รัฐจับมือเอกชนสานพลัง “ทำความดีถวายพระเจ้าอยู่หัว” สร้างบ้านพักถาวรให้ชาวลัวะประสบภัยดินถล่ม จ.น่าน 60 หลัง
(พิธียกเสาเอกสร้างบ้านพักถาวรชาวลัวะบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน)
จากเหตุการณ์ดินถล่มที่หมู่บ้านชาวลัวะจังหวัดน่านเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ที่บ้านห้วยขาบ ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทำให้บ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่บริเวณไหล่เขาถูกดินถล่มพังทลายจำนวน 4 หลัง และเสียหายบางส่วนจำนวน 2 หลัง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย จังหวัดน่านได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุดินถล่มได้อีก เพราะที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ติดเชิงเขาที่ลาดชัน ต่อมาในช่วงปลายเดือนสิงหาคมชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน จำนวน 60 ครัวเรือน ประชากร 253 คน ได้ย้ายจากที่พักพิงผู้ประสบภัยเข้าพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราว บริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ เพื่อรอการสร้างบ้านพักถาวร
‘ร่วมใจ สร้างที่อยู่อาศัย ทำความดีถวายพระเจ้าอยู่หัว’
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา มีพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างที่พักอาศัยถาวรให้กับประชาชนที่ประสบภัยบ้านห้วยขาบจำนวน 60 หลังคาเรือน ตามโครงการ ‘ร่วมใจ สร้างไทย สร้างที่อยู่อาศัย ทำความดีถวายพระเจ้าอยู่หัว’ ที่บ้านห้วยขาบใหม่ หมู่ที่ 3 ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โดยมีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธี มีนายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดประมาณ 400 คน
ทั้งนี้พิธีการในช่วงเช้าที่บริเวณบ้านพักชั่วคราว มีการมอบผ้าห่ม เครื่องอุปโภค-บริโภค อุปกรณ์การศึกษา ฯลฯ ให้แก่ประชาชนที่ประสบภัย และการมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินป่าสงวนฯ โดยผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้แก่ผู้ประสบภัยบ้านห้วยขาบ หลังจากนั้นประธานในพิธีและผู้ร่วมงานได้เดินทางไปทำพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินที่กรมป่าไม้จัดสรรให้บริเวณหมู่ที่ 3 ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพักชั่วคราวประมาณ 1.3 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด 176 ไร่เศษ จัดสรรเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน รวม 43 ไร่
โดยชาวบ้านทั้ง 60 ครอบครัว จะได้รับที่ดินครัวเรือนละ 120 ตารางวา เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน (ไม่ให้กรรมสิทธิ์) เพื่อสร้างบ้านขนาด 5X8 ตารางเมตร มีทั้งแบบบ้านชั้นเดียวและสองชั้น รูปแบบบ้านประยุกต์มาจากบ้านของชาวลัวะ (คล้ายเรือนกาแลของชาวเหนือ) โครงสร้างเป็นปูนและเหล็ก สามารถใช้วัสดุจากบ้านเก่ามาเสริมหรือต่อเติม
ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 267,000-293,000 บาท ใช้งบประมาณจากหน่วยงานรัฐและเงินบริจาคของภาคเอกชน และแบ่งพื้นที่ส่วนกลาง เป็นแปลงเกษตร สนามกีฬา ศาลาชุมชน สถานที่ประกอบพิธีกรรม ฯลฯ ตามแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 5-6 เดือน หรือภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านพักชั่วคราวจะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านพักถาวร
(รมว.พม.เป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านชาวลัวะ)
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ดินถล่มที่บ้านห้วยขาบ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้การช่วยเหลือชาวบ้านในเบื้องต้น รวมทั้งการสร้างบ้านพักชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านก็อยู่กันมานานหลายเดือน วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่มีพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ เป็นบ้านพักถาวร โดยบริษัทเอกชนได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการสร้างบ้านประมาณ 22.5 ล้านบาท และกระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สมทบงบประมาณตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทจำนวน 1,320,000 บาท
“ส่วนการสร้างบ้านก็จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน คือประมาณเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ทันก่อนฤดูฝนจะมา ซึ่งหลังจากสร้างบ้านเสร็จแล้วก็จะมีการส่งเสริมเรื่องอาชีพต่างๆ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) และกรมป่าไม้ก็จะสนับสนุนการปลูกป่า การปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ 85 ชนิด ส่วนชาวบ้านก็มีกองทุนต่างๆ ช่วยเหลือดูแลกัน เช่น มีกลุ่มออมทรัพย์ มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มาจากเงินออมของชาวบ้านวันละ 1 บาท และมีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนด้วย” พลเอกอนันตพรกล่าว
ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ กล่าวว่า ชาวบ้านต่างตั้งความหวังว่าจะได้อยู่บ้านถาวรเร็วๆ นี้ เพราะบ้านพักชั่วคราวมีความคับแคบ กว้างยาวประมาณ 4X4 ตารางเมตร บางครอบครัวอยู่กัน 5-6 คน ต้องอยู่กันอย่างแออัด กลางวันก็ร้อนมาก กลางคืนก็หนาว เพราะสร้างด้วยสังกะสี ไม่มีห้องน้ำในตัว ต้องใช้ห้องน้ำรวม และตั้งอยู่ไกลจากบ้านพัก
ส่วนบ้านเดิมนั้น บางครอบครัวก็ปลูกสร้างมานานหลายสิบปี บางหลังก็เพิ่งสร้างใหม่ บ้านของตนก็เพิ่งสร้างใหม่อีกหลังหนึ่ง หมดเงินไปหลายแสนบาท แม้จะเสียดายเพราะบ้านไม่ได้เสียหายจากดินถล่ม แต่ก็ต้องยอมอพยพออกมา เพราะชาวบ้านต่างก็กลัว ไม่รู้ว่าดินจะถล่มอีกหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนัก และทางราชการก็บอกว่าบ้านห้วยขาบอยู่ในแนวรอยเลื่อนปัวซึ่งอาจจะเกิดดินถล่มได้อีก
“ชาวบ้านห้วยขาบรู้สึกดีใจและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะตอนนี้ชาวบ้านต่างก็อยากจะอยู่บ้านใหม่ที่มั่นคงถาวรและปลอดภัย ไม่ต้องกลัวว่าดินจะถล่มลงมาอีก ส่วนเรื่องอาชีพนั้น ชาวบ้านก็คงจะต้องทำกินในพื้นที่เดิม โดยปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก เพราะพื้นที่ใหม่มีเนื้อที่ไม่เยอะ ครอบครัวหนึ่งได้ที่ดินเพียง 120 ตารางวา คงจะได้เพียงปลูกบ้านและปลูกผักสวนครัวเท่านั้น” ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบบอก
ห้วยขาบโมเดล-ต้นแบบการใช้ที่ดินรัฐสร้างบ้านและที่ดินทำกิน
การก่อสร้างบ้านพักถาวรให้ผู้ประสบภัยบ้านห้วยขาบ รวมทั้งหมด 60 ครัวเรือน ถือเป็นการสานพลังประชารัฐ เพื่อทำความดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 โดยมีหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นร่วมสนับสนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เช่น จังหวัดน่าน พมจ.น่าน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ศูนย์ป่าไม้ประจำ จ.น่าน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) อบต.ดงพญา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.น่าน การประปาส่วนภูมิภาค จ.น่าน ฯลฯ
ส่วนหน่วยงานรัฐจากส่วนกลาง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้จังหวัดน่านใช้ที่ดินบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง หมู่ที่ 3 ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยขาบที่เกิดภัยดินถล่มประมาณ 3 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด 176 ไร่เศษ จัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน 43 ไร่
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด เช่น พมจ.จังหวัดน่านจัดทำแผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนทุกวัย เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ รวม 1.3 ล้านบาท
ภาคเอกชนสนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้านพักถาวร จำนวน 22.5 ล้านบาท รวมงบประมาณเบื้องต้นทั้งหมดประมาณ 27 ล้านบาทเศษ (งานสาธารณูปโภค ถนน ประปา ไฟฟ้า โดยหน่วยงานในท้องถิ่น 4 ล้านบาทเศษ และ พอช. 1.3 ล้านบาท)
(มอบงบประมาณสนับสนุนสร้างบ้านพักถาวร)
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ดินถล่มที่บ้านห้วยขาบในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2561 มีหลายหน่วยงานเข้าไปให้การช่วยเหลือชาวบ้านเป็นการเฉพาะหน้า ส่วน พอช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อเตรียมการสร้างบ้านพักชั่วคราว และเนื่องจากที่ตำบลบ่อเกลือเหนือมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ดังนั้น พอช.จึงใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือเป็นเวทีในการชวนชาวบ้านมาพูดคุย สร้างความเข้าใจ และให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านพักชั่วคราวประมาณ 1 ล้านบาทเศษ
“ส่วนการสร้างบ้านพักถาวรครั้งนี้ พอช.และชาวบ้านก็ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีในการระดมความคิดเห็นของชาวบ้าน เพื่อสอบถามความต้องการของชาวบ้านในเรื่องการสร้างบ้านใหม่ รวมทั้งให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการสำรวจที่ดินแปลงใหม่ ร่วมออกแบบผังชุมชน และออกแบบบ้าน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน” ผอ.พอช. กล่าว
ผอ.พอช.กล่าวด้วยว่า การสร้างพักถาวรบ้านห้วยขาบครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบการร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินของรัฐมาแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินตามแนวทางของคณะกรรมการ
นโยบายที่ดินแห่งชาติ (หรือ คทช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ซึ่งกรณีบ้านห้วยขาบนี้ จังหวัดน่าน และ คทช.จังหวัดน่านได้ประสานความร่วมมือกันเพื่อขอใช้ที่ดินป่าสงวนฯ จากกรมป่าไม้ และต้องใช้เวลาหลายเดือนตามขั้นตอนของทาง ราชการ จนในที่สุดอธิบดีกรมป่าไม้ โดยการอนุมัติของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้อนุญาตให้จังหวัดน่านเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง เนื้อที่ 176 ไร่เศษ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระยะเวลาอนุญาตช่วงแรก 30 ปี จนถึงต้นปี 2592
“ส่วนการสร้างบ้านใหม่นั้น จะต้องสร้างให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน เพราะทางขึ้น-ลงหมู่บ้านเป็นภูเขาลาดชัน ทำให้การเดินทางลำบาก และหลังจากสร้างบ้านแล้ว ก็จะต้องมีการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ตลอดไป” ผอ.พอช.กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |