรรค ปชป. เมื่อเราถามถึงความเห็นส่วนตัวเรื่องการจับมือตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เช่น โอกาสจับมือกับบางพรรค เช่น เพื่อไทย ทาง ปชป.พิจารณาจากปัจจัยอะไร กรณ์ ให้ความเห็นว่า สำหรับผมต้องดูที่คะแนน ผมคิดว่าเราต้องให้เกียรติความต้องการของประชาชน เราจะดื้อแพ่ง สวนทางความต้องการของประชาชน ก็ไม่ควร ขณะเดียวกัน อุดมการณ์ของพรรคก็สำคัญ และแน่นอนที่สุดคือ นโยบายที่สอดคล้องกันก็สำคัญ เราต้องนำสิ่งเหล่านี้มาถ่วงกัน มาผสมผสาน แล้วก็ตัดสินใจกันเมื่อถึงเวลา
สำหรับการเมืองหลังการเลือกตั้ง ผมเป็นคนมองโลกทางบวก ในกรณีผมเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แล้วผมก็คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนผม ผมจับอารมณ์คนจากที่เมื่อมีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้ง หลายคนก็เหมือนกับโล่งอก เริ่มมีความหวัง แล้วผมคิดว่าผลลัพธ์สุดท้ายก็จะออกมาตามนั้น คือประชาธิปไตยก็อาจจะมีความไม่แน่นอน ผสมผสานกับความวุ่นวายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นธรรมชาติของระบอบ แต่ผลลัพธ์สุดท้าย ผมก็คิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น
แก้จน สร้างคน สร้างชาติ มาจากไหน?
กรณ์-ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ปชป. กล่าวถึงหัวใจสำคัญของนโยบาย แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ว่า แก้จนมีความหมายชัดเจนในตัวเองที่สะท้อนปัญหาของประชาชนยุคปัจจุบันที่รายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน เราก็มองว่าภารกิจสำคัญในชั้นแรก ต้องตอบโจทย์ปัญหานี้ให้ได้ ก็คือ แก้จน เพิ่มรายได้ แก้ปัญหาหนี้สิน ลดค่าใช้จ่าย
สร้างคน คือมองออกไประยะยาวเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์หลายประเด็น เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การตอบโจทย์เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ในยุคปัจจุบัน คำตอบเรื่อง ”ความเหลื่อมล้ำ” หากเป็นอดีตจะอยู่ที่รายได้ ทรัพย์สิน โดยมีตัวชี้วัด เช่น บอกว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง โดยพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองที่ดิน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัญหา แต่หากถามความเห็นผมเรื่องความเหลื่อมล้ำในยุคสมัยปัจจุบัน ยุคดิจิตอล ที่มีนัยสำคัญมากที่สุด ในการกำหนดเรื่องความเสมอภาคในอนาคต ไม่ใช่เรื่องการถือครองที่ดินอีกต่อไป แต่เป็นเรื่อง ความรู้ ดูอย่างคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวในยุคปัจจุบัน เขาสร้างความมั่งคั่งด้วยความรู้
กรณ์ มองว่าความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหามากสุดก็คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีมีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องนี้เป็นตัวสะท้อนที่สำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ที่ในอดีตไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันในมิตินี้ เราจึงมองว่า ”การสร้างคน” เป็นเรื่องสำคัญ จึงทำให้นโยบายที่ออกมาแล้วหลายชุด แต่ชุดแรกที่พรรค ปชป.แถลงเปิดตัวเป็นเรื่องแรก คือเรื่องการศึกษา เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
การสร้างชาติเป็นวิสัยทัศน์การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ การสร้างพื้นฐานความมั่นคงให้กับสังคม ที่จะเป็นการสร้างชาติ สร้างความมั่นคงให้กับสังคม จึงเป็นที่มาของนโยบายพรรคอย่าง นโยบายการปราบปรามยาเสพติด ที่เป็นปัญหาใหญ่มากของสังคม การสร้างชาติจะต้องมีการปฏิรูปการบริหารประเทศ การปกครอง จึงเป็นที่มาของข้อเสนอที่มาของนโยบายเรื่อง การกระจายอำนาจ ซึ่งเกือบทุกนโยบายที่พรรคนำเสนอจะอยู่ในกรอบชุดความคิดเรื่อง ”กระจายอำนาจ” เช่น กระจายอำนาจการปกครอง ที่พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หรือการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาการศึกษา โดยให้กระจายอำนาจจากกระทรวงศึกษาส่วนกลางลงไปในระดับโรงเรียน โดยให้โรงเรียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล สามารถบริหารจัดการกันเองได้ เช่น การว่าจ้างครูตามความต้องการของโรงเรียนเองได้ และการบริหารจัดการก็ให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงเรียน
“นโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ จึงเหมือนกับเป็นกรอบที่ทุกนโยบายของพรรค ปชป.จะตอบโจทย์ในภารกิจหลักใน 3 เรื่องนี้”
อนึ่ง ที่ผ่านมา พรรค ปชป.แถลงชุดนโยบายไปแล้วหลายเรื่อง เช่น นโยบายเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร-นโยบายการศึกษา-ปราบยาเสพติด-สิ่งแวดล้อม-นโยบายแก้ปัญหากรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งหมด กรณ์ บอกว่า ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลหลายปี จึงทำให้มั่นใจว่าการนำเสนอนโยบายพรรค ปชป.ครั้งนี้มีความพร้อมมากที่สุดและพร้อมกว่าทุกพรรค
...การทำงานนโยบายเที่ยวนี้ของพรรค ปชป.ต่างจากอดีต เพราะต้องยอมรับว่าพรรคการเมือง โดยปกติจะมีเวลาในการคิดเรื่องใหม่ๆ ได้น้อยกว่าที่ควร เพราะมีงานด้านบริหาร งานในรัฐสภา การที่จะมานั่งคิดเรื่องโจทย์ปัญหาของประเทศ เพื่อหาคำตอบสำหรับแต่ละปัญหา อาจจะมีเวลาไม่มาก
...อย่างไรก็ตาม ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พรรคมีเวลามาก โดยที่หลังรัฐประหาร คสช.ปี 2557 พรรคก็ไม่คิดว่าจะมีเวลามากขนาดนี้ ตอนแรกคิดว่าคงประมาณ 1-2 ปี ในการออกไปศึกษา ไปลงพื้นที่เพื่อรับรู้ประเด็นปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป รวมถึงออกไปศึกษาและเรียนรู้จากต่างประเทศ ในการแก้ปัญหาต่างๆ จากนั้นจะได้นำชุดความคิดที่พรรคได้มาลองปฏิบัติในพื้นที่จริง
กรณ์ เล่าให้ฟังถึงการหาข้อมูลเพื่อมาทำนโยบายพรรค ปชป. ว่า เช่น เรื่อง การบริหารจัดการน้ำ เราก็ยกคณะกันไปที่ประเทศอิสราเอล มีการติดต่อไปยังรัฐบาลอิสราเอล จนเขาจัดให้ทีมของเราไปดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งสุดยอดอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นประเทศทะเลทราย ที่เขาบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่จำกัด แต่ทำให้เกษตรกรของเขามีน้ำใช้เพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี เราก็ไปดูระบบการเก็บกักน้ำ การใช้ระบบน้ำหยด การใช้นวัตกรรมต่างๆ ที่เราเห็นว่านำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย เช่น ในภาคอีสานได้ หรือการไปที่สิงคโปร์เพื่อไปศึกษาดูเรื่องการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย เรื่องการดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนทำให้เด็กของสิงคโปร์พูดได้หลายภาษา เพื่อดูว่าทำไมเด็กไทยจึงขาดโอกาสบางอย่างในการทำให้พูดภาษาที่ 2 ไม่ได้
...เมื่อได้เห็นระบบจากทั้งที่สิงคโปร์ รวมถึงที่ไปมาเลเซีย ก็นำมาทดลองในโรงเรียนที่พิษณุโลก โดยทางคณะก็ใช้วิธีหาเงินกันเองมาทำเพื่อทดลองความคิดของเรา ทำมา 4-5 ปี ก็เห็นผล จนเรานำผลที่ได้ในโครงการที่เราเรียกว่า English for All ไปคุยกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพราะพรรคเห็นว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และไม่ควรนำมาทำเป็นประเด็นทางการเมือง รมว.ศึกษาธิการก็ให้ความสนใจนำมาดูและนำไปขยายผลต่อ ไปทำในโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ
ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ปชป. กล่าวต่อว่า ทั้งหมดคือสิ่งที่ทีมทำนโยบายของปชป.ได้สะสมมา เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องมาคิดออกแบบเพื่อนำเสนอต่อประชาชนในช่วงรณรงค์หาเสียง จึงง่าย เพราะหลายเรื่องตกผลึกแล้วในการรับรู้แต่ละปัญหา และแนวทางนโยบายของพรรค ปชป.ควรเป็นอย่างไร โดยบางเรื่องเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริง คำแนะนำจากผู้รู้จริง นักวิชาการ หัวหน้าพรรคจึงสนับสนุนให้มีการตั้ง สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute: FIT) ที่เป็นครั้งแรกที่มีการออกแบบนโยบายที่ฝ่ายการเมืองทำงานคู่ขนานกับฝ่ายวิชาการ เพื่อนำเสนอแนวนโยบายวิชาการอย่างใกล้ชิด จนพรรคมีชุดนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในหลายเรื่อง ทำให้พรรคมีความมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลที่เราใช้ในการออกแบบนโยบาย ทำให้ชุดนโยบายของเราแน่นกว่าในอดีต
...พรรคก็เรียนรู้ว่าที่ผ่านมานโยบายของเราไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่วิธีการนำเสนอของเราอ่อนกว่าเขา ก็ต้องยอมรับว่าเราก็เรียนรู้จากเขา รอบนี้เราก็มีกลไก ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดมาช่วยแนะนำเราในวิธีการนำเสนอนโยบาย ทำให้การนำเสนอนโยบายของพรรคกระชับขึ้น โดนขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
กรณ์-ผู้รับผิดชอบการเขียนนโยบายพรรค ปชป.ในการหาเสียง ย้ำว่า จุดมุ่งหมายของนโยบายพรรค ปชป.หลักของเราคือ เสรีประชาธิปไตย ซึ่งในบริบทของการบริหารเศรษฐกิจ อันดับแรกเรามองว่าเศรษฐกิจที่ดีต้องมีการพัฒนาคู่ขนานกับระบอบประชาธิปไตยที่ดี ผมคิดว่าในประเทศอย่างเราที่เป็นประเทศขนาดใหญ่พอสมควร มีความต้องการหลากหลายมาก ระบอบการกำหนดยุทธศาสตร์นโยบายทางเศรษฐกิจมาจากข้างบน จากส่วนกลาง เป็นระบอบที่ผมคิดว่าหลายครั้งโดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยโดยรวมได้ สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเห็นก็คือ เศรษฐกิจที่เข้มแข็งกับแค่ประชาชนบางส่วนเท่านั้น และเป็นส่วนที่มีศักยภาพที่สามารถเข้าถึงผู้นำที่กุมอำนาจอยู่ได้ ที่ก็เป็นคนส่วนน้อยโดยปริยาย แต่ระบบเศรษฐกิจที่ดีต้องตอบโจทย์ประชาชนและผู้ประกอบการทุกระดับ
...การที่จะไปถึงตรงนั้นได้ต้องมีประชาธิปไตยรองรับ เป็นระบอบที่รับฟัง คิดเผื่อ ให้ความสำคัญกับคนทุกคน นั่นคือสาเหตุที่ผมจึงมั่นใจ และไม่ใช่แค่ผมคนเดียว สังเกตได้ว่าพอมีความมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าหุ้นขึ้น อารมณ์และบรรยากาศของนักลงทุนนักธุรกิจกระเตื้องขึ้นทันที ซึ่งเป็นความรู้สึกทั่วไปของคนที่อยู่ในวงการเศรษฐกิจที่เขารู้ว่ามันมีประโยชน์ จากความมั่นคงความสงบทางการเมืองที่มีต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ลำพังแค่ความสงบไม่พอ เมื่อถึงเวลาก็ต้องมีอะไรมากกว่านั้น จึงทำให้อารมณ์บรรยากาศการลงทุนมันดีขึ้นเมื่อมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง
จากหลักคิดที่ว่าเศรษฐกิจที่ดีต้องมีประชาธิปไตยที่ดีด้วย ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาหนึ่งในปัญหาของระบบเศรษฐกิจไทย โครงสร้างสังคมไทยโดยรวมคือบทบาทรัฐและราชการในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นและเพิ่มมากเกินไป จะเห็นได้ว่าขนาดหรือสัดส่วนของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจในระบบเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมันสวนทางกับแนวทางการพัฒนาที่ผมมองว่าควรจะเป็น เพราะประเทศที่พัฒนา บทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจควรจะมีสัดส่วนน้อยลง แต่ของไทยกลับเพิ่มขึ้น คิดง่ายๆ ว่าทำไมมันไม่ดี ก็ดูจากเอกชน รัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ใครมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่ากัน เราเปรียบเทียบ องค์การโทรศัพท์กับเอไอเอสหรือดีแทค หรือเปรียบเทียบสายการบินโลว์คอสต์ของการบินไทย นกแอร์ กับของเอกชน ก็จะเห็นภาพว่าของเอกชนด้วยหลายเหตุผลเขามีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เช่น การมีทุนที่มากกว่าภาครัฐ
ประเทศเราที่ระบบเศรษฐกิจ บทบาทภาครัฐมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ มันหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจของเรามันต่ำลง ซึ่งเราต้องเปลี่ยนแนวทางนี้ และแนวทางนี้จะเปลี่ยนได้โดยการกระจายอำนาจ การเพิ่มบทบาทภาคเอกชน การกำกับดูแลให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งหมดเหล่านี้ผมคิดว่ามันพร่องไป ระบบเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
-ประชาชนทั่วไปที่ยังต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ นโยบายเศรษฐกิจของพรรคจะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นอย่างไร จากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเวลานี้?
อันดับแรกผมคิดว่า การที่เราจัดระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เงินไปถึงมือประชาชนจริงโดยตัวของมันเอง จะส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม อันนี้เป็นแนวความคิดเดียวกับที่เรามีตอนเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2551-2552 ที่เรามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนั้นยุทธศาสตร์เราก็คือ ทำยังไงให้เงินถึงมือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย พูดง่ายๆ ชุดความคิดที่ว่าทำให้คนรวยรวยไป แล้วเงินจะไหลไปถึงมือคนจนเอง จะพบว่าไม่เป็นจริง และเงินที่ไหลไปมันน้อยมากแล้วก็ช้า ดังนั้นรัฐจึงเข้ามาแทรกแซงส่วนนี้ แล้วก็บอกว่าจะจัดระบบให้เงินไปถึงมือประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างรวดเร็ว แล้วหลังจากนั้นการจับจ่ายใช้สอยของเขาก็หนีไม่พ้น เช่นตอนนี้คนส่วนใหญ่ซื้อของที่ไหน ก็ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น หรือร้านขายของชำใกล้บ้านตัวเอง แต่ไม่ว่าจะซื้อที่ไหนก็จะเป็นเงินหมุนเวียนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะส่งผลต่อคนไทยทุกคนรวมถึงมนุษย์เงินเดือนด้วย นั่นคือปรัชญาที่สำคัญ
กรณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม เรื่องนี้ก็จะส่งผลระยะปานกลางต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเมื่อผู้ประกอบการมองว่าประเทศไทยไม่คุ้มกับการเข้ามาประมูลงาน เพราะมีการล็อกสเปก มีคนได้ไม่กี่คน ไม่มีเส้นสายก็ไม่มีโอกาส ซึ่งหากทุกคนเชื่อว่าเป็นแบบนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็ลดลง การแข่งขันลดลงก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เช่นแทนที่เมื่อมีการทำโครงการแล้วมีผู้เข้าประมูลสิบราย แล้วแข่งขันกันเสนอราคาต่ำๆ ที่สุด แต่กลายเป็นว่ามีประมูลแค่สองราย ต่างคนก็อาจต่างฮั้วกันด้วย ก็จะมีผลทุกอย่างกับประชาชน แนวคิดเรื่องการส่งเสริมการแข่งขัน บางทีอาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันส่งผลโดยตรงต่อประชาชน แนวคิดแบบนี้สุดท้ายแล้วก็จะมีผลต่อชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน
บัตรคนจน-อีอีซี-รถไฟความเร็วสูง ยังมีปัญหา จะเดินหน้าหรือทบทวน?
กรณ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงท่าทีของพรรคต่อสิ่งที่รัฐบาล คสช.ทำไว้ และชูว่าเป็นผลงานเช่น บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย โดยบอกว่า เรื่องบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เรื่องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เราก็ยืนยันว่าต้องช่วย แต่กระบวนการและวิธีการเป็นเรื่องสำคัญ เราได้ทักท้วงรัฐบาลตั้งแต่แรกว่าทำไมถึงออกบัตรสวัสดิการฯ แล้วสุดท้ายบังคับให้ชาวบ้าน ต้องไปรูดบัตรที่ร้านธงฟ้า แทนที่จะให้เงินสดแล้วเขาถอนเงินออกมาใช้ซื้อของที่ร้านใกล้บ้าน ร้านขายชองชำ ร้านในชุมชนของเขาเอง เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง ก็เกิดปัญหากับประชาชน เช่นการเช่ารถ การต่อรถเพื่อเข้าไปในอำเภอ เพราะร้านธงฟ้าใกล้บ้านไม่มี ถูกบังคับซื้อสินค้า ในบางกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีราคาสูงเกินควร และมีการจำกัดประเภทสินค้า ทำให้เขาไม่ได้ของอย่างที่ต้องการจริงๆ
พรรค ปชป.ก็เลยบอกว่าจะเสนอนโยบาย เบี้ยผู้ยากไร้ ที่จะกำหนดไว้ที่ให้ 800 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถถอนเป็นเงินสดออกมาใช้ได้ทันที ซึ่งจะคล้ายกับความคิดที่เราเคยใช้ตอนปี 2552 ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจเวลานั้น ด้วยการออก เช็คช่วยชาติ ซึ่งตอนนั้นเราตีเช็คออกมาใบละ 2,000 บาท ให้ผู้มีรายได้น้อยสิบกว่าล้านคนที่เอาเช็คเข้าธนาคารแล้วเบิกเป็นเงินสดออกมาเพื่อใช้จ่าย ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที
“ในอนาคตบัตรสวัสดิการฯ เราจะสานต่อ แต่ผมว่าเราจะทำให้มันดีขึ้นเยอะมาก และจะส่งผลข้างเคียงคือกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น"
นอกจากนี้ กรณ์-ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงท่าทีของพรรคต่อโครงการอีอีซีของรัฐบาลด้วยว่า เรื่องอีอีซี การพัฒนาเศรษฐกิจผมคิดว่าสำคัญ และโมเดลของอีอีซีผมคิดว่าตอบโจทย์ได้ในเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมที่เราต้องการในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย จากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่การใช้ไฟฟ้า ถ้าเราสามารถชักจูงนักลงทุน ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยเราพัฒนาความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ก็จะเกิดประโยชน์
“แต่ประเด็นปัญหาของวิธีการ อันนี้คือข้อบกพร่อง ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างอีอีซี โดยรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ เขาจะไม่ค่อยฟังหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม”
...อย่างเช่นกรณีที่ชลบุรี มีประชากรเป็นเกษตรกรอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่จำนวนมากส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ของนายทุนในการทำการเกษตร ปัญหาก็คือผลข้างเคียงของอีอีซีทำให้ราคาที่ดินมันสูงขึ้น ซึ่งนายทุนชอบอยู่แล้ว แต่ผลกระทบก็คือเกษตรกรที่ตอนนี้ไม่สามารถเช่าที่ดินนั้นต่อไปได้ อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งคือนายทุนเมื่อเห็นราคาที่ดินดีก็เตรียมที่จะขาย มากกว่าปล่อยเช่าให้ทำการเกษตร อีกทั้งเมื่อเห็นว่าราคาที่ดินสูงขึ้น ก็เห็นว่าค่าเช่าควรต้องปรับให้สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมันไม่ได้สอดคล้องกับส่วนของความเป็นจริงกับรายได้ของเกษตรกร จึงเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับประชาชนจำนวนมาก อีกมิติหนึ่งของปัญหาคือเรื่องความเหมาะสมของโครงการที่ต้องพิจารณาให้ดี
