'โปขรา' ลาก่อน


เพิ่มเพื่อน    

สถานีขนส่ง Tourist Bus Park ในเมืองโปขรา ประเทศเนปาล

เวลา 5 โมงเย็น พิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติปิดให้บริการเยี่ยมชม ผมเดินออกมาจากประตูใหญ่บนถนน Pardi Bazaar ทิวเขาอันนะปุรณะปรากฏโฉมออกมาให้เห็นอยู่ระหว่างหมู่เมฆสีเทาครึ้มด้านบนและภูเขาหลายลูกสีน้ำเงินทึมๆ เข้ม-จางต่างเฉดสับหว่างอยู่ด้านล่าง หิมะที่ปกคลุมยอดเขาต้องแสงแดดยามเย็นได้องศาพอดี ขับสีขาวให้โดดเด่นน่าชื่นชม

รถเมล์สีเขียววิ่งมาจอดที่ป้าย ผมเดินเลยป้ายมาหลายสิบเมตรแล้วเลยต้องวิ่งกลับไป ถามเด็กรถว่า “ไป New Road ไหม ?” เขาตอบ“ใช่” จึงกระโดดขึ้นไปหาที่นั่ง จ่ายค่าโดยสาร 25 รูปี

ถึงวงเวียนตลาดใหม่ ลงจากรถเมล์แล้วเดินไปทางซ้าย เข้าห้าง Pokhara Trade Mall เพื่อกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ปรากฏข้อความบนจอว่าจะเก็บค่าธรรมเนียม 500 รูปี ตกประมาณ 150 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย (แต่ตอนกลับถึงเมืองไทย ตรวจสอบแล้วเก็บ 100 บาทตามปกติ) และจ่ายให้ลูกค้าในอัตรา 1 บาทต่อ 3.3 เนปาลีรูปี น้อยกว่าเรทแลกเปลี่ยนในตลาดซื้อขายสกุลเงินที่ 1 บาทต่อ 3.6 รูปี และยังถูกกว่าอัตราตามร้านรับแลกในย่านท่องเที่ยวเลคไซด์ ที่เขียนป้าย 1 บาทต่อ 3.46 รูปี แต่มาถึงตอนนี้แล้วยังไงก็ต้องกดเงินออกมา

ผมไม่พกเงินบาทติดตัวมาจากเมืองไทยเพราะคิดว่าเสี่ยงโดนปล้นจี้และล้วงกระเป๋า แลกเงินอินเดียนรูปีมาจำนวนหนึ่งเพื่อความสะดวกในช่วงแรกๆ แล้วกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มให้พอใช้ในแต่ละช่วง แต่มาถึงตอนนี้สรุปได้แล้วว่าอันตรายจากการถูกปล้นจี้และล้วงกระเป๋าในอินเดียและเนปาลนั้นไม่น่ากลัวเท่ายุโรปบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน กระเป๋าคาดเอวที่เตรียมมาด้วยกลายเป็นส่วนเกิน หากจะพลาดพลั้งเสียเงินให้กับคนจากชมพูทวีปนั้น เราเสียเพราะคำพูดหว่านล้อมของพวกเขามากกว่า จึงคิดว่าคราวต่อไปพกเงินบาทมาก็คงไม่เป็นไร

ย่านตลาดเก่า (Old Bazaar) เมืองโปขรา

วันนี้ผมได้ศึกษาเส้นทางเดินไปยังตลาดเก่า (Old Bazaar) มาแล้ว จากห้าง Pokhara Trade Mall เดินไปทางซ้ายนิดเดียว เจอสี่แยกก็เลี้ยวขวาแล้วเดินตรงไปเรื่อยๆ เห็นบ้านเรือนเก่าๆ สร้างด้วยอิฐสีแดงตั้งอยู่หลายหลัง ร้านรวงเหลือน้อยเต็มที แต่ก็เดินเพลิน โดยเฉพาะเมื่อเห็นยอดเขามัจฉาปูชเรยามต้องแสงสุดท้ายของวันโผล่ออกมาทักทายอยู่ตรงกลางระหว่างอาคารสองฝั่งถนน

ท้องฟ้ากำลังมืดลง ผมเดินกลับไปยังย่านตลาดใหม่ แวะร้านขายผ้าร้านหนึ่ง ถามหาผ้าคลุมไหล่ “พัชมีนา” สตรีวัยกลางคนเจ้าของร้านก็นำมาออกมาให้เลือก แกมาจากเมืองชัยปุระ รัฐราชสถานของอินเดีย เวลายิ้มเห็นแววน่ารักจริงใจ ตอนสาวๆ คงสวยไม่หยอก ฝ่ายสามีนั่งมองความเป็นไปอยู่ที่มุมหนึ่งของร้าน พอผมถามว่าถ้าซื้อ 2 ผืนลดได้เท่าไหร่ สามีก็ชิงตอบแทนภรรยาว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ผมซื้อแบบปักลวดลายครึ่งผืนมา 2 ผืน

วันนี้ขอแวะซูเปอร์มาร์เก็ตเดิมอีกครั้งเพราะตั้งใจจะซื้อชาเพิ่มซึ่งมีเฉพาะชา Tokla ยี่ห้อเดียว ต่างกันที่เป็นแบบใบและแบบทีแบ็ก อีกทั้งรูปร่างของแพ็คเกจ ผมเลือกจำพวกกล่องที่เขียนว่า “Export Quality” จากนั้นเดินเข้าไปยังโซนแอลกอฮอล์ ปรึกษากับพนักงานแล้วหยิบไวน์ท้องถิ่นยี่ห้อ Big Master ชนิด Dry (ฝาด) มา 1 ขวด ราคา 580 รูปี ตกประมาณ 170 บาท  

เดินออกนอกร้านเห็นบรรดาแม่ค้าที่นั่งขายผักผลไม้อยู่บนบาทวิถีลุกขึ้นวิ่งหนีอะไรบางอย่าง พอหันไปมองก็เห็นเจ้าหน้าที่เทศกิจยาตราทัพเข้ามา แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจมาจับไปปรับหรือลงโทษด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด เพียงแค่ไล่ตามบทบาท ไล่เสร็จก็ขึ้นรถกลับ

ความสดใสในย่านตลาดเก่า เมืองโปขรา

ฝนใกล้จะลงเม็ด ผมเดินไปซื้อผ้าพัชมีนาอีกผืนจากร้านที่ขายของหลากหลายประเภท จับดูก็รู้สึกว่าเกรดผ้าสู้ของน้าจากชัยปุระไม่ได้ จากนั้นซื้อกระเป๋าเป้ราคาถูกเพื่อใส่ของฝาก มีขนาดใหญ่พอที่จะใส่เป้ใบเล็กที่สะพายอยู่ด้วยเพื่อให้กระเป๋าสัมภาระสำหรับสะพายมีแค่ 2 ชิ้น (หน้า-หลัง) มือจะได้ว่าง เดินเหินสะดวก

รถเมล์เขียวจากถนน New Road จอดให้ผมลงที่สามแยกหน้าร้าน German Bakery เหมือนเดิม เดินเลี้ยวซ้ายผ่านที่พักเกสต์เฮาส์ Lumbini Resort ไปราว 20 เมตร เข้าร้านอาหารของชาวโรมานี หรือยิปซี ผมเล็งร้านนี้ไว้เมื่อตอนเที่ยงระหว่างทางเดินไปพิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติ ซึ่งชาวโรมานีในยุคโบราณนั้นตั้งรกรากอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ก่อนจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในยุโรปเป็นจำนวนมาก ในเมืองโปขรานี้ผมเห็นร้านค้าบางร้านเขียนว่า Romani Shop ก็แสดงว่ามีชาวโรมานีอยู่ในเมืองนี้บ้างเช่นกัน

เด็กชายยืนพูดเชื้อเชิญแขกอยู่นอกร้าน ผมชี้ไปที่รูปปลาทอด ถามว่า “มีไหม” หนูน้อยตอบว่า “ฟิช ฟิช เยส เยส”

สตรีรุ่นป้าอยู่ในร้าน 2 คน ความจริงแล้วลักษณะไม่เหมือนร้านอาหาร หากแต่คล้ายบ้านคนมากกว่า ส่วนครัวก็เหมือนกับครัวที่ทำอาหารกินกันเองในบ้าน มีโต๊ะนั่ง 2 โต๊ะ

ร้านอาหารของชาวยิปซี เชฟใหญ่วัย 10 ขวบแสดงฝีมือ

เด็กชายวัยเรียนหนังสือนอกจากจะพูดเชียร์แขกอยู่หน้าร้านแล้วก็ยังทำหน้าที่เป็นคนทอดปลาด้วย ส่วนสตรี 2 คนที่อาจจะเป็นแม่, ป้า หรือยาย ช่วยเขาเตรียมข้าวคนหนึ่ง อีกคนนั่งให้กำลังใจ

อาหารเสิร์ฟโดยเด็กชายอีกเช่นกัน ปลาทอดตัวขนาดปลาไข่หรือปลาทราย 6 ตัว ต่างกับภาพปลาในเมนูหน้าร้านที่มีลักษณะเป็นชิ้นๆ หั่นตามขวาง คาดว่าปลาที่หนูน้อยทอดผมคงเป็นปลาจากทะเลสาบฟีวาที่อยู่ไม่ห่างออกไป และปลาเหล่านี้ได้ทอดเอาไว้ก่อนแล้ว เมื่อมีลูกค้าสั่งก็เอามาทอดซ้ำ ส่วนข้าวสวยนั้นเสิร์ฟมาในถาดที่เรียกว่า “ถาลี” มีแกงสอง-สามชนิด ซุป ข้าวเกรียบปาปัด ผักดอง และซอสวางเคียงมาด้วย รสชาติโดยรวมถือว่าใช้ได้ โดยเฉพาะซุป ส่วนปลาทอดที่สีสันไม่โสภานักก็เค็มๆ กรอบๆ กินได้ทั้งตัว

ตอนเรียกเก็บเงิน ป้าต้องเดินไปตามเด็กชาย เพราะเป็นคนเดียวในบ้านที่พอพูดภาษาอังกฤษได้ เขาบอก “โฟร์ ฮันเดรด” หรือประมาณ 120 บาท ผมถามอีกว่า “หนูอายุเท่าไหร่” เขาตอบ “10 ขวบ” แล้วเดินออกไปยืนทำการค้าที่หน้าร้านต่อ

กลับถึงที่พัก ลุงอะคาล เจ้าของเกสต์เฮาส์ชวนให้นั่งตรงโซฟารับแขก มีเพื่อนแกอีกคนมานั่งด้วย คนนี้พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เป็นเจ้าของเกสต์เฮาส์ที่อยู่ไม่ไกลกัน ผมเปิดฝาเกลียวของขวดไวน์แล้วขอยืมแก้ว ลุงก็ไปหยิบมา 2 ใบ เป็นแก้วไวน์เสียด้วย เพื่อนของลุงรินไปชิม 1 ฝา แกว่าดื่มได้แค่นี้เพราะแพ้แอลกอฮอล์ ส่วนลุงก็ดื่มแค่แก้วเดียว ลูกสาวของลุงมาขอให้พี่สาว 1 แก้ว ผมบอกว่า “มาเติมได้ตามสะดวกนะ ไม่ต้องเกรงใจ” เธอมาเติมอีก 1 ครั้งหลังจากนั้น

ไวน์รสชาติหวานเกินไป ออกไปทางน้ำผลไม้หน่อยๆ เป็นไวน์ที่มีอายุ 2 ปีนับจากวันที่บรรจุขวด ผมดื่มได้ 2 แก้วก็ไปต่อไม่ไหว แต่พอเปิดดื่มอีก 1 วันให้หลัง รสชาติกลับดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

ลุงอะคาลลุกไปหยิบเครื่องดื่มโปรดของแกออกมา มีของเหลวอยู่ในนั้นครึ่งขวดขนาดประมาณ 700 มิลลิลิตร อธิบายว่านี่คือ “รัคซี่” (Raksi) สุรากลั่นจากข้าวฟ่าง รินใส่แก้วให้ผมแล้วรินให้ตัวเอง สีใสคล้ายเหล้าป่าบ้านเรา กลิ่นของข้าวฟ่างหอมชวนดื่ม รสชาติคล้ายสาเกญี่ปุ่น ตอนลงท้องจะมีความรู้สึกร้อนๆ ตามลงไปด้วย แล้วค่อยรับรู้ได้ถึงความนุ่มละมุนอ้อยอิ่งอยู่ในลำคอ เพดานปาก และจมูก  

รัคซี่นี้ลุงอะคาลยอมรับว่าในเขตเมืองอย่างโปขราเป็นของผิดกฎหมาย แกไปซื้อมาจากบ้านของคนที่แอบทำ หากเจ้าหน้าที่รัฐเจอเข้าก็จะถูกจับ ผมถามถึงปริมาณแอลกอฮอล์ แกไม่รู้ ตอบเพียงว่า “ไม่มาก” ซึ่งก็คงไม่มากจริงๆ เพราะเราดื่มกันจนหมดขวดก็ยังเดินตรงและไม่รู้สึกเวียนหัว

ยามเช้าของชาวประมงแห่งทะเลสาบฟีวา

ด้านเพื่อนของลุงอะคาลพูดเรื่องชนชาวเขาให้ฟัง แกว่าเนปาลมีชาวเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์นับร้อย คนรุ่นก่อนๆ ชอบขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง และหากจะย้ายถิ่นก็จะขึ้นสูงไปอีกเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามีความปลอดภัย นานๆ จะลงมายังที่ราบด้านล่างสักครั้งหนึ่ง แต่คนรุ่นปัจจุบันชอบอยู่พื้นราบมากขึ้น คนสูงอายุจะอยู่ไม่ค่อยได้ ลงมาทีก็เป็นโรคเมาความสูง (Altitude Sickness) ซึ่งผมเพิ่งเคยได้ยิน เพราะนึกว่าโรคนี้จะเกิดเฉพาะกับคนจากพื้นราบที่ขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง แต่เมื่อค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็พบว่ามีจริง เรียกว่า Reverse Altitude Sickness

ลุงอะคาลเล่าเรื่องคนญี่ปุ่นที่เป็นมะเร็งให้ฟังว่า ปกติชายผู้นี้ต้องกินยาระงับอาการปวดที่เกิดจากมะเร็ง พอมาพักกับแกก็เอ่ยปากขอซื้อกัญชา ลุงจึงไปหามาให้สูบ จากที่ตอนแรกตั้งใจจะพัก 2 อาทิตย์ ชายชาวญี่ปุ่นพักถึง 2 เดือน และตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองโปขราเขาไม่กินยาระงับปวดนั้นเลยเพราะกัญชาได้ทำหน้าที่แทนเรียบร้อยแล้ว

เราคุยกันถึงเที่ยงคืนกว่าๆ ก็แยกย้ายพร้อมบทสรุปของผมเองว่าสุรารัคซี่เหมาะกับอากาศหนาวๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

เช้าวันต่อมาผมตื่นตามเสียงนาฬิกาปลุกตั้งแต่ 6 โมงเหมือนเคย วันนี้เทือกเขาหิมาลัยเด่นชัดกว่าวันก่อนๆ จึงคว้ากล้องถ่ายรูป รีบวิ่งไปยังสวนข้างเขื่อนฟีวา ขึ้นไปยังแท่งปูนที่ขอบพอยืนได้ ทิวเขาอันนะปุรณะในทะเลสาบทำภาพสมมาตรกับทิวเขาอันนะปุรณะบนบก คู่รักอายุประมาณ 50 ปีเดินเข้ามาถ่ายภาพใกล้ๆ ผมถามว่า “มาจากญี่ปุ่นหรือครับ ?” ฝ่ายหญิงตอบว่า “เซาธ์โคเรีย” จึงต้องขอโทษกลับไปยกใหญ่

เวลา 7 โมงนิดๆ เดินกลับถึงที่พัก อาบน้ำแล้วเก็บกระเป๋าที่ข้าวของค้างอยู่ไม่มาก เดินลงมาเจอลุงอะคาลพอดีจึงได้ร่ำลากัน แกให้นามบัตรเขียนว่า Akal Gurung ซึ่ง “กุรุง” ก็คือชื่อของกลุ่มเชื้อชาติใหญ่กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่มากในภูมิภาคนี้ของประเทศเนปาล  

ระหว่างทางเดินไปยัง Tourist Bus Park คิดจะแวะกินมื้อเช้าที่ร้าน German Bakery มีแต่เค้กแบบต่างๆ ครัวซองต์หมดต้องรอทำใหม่จึงเดินยาว 1 กิโลเมตรไปยังสถานีขนส่ง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั่งรอรถอยู่หลายคน ส่วนมากกินมื้อเช้าจำพวกขนมปังและกาแฟมองทิวเขาอันนะปุรณะอันสง่าทางทิศเหนือ มีร้านเล็กๆ อยู่สาม-สี่ร้าน  

บัสนักท่องเที่ยวที่จะพาผู้เขียนไปยังลุมพินีวัน

ผมเดินเข้าไปที่ออฟฟิศทัวร์ของบริษัท Evergreen หนุ่มแว่นคนขายตั๋วจำผมได้ เขาจับมือทักทายและเชิญชวนให้กินมื้อเช้า ติดกับออฟฟิศของเขามีร้านขายของชำซึ่งเป็นอีกกิจการของเขา ผมหยิบขนมปังอบโปะครีมสีดำ หนุ่มแว่นขานราคา 50 รูปี ผมซื้อมากิน 1 ชิ้น แล้วเขาก็คะยั้นคะยอให้ดื่มชามาซาล่าในร้านของเขาที่แยกส่วนออกไป สตรีคนหนึ่งทำหน้าที่ชง ผมก็ตกลงดื่ม แถมยังซื้อขนมห่อเล็กๆ จากในร้านของเขาอีก

ผมถามว่ารถคันไหนออก เขาชี้ไปที่รถบัสคันสีขาว แซมสีส้ม-แดง พอเดินไปให้เด็กรถเก็บกระเป๋าก็รู้ว่าผู้โดยสารทุกคนที่รออยู่จะไปกับรถคันนี้คันเดียว ไม่ว่าจะซื้อตั๋วจากเอเย่นต์ไหนก็ตาม รถบัสจากโปขราไปลุมพินีเที่ยวเช้ามีเพียงรอบ 8.30 น. รอบเดียว  

เด็กชายอายุประมาณ 15 ปี เดินมาพร้อมถาดขนมปังอบไส้ต่างๆ ผมบอกเขาว่า “เสียดาย มีแบบที่น้ากินด้วย เพิ่งจะซื้อกินจากร้านโน้นเมื่อสักครู่ ถ้ายังไม่กินก็จะซื้อกับหนู” เด็กชายถามว่าขนมที่ผมกินของหนุ่มแว่นราคาเท่าไหร่ ผมตอบ “50 รูปี”

“ไอ้ขี้โกง ของผม 30 รูปีเอง” เด็กชายมองไปทางร้านของหนุ่มแว่น ผมเลยซื้อขนมไส้แอปเปิ้ลของเขามา 1 ชิ้น ด้วยหวังให้เขามีกำลังใจขายราคาเดิมต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"