“พรรค ปชป.เราสงวนสิทธิ์ที่จะทบทวนรายละเอียดโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ผมไม่อยากที่จะบอกว่าเราปฏิเสธหรือไม่สานต่อ เพราะหลายโครงการเราเป็นผู้ริเริ่มด้วยซ้ำ”
กรณ์ ยกตัวอย่างขึ้นมาว่า เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้อนุมัติ ที่ต่อมามีการเจรจากับจีน ให้จีนมาร่วมลงทุนในโครงการ จนเกิดเป็นมติ ครม.เวลานั้น แต่มารัฐบาลปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นโครงการที่ฝ่ายไทยรับภาระโครงการทั้งหมด แล้วต้องนำเงินที่กู้มาไปซื้อรถไฟ-เทคโนโลยีจากจีนอีกต่างหาก
“ผมมองว่าไม่ได้เป็นข้อตกลงที่เสมอภาค และเท่าที่ทำได้ก็ควรทบทวนในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกเส้นทางหรือโครงการ เพราะเราเสนอเองตั้งแต่แรก”
กรณ์ ย้ำว่า โครงการต่างๆ ในการหาเสียงที่ทีมนโยบายของพรรคนำเสนอต่อ กกต. เราได้คำนวณในรายละเอียดว่าใช้เงินจำนวนเท่าใด งบประมาณจะมาจากไหน โดยบางโครงการเราก็ต้องตัดออกเพราะก็กังวลว่าจะเป็นภาระต่อการคลังของประเทศมากเกินไป เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราต้องเลือกว่าโครงการไหนสำคัญมากหรือสำคัญน้อย โดยรายละเอียดทั้งหมดพรรค ปชป.ได้แสดงในเว็บไซต์พรรคไว้แล้วว่าต้องใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน จะมาจากไหน
“ส่วนตัวของผม ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลมาก่อนที่เราจะเข้าไปเป็นรัฐบาล อะไรที่เป็นเรื่องดี ก็ควรต้องเก็บไว้ อะไรที่ไม่ดีก็ต้องแก้ไข คือไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครเป็นพวกใครหรือไม่ใช่พวกใคร ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เราควรจะดูตามข้อเท็จจริง อะไรที่ดีเราก็สานต่อ อะไรไม่ได้เราก็แก้ไข” รองหัวหน้าพรรค ปชป.ระบุหลังถามถึงท่าทีของพรรคว่า หากเข้าไปเป็นรัฐบาลจะมีการทบทวนสิ่งที่รัฐบาลหรือ คสช.ทำไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่
กรณ์-ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ปชป. ยังกล่าวด้วยว่า พรรคยังมีนโยบายเรื่องการปฏิรูปที่เน้นเรื่องการกระจายอำนาจ ปฏิรูปการปกครอง แค่เราจะบอกว่าจะให้ต่างจังหวัดมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง ก็ถือว่าเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่แล้ว แต่จริงๆ จะลงไปลึกกว่านั้นในระบบการใช้งบประมาณของท้องถิ่น เช่นเดียวกับนโยบายเรื่องการส่งเสริมการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ก็จะยึดหลักเรื่องกระจายอำนาจเช่นกัน แต่เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชน ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถามว่ากระบวนการตรวจสอบแบบไหนที่ผู้มีอำนาจกลัวมากที่สุด ก็คือประชาชน ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ประชาชนโดยเฉพาะที่ทำผ่านโซเชียลมีเดีย เช่นเพจต่างๆ ที่เขาตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจกลัวมากที่สุด
วิธีการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอนาคต ก็คือการส่งเสริมการตรวจสอบโดยภาคประชาชนเอง ซึ่งวิธีการจะมีสองเรื่องสำคัญ คือ 1.ต้องให้การคุ้มครองการตรวจสอบของภาคประชาชนให้มีความปลอดภัย 2.ให้รางวัลเช่นรางวัลนำจับ หากสองเรื่องนี้ชัดเจนจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการตรวจสอบคอร์รัปชัน รวมถึงยังต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพูดกันตรงๆ หากคณะกรรมการป.ป.ช.ยังเป็นแบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายเรื่องไปถึง ป.ป.ช.ก็แป้ก ตัวกรรมการ ป.ป.ช.ผมคิดว่าเราต้องกล้าที่จะเปลี่ยน ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าที่มาและการแต่งตั้ง ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายมาตลอดตั้งแต่แรก ดังนั้นที่บอกว่าอะไรที่ทำดีต้องทำต่อ อะไรไม่ดีก็ต้องแก้ เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องแก้
คิดยังไงที่เขาว่า ปชป.ดีแต่พูด
กรณ์ สรุปว่า จากนโยบายของพรรค ปชป.ที่ใช้ในการหาเสียงรอบนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เรามีความชัดเจนด้านนโยบายมากกว่าทุกพรรค เอาเข้าจริงจนถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นมีพรรคไหนเปิดตัวนโยบายที่มีความชัดเจนต่อประชาชนว่า หากเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วเขาจะทำอะไรบ้าง อาจจะมีวาทกรรม เช่น เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ แต่หากไปถามในเนื้อหาสาระว่าหากเข้าไปบริหาร จะมีนโยบายอะไรที่จะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนที่จับต้องได้ ผมไม่ค่อยได้เห็น ซึ่งผมก็แปลกใจ แต่พรรคเรามีความชัดเจนมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ครอบคลุมตามนโยบายพรรคในเรื่องแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งการเมืองแบบนี้ทำให้ประชาชนเลือกได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือความต้องการ แล้วจากนั้นก็ไปดูว่าคนที่พูดมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน และพรรคต้นสังกัด มีแนวโน้มโอกาสจะเข้าไปเป็นรัฐบาล เพื่อไปทำสิ่งที่บอกไว้มากน้อยแค่ไหน นั่นคือขั้นตอนการพิจารณาที่ผมคิดว่าคนไทยทุกคนก็คงคิดตามนี้
“นโยบายสวยหรูแต่พรรคไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีโอกาสเข้าไปเป็นรัฐบาลก็ไม่มีประโยชน์ หรือบางพรรคแค่ขายวาทกรรม ขายประวัติของตัวเอง แต่ไม่พูดให้ชัดว่าจะทำอะไร ก็เลือกยาก"
ถามถึงว่า แต่ก็ยังมีวาทกรรมทางการเมืองจากบางฝ่ายที่บอกว่าประชาธิปัตย์ดีแต่พูด กรณ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ตอบว่า ก็ต้องถามว่าเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองใดที่มีกิจกรรมทางการเมืองและในทางปฏิบัติที่ชัดเจนและต่อเนื่องเท่ากับพรรค ปชป. โดย ปชป.เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่เคยปิดพรรคแม้แต่วันเดียว ตั้งแต่วันที่มีรัฐประหาร และอย่างที่บอกทีมยกร่างนโยบายพรรค ปชป. เราก็มีโครงการทดสอบความคิดนโยบายของพรรคมาตลอด หัวหน้าพรรค มีการเดินสายไปพบสมาคมต่างๆ กลุ่มนักธุรกิจ ผมว่าเป็นร้อยกลุ่ม อย่างที่ผมไปร่วมด้วยยังแค่เสี้ยวเดียวคือประมาณยี่สิบกว่าครั้ง แต่หัวหน้าพรรคไปพบมาเป็นร้อย มีการรวบรวมข้อมูลข้อเสนอแนะมาตลอด
พรรคมีการทำงานกันมาตลอด และทุกครั้งที่มีวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มากอบกู้ ดังนั้นเมื่อวัดกันที่ผลงาน ผมกล้าที่จะยืนยันว่าผลงานของพรรค ปชป.ในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้ด้อยกว่าใคร และเราชัดเจนกว่าทุกคนด้วยซ้ำไป ผมจึงมองว่าคำกล่าวพวกนั้น เป็นคำกล่าวที่เป็นวาทกรรมทางการเมือง จึงไม่ได้นำมาใส่ใจ.
...............
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